โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

“สงครามการค้า”กระทบไทยน้อย เลวร้ายสุดฉุดส่งออก0.2%

Money2Know

เผยแพร่ 19 ก.ย 2561 เวลา 15.12 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
“สงครามการค้า”กระทบไทยน้อย เลวร้ายสุดฉุดส่งออก0.2%
นักเศรษฐศาสตร์-นักวิเคราะห์ ประเมินสงครามการค้าของสหรัฐฯ-จีน ยังคาดเดายาก ส่วนผลกระทบไทยยังจำกัด คาดแรงสุดฉุดส่งออก 0.2% ในปีนี้ ขณะที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวน 31-33 ตามดอลลาร์ ฐานะการเงินไทยแข็งแกร่ง มั่นใจวิกฤติค่าเงินตลาดเกิดใหม่ไม่ลุกลาม

แม้ข้อพิพาททางการค้าของสหรัฐฯ-จีนจะเกิดขึ้นมาพักใหญ่ แต่ยังไม่มีใครที่สามารถคาดเดาถึงผลกระทบที่แน่นอน หรือจุดจบของภาวะนี้ ล่าสุดทั้งสองฝ่ายต่างออกมาเคลื่อนไหวในทิศทางที่รุนแรงขึ้น จึงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไรจากเหตุการณ์นี้บ้าง และจะทวีความรุนแรงไปตามการตอบโต้ของสองยักษ์ใหญ่นี้หรือไม่

กสิกรไทย จัดสัมมนา ”ส่องแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ในภาวะสงครามการค้าโลก" โดยมีนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ ร่วมประเมินถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งมองตรงกันว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจำกัด

สงครามการค้าปะทุ ยากต่อการคาดเดา

ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กระทรวงการคลัง เผยว่า สถานการณ์สงครามการค้าที่เกิดขึ้นไม่มีใครที่จะสามารถคาดเดาได้ โดยหยิบยกตัวอย่างความขัดแย้งทางการทหารระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือที่ดูรุนแรงและยืดยื้อยาวนาน ที่กลายเป็นการเจรจาและจับมือกันเหมือนหน้ามือเป็นหลังมือ

ในครั้งนี้ ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะมีการเจรจาพูดคุยอีกหรือไม่ แต่สถานการณ์ปัจจุบันชี้ไปในทิศทางตรงกันข้าม 

ดร.ศรพล ระบุว่าเหตุการณ์นี้ แทบไม่สามารถวิเคราะห์ด้วยหลักเศรษฐศาสตร์ได้ แต่เมืองมองในมุมทางรัฐศาสตร์ โดยการตอบโต้ในครั้งนี้ เกิดขึ้นต่อเรื่องจากการที่ประธานาธิบดีทั้ง 2 ฝ่าย ต่างต้องการแสดงความยิ่งใหญ่ ทั้งต่อสายตาคนในชาติของตนเองรวมถึงในระดับโลก

ทรัมป์ ต้องการแสดงถึงศักยภาพในการจัดการกับคู่แข่งทางการค้าที่เบียดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของโลกมาแบบติด ๆ เพื่อรักษาฐานให้ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในสมัยที่ 2 ขณะที่สี จิ้นผิง แม้จะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ตลอดชีวิต แต่ก็จำเป็นต้องแข็งข้อและตอบโต้เพื่อแสดงถึงศักยภาพในการปกครองประเทศ 

สิ่งที่น่ากังวลคือในสัดส่วน GDP 100% ของโลก เป็นของสหรัฐฯ 24% และของจีน 15% ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่มาก และส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานได้

ไทยยังแข็งแกร่ง แต่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

ดร.ศรพล มองว่า ประเทศไทยอยู่ในจุดที่ไม่อันตรายนัก เนื่องจากการส่งออกส่วนใหญ่ของประเทศคือการบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งไม่มีอยู่รายการที่มีการตอบโต้ของทั้ง 2 ฝ่าย ประกอบกับประเทศไทยส่งออกสินค้าให้กับสหรัฐและจีนไม่ถึง 10% ของการส่งออกทั้งหมด และส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่จีนนำไปใช้ในประเทศ ทำให้ไทยได้รับผลกระทบน้อยตามไปด้วย

ในอีกมิติหนึ่ง คือประเทศไทยมีความเข้มแข็งอยู่มาก สะท้อนจาก ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ หรือ GDP ที่โตสูงถึง 4.8% ในครึ่งแรกปี61 ซึ่งสูงสุดในรอบ 5 ปี จากแรงหนุนของการบริโภค และการลงทุนที่เริ่มกลับมา

อีกทั้งยังมีภูมิคุ้มกันที่ดีจาก ทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพียงพอสำหรับ 9.8 เดือนสำหรับนำเข้าสิ่งที่จำเป็นเมื่อเศรษฐกิจสะดุด ซึ่งนับว่าไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศมากเป็นอันดับที่ 13 ของโลก

อย่างไรก็ดี ควรมีการติดตามข่าวสงครามการค้าและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และป้องกันตัวเองให้เข้มแข็ง พร้อมรับทุกสถานการณ์อยู่เสมอ

“ไทยโตเพราะมีบุญเก่าค่อนข้างเยอะ เพราะเราเคยลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จคือสุวรรณภูมิ มีภูมิคุ้มกันเรื่องการรับนักท่องเที่ยว ในอีก 20-30 ข้างหน้า จะไม่เพียงพอต่อการรองรับ ทุกอย่างจะเป็นไปไม่ได้ถ้าไทยไม่เริ่มลงทุน และต้องเร่งลงทุน ไฟแนนซ์ โครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาคน ต้องมีอุตสาหกรรมใหม่ ถ้าเราไม่ปรับตอนนี้เราจะถูกดิสรับชั่นในอนาคต” 

สงครามการค้ากระทบส่งออกไทย 

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า “ย้อนไปต้นปีคงไม่มีใครเดาถูกว่าสงครามการค้าจะมาถึงจุดนี้ได้ มองว่าเป็นการขู่ แต่เมื่อมีการเก็บภาษีจริง 5 หมื่นล้านเหรียญ และรอบสอง 200,000 ล้านเหรียญ ก็จำเป็นต้องใช้มุมมองทางรัฐศาสตร์เข้ามาวิเคราะห์ร่วมเพราะเป็นเกมการเมืองระหว่างประเทศ”

การส่งออกของไทย ครึ่งปีแรกโตดี 9-10% และยังโตอยู่อย่างต่อเนื่อง เมื่อดูในรายละเอียดสังเกตได้ว่าในช่วงที่มีความไม่แน่นอนเช่นนี้ มีการเร่งส่งออกของออกไปจำนวนมาก แต่ในช่วงกรกฎาคม ตัวเลขล่าสุดเริ่มส่งสัญญาณ ตั้งข้อสังเกตว่าการส่งออกไปอเมริกาเริ่มชะลอลง และมีการเร่งส่งออกไปจีนในช่วงที่ยังไม่มีความชัดเจน 

มองว่า ผลบวกที่ประเทศไทยได้รับระหว่างที่มีการพิพาท คือสามารถส่งสินค้าออกไปยังตลาดอเมริกาแทนจีนได้ โดยประเมินว่าปีนี้ผลกระทบยังไม่มาก โดยผลกระทบสุทธิอาจจะทำให้ไทยส่งออกได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ในระยะสั้นกระทบส่งออกราว 0.2% 

นอกจากนี้ยังเริ่มมีข่าวว่า อาจมีการย้ายฐานการผลิตด้านอิเล็กทรอนิกส์ จากจีนมาเวียดนาม ไทย และมาเลเซีย ซึ่งคาดการณ์ว่าหากสงครามการค้ายังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีการย้ายฐานการผลิต การส่งออกอาจถึงขั้นติดลบได้ ซึ่งต้องติดตามต่อไป

คาดเงินบาทแข็ง 31 ก่อนอ่อนลงไปถึง 33 ในปีนี้

นายกิตติ เจริญกิจชัยชนะ ผู้บริหารกลุ่มงานขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ความผันผวนของค่าเงินบาทในปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้วที่ผันผวนขึ้นไป 36 แล้วลงมาที่ 31 ซึ่งปีนี้อยู่ระหว่าง 31.5-33.5 ซึ่งยังอยู่ในกรอบใหญ่ของธนาคารแห่งประเทศไทย

จากข้อมูลพบว่าอเมริกาขึ้นดอกเบี้ย แต่ประเทศไทยขึ้นช้ากว่า แนวโน้มสงครามการค้ายังไม่จบง่าย ๆ ทำให้มองว่าค่าเงินบาทจะอ่อนต่อไป และมีโอกาสที่จะกลับไปถึง 33 อย่างแน่นอน 

"ระหว่างที่ค่าเงินจะอ่อนจาก 32.5 ไป 33 อาจมีการผันผวนที่โหดร้ายระหว่างทาง เป็นไปได้ว่าจะมีการแข็งค่าขึ้นประมาณ 31 อีกหนึ่งรอบในปีนี้"

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็ง มาจากการเปลี่ยนแปลงของเงินดอลลาร์ประมาณ 80% และอีก 20% เกิดจากสถานการณ์ในประเทศ สังเกตได้จาก DYX ค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับดอลลาร์บาท ที่เมื่อดอลลาร์อ่อน ค่าเงินบาทจะแข็งค่า และทำให้เซนติเมนต์โดยรวมเพื่อนบ้านจะแข็งค่าตามไปด้วยเช่นกัน

ไทยไม่โดนร่างแหวิกฤตตลาดเกิดใหม่

นายกอบสิทธิ์  ศิลปชัย  ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน  ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมามีปรากฏการณ์ ตุรกี อาร์เจนตินา คล้ายไทยในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งคือให้เศรษฐกิจโตอย่างไม่ยั่งยืนโดยการกู้เงิน และแก้ปัญหาด้วยเครื่องมือต่าง ๆ 

1.ดอกเบี้ยนโยบาย ดอกเบี้ยจะอยู่ขาขึ้นหรือขาลง

2.ควบคุมปริมาณเงิน ยัดเงินเข้าไปในระบบเลย QE ธนาคารกลางไปซื้อตราสารหนี้กับธนาคารพาณิชย์ หวังปล่อยกู้อีกทอดหนึ่ง

3.สำรองดุลเงินฝาก สำรองวงเงินฝาก ปลดล็อกให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้มากขึ้น ขณะที่ไทยยังแข็งแกร่งและไม่มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศเหล่านั้น

เช่นเดียวกับ ดร.ศรพล ที่มองว่าไทยไม่น่ากังวลในการถูกร่างแหความเสี่ยงของตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากอยู่คนละบล็อกกับประเทศเหล่านั้น

โดย ตุรกี เวเนซูเอลาร์ ไม่น่ามีส่วนดึงจีดีพีของโลกลงไปได้เยอะ เพียงแต่มีโอกาสที่จะลามไปยังประเทศอื่น ซึ่งไม่ได้ลามไปในลักษณะที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน แต่ลามไปในประเทศที่มี Story คล้ายกัน 

"ทำให้ต่างชาติที่มองเข้ามาในประเทศที่มี Story คล้ายกับประเทศที่เกิดวิกฤตเริ่มสันนิษฐานว่าประเทศในลักษณะเดียวกันมีแนวโน้มที่จะเกิดเหตุการณ์คล้ายกันได้ และไม่เกิดการลงทุน"

ในประเทศบ้านเรา ไม่ได้ผูกกับสองประเทศนั้นเป็นหลักมีการกระจายในหลายประเทศ และกระจายในหลายหมวดสินค้า อีกทั้งไม่มี Story คล้ายกับประเทศเหล่านั้นเลยจึงไม่น่ากังวล

นอกจากนี้ ไทยยังมีส่วนได้รับผลดีจากวิกฤตในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ที่นักลงทุนนำเงินมาลงทุนเสมือนนำมาพักในประเทศไทยอีกด้วย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0