โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ชูหุ้น “สหรัฐ-ยุโรป” ยังโดดเด่น...ในขณะที่ “หุ้นตลาดเกิดใหม่” ราคายังถูก-เริ่มน่าสนใจมากขึ้น !!!

Wealthy Thai

อัพเดต 14 ก.พ. 2565 เวลา 15.03 น. • เผยแพร่ 15 ก.ย 2564 เวลา 15.22 น. • กฤษฎิ์ รัตนธีระธาดา

นักลงทุนหลายต่อหลายคนที่ให้ความสนใจการลงทุนใน “ตลาดหุ้น” อาจจะเริ่มสังเกตเห็นได้ว่ามีหลายประเทศที่สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นและหลายประเทศเองก็เริ่มคลายล็อกดาวน์
ซึ่งส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนเองก็เริ่มกลับมาด้วยเช่นกัน สะท้อนจากความเคลื่อนไหวของตลาด ‘สหรัฐฯ’ และ ‘ยุโรป’ ที่ได้มีสอดรับกับการคลายล็อกดาวน์และเปิดให้เดินทางได้ภายในประเทศ
แต่อย่างไรก็ตาม “ตลาดหุ้นทั่วโลก” ยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายอย่างการปรับลดปริมาณการซื้อพันธบัตรและการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ “ธนาคารกลางสหรัฐฯ” ที่จะเกิดขึ้นในเร็วนี้
ในวันนี้ทาง ‘Wealthy Thai’ จึงอยากนำเสนอทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลกและมุมมองการลงทุนในครึ่งปีหลังที่น่าสนใจ จาก “บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเอไอเอ (ประเทศไทย) จำกัด” หรือ AIAIMT” มาแชร์กันในครั้งนี้

“เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว” ฟื้นตัวและโตต่อได้…สวนทาง “ประเทศตลาดเกิดใหม่”

โดย “สุขวัฒน์ ประเสริฐยิ่ง”ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.เอไอเอ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้มุมมองการลงทุนในครึ่งปีหลังของปีนี้ว่า “เศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้ว” มีการฟื้นตัวต่อเนื่องและปรับตัวเข้าสู่การเติบโตเต็มศักยภาพ ในขณะที่เศรษฐกิจของ “ประเทศตลาดเกิดใหม่” ส่วนใหญ่ยังเผชิญกับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19
ความแตกต่างนี้จะนำไปสู่การดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ประเทศที่พัฒนาแล้วอาจมีการพิจารณาปรับลดมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ อาทิ การปรับลดปริมาณการซื้อพันธบัตรของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งนักลงทุนในตลาดคาดว่าจะเริ่มปรับขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2566  

(สุขวัฒน์ ประเสริฐยิ่ง)

“ในขณะที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ยังคงพึ่งพานโยบายของภาครัฐในการช่วยพยุงเศรษฐกิจ จากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันก็ยังคงความเสี่ยงมีด้านการควบคุมการระบาดของไวรัสและการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งอาจเห็นความผันผวนของตลาดได้”

“อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ” ระยะสั้นลดลง…แต่ “หุ้นสหรัฐ” ส่วนใหญ่ผลงานยังออกมาดีกว่าตลาดคาด

สำหรับ “อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ” ในระยะสั้น คาดการณ์ว่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำจากแรงกดดันด้านปริมาณการออกจำหน่ายพันธบัตรใหม่ที่ลดลง ในขณะที่สภาพคล่องในตลาดเงินยังคงอยู่ในระดับสูง แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อ “ธนาคารกลางสหรัฐฯ” เริ่มปรับลดปริมาณการอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการซื้อพันธบัตรของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับการปรับเพิ่มเงินคงคลัง จะนำไปสู่การปรับขึ้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร สะท้อนภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัว
“ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลดลง แต่ผลการดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนยังคงแข็งแกร่ง โดยหุ้นที่อยู่ในดัชนี S&P500 เกินกว่า 80% มีผลการดำเนินงานสูงกว่าที่ตลาดคาด เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการทำธุรกิจสนับสนุนการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจที่มีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจและทำให้การลงทุนในหุ้นมีแต้มต่อ”

“สภาพคล่อง” ที่ยังสูง…จะหนุนให้ผลตอบแทนจาก “หุ้น” สูงกว่า “ตราสารหนี้”

ดังนั้นเรายังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อการลงทุนในหุ้นมากกว่าตราสารหนี้โดยเฉพาะ “หุ้นในตลาดที่พัฒนาแล้ว” นำโดยหุ้นจดทะเบียนใน ‘สหรัฐฯ’ และ‘ยุโรป’ เนื่องจากสภาพคล่องส่วนเกินที่สูงจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้หุ้นมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าตราสารหนี้ต่อไป

“อย่างไรก็ดี เรายังคงต้องจับตามองความเสี่ยงด้านการควบคุมการระบาดของไวรัส การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่อาจเกิดขึ้นได้ การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนความไม่แน่นอนเรื่องจังหวะเวลาที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มถอนมาตรการสนับสนุนทางการเงิน”
ซึ่งอาจทำให้กลุ่ม “ตลาดหุ้นเกิดใหม่” กลับมาน่าสนใจได้อีกครั้งและเราเองก็มีมุมมองในเชิงบวกกับตลาดหุ้นดังกล่าว เนื่องระดับ P/E ที่จะไม่สูงมากหรือค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปที่ได้มีการปรับตัวขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง จึงมีโอกาสที่จะเห็นการเปลี่ยนกลุ่มเล่นของนักลงทุนมายังกลุ่มตลาดหุ้นเกิดใหม่และให้ตลาดปรับตัวขึ้นได้

“ตราสารหนี้เอเชีย” ยังน่าสนใจ…แนะเติม “หุ้นวัฏจักร” สร้างสมดุลให้พอร์ต

ในส่วนของ “ตราสารหนี้” นั้น เรามองว่า ‘ตราสารหนี้ในเอเชีย’ ยังน่าลงทุนเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ในตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากส่วนชดเชยความเสี่ยงการผิดนัดชำระที่สูงกว่า
“โดยภาพรวมการลงทุน เราเชื่อว่าความคล่องตัวในการปรับสัดส่วนการลงทุนและการลงทุนใน ‘หุ้นวัฏจักร’ ซึ่งโดยมากมีการเติบโตที่สม่ำเสมอและราคาหุ้นอยู่ในระดับที่ไม่แพงจะช่วยสร้างความสมดุลให้พอร์ตการลงทุนในช่วงภาวะที่มีความผันผวนสูงได้”

มีมุมมองเชิงบวกต่อ “ตลาดหุ้นไทย” มากขึ้น…ตามพัฒนาการในการจัดการ COVID-19 และการเปิดประเทศ

ส่วนมุมมองการลงทุนใน “ตลาดหุ้นไทย” นั้น หลังจากที่เริ่มมีการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันลดลง รวมถึงผู้ได้รับวัคซีนมีจำนวนเพิ่มขึ้นในแต่ละวัน ทำให้ความคาดหวังในการกลับมาเดินหน้าเศรษฐกิจของประเทศ มีมุมมองเชิงบวกมากขึ้น
อีกทั้งจากที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวสนับสนุนให้กลุ่มอุตสาหกรรมหลักๆ ของไทย โดยเฉพาะ “ภาคการผลิต” เริ่มกลับมาดีขึ้น อาทิ พลังงาน สินค้าพื้นฐาน และการเงินของไทย อย่างไรก็ตาม “ภาคการบริการ” ที่รวมถึงการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในประเทศยังเป็นที่น่ากังวล แต่โดยรวมตลาดการลงทุนในประเทศไทยเริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น
“ภาพรวมการลงทุนครึ่งปีหลัง ‘ตลาดหุ้นสหรัฐฯ’ และ ‘ยุโรป’ ยังคงเป็นตลาดหุ้นที่ควรให้น้ำหนักการลงทุน ถึงแม้ว่าระดับราคาจะค่อนข้างสูงแต่ด้วยภาพรวมของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้เป็นอย่างดีจนกลับเข้าสู่ระดับการเติบโตก็จะเป็นตัวสนับสนุนให้ตลาดหุ้นและกำไรบริษัทจดทะเบียนต่อไปได้”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0