โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

แฟชั่น บิวตี้

“วิภาวี คอมันตร์” จากลูกเป็ดขี้เหร่สู่ดาวมหา'ลัย

Manager Online

เผยแพร่ 10 ธ.ค. 2562 เวลา 02.25 น. • MGR Online

จัดว่าเป็นหนึ่งในสาวสังคมที่ออร่าจับตลอด แม้วันนี้จะก้าวสู่การเป็นคุณแม่ลูกแฝดแล้วก็ตาม สำหรับ “โมนา-วิภาวี คอมันตร์” แต่ใครจะรู้ว่า เบื้องหลังความสวยที่ใครๆ ก็ยอมรับนี้ เมื่อสมัยยังเป็นเด็ก เธอกลับมองตัวเองว่าเป็นลูกเป็ดขี้เหร่ ผมฟู แถมยังมีสีแดง ใบหน้าไม่ได้มีอะไรโดดเด่น แม้พอเข้าสู่วัยรุ่นจะมีหนุ่มๆ มาขายขนมจีบ ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่เยอรมนี จนกลับมาเมืองไทย เข้ารั้วมหาวิทยาลัยก็ยังมีหนุ่มๆ ตามขายขนมจีบอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่วายถูกเพื่อนๆตั้งฉายาว่า “ยัยกระดาษ” เพราะจุดเด่นเดียวคือ ความขาวโอโม่ บางคนก็เรียก “หมวยฝรั่ง” เพราะตาเล็กๆ แต่คิ้ว ดวงตาเป็นสีน้ำตาลเหมือนฝรั่ง“ถามว่าโกรธมั้ย ไม่โกรธเลยค่ะ (หัวเราะ) แต่ขำด้วยซ้ำ เพราะเพื่อนๆ ก็ยังให้กำลังใจว่า สวยแบบ exotic อย่างตอนที่มีหนุ่มๆ มาจีบตั้งแต่มัธยมจนเข้ามหาวิทยาลัย เรายังถามตัวเองว่า เราหน้าตาดีขนาดนั้นเลยเหรอ” โมนาเปิดฉากการสนทนาอย่างเป็นกันเอง หลังจากเพิ่งเสร็จภารกิจพาลูกชายไปซ้อมบาสฯ“ตอนนี้หน้าที่หลักๆ ของโมนาคือ ดูแลลูก ดูแลบ้านค่ะ แต่ก็ยังไม่ได้เป็นแม่บ้านเต็มตัว เพราะโมนายังมีดูแลกิจการ B Boulevard Lifestyle Mall ที่อยู่ตรงบางนา กม.12 ล่าสุด เพิ่งครบรอบ 12 ปีไป โมนาเลยถือโอกาสเปลี่ยนชื่อเป็น The Bob ซึ่งเป็นชื่อเล่นของคุณพ่อมาตั้ง เพราะที่ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินคุณพ่อ ซึ่งโมนาขอท่านมาบริหาร โดยปรับจากเดิมที่เป็นแหล่งรวมศูนย์การเรียน 100% ให้เป็นตึกออฟฟิศให้เช่า 50% เพิ่มเติมคือมีส่วนฟิตเนสและโยคะด้วย ปกติโมนาไม่ได้เข้ามาทุกวัน จะมาแค่อาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง เพราะโชคดีมีผู้จัดการช่วยดูแล อาศัยติดต่อกันทางไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คุยกันทั้งวัน (หัวเราะ)”

เฉลยให้หายข้องใจแบบไม่ต้องถามต่อแล้วว่า ช่วงนี้คุณแม่คนสวยทำอะไรอยู่บ้าง แต่ที่ยังข้องใจคือ สวยหวานขนาดนี้ ทำไมถึงคิดว่าตัวเองเป็นลูกเป็ดขี้เหร่? เลยต้องชวนรำลึกความหลังกันหน่อย“โมนาเรียนโรงเรียนไทยจน ม.ต้น ก็ตามคุณพ่อไปอยู่เยอรมนี 3 ปี ช่วงที่ไปเหมือนได้ปลดปล่อยตัวเอง คือจากเดิมอยู่ไทย โมนาไม่ใช่เด็กเรียนดีเลย แต่พอไปที่โน่นเหมือนไปเจอทางของตัวเอง เราเรียนดีขึ้น เริ่มทำกิจกรรม ไปเล่นกีฬากับเพื่อน ไปอยู่กลุ่มวิ่งครอสคันทรี (cross country) อารมณ์เหมือนวิ่งวิบากในป่า จุดหมายคือไปยังพื้นที่ใกล้ๆ อย่าง เบลเยียม ฮอลแลนด์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเยอรมนี วิ่งครั้งละ 5 กิโลเมตร แต่ตอนซ้อมต้องซ้อมเผื่อประมาณ 7-8 กิโลเมตร จำได้ว่าอากาศหนาวแค่ไหนก็ต้องซ้อม เพราะเวลาวิ่งไปเป็นทีม เขาจะเอาคะแนนของทั้งกลุ่มมาเฉลี่ยรวมกัน”

พอกลับมาเมืองไทย โมนาสอบเข้าเตรียมอุดมฯ จริงๆ ถ้าเอาวุฒิที่มีมายื่น สามารถเข้าม.6ได้เลย แต่อาจารย์แนะนำว่า ถ้าโมนาอยากเอนทรานซ์ ให้เรียน ม.5 เพื่อปูพื้นให้มีความรู้ก่อน ด้วยความที่โมนาหมายมั่นว่าจะเข้าจุฬาฯ ให้ได้ เพื่อเจริญรอยตามคุณแม่ (เทพิน ชวางกูร) ซึ่งเป็นไอดอลของโมนา เธอเลือกยอมใช้เวลาอีก 1 ปีเพื่อเติมความรู้อื่นๆ นอกจากทักษะด้านภาษาที่มีติดตัว ทั้งภาษาเยอรมันและอังกฤษ สุดท้ายเธอก็ทำได้ สามารถสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้สมใจ“พอเข้ามหา'ลัยปี 1 โมนาก็ไปคัดตัวเป็นลีดงานฟุตบอลประเพณี ซึ่งปีที่ไป เป็นปีที่ครบรอบ 50 ปีพอดี ปีนั้นมีพี่แบม (จณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์) เป็นดรัมเมเยอร์ เหตุผลที่ไปเพราะมีรุ่นพี่มาชวน ก็เลยลองดู บวกกับพี่สาวซึ่งเรียนอยู่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ เหมือนกัน เขาก็เชียร์ เพราะตัวเขาก็อยากมาคัดตัว แต่ด้วยความที่เขาเป็นคนขาใหญ่ (หัวเราะ) ตอนนี้แซวได้เขาไม่โกรธ ก็เลยเหมือนฝากความหวังที่โมนาด้วย โมนาก็เลยไป จำได้ว่าแค่ซ้อมคัดตัวก็โหดมาก ซ้อมเป็นบ้าเป็นหลัง ทุกวันหลังเลิกเรียน โมนาเองถึงจะมีประสบการณ์เคยเป็นดรัมเมเยอร์โรงเรียน เป็นลีดโรงเรียน แต่ก็ไม่ได้เต้นเก่ง ต้องอาศัยตั้งใจและอดทนอย่างมากในการฝึกซ้อม เพราะแอบหวังใจว่าจะเป็นหนึ่งในคนที่ถูกเลือก”

ถึงจะออกตัวว่าไม่ได้เต้นพลิ้ว แต่ก็เต็มที่ จนกระทั่ง วันคัดตัวมาถึง โมนาสารภาพตามตรงว่า แทบจะถอดใจไปแล้ว เพราะชื่อถูกประกาศเป็นคนท้ายๆ ของฝ่ายหญิง“ปีโมนา มีแฝด 2 คู่ที่ได้เลือกไปก่อน หลังจากนั้นก็มีเด็กอักษรฯ อีกคนที่ประกาศชื่อไปแล้ว วินาทีนั้นโมนาก็ทำใจแล้วนะว่าคงไม่ได้ ปรากฏถ้าจำไม่ผิดเขาประกาศชื่อโมนาเป็นคนสุดท้ายของฝั่งผู้หญิงเลย ถามว่าดีใจมั้ย ดีใจแต่ไม่มาก เพราะใจมันเสียไปก่อนแล้ว (หัวเราะ) หลังจากนั้น ก็เข้าสู่วงจรการซ้อมที่หนักกว่าเดิม เพราะภารกิจหลักของลีดคือ ต้องช่วยกับคุมสแตนใหญ่ ทนกับอากาศที่ร้อนให้ไหว ฉะนั้น เราต้องซ้อมหนักเผื่อไว้ก่อน อย่างตอนซ้อม จะมีพี่ๆ หลายรุ่นมาช่วยซ้อม แต่ลีดอย่างพวกเรา ต้องซ้อมเต้นยิงยาวหลายชั่วโมง กว่าจะเลิก 4-5 ทุ่มทุกวัน แต่ก็โอเค ถามว่าอาการปวดเมื่อยมีมั้ย แน่นอน แต่ด้วยความที่ยังเด็ก อายุน้อย ก็ไม่หนักหนา ส่วนตัวโมนาเอง ส่วนหนึ่งที่ทำให้เราอึด เพราะมีภูมิจากการเป็นนักกีฬาตอนเรียนอยู่เยอรมนี ต้องซ้อมหนัก ซ้อมเผื่อไว้ก่อนอยู่แล้ว”

เมื่อถึงวันจริง โมนามีแก๊กตลกให้นึกถึงและอยากเล่าสู่กันฟังสนุกๆ ว่า “โมนายังจำบรรยากาศและชุดที่ใส่ได้เลย เป็นชุดทักซิโด้กับกางเกงเลกกิ้ง กับหมวกคล้ายๆ หมวกมายากล ร้อนสุดพลัง แถมกางเกงที่ใส่ก็ไม่กระชับ ทำให้เต้นแล้วไม่ค่อยมั่นใจ กลัวว่าจะหลุด (หัวเราะ) แต่ก็ผ่านมาด้วยดี ส่วนเรื่องความร้อน ความเหนื่อย เจอหมด แต่ใจสู้ เพราะพออยู่ในสนามจริง ได้ยินเสียงเชียร์ บรรยากาศโดยรอบ ทำให้เรามีพลังกว่าที่คิด เป็นความเหนื่อยแต่สนุก และเป็นความทรงจำที่ดีมากๆ อย่างวันนี้มาหาดูรูปเก่าๆ เอาให้ลูกชายดู เขาก็ยังหัวเราะว่านี่แม่เหรอ”

ไหนๆ ก็ย้อนความหลังเล่าถึงกิจกรรมตอนเป็นเฟรชชีแล้ว โมนาถือโอกาสเสริมว่า ก่อนจะเป็นลีดงานบอล เธอยังได้รับเลือกให้เป็นผู้ถือป้ายคณะตอนงานวันลอยกระทง จากการโหวตของเพื่อนๆ “โมนาไปนั่งเรียนปกติ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาโหวตอะไรกัน มารู้ตัวอีกที เพื่อนบอกว่า ได้คะแนนเป็นอันดับ 2 งั้นไปถือป้าย ส่วนอีกคนที่หน้าสวยแบบไทยๆ ได้คะแนนโหวตอันดับ 1 ก็ให้ไปเป็นนางนพมาศ”

แม้เรื่องราวจะผ่านมานับสิบปี แต่ฟังจากน้ำเสียง ต่อให้เจ้าตัวไม่เฉลยว่า หยิบมาเล่าทีไรก็ยังภูมิใจและตื่นเต้นเสมอ ที่ได้ย้อนวันวานกลับไป แค่ได้หยิบรูปเก่าๆ ขึ้นมาดูก็มีความสุขแล้ว“โมนาบอกว่า นอกจากความสุข ความสนุกที่ได้ ยังเหมือนเป็นการฝึกฝนตัวเองให้เป็นคนไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ จนกว่าจะได้ลองทำอย่างดีที่สุด สุดความสามารถ ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่โมนาใช้สอนลูกแฝดมาตลอดว่า คนเราเวลาคิดจะทำอะไร ต้องตั้งใจ พยายามอย่างที่สุด ถ้าทำเต็มที่แล้วปลายทางไม่ได้จริงๆ ไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยต้องพยายามให้สุด จะได้ไม่กลับมาเสียใจ” คุณแม่คนสวยทิ้งท้ายอย่างน่าคิด

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0