โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

“ศก.สร้างสรรค์”ตัวช่วยยุคโลกชะลอตัว-AIแย่งงาน

Money2Know

เผยแพร่ 24 ก.ค. 2562 เวลา 00.03 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
“ศก.สร้างสรรค์”ตัวช่วยยุคโลกชะลอตัว-AIแย่งงาน

เทคโนโลยีกำลังเข้ามาแปลงโฉมเศรษฐกิจโลกและภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน การสร้างความมั่งคั่งผ่านความรู้และการสร้างสรรค์ของมนุษย์กำลังจะแซงหน้าการสร้างความมั่งคั่งผ่านทรัพยากรธรรมชาติ

United Nations Institute for Training and Research (UNITAR) ระบุว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy) เป็นภาคที่มีพลวัตมากที่สุดของเศรษฐกิจโลก โดยมีการพัฒนาสินค้าบนพื้นฐานของไอเดีย ความรู้ ทักษะ และความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม

ข้อมูลของธนาคารโลกเมื่อปี 2558 ระบุว่ารายได้จากเศรษฐกิจสร้างสรรค์ใน 11 อุตสาหกรรม ช่วยสร้างมูลค่าให้แก่จีดีพีของโลก 2,250,000 ล้านดอลลาร์ และมีการเติบโตปีละ 15%

Patrick Cooke แห่ง Oxford Business Group มองว่าอินโดนีเซียเป็นประเทศหนึ่งที่เหมาะอย่างยิ่งกับ creative economy ทั้งยังได้เปรียบตรงที่มีตลาดในประเทศขนาดใหญ่เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์

เมื่อปี 2558 รัฐบาลของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ตระหนักถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในอันที่จะเพิ่มการบริโภคในประเทศและรายได้จากต่างประเทศ จึงได้ตั้งสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Bekraf) ซึ่งมีภารกิจบ่มเพาะเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมไปกันนั้นก็ค่อยๆ ลดการพึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์ ภายใต้เป้าหมายของการดันอินโดนีเซียให้เป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของโลกภายในปี 2573

Bekraf ระบุว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มีสัดส่วน 7.4% ในจีดีพีของประเทศ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มีการขยายตัวแง่บวกทุกปี โดยเมื่อปี 2560 เศรษฐกิจสร้างสรรค์สร้างเม็ดเงินเข้าสู่จีดีพีของประเทศกว่า 71 ล้านดอลลาร์ จากนั้นก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อปีที่แล้วเป็น 78.9 ล้านดอลลาร์

ส่วนในปีนี้คาดว่าเม็ดเงินจะเพิ่มขึ้น 9.6% เป็น 86.9 ล้านดอลลาร์ นอกจากนั้นยังมีการจ้างงาน 14.3% ของแรงงานทั้งหมด

เมื่อปีที่แล้ว Bekraf จัดการประชุมระดับโลกด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ขึ้นเป็นครั้งแรก (World Conference on Creative Economy)ที่บาหลี เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในฐานะที่ก่อให้เกิดโอกาสของการมีส่วนร่วมและโอกาสที่เท่าเทียมกัน

creative economy ในอินโดนีเซียมีศักยภาพที่จะเติบโตเนื่องจากปัจจัยหลายประการ รวมถึงการที่รัฐบาลเสนอโอกาสมากมายเพื่อให้อุตสาหกรรมได้พัฒนา ประกอบกับจำนวนประชากรชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น และตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่สำหรับสินค้าครีเอทีฟ

ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของ Bekraf มองว่าในอนาคตอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอินโดนีเซียในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว นอกจากนั้น คนยุคมิลเลนเนียลยังเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกด้วย

Bekraf เรียกร้องรัฐบาลให้เพิ่มความพยายามหนุนการส่งออกสินค้าครีเอทีฟ ขณะที่ทางสำนักงานได้จัดเทศกาลและงานแสดงสินค้าเพื่อส่งเสริมสินค้าครีเอทีฟซึ่งมีศักยภาพในการส่งออก โดยได้มีการปรับเป้าหมายการส่งออกให้เพิ่มขึ้น 8% จาก 20,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว เป็น 21,800 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตบางรายยังไม่พร้อมผลิตสินค้าป้อนผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลาง 300 ล้านคนจากจีน

อุตสาหกรรมครีเอทีฟมีศักยภาพที่จะสร้างงานอันมีมูลค่า ในยุคของการพัฒนาระบบอัตโนมัติหรือนำหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในภาคอุตสาหกรรมรวมถึงธุรกิจต่างๆ ดังนั้นการปลดล็อคเพื่อใช้ศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้ได้เต็มที่ จึงเป็นสิ่งท้าทาย ไม่เฉพาะสำหรับอินโดนีเซีย แต่รวมถึงหลายประเทศ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0