โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“ลุงตู่” ห่วงเด็กๆ สั่ง ศธ.วางแผนการเรียนการสอนรับมือวิกฤติโควิด-19

ไทยรัฐออนไลน์ - Politics

อัพเดต 05 เม.ย. 2563 เวลา 12.48 น. • เผยแพร่ 05 เม.ย. 2563 เวลา 12.48 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

"บิ๊กตู่" เข้าทำเนียบฯ กำชับให้สื่อสาร ปชช.ทิศทางเดียวกัน ชัดเจน กระชับ ห่วงการเรียนเด็กๆ สั่ง "ณัฏฐพล" วางแผนการเรียนการสอนรับมืออนาคต ย้ำต้องมีประสิทธิภาพ ไม่เป็นภาระ ปชช. ชง ครม.อังคารนี้ งบฯ เยียวยาโควิดเฟส 3 เน้นผู้มีรายได้น้อย ผู้ตกงาน เกษตรกร ทำงานในพื้นที่ยึด ศก.พอเพียง

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 5 เม.ย.63 ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 หลังประกาศเคอร์ฟิว และติดตามการแก้ไขปัญหาหลังเกิดเหตุวุ่นวายที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ทั้งหมดเข้ารายงานตัวครบแล้ว และได้หารือกับ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ห้องทำงาน ตึกไทยคู่ฟ้า โดยขอให้ปรับการสื่อสารให้เป็นทิศทางเดียวกัน กระชับ ไม่ซ้ำซ้อนและทันเหตุการณ์

จากนั้น นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เข้าพบนายกฯหารือมาตรการการเรียนการสอนรับมือสถานการณ์โควิด-19 โดยนายณัฏฐพล เปิดเผยว่า นายกฯ เป็นห่วงเด็กๆ ได้ให้นโยบายเรื่องของการเรียนการสอนในช่วงวิกฤติโควิด-19 เพื่อเชื่อมโยงมาตรการรับมือในอนาคต และเพื่อให้ครูมีเวลาปรับตัว อย่าไปคิดว่าจะมีวัคซีนเมื่อไหร่ เพราะการศึกษาหยุดรอไม่ได้ ต้องวางแผน อยากให้รับการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ โดยให้หาแนวทางที่เหมาะสมและคุ้มค่า นำระบบออนไลน์เข้ามาใช้ ไปดูว่ามีอะไรที่จำเป็นบ้าง อย่างเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์การเรียนการสอน เพื่อเตรียมให้พร้อม พร้อมย้ำการใช้งบประมาณต้องคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพ สำคัญอย่าให้เป็นภาระผู้ปกครองโดยไม่จำเป็น อย่าสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน ซึ่งรายละเอียดมาตรการการเรียนการสอน จะเสนอเข้าที่ประชุม ครม. วันที่ 7 เม.ย.

ต่อมาเวลา 12.15 น. นายกฯได้เรียกนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง และนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เข้าหารือเพื่อติดตามความคืบหน้าการทำรายละเอียดการวางมาตรการเยียวยาและดูแลระบบเศรษฐกิจระยะที่ 3 ที่เห็นชอบหลักการในการประชุมครม.นัดพิเศษเมื่อวันที่ 3 เม.ย.โดยเป็นมาตรการชุดพิเศษที่จะใช้วงเงินดำเนินการทั้งสิ้นคิดเป็น 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ผ่านการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ ธปท. 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) พ.ร.ก.ให้อำนาจธปท.เข้าไปซื้อตราสารหนี้เอกชนที่ครบกำหนด โดยใช้เงินของ ธปท.เอง ส่วนกระทรวงการคลังจะออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน ส่วนจะเป็นวงเงินเท่าไหร่จะต้องไปดูผลจากการให้ทุกกระทรวงตัดงบประมาณ 10% เฉพาะงบส่วนที่ตัดได้โดยไม่เกี่ยวเงินเดือนและค่าจ้างก่อน 
       
โดยนายกฯ ย้ำ พ.ร.ก.ที่จะเสนอที่ประชุมครม.วันที่ 7 เม.ย.ขอให้กระทรวงคลังและธปท.เร่งทำรายละเอียด ครอบคลุมทุกมิติ ช่วยผู้มีรายได้น้อยที่ตกงานขาดรายได้ให้มีเงินประทังปากท้อง ลดภาระหนี้เกษตรกร สร้างงานในพื้นที่รองรับคนอพยพกลับบ้าน โดยยึดศาสตร์เศรษฐกิจพอเพียง ขณะเดียวกันต้องช่วยพยุงผู้ประกอบการให้เดินหน้าธุรกิจไม่หยุดจ้างงาน เป็นหลักพิงให้ภาคการเงินการธนาคารให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมาเวลา 14.00 น. นายกฯ เดินทางกลับออกจากทำเนียบรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ช่วงเช้ามีกระแสข่าว เย็นวันที่ 5 เม.ย. นายกฯ เตรียมออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) ซึ่งในข่าวระบุจะแถลงประกาศเกี่ยวกับมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 แต่ล่าสุดได้รับการยืนยันจากทีมงานนายกฯ ว่า นายกฯ ไม่มีการออกแถลงการณ์ผ่าน ทรท.ตามที่มีกระแสข่าวแต่อย่างใด.

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0