โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

“วิกฤติหนี้” พลอตเรื่องเดิม เพิ่มความต่าง

Money2Know

เผยแพร่ 15 ส.ค. 2561 เวลา 23.30 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
“วิกฤติหนี้” พลอตเรื่องเดิม เพิ่มความต่าง
ตลาดเคยเห็นเรื่องราวที่มีพลอตเรื่องทำนองนี้มาแล้ว นั่นคือ ประเทศที่มีหนี้สินอย่างหนักพบว่าตัวเองเผชิญวิกฤติ ฉุดให้ค่าเงินดิ่งตัว แล้วก็พูดกันปากต่อปากไปอย่างรวดเร็วว่าเดี๋ยวคงลุกลาม และท้ายที่สุดองค์การระดับโลกหรือบางประเทศในโลก ก็ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของตุรกีนั้น พลอตเรื่องแตกต่างออกไปเล็กน้อย เพราะวิกฤติหนี้ที่ผ่านๆ มา ส่วนใหญ่เป็นการกู้ยืมของภาครัฐ ขณะที่ตุรกีนั้นส่วนใหญ่เป็นหนี้ภาคเอกชน อันทำให้กลไกการเข้าอุ้มมีความซับซ้อนมากกว่า และก่อให้เกิดความวิตกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเล็กๆ ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเพียงเล็กน้อย อาจลุกลามไปอย่างรวดเร็ว

หัวหน้าฝ่ายการลงทุนของนอร์ธเธิร์น ทรัสต์ ตั้งคำถามว่า ประเทศที่มูลค่าตามราคาตลาดของหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อิสตันบูลทั้งหมด มีมูลค่าน้อยกว่า Netflix จะสร้างความปั่นป่วนได้อย่างไรน่ะเหรอ คำตอบคือผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม พร้อมอธิบายว่ามีตลาดเกิดใหม่บางแห่งที่สกุลเงินค่อนข้างอ่อนค่าและพึ่งพาเงินทุนจากภายนอกอย่างมาก (ส่วนใหญ่เป็นเงินสกุลดอลลาร์) กระแสวิตกในขณะนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในตุรกีอาจไม่จำกัดวงอยู่ในตุรกี

แม้ดูเหมือนวิกฤติครั้งนี้ไม่น่าจะมีผลกระทบครั้งใหญ่ต่อโลก แต่เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าและการอ่อนค่าของสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ อาจหนุนให้ปัญหามีความรุนแรง

วิกฤติหนี้ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของกรีซ ไซปรัส อิตาลี และประเทศอื่นในยูโรโซน ไม่ต้องเอ่ยถึงอาร์เจนตินาหรืออื่นๆ มีผลพวงต่อโลกในวงจำกัด หลายกรณีกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ

กระนั้น นักลงทุนก็พากันวิตกว่าประเทศไหนจะเป็นรายต่อไปที่จุดชนวนความปั่นป่วน

ในกรณีของตุรกีนั้น วิกฤติค่าเงินถูกทุบซ้ำด้วยความตึงเครียด เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ ประกาศเจตนารมณ์จะขึ้นภาษีสินค้าตุรกี ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นเรื่องค่อนข้างน่าห่วงที่สหรัฐเลือกลงมือกับตุรกีในช่วงที่ตุรกีกำลังอ่อนแอและเจ็บปวดทางเศรษฐกิจ

การเคลื่อนไหวของทรัมป์ฉุดค่าเงินลีราให้ดิ่งลงอีก จากที่ทรุดอยู่แล้วสืบเนื่องจากการตัดสินใจด้านการเงินและการคลังของผู้นำตุรกี แม้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้งแต่ค่าเงินก็ยังลดลง

สิ่งนี้เป็นข่าวร้ายสำหรับผู้เป็นหนี้ในตุรกี ซึ่งเป็นหนี้สกุลเงินต่างประเทศ แต่สินทรัพย์ที่ตัวเองมีอยู่เป็นเงินลีราที่กำลังดำดิ่ง โดยรวมแล้วบริษัทและสถาบันการเงินตุรกีเป็นหนี้ต่างประเทศอยู่ 220,000 ล้านดอลลาร์

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Gluskin Sheff ระบุว่าทั้งหลายทั้งปวงเป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือ เพราะช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาตุรกีเป็นผู้กู้ยืมรายใหญ่ในตลาดทุนโลก เมื่อบรรดาธนาคารกลางในโลกหนุนให้นักลงทุนกระจายความเสี่ยงและมองหาผลตอบแทน การกู้ยืมกว่าครึ่งอยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศ

ดังนั้นเมื่อเงินลีราดิ่ง ต้นทุนการชำระหนี้และความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ก็เพิ่มขึ้น

ขณะที่นักวิเคราะห์จาก Oppenheimer มองว่าวิกฤติส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ มักจำเพาะอยู่ที่ประเด็นภายในประเทศนั้นๆ และไม่มีแนวโน้มจะกระจายไปถึงเพื่อนบ้าน ดูเหมือนความเสี่ยงจะเน้นอยู่ที่ผู้ปล่อยกู้ที่เข้าไปพัวพันในวิกฤติการเงิน โดยปกติแล้วหากยิ่งนานเท่าไรในการหาทางแก้ปัญหา เศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ก็จะยิ่งสูญเสีย

คาดว่าสถานการณ์ในตุรกีจะไม่เลวร้ายลงจนถึงขนาดเป็นภัยคุกคามเศรษฐกิจโลก

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0