โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

“รมต.ดีอี คนใหม่” คงทำงานเป็นนะ !! (Cyber Weekend)

Manager Online

อัพเดต 15 มิ.ย. 2562 เวลา 00.39 น. • เผยแพร่ 15 มิ.ย. 2562 เวลา 00.39 น. • MGR Online

ในขณะที่เหล่าพรรคการเมืองกำลังต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีกันอย่างเข้มข้น กลับไม่มีการยื้อแย่งกระทรวงหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี อยู่ในสายตาเลยแม้แต่น้อย

ต้องยอมรับว่ากระทรวงดีอีงบประมาณน้อย ขนาดบุคลากรในกระทรวงเองยังยากที่จะหาคนมานั่งให้เต็ม ตามจำนวนที่ควรจะเป็น จึงกลายเป็นกระทรวงที่ดูจะทันสมัยแค่ชื่อ แต่กลับขาดคนเก่งที่มีความรู้ความเข้าใจด้านทักษะดิจิทัลตามบทบาทหน้าที่ของกระทรวงดีอีที่ปัจจุบันมีสำนักงานใหม่ผุดขึ้นมามากมายตามกฎหมายไซเบอร์ที่ออกมาขับเคลื่อนประเทศ

ความท้าทายของ ว่าที่รัฐมนตรีดีอีคนใหม่ นอกจากต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องดิจิทัล แล้วยังต้องสามารถดึงคนเก่งเข้ามาบริหารกระทรวง รวมทั้งต้องไม่ละเลยรัฐวิสาหกิจในสังกัด เหมือนที่เป็นอยู่ในตอนนี้ที่ปล่อยให้หากินเองตามใจชอบ

***กฎหมายไซเบอร์รอให้ศึกษาและผลักดัน

ภายใต้การดูแลของกระทรวงดีอีในการขับเคลื่อนนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 จำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับไซเบอร์มาคุ้มครอง และ ผลักดันในเวลาเดียวกัน กระทรวงจึงมีหน้าที่ในการดูแลกฎหมายไซเบอร์ที่สำคัญ คือ 1.พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 2. พ.ร.บ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 3. พ.ร.บ.สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย 4.พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 5.พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ และ6.พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

แน่นอนว่ากฎหมายเรื่องการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ยังคงเป็นประเด็นคุกรุ่นที่อาจจะลุกโชนขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะกฎหมายนี้ ถูกต่อต้านอย่างหนักจากคนทั่วไป จนต้องมีการแก้ไขความหมายของระดับความรุนแรงในการโจมตีว่าต้องร้ายแรงมากถึงจะให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีได้โดยไม่ต้องใช้หมายศาล

แต่สำนักงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่ตามกฎหมายนี้ ก็ยังถูกระแวงอยู่ไม่น้อยว่าจะได้คนที่มีวิจารณญาณแบบเป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ กระทรวงดีอีมีบทบาทสำคัญมาก เพราะต้องทำงานร่วมกับ คณะกรรมการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และต้องทำงานบูรณาการร่วมกับกระทรวงสำคัญๆ เช่น กลาโหม, ธนาคารแห่งประเทศไทย,คมนาคม ,มหาดไทย,พลังงาน และ กระทรวงสาธารณสุข ในการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ เนื่องจากมีข้อมูลสำคัญของประชาชนและประเทศ จึงไม่อาจถูกโจมตีทางไซเบอร์ได้

***สำนักงานใหม่ที่ยังไม่มีใครทำงาน

สิ่งที่ตามมาหลังจากกฎหมายเกิดคือสำนักงานที่จะต้องทำงานรองรับตามกฎหมาย ทำให้ภายใต้ชายคาของกระทรวงดีอี เกิดสำนักงานใหม่ จำนวนมาก ยังไม่นับสำนักงานน้องใหม่ที่เพิ่งเกิดอย่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ก็ยังมีสำนักงานใหม่ที่จะเกิดขึ้นอีก ได้แก่ สำนักงานไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ แห่งชาติ , สำนักงานคุ้มครองข้อมูล,สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย รวมถึง สถาบันบิ๊กดาต้า,สถาบันเอไอ และสถาบันไอโอที ของดีป้าอีก ซึ่งต้องหาบุคลากรมาเติมจำนวนมาก แต่ยากที่จะหาคนเข้ามาทำงานในระบบราชการที่เงินเดือนน้อยกว่าเอกชน

ประเด็นนี้ พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีที่เริ่มใกล้คำว่าอดีต กล่าวว่า เรื่องบุคลากรยอมรับว่าเป็นปัญหาในการหาคนเก่งมาทำงาน เพราะเป็นงานราชการ เงินเดือนก็น้อย แต่วิธีแก้คือต้องหาเครือข่ายเอกชนเข้ามาทำงานร่วมกัน หากหาในประเทศไม่ได้ ก็ต้องวิ่งออกนอกประเทศ มันต้องดิ้นกันไป เพราะกระทรวงนี้มีความสำคัญต่อประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ที่สำคัญคือต้องทำให้ภายนอกรู้จักกระทรวงมากขึ้น ส่วนเรื่องงบประมาณจะมองว่าน้อยก็ไม่ถูกนัก เพราะหากนำเงินที่ได้จากกองทุนดีอีที่มีประมาณ 5,000 ล้านบาท มารวมด้วยก็นับว่ามากพอสมควร

***สานต่อโครงการเก่าแบบบูรณาการ

ส่วนเรื่องโครงการที่ต้องสานต่อ นั้น พิเชฐ กล่าวว่า เชื่อว่า รัฐมนตรีใหม่ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่น่าจะทำงานไม่ยากซึ่งโครงการเด่นของกระทรวงประกอบด้วย5 ธีม คือ ธีมที่ 1 การเปลี่ยนแปลงในด้านคน มีผลงานสำคัญคือ โครงการเน็ตประชารัฐ ซึ่งได้มอบหมายให้ บริษัท ทีโอที ดำเนินการแบบหืดจับ 24,700 หมู่บ้าน รองรับการใช้งานของประชาชน 5.53 ล้านคน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรอการอนุมัติจากครม.ในการขอใช้โครงสร้างพื้นฐานของหมู่บ้านให้เอกชนเชื่อมต่อให้บริการไปยังครัวเรือน

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนากำลังคนดิจิทัลผ่านการยกระดับทักษะของเยาวชนไทยกว่า 200,000 คนทั่วประเทศ ผ่านแพลตฟอร์มCodingThailand.orgเพื่อกระตุ้นความตื่นตัวในการเรียนรู้โค้ดดิ้งซึ่งจะเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญในยุคดิจิทัล และการส่งเสริมด้านการเท่าทันสื่อและการใช้สื่อโซเชียลอย่างมีวิจารณญาณในวงกว้าง ผ่านแพลตฟอร์มDigitzen

ธีมที่ 2 การเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจ ดำเนินการผ่านโครงการDigital Startup & Digital Transformationของดีป้า กระตุ้นให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจและบริการ รวมถึงเกษตรกรรม ส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมS-Curve

ธีมที่ 3 การเปลี่ยนแปลงสู่ 'สังคมดิจิทัล' ซึ่งดำเนินการผ่าน 3 โครงการคือ โครงการดิจิทัลชุมชนด้านE-Commerceบูรณาการใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐ สู่การขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ผ่านระบบบริหารร้านค้าปลีกสำหรับชุมชน 'Point of Sale ( POS)' และเว็บไซต์ Thailandpostmart.com

ปัจจุบันมีผู้ขึ้นทะเบียนจำหน่ายสินค้าในระบบPOSแล้ว 900 ราย จำนวนสินค้า 1,700 รายการ สร้างรายได้ให้ชุมชนประมาณ 20 ล้านบาท

ส่วนอีก 2 โครงการเป็นการใช้ประโยชน์จากบิ๊ก ดาต้า เพื่อสร้างสังคมดิจิทัล ประกอบด้วย โครงการสำรวจผู้มีรายได้น้อย ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยนำข้อมูลผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณ 2.9 ล้านคน มาเชื่อมโยงกับข้อมูลสำมะโนเกษตร เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลสถานะของเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพื่อให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และโครงการใช้ข้อมูลบิ๊กดาต้าเพื่อการเตือนภัย โดยเปิดให้คนทั่วไปเข้าถึงข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่เกิดจากการบูรณาการข้อมูลของภาครัฐ ซึ่งระบบนี้ทำให้ประชาชนทั่วประเทศกว่า 67 ล้านคน ได้รับข้อมูลข่าวสาร การเตือนภัย และสามารถเตรียมความพร้อมได้เป็นอย่างดี

ธีมที่ 4 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เพื่อรองรับระบบเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมี 2 โครงการ ได้แก่ Digital Park ThailandและIoT and Digital Innovation Instituteของ บริษัท กสท โทรคมนาคม และดีป้า โดยDigital Park Thailand อยู่ในอ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ส่วนอีกโครงการ คือ ศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Centre: AJCCBC) จัดตั้งโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA โดยได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่น ทั้งงบประมาณและองค์ความรู้ โดยมีภารกิจยกระดับการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของอาเซียน

และธีมที่ 5 การพัฒนาระบบนิเวศของเศรษฐกิจดิจิทัลทั้งในประเทศ และระดับอาเซียน อาทิโครงการASEAN Digital Agilityเน้นการพัฒนา 5 ด้านได้แก่ Cyber Security, Smart City, Connectivity and Mobility, Harmonization and AlignmentและManpower & Society เพื่อวางแนวทางสร้างระบบนิเวศดิจิทัลในระดับอาเซียน รองรับบทบาทของไทยที่ปีนี้เป็นประธานอาเซียน

โครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ปัจจุบัน ดีป้า ทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ร่วมกับกระทรวงพลังงาน และกระทรวงคมนาคม ปีที่ผ่านมาได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานนำร่องเมืองอัจฉริยะ 7 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ขอนแก่น เชียงใหม่ กรุงเทพฯ และในพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา สำหรับปีนี้จะเพิ่มเติมเป็นไม่ต่ำกว่า 24 เมือง

***ถ่วงดุลอำนาจบอดรัฐวิสาหกิจ

แค่สานต่อ 5 ธีมหลัก อาจยังไม่พอ กระทรวงดีอี ยังมีรัฐวิสาหกิจในสังกัดขนาดใหญ่ทั้งทีโอที กสท โทรคมนาคม และไปรษณีย์ไทย แต่ภายใต้การบริหารและกำกับดูแลของพิเชฐ แทบจะเรียกได้ว่าไม่ใส่ใจกับหน่วยงานเหล่านี้เลย อาจจะเป็นเพราะปัญหาที่มีอยู่มันยากเกินเยียวยาก็เป็นได้

อำนาจหนึ่งที่มีอยู่ของรมต. คือ การถ่วงดุล คานอำนาจที่ใช้หรือไม่ใช้แบบมิชอบของบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่สร้างความเสียหายให้หน่วยงาน ไม่ใช่การเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เพราะเกรงใจยศพลเอก ในอดีตบ่อยครั้งที่รมต.จะเรียกประธานบอร์ดหรือผู้บริหารในสังกัด มาตรวจการบ้านหรือสอบถามปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ควรเป็นที่พึ่งของพนักงานหรือผู้บริหาร หากได้รับการปฎิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากบอร์ด

การปล่อยปละ ละเลยไม่เหลือบมอง หากมีการเอาผิดเรื่องทุจริตคอรัปชัน ดูเหมือน รมต.ที่กำกับดูแลก็ควรจะโดนม. 157 ฐานละเว้นตามไปด้วย อย่างโครงการเน็ตชายขอบอันลือลั่นที่ทีโอทีชนะประมูลงานมาจากกสทช.ในขนาดที่เอกชนรายอื่นที่ประมูลชนะในโซนอื่นส่งงานกันเรียบร้อยตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ทีโอทียังต้วมเตี้ยมส่งมอบไม่ได้ ด้วยข้ออ้างสารพัด จนค่าปรับทะลุพันล้านบาทไปแล้ว โดยเนื้อแท้ที่รอเปิดโปงคือการทุจริต คอรัปชัน เอื้อประโยชน์ ที่อดีตประธานบอร์ดที่ไปเป็นสว.ที่ทรงเกียรติ ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องคงต้องรอรับกรรมในอนาคตอันใกล้นี้

รวมทั้งการแตกบริษัทลูกของทีโอที และ กสท โทรคมนาคม อีก 2 บริษัทที่เกิดปัญหาวุ่นวายจนเชื่อว่าอาจไม่รอดในอนาคต เดือดร้อนจนสหภาพฯต้องมาเคลื่อนไหว เดินขบวน ยื่นหนังสือนายกฯ เพื่อยับยั้งทางวิบัติ จนนำไปสู่การควบรวมเหลือเพียงบริษัทเดียวคือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด

นอกจากนี้จุดจบของดาวเทียมไทยคม 9 ดาวเทียมไทยที่เป็นชื่อพระราชทาน ก็อาจถือเป็นผลงานชิ้นโบแดง ของกระทรวงดีอี ที่ไม่ตัดสินใจแก้ปัญหาธุรกิจดาวเทียมจนทำให้ไทยคมดิ่งเหว พร้อมกับการเปิดเสรีดาวเทียมสื่อสาร และเข้าไปอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นอกจากนี้ยังมีเรื่องของไปรษณีย์ไทย ที่กำลังถูกคู่แข่งบริษัทขนส่งพัสดุต่างชาติเข้ามาชิงชัยในตลาดกันอย่างไม่ขาดสาย

การเป็นรมต.ดีอี จึงประกอบด้วยหลายมิติอย่างมาก ไม่ใช่เซียนแค่เรื่องไอที ปราดเปรื่องแต่เรื่องดิจิทัล แต่ไม่เป็นมวยเรื่องสื่อสาร ธุรกิจแสนล้านที่แข่งกันดุเดือด แล้วรัฐวิสาหกิจในสังกัดจะอยู่อย่างไร เพราะเหนือบอร์ดก็ยังมีรมต.คอยกำกับดูแลอีกชั้น ไม่ใช่การล้วงลูก หรือ แทรกแซง ใช้อำนาจไม่เป็นธรรมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โยกย้าย แต่เป็นการใช้อำนาจในฐานะผู้บริหาร ที่เมื่อเข้ามาต้องแก้ทุกปัญหา ไม่ใช่งานยากๆไม่ทำ ถนัดแต่งานเอาหน้า 'ตัดริบบิ้น เปิดงาน' อย่าให้ประเทศชาติ เสียเวลาและโอกาส กับพวกไม่เป็นมวยแต่อยากเป็นรมต.อีกต่อไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0