โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“มัดหมี่” เทคนิคการสร้างลายผ้าที่มีต้นแบบมาจากอินเดีย

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 27 ต.ค. 2566 เวลา 06.28 น. • เผยแพร่ 01 พ.ค. 2565 เวลา 17.26 น.

ลวดลายในผ้าไหมไทยแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.ลวดลายจากกรรมวิธีการทอ เช่น จก ยก ขิด ขัด 2.ลวดลายจากกรรมวิธีการเตรียมลวดลายเส้นด้ายก่อนทอ เช่น การมัดหมี่ 3.ลวดลายจากกรรมวิธีการทำลวดลายหลังจากเป็นผืนผ้า เช่น การย้อม การมัดย้อม บางครั้งก็จำแนกผ้าไหมไทยตามกรรมวิธีเทคนิคการทอสามารถจำแนกได้โดยสังเขป ดังนี้ การทอขัด, มัดหมี่, จก, ขิด, ยกและการควบเส้น

ผ้าไหมจึงมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปตามกระบวนการผลิตนั่นเอง

สำหรับผ้ามัดหมี่ หรือผ้าที่ได้จากการ “มัดหมี่” พจนานุกรมผ้าและเครื่องถักทออธิบายคำว่า

“มัดหมี่ กรรมวิธีการทอผ้าอย่างหนึ่งที่สร้างลวดลายก่อนย้อม โดยเอาเชือกมัดด้ายหรือไหมเป็นเปลาะๆ ตามลาย เมื่อย้อมสีจะไม่ติดตามส่วนที่มัดไว้ ทำให้เกิดลวดลาย ถ้าต้องการให้มีหลายสีก็ต้องย้อมหลายครั้งจนครบสีที่ต้องการ การย้อมทำได้ 2วิธีคือ การย้อมเส้นยืนตามความยาวของผ้า และการย้อมเส้นพุ่งซึ่งสามารถสร้างลายได้ไม่จำกัดความยาวของผ้า…”

กรรมวิธีมัดหมี่ที่กล่าวมานั้น โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียมี “อินเดีย”เป็นต้นแบบ

อินเดียนั่นเป็นแหล่งผลิตสิ่งทอที่สำคัญของโลกตั้งแต่โบราณ เช่น การทอผ้าฝ้าย, การพิมพ์ลายผ้าด้วยมือ รวมถึงการมัดหมี่ ผ้ามัดหมี่ในอินเดียเรียกว่า “ผ้าปาโตลา” มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแคว้นคุชราต สร้างลวดลายด้วยการมัดหมี่ทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่ง (ขณะทีการมัดหมี่ส่วนใหญ่จะเลือกมัดบนเส้นพุ่ง หรือเส้นยืนอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น) ลวดลายของผ้าปาโตลาจึงคมชัด ผ้าปาโตลาจัดเป็นผ้าไหมมัดหมี่ที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชีย

ภาพจิตรกรรมผ้านุ่งของชายหญิงที่เป็นลวดลายมัดหมี่บนฝาผนังในถ้ำอาชันตายืนคือหลักฐานที่ยืนยันว่า อินเดียมีการทอผ้าที่ใช้การมัดหมี่ตั้งมากว่าพันปี โดยเข้ามาในเมืองไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คงมาพร้อมๆ กับการเผยแผ่ศาสนาพุทธ

แต่เทคนิคการสร้างลายผ้าด้วยการมัดหมี่ มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น ผ้าปาโตลา-อินเดีย, ผ้าโฮล-กัมพูชา, ผ้าลีมา-มาเลเซีย, ผ้ากาซือริ-ญี่ปุ่น, ผ้าแจสเป-กัวเตมาลา, ผ้าซินเหม่-เมียนมา เป็นต้น ในประเทศไทยแม้ชื่อ “มัดหมี่” จะรู้จักกันโดยทั่วไป แต่ในภาคเหนือก็ชื่อที่ท้องถิ่นนิยมเรียกว่า “มัดก่าน” หรือ “คาดก่าน”

ส่วนลวดลายที่สร้างนั้น ล้วนแต่มีพื้นฐานจากลวดลายเรขาคณิต การมัดหมี่ทุกชนิดของทุกประเทศต้องมีหลักการคำนวณตั้งแต่การเรียบเรียงเส้นด้าย เพื่อกำหนดความกว้างยาวของหน้าผ้า, การมัดเส้นด้ายแบ่งเป็นกลุ่มๆ เพื่อเป็นการกำหนดจำนวนเส้นด้านแต่ละลวดลาย ฯลฯ

ลวดลายมัดหมี่จึงประกอบด้วย เส้นตรง, เส้นทแยง, หักมุม, ซิกแซ็ก ฯลฯ แต่ก็มีความพยายามที่จะสร้างลวดลายที่โค้งมนและอ่อนช้อย เลียนแบบสิ่งของต่างๆในธรรมชาติ เช่น ก้อนเมฆ, คลื่น, ดอกไม้ ด้วยการมัดหมี่เส้นพุ่ง, มัดหมี่เส้นยืน หรือการมัดหมี่ทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน

ข้อมูลจาก

ระบบสารสนเทศศูนย์อนุรักษ์ผ้าไหม เว็บไซต์ กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ศ.วิบูลย์ ลี้สุวรรณ.พจนานุกรมผ้าและเครื่องถักทออธิบาย, สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, พฤษภาคม 2559

เผ่าทอง ทองเจือ, ผศ.ดร.กิตติกรณ์ นพอุดมพันธ์. มัดหมี่สายสัมพันธ์แห่งเอเชีย, ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์กรมหาชน), กันยายน 2559

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 31 มีนาคม 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0