โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

“ศุลกากร” ถก พาณิชย์-สรรพสามิตรับมือผลกระทบลดภาษีรถยนต์นั่งไฟฟ้าจีน

ไทยโพสต์

อัพเดต 22 ต.ค. 2561 เวลา 02.35 น. • เผยแพร่ 22 ต.ค. 2561 เวลา 02.35 น. • ไทยโพสต์

 

“ศุลกากร” ถก พาณิชย์-สรรพสามิต หาแนวทางรับมือผลกระทบมาตรการลดภาษีนำเข้ารถยนต์นั่งไฟฟ้าจากจีน เหลือ 0% เล็งใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ร่วมแจมวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นในพิธีการศุลกากร หวังลดการใช้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่ เพิ่มความโปร่งใส

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมฯ ได้มีการหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และกรมสรรพสามิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาแนวทางรองรับเกี่ยวกับผลกระทบจากการลดภาษีการนำเข้ารถยนต์นั่งไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) จากจีน เป็น 0% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-จีน โดยความตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นมานานแล้ว ซึ่งรถยนต์ EV อยู่ในบัญชีการค้าที่ตกลงร่วมกัน

“ที่ผ่านมาได้มีการหารือแนวทางรองรับเรื่องดังกล่าวในระดับนโยบายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมสรรพสามิต และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องมาโดยตลอด ซึ่งก็มีหมายมาตรการที่พิจารณาไปแล้ว เช่น ในส่วนของกรมสรรพสามิต ก็ไปดูเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ทั้งเรื่องยางรถยนต์ แบตเตอร์รี่ ยืนยันว่าหลาย ๆ เรื่องมีการปรึกษาและพูดคุยกันตลอด” นายกฤษฎา กล่าว

ทั้งนี้ การปรับลดอัตราภาษีนำเข้าเหลือ 0% ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-จีน เพิ่มเติมอีก 703 รายการ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2561 นั้น มีรายการสินค้าสำคัญ ๆ ได้แก่ กลุ่มสินค้าเกษตร กลุ่มรถยนต์นั่งไฟฟ้า (EV) แบตเตอรี่ เครื่องอัดประจุไฟฟ้า ไม่นับรถเมล์ไฟฟ้าที่ยังคงเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 30% ของราคา CIF ตามเดิม โดยหลายฝ่ายกังวลว่าการปรับลดภาษีการนำเข้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

สำหรับแนวทางการปฏิบัติงานของกรมศุลกากร ยังเน้นดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงเข้มงวดในสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดำเนินการมาอยู่แล้ว รวมถึงจะมีการพัฒนาระบบการทำงาน ด้วยการดึงระบบไอทีเข้ามาเสริมการทำงานขอเจ้าหน้าที่มากขึ้น เช่น ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นในขั้นตอนพิธีการนำเข้าสินค้าของศุลกากร ว่าเป็นกรณียกเว้นการตรวจ (กรีน ไลน์) หรือกรณีสั่งการเปิดตรวจ (เรด ไลน์) เพื่อเป็นการลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น  

ขณะที่การตรวจสอบสินค้าแบรนด์เนม สินค้าอันตราย หรือสินค้าควบคุม ยาเสพติด เป็นต้น ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ทำงานตรวจสอบกันอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว โดยมีการประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้การทำงานรอบคอบ และรัดกุม มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0