โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“รถไฟไทย-จีน” สมัยรัชกาลที่ 5 หนึ่งในฝันของนักจักรวรรดินิยม

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 13 ก.พ. 2566 เวลา 02.23 น. • เผยแพร่ 12 ก.พ. 2566 เวลา 22.35 น.
ภาพปก-เส้นทางรถไฟ
Mr. Stanley นักสำรวจอังกฤษ ดาวเด่นของราชสมาคมภูมิศาสตร์ฯ แสดงปาฐกถาผลการสำรวจทวีปแอฟริกาพร้อมกับแสดงแผนที่การค้นพบขนาดใหญ่ต่อหน้าคนนับพันที่ Albert Hall เป็นข่าวใหญ่ขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์อังกฤษ (ภาพจาก THE GRAPHIC, 1890 คุณไกรฤกษ์ นานา ประมูลมาจากลอนดอน)

“รถไฟไทย-จีน” สมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนหนึ่งของโครงการในฝันที่นักจักรวรรดินิยมตั้งความหวังไว้ ผลงานการค้นหาเส้นทางของราชสมาคมภูมิศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักร

ปัญหาทางภูมิศาสตร์ของสยามคือการขาดแคลนข้อมูลของคนไทย และขาดหลักฐานขอบเขตดินแดนในอาณัติที่ตนมีล้วนเป็นปัญหาพื้นฐานทำให้เป็นรองชาวตะวันตกในทุกๆ ด้าน แม้นว่าจะได้จัดตั้งกรมแผนที่ขึ้นแล้วก็ยังจำเป็นต้องจ้างฝรั่งเป็นหัวหน้าและยังจำต้องเชื่อถือข้อมูลของฝรั่งก่อนคนไทยด้วยกันเองในระยะแรกแม้ว่าจะล้มลุกคลุกคลานและต่างคนต่างทำกันตามอัธยาศัย แต่ต่อมาก็สามารถร่วมมือกันก่อตั้ง “สมาคม” ของนักสำรวจขึ้นตามเมืองหลวงของชาติต่างๆ โดยเรียกคล้ายกันว่า “สมาคมภูมิศาสตร์” หรือ “Geographical Society”

ในขณะเดียวกันรัฐบาลอังกฤษก็มักจะมีบทบาทอยู่เบื้องหลังสมาคมนี้ ทั้งการกำหนดนโยบาย การเลือกเส้นทาง การวางเป้าหมาย การหาทุนรอน และการประกาศความสำเร็จของการค้นพบทุกครั้ง พร้อมกับการมีส่วนร่วมในการใช้ผลสำรวจต่างๆ ของนักสำรวจผลักดันและวางแนวนโยบายจักรวรดินิยมของอังกฤษทางอ้อม

สมาคมดังกล่าวในลอนดอนจดทะเบียนขึ้นอย่างภูมิฐานภายใต้ชื่อราชสมาคมภูมิศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักร (The Royal Geographical Society of Great Britain) ทั้งยังยกฐานะนักสำรวจดีเด่นด้วยรางวัลเกียรติยศ จัดงานประกาศเกียรติคุณและผลสำเร็จจากการค้นพบถิ่นฐานที่มนุษยชาติไม่เคยรู้จักมาก่อน

สมาคมเฉพาะกิจนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1830 (ตรงกับรัชกาลที่ 3 ของไทย) ภายใต้ชื่อครั้งแรกว่า “สมาคมภูมิศาสตร์แห่งลอนดอน” เพื่อเผื่อแผ่ความรู้เกี่ยวกับภูมิประเทศและการสำรวจดินแดนนอกทวีปยุโรป สำนักงานของสมาคมตั้งอยู่ ณ Lowther Lodge ใกล้โรงมหรสพ Albert Hall กลางลอนดอน

เมื่อเริ่มจัดตั้งใหม่ๆ ใช้เป็นที่ชุมนุมนักสำรวจจากทั่วสารทิศ โดยเมื่อแรกตั้งมีลักษณะเป็น Book Club ที่ชุมนุมของสุภาพบุรุษเท่านั้น ดังเช่นสโมสรคนโสดทั่วไปในลอนดอน จัดให้มีเลี้ยงอาหารค่ำแก่บรรดาสมาชิกของสมาคมเพื่อถกเถียงปัญหาทางภูมิศาสตร์ตามที่ต่างๆ ทั่วโลกตามกระแสความอยากรู้อยากเห็นของคนอังกฤษในสมัยนั้น ซึ่งเป็นผลมาจากข่าวคราวจากอาณานิคมโพ้นทะเล

คณะผู้ก่อตั้งชุดแรก นำโดย Sir John Barrow และ Sir John Francis Beaufort ภายใต้พระบรมราชานุเคราะห์ของ King William IV ต่อมาในรัชสมัยของ Queen Victoria จึงได้รับพระราชทานนามและตราตั้งเป็น Royal Geographical Society (RGS) ใน ค.ศ. 1859 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 ของไทย)

สมาคมจะเป็นที่ชุมนุมอย่างคึกคักของแวดวงนักวิชาการ รวมถึงจัดแสดงปาฐกถาและบรรยายพิเศษ ในหัวข้อซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน เช่น การสำรวจทวีปแอฟริกา และเส้นทางการค้าใหม่ บนเส้นทางสายไหมทางทะเลสู่เอเชียตะวันออก

ราชสมาคมภูมิศาสตร์ฯ รับทราบว่าสยามรัฐมีทำเลที่ตั้งบนเส้นทางแห่งยุทธศาสตร์เศรษฐกิจและการเมืองที่สำคัญที่สุดในตะวันออกไกลก็เมื่อรัฐบาลอังกฤษหันมาสนใจ “สยามประเทศ” ว่าอยู่กึ่งกลางเส้นทางการค้าระหว่างอนุทวีปอินเดียกับจีนแผ่นดินใหญ่ที่มิอาจมองข้าม

ชาติมหาอำนาจอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศผู้ให้กำเนิดกิจการเดินรถไฟและพัฒนาระบบเดินรถไฟชาติแรกๆ ของโลก แต่เส้นทางรถไฟภายในอาณานิคมของทั้ง 2 ชาตินี้จำเป็นต้องสร้างขึ้นพาดผ่านพื้นที่ทับซ้อนหลายแห่งยังไม่อาจชี้ชัดว่าเป็นของใคร ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสจึงเพียรพยายามที่จะใช้แผนที่ของตนเกลี้ยกล่อมให้ผู้นำท้องถิ่นเชื่อถือและยินยอมให้สัมปทานแก่ชาติมหาอำนาจดำเนินกิจการ แต่บ่อยครั้งก็ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันบนเวทีการเมือง ทำให้ต่างฝ่ายต่างกีดกันพวกเดียวกันเอง ปล่อยให้ผลประโยชน์ท้องถิ่นขาดการสานต่อและขาดความทุ่มเทดังที่ควรจะเป็น

ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 18 ประเทศจีนเป็นศูนย์กลางของความมั่งคั่งทางทรัพยากรของทวีปเอเชีย อังกฤษและฝรั่งเศสใช้มาตรการต่างๆ แข่งกันที่จะใช้อิทธิพลภายในอาณานิคมที่พวกตนมีอำนาจอยู่ปูทางเข้าไปสู่จุดศูนย์กลางของแหล่งทรัพยากรดังกล่าว

ดังนั้น ในเมื่ออังกฤษได้ครอบครองพม่าอย่างเด็ดขาดแล้ว ก็ได้วางแผนที่จะรุกคืบขึ้นไปยังจีนผ่านรัฐอิสระทางภาคเหนือของพม่าและสยาม ในเวลาเดียวกันนั้นฝรั่งเศสซึ่งพม่าและสยามต้องการจะดึงเข้ามาถ่วงดุลอำนาจอังกฤษ เห็นช่องทางที่แทรกแซงกิจการภายในของพม่าและสยามเพื่อกันท่าอังกฤษ ทำให้เกิดการเขม่นกันและทำธุรกิจตัดหน้ากันตลอดเวลา

ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสต่างก็พยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากันทางการทหาร ซึ่งไม่คุ้มทุน การต่อสู้แบบใหม่เกิดเป็นการชิงไหวชิงพริบและเกมการเมืองที่ยึดเยื้อ โดยมีผู้นำท้องถิ่นเป็นตัวประกัน

การเดินทางเข้าสู่จีนตอนใต้ โดยใช้เส้นทางบกเป็นอุปสงค์และอุปทานใหม่สำหรับชาติมหาอำนาจจักรวรรดินิยม ภายหลังการค้นพบว่าการเดินเรือทางน้ำผ่านทางแม่น้ำสาละวินของพม่าโดยอังกฤษ และทางแม่น้ำโขงของสยามโดยฝรั่งเศสนั้นไม่สะดวกและไม่มีประสิทธิภาพดังที่คาดการณ์ไว้ เพราะแม่น้ำ 2 สายมักจะตื้นเขินในฤดูแล้ง มีไข้ป่าชุกชุม และพื้นที่ป่าเขาตามชายฝั่งก็เป็นที่ซ่องสุมของโจรผู้ร้ายที่คอยดักปล้นสะดมเรือโดยสารและเรือสินค้า จึงไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะใช้เป็นเส้นทางคมนาคมหลักได้

ขณะที่อังกฤษคิดจะสร้างทางรถไฟจากพม่าเข้าจีน และฝรั่งเศสต้องการจะสร้างเส้นทางรถไฟจากอินโดจีนสู่ยูนนานนั้นเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจและสมเหตุสมผลกว่าการเดินเรือทวนน้ำขึ้นไป รถไฟจึงเป็นยานพาหนะทางเลือกที่สะดวกรวดเร็วกว่า ซึ่งได้รับความนิยมจากนายทุนที่พร้อมจะให้การสนับสนุนโครงการนี้ให้สัมฤทธิผลจงได้

แผนแม่บทของอังกฤษ คือ เชื่อมโยงทางรถไฟจากอินเดียเข้ามายังพม่า จากนั้นก็ตัดทางรถไฟสายนี้เลาะเลียบแม่น้ำสาละวิน ของพม่า จากเมืองท่ามะละแหม่งขึ้นไปทางเหนือ ผ่านสิบสองปันนาของพม่าเข้าสู่แดนจีนภาคใต้ รถไฟของอังกฤษก็จะเปิดทางไปสู่มณฑลยูนนานและกวางสีของจีนอันอุดมสมบูรณ์และเป็นพื้นที่เศรษฐกิจหลักของจีน โดยไม่กระทบกระเทือนกฎระเบียบการใช้เมืองท่าอันยุ่งยากของทางการจีนดังที่ผ่านมา

รายงานสำรวจเส้นทางการค้าไปจีน ผนวกกับข้อเท็จจริงจากสงครามตังเกี๋ยของฝรั่งเศสที่นายคอลคุฮอนรายงานในทางลับให้ฝ่ายอังกฤษทราบ เป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลอังกฤษสนับสนุนทฤษฎีของเขา ถึงขั้นแต่งตั้งในนายคอลคุฮอนขึ้นดำรงตำแหน่งรองข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำรัฐฉาน ระหว่าง ค.ศ. 1886-89 เพื่อเป็นการปูนบำเหน็จความชอบ

ต่อมานายคอลคุฮอนคนนี้ก็ได้เขียนรายงานโดยละเอียดเสนอต่อรัฐบาลอังกฤษ ใน ค.ศ. 1886 ภายหลังการเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งสยาม ถึงความเป็นไปได้ที่จะวางเส้นทางรถไฟจากพม่าลัดผ่านเข้ายังดินแดนล้านนาของสยาม เข้าสู่พรมแดนจีนแถบมณฑลยูนนาน โดยอธิบายว่าเป็นเส้นทางที่สะดวกและง่ายที่สุด แผนแม่บทพร้อมด้วยพิมพ์เขียวของเส้นทางรถไฟสายนี้ถือเป็นหลักฐานชิ้นเดียวของโครงการนี้

วันที่ 16 พฤศจิกายน 1885 เวลาเย็น นายคอลคุฮอนหัวหน้าทีมวิศวกรนำผลสำรวจโครงการนี้เสนอต่อที่ประชุมราชสมาคมภูมิศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักร (The Royal Geographical Society of Great Britain) ที่กรุงลอนดอน โดยให้นายฮอลเล็ตต์ (Holt. S. Hallett) ผู้ช่วยของเขาอ่านรายงานความยาว 20 หน้ากระดาษต่อหน้าที่ประชุม พร้อมด้วยข้อมูลดิบที่วงการรถไฟอังกฤษไม่เคยได้ยินมาก่อน (อนึ่งได้รักษาชื่อเมืองต่างๆ และชื่อบุคคลด้วยอักษรโรมันตามชื่อเรียกเดิมในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่ออนุรักษ์หลักฐานเดิมเอาไว้ – ผู้เขียน)

“ข้าพเจ้าเรียนเชิญท่านผู้มีเกียรติมาประชุมพร้อมกัน ณ ที่นี้เพื่อแถลงรายงานการเดินทางและแผนแม่บทของการสำรวจพื้นที่ในเขตดินแดนพม่า สยาม และรัฐฉาน เพื่อกำหนดเส้นทางการวางทางรถไฟ ซึ่งคณะทำงานของเราเชื่อว่าสามารถเชื่อมต่ออินเดียและจีน 2 อาณาจักรอันยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกเข้าด้วยกัน

ตลอดเวลา 30 ปี มันเคยเป็นเป้าหมายของบรรดาพ่อค้าและกลุ่มนักธุรกิจอังกฤษ ตลอดจนคนในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ปกครองในอินเดียของเราที่จะเปิดและพัฒนาเส้นทางการค้ากับจีนภาคใต้ เกิดเป็นโครงการหลายชุด ทว่าเนื่องจากขาดการสำรวจหาข้อมูลทางบก ดังนั้น โครงการส่วนใหญ่ต่างมุ่งไปยังเส้นทางค้าขายทางเรือตามลำแม่น้ำสายใหญ่ๆ ในอินโดจีน มีอาทิ แม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวิน เป็นต้น ภายหลังที่นักสำรวจรุ่นก่อนๆ ทำความคุ้นเคยกับหนทางสายแม่น้ำเพื่อการพาณิชย์นาวี แล้วต่างก็พบกับความผิดหวังที่ไม่อาจใช้เป็นเส้นทางคมนาคมหลักได้

เราพบว่าหากวางทางรถไฟเลียบฝั่งแม่น้ำอิรวดีในพม่าสิ่งที่จะประสบก็คือ แนวภูเขาเตี้ยๆ ซึ่งทอดยาวไปสู่อ่าวเบงกอลทางตอนใต้ และถึงแม้จะสามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟจากอินเดียเลาะเลียบไปตามฝั่งทะเลนั้นทำได้ แต่จะใช้ค่าใช้จ่ายสูงเกินไป เพราะระยะทางจะยาวมาก ดังนั้น ถ้าจำเป็นอาจวางเส้นทางเข้ามาทางแคว้นอัสสัมด้านตะวันตกของพม่าจะดีกว่า

เส้นทางนี้ก็คือทฤษฎีเดิมตามเส้นทางคาราวานสายบาโม(Bhamo Route) นายคอลคุฮอนและข้าพเจ้าได้ทดลองเดินทางบนเส้นนี้แล้ว พบว่าห่างออกไปเพียง 250 ไมล์ (300 กิโลเมตร) ก็ถึงเมือง Tali-Fu ในจีน (คือยูนนาน)

แต่ถ้าเป็นทางรถไฟจะต้องใช้ระยะทางถึง 600 ไมล์ (560 กิโลเมตร) เพราะต้องเชื่อมเมืองต่างๆ ระหว่างอินเดียกับจีนเข้าไว้ตามทางรถไฟ ทางสายบาโมนี้ต้องผ่านหุบเขาใหญ่ๆ 4 หุบเขาด้วยระยะความสูง 8,000-9,000 ฟิต จากระดับน้ำทะเล ทางสายนี้จะมีราคาต่ำลง 4 เท่าหากวางบนพื้นที่ราบลุ่มที่มิใช่เทือกเขาในอีกด้านหนึ่ง หรือฟากตะวันออกของพรมแดนพม่าแทน ทว่าหากพิจารณาจากทางแม่น้ำอีกสายหนึ่งคือ แม่น้ำสาละวินที่ไหลออกทะเล ณ เมืองท่ามะละแหม่ง (Moulmein) หรือฟากด้านตะวันออกของพม่าก็จะมีผลดีมากกว่าผลเสีย และมีเหตุผลมากกว่าด้านตะวันตกของประเทศซึ่งเต็มไปด้วยที่ราบสูง

ดังนั้นเมื่อได้พิจารณาถึงสภาพแวดล้อมและเหตุผลด้านภูมิศาสตร์ด้วยหลักการแล้ว เราจึงลงความเห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะวางทางรถไฟจากมะละแหม่งผ่านเนินเขาลูกเตี้ยๆ แถบเมือง Maing Loongyee [คือ เมืองแม่สะเรียง ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน]ซึ่งน่าจะเป็นแนวเขาแนวเดียวตรงไปยังเมืองตาก (ฝรั่งเรียกเมือง Raheng) แถบลุ่มแม่น้ำปิง (Meh Ping River) ในเขตแดนสยาม อนึ่ง ความสูงของภูเขาในละแวกนี้มีความสูงเพียง 1,600 ถึง 2,287 ฟิต จากระดับน้ำทะเลเท่านั้น ซึ่งเตี้ยกว่าเทือกเขาในพม่าตอนหนือเป็นอย่างมาก ดังที่ข้าพเจ้ากราบเรียนท่านไปแล้ว

เส้นทางรถไฟจะหักเหข้ามพรมแดนจากสยามเข้าสู่ชายแดนจีนที่บริเวณเมืองเชียงแสน จากนั้นก็จะวิ่งต่อไปริมฝั่งแม่น้ำโขง ผ่านเมืองเชียงแขงแล้ววิ่งตรงต่อไปยังเมืองเชียงรุ้ง ข้ามแคว้นอิสระที่เรียกว่าสิบสองปันนา (Sipsong Pana) หรือ Independent Shan States

เชียงรุ้ง (Kiang Hung) นั้นอยู่ห่างจากเมืองชายแดนของจีนเรียกซูเมา (Ssumao) ประมาณ 50 ไมล์ (80 กิโลเมตร) ซูเมาเป็นเมืองป้อมปราการหน้าด่านของจีน และเป็นชุมทางการค้าขนาดใหญ่ที่สุดทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ณ ที่นี้ทางรถไฟของอังกฤษก็จะเชื่อมต่อกับทางรถไฟของจีน และนี่แหละคือแผนแม่บทที่เราเชื่อว่าเป็นเส้นทางบกที่เป็นไปได้ดีที่สุดเข้าสู่ประเทศจีนทางประตูหลัง

รัฐฉานอิสระ หรือสิบสองปันนา มีประชากรราว 1 ล้านถึงล้านห้าแสนคน ส่วนแคว้นล้านนาของสยามมีประชากรราว 2 ล้านห้าแสนคน ส่วนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาใต้ลงมามีประชากรประมาณ 3 ล้านห้าแสนคน

การสำรวจครั้งนี้พิสูจน์ว่าเส้นทางมะละแหม่ง-ตาก-เชียงแสน-เชียงรุ้ง-ซูเมา เป็นเส้นทางเยี่ยมที่สุดสำหรับการสร้างทางรถไฟเข้าสู่ประเทศจีนในราคายุติธรรม โดยใช้วิธีลัดเข้ามาวิ่งภายในดินแดนล้านนาของสยาม แผนงานนี้ถูกยอมรับและรับรองโดยคณะวิศวกรโยธาของกรมรถไฟอังกฤษเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

คณะของเราได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลสยามเป็นอย่างดีเกินความคาดหมาย คงไม่เกินเลยไปที่จะกล่าวว่าพระมหากรุณาธิคุณที่พระเจ้ากรุงสยามพระราชทานแก่เราเป็นผลลัพธ์จากความจริงใจ และความพยายามอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลอังกฤษกระทำต่อสยามเป็นเวลายาวนาน

ข้าพเจ้าและชาวคณะได้รับความช่วยเหลือและอนุเคราะห์ตลอดการสำรวจในพรมแดนสยาม จากบรรดาเจ้าเมืองและกรมการเมืองที่เราเดินทางผ่านไป ทุกฝ่ายดูตื่นเต้นกับข่าวการเปิดเส้นทางการค้าใหม่แทนเส้นทางคาราวานที่ใช้กันมาเป็นร้อยๆ ปี เจ้าหลวงเชียงใหม่ และเจ้าฟ้าเมืองเหนือแห่งลำปาง ลำพูน เชียงแสน เชียงราย เมืองฝาง เชียงดาว และที่อื่นๆ ส่งพนักงานและล่ามมาอำนวยความสะดวกแก่เราอย่างอบอุ่นและต่างก็มุ่งหวังให้โครงการนี้สำเร็จสมประสงค์

เส้นทางรถไฟที่คณะทำงานขอนำเสนอเพื่อเชื่อมโยงรางรถไฟจากเมืองท่ามะละแหม่งของอังกฤษก็คือเส้นทางต่อเนื่องสายสยาม-จีน ต้นทาง ณ เมืองมะละแหม่ง ต่อจากนั้นคือเมืองตากของสยามมีพลเมืองราว 20,000 คน รางรถไฟจะผ่านเมืองใหญ่น้อยและหมู่บ้านระหว่างทางรวม 481 แห่ง นอกจากนี้ทางการสยามยังเสนอให้ทำรางต่อลงไปยังเมืองท่าที่บางกอก ที่มีพลเมืองหนาแน่นประมาณ 500,000 คน รางจากมะละแหม่งและบางกอกจะวิ่งไปบรรจบกันที่เชียงแสน เมืองชายแดนของสยาม ซึ่งอยู่ห่างราว 190 ไมล์ (310 กิโลเมตร) จากชายแดนจีน โดยมีพื้นที่ของรัฐอิสระสิบสองปันนาคั่นกลางอยู่

เป็นที่น่ายินดีที่แม้นว่าภูมิประเทศในพม่าและสยามภาคเหนือจะทุรกันดารและมีอุปสรรคเพียงใด แต่พวกท่านก็สามารถสรุปให้เราเห็นเส้นทางที่ย่นย่อและใช้ได้จริงตามแผนแม่บทที่ทุกคนรอคอย โดยเฉพาะการค้นพบเส้นทางลัดผ่านราชอาณาจักรสยามซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของเรา

การประชุมในวันนี้ถือเป็นเกียรติยศอย่างสูงที่ ฯพณฯ เอกอัครราชทูตสยามประจำอังกฤษ [คือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศรวรฤทธิ์]ได้ประทานเกียรติมารับทราบข้อมูลด้วย ข้าพเจ้าในนามของทีมวิศวกรอังกฤษทุกคน ขอกราบขอบพระทัยในพระกรุณาธิคุณของท่านและพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้ากรุงสยาม ที่ทรงรับโครงการสำรวจครั้งประวัติศาสตร์นี้ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ และทางรัฐบาลอังกฤษก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะส่งผลดีและเป็นประโยชน์อย่างมากต่อความเจริญทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระบบคมนาคมภายในสยามซึ่งขวนขวายที่จะดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อสถานะอันมั่งคั่งและเสถียรภาพมั่นคงของสยามเอง…”

จากนั้นกรมหมื่นนเรศรวรฤทธิ์ก็ทรงลุกขึ้น แล้วมีพระดำรัสขอบใจที่ประชุมที่เชื้อเชิญพระองค์มารับฟังคำแถลงของคณะทำงานและทรงให้ความมั่นใจต่อที่ประชุมว่ารัฐบาลสยามจะดำเนินนโยบายเปิดประเทศและให้โอกาสโครงการนี้นำความเจริญมาสู่ภูมิภาคด้วยความจริงใจ

(แปลและเรียบเรียงโดย ไกรฤกษ์ นานา จากเอกสารต้นฉบับ)

แผนแม่บทจากแถลงการณ์ของนักสำรวจอังกฤษ ณ ราชสมาคมภูมิศาสตร์ฯ ในวันนั้น ทำให้ที่ตั้งของสยามรัฐถูกยกขึ้นมาเป็นหนทางใหม่เข้าสู่จีนที่มีอนาคตสดใส

ถึงแม้นว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการในฝันที่นักจักรวรรดินิยมตั้งความหวังไว้ แต่ก็เป็นการเปิดตัวอันทรงพลังและฉุดให้ฐานะของสยามประเทศโดดเด่นขึ้นฉับพลันบนเวทีการเมืองโลก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่**

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 ธันวาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0