โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

“มะระขี้นกยักษ์” โอกินาวา 3 สายพันธุ์ จากประเทศญี่ปุ่น ปลูกได้ดี สร้างรายได้งาม กก. 100 บาท ที่สวนคุณลี พิจิตร (ตอนที่ 1)

เทคโนโลยีชาวบ้าน

เผยแพร่ 18 เม.ย. 2562 เวลา 09.55 น.
18 มะระขี้นก

“โอกินาวา” เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะริวกิว ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น มีสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น เป็นเกาะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งภาษา วัฒนธรรม และการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ต่างกับดินแดนส่วนอื่นของญี่ปุ่น เกาะโอกินาวา ประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ที่อยู่กระจัดกระจายในบริเวณกว้าง มีหาดทรายขาวสวย น้ำทะเลสีคราม และปะการังที่ยังสมบูรณ์ ทำให้โอกินาวาเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักร้อนในฝันของชาวญี่ปุ่น

คนประเทศญี่ปุ่นบนเกาะโอกินาวาได้ชื่อว่ามีอายุยืนที่สุดในโลก ถือเป็นเกาะที่มีประชากรอายุเกิน 100 ปีมากที่สุดในโลก จากข้อมูลการศึกษาวิจัย พบว่า สภาพแวดล้อม วัฒนธรรม นิสัยคนโอกินาวาเป็นคนชอบผ่อนคลาย ไม่เครียด และอาหารการกินของคนโอกินาวามักจะรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่ง 3 อันดับ อาหารโอกินาวาที่รับประทานแล้วอายุยืน คือ

  • ผัดมะระโอกินาวา หรือ เรียก “โกยะ จัมปุรุ” (Goya Champuru)
  • *ผัดสาหร่ายคอนบุ (คูบุอิริจิ) *
  • น้ำส้มโอกินาวา (ชีกัวชา) โดยเฉพาะ โกยะ จัมปุรุ หรือ ผัดมะระ จัดเป็นอาหารพื้นเมืองยอดนิยมของจังหวัดโอกินาวา ที่ไปเกาะแห่งนี้แล้วต้องรับประทานให้ได้ มะระนั้นถือว่าเป็นผักที่มีวิตามินซีสูงในลำดับต้นๆ ส่วนรสขมในมะระเกิดจากสารที่เรียกว่า “โมโมดิซิน” ซึ่งให้รสขม มีสรรพคุณช่วยเจริญอาหาร และเป็นยาระบายอ่อนๆ และสาร “ชาแลนทิน” ที่อยู่ในเปลือก มีสรรพคุณทางยาในการลดน้ำตาลในเลือด และรักษาโรคเบาหวาน ที่โอกินาวาเชื่อกันมาแต่สมัยโบราณว่าความขมของมะระจะช่วยทำให้เลือดสะอาดและช่วยเรื่องความดันเลือดให้คงที่ ด้วยความที่มะระมีวิตามินซีมาก สูงกว่ามะนาว 2-3 เท่าตัว มากกว่าผักกะหล่ำปลี ถึง 4 เท่า ทำให้มะระเป็นตัวแทนอาหารของโอกินาวามาอย่างยาวนาน

นอกจากวิตามินซีแล้วยังมีวิตามินอี และยังมีแร่ธาตุต่างๆ มีใยอาหารอยู่มาก เหมาะสำหรับการป้องกันความอ่อนเพลียที่เกิดในหน้าร้อน มะระ หรือ โกยะ (goya) มักจัดอยู่ในเมนูอาหารของโอกินาวา ซึ่งให้พลังงาน 1 แคลอรี ต่อกรัม และมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง

มะระโกยะ นอกจากนำมาใช้ประกอบอาหารชนิดต่างๆ แล้ว ยังนำมาทำเป็นน้ำปั่นหรือคั้นสดไว้ดื่มก็ได้ หรือฝานบางๆ ใส่ในแซนด์วิช หรือใช้เป็นผักเคียงในเมนูซูชิ จากข้อมูลพบว่า คนบนเกาะโอกินาวา เป็นที่แรกในญี่ปุ่นที่เริ่มรับประทานมะระ ก็จะเป็นที่รู้จักและนิยมรับประทาน ด้วยเป็นพื้นที่แรกๆ ที่รับประทานมะระ พื้นที่ปลูกมะระจึงอยู่ที่เกาะโอกินาวาถือว่าเป็นแหล่งเดียวในญี่ปุ่นที่ปลูก โดยเฉพาะเมืองยาอิเสะ จังหวัดโอกินาวา เมื่อนักท่องเที่ยวมาเยือนเกาะโอกินาวา เมนูที่พลาดไม่ได้เลยนั้นคือ ผัดมะระโอกินาวา (โกยะ จัมปุรุ) ที่นำมะระมาซอยเป็นชิ้นบางๆ ผัดใส่ไข่ ใส่หมู ใส่เต้าหู้ โรยด้วยปลาป่น

ซึ่ง “สวนคุณลี” อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โทร. (081) 886-7398, (056) 613-021 ได้นำพันธุ์ “มะระขี้นกยักษ์” โอกินาวา มาปลูกที่สวนคุณลี จังหวัดพิจิตร มานานประมาณ 2 ปีกว่า พบว่ามีการเจริญเติบโตดีมาก สามารถออกดอก ติดผลดกมาก และมะระมีรสชาติดีเหมือนที่ปลูกบนเกาะโอกินาวาทีเดียว อายุการเก็บเกี่ยวเร็ว คือ ประมาณ 2 เดือน หลังย้ายกล้าปลูกลงแปลง และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นาน 1-2 เดือน ซึ่งขึ้นอยู่กับการบำรุงดูแลรักษา โดยจุดเด่นของมะระโอกินาวา คือรสชาติไม่ขมมาก นำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเช่นเดียวกับมะระทั่วไป

สายพันธุ์มะระขี้นกโอกินาวาญี่ปุ่น

เนื่องจากสายพันธุ์แรกที่สวนคุณลีนำเข้ามาปลูกและเผยแพร่ออกไปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นสายพันธุ์มะระขี้นกดั้งเดิมของเกาะโอกินาวา มีชื่อว่า Okinawa Abashi Gouya” (โอกินาวา “อะบาชิ” โกยะ) ซึ่งมีลักษณะผลสีเขียว เนื้อหนา ผลใหญ่ รสขมไม่มาก และต่อมาก็นำเข้าสายพันธุ์มะระขี้นกจากโอกินาวามาปลูกอีกหลายสายพันธุ์ เพื่อเพิ่มทางเลือกใหม่ในการปลูกและการจำหน่ายให้ผู้บริโภค ซึ่งตอนนี้ก็มีอีก 2 สายพันธุ์ใหม่ คือ มะระขี้นกยักษ์พันธุ์ Okinawa Shimayutaka Gouya” (โอกินาวา “ชิมะยูทากะ” โกยะ) มะระพันธุ์ให้ผลใหญ่สีเขียวเข้ม ผิวเป็นมันสวยงาม เนื้อหนา มีรสขมไม่มาก ผลยาว (ทรงผลนุ่น) และ มะระขี้นกยักษ์พันธุ์ “Okinawa Chuunaga  Gouya”(โอกินาวา “จูนางะ” โกยะ) ซึ่งมีลักษณะผลสีเขียว เนื้อหนา ผลใหญ่ รสขมไม่มาก ผลยาว (ทรงกระบอก)

ปัจจุบัน “สวนคุณลี” สามารถผลิตและจำหน่ายผลมะระขี้นกยักษ์โอกินาวา ส่งขายร้านอาหารในกรุงเทพฯ และขายปลีกที่สวน ได้กิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งได้การตอบรับจากคนรับประทานเป็นอย่างดี ซึ่งตอนมีการวางแผนการปลูกมีผลผลิตขายตลอดทั้งปี และยังคัดเลือกพันธุ์มะระขี้นกยักษ์โอกินาวาเพื่อผลิตเมล็ดจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจนำไปปลูก

การปลูก “มะระขี้นกยักษ์” โอกินาวา เริ่มต้นจากเพาะกล้ามะระโอกินาวา โดยการเพาะเมล็ดมะระนั้นทำได้ 3 วิธีดังนี้

  • วิธีเพาะในแปลง การเพาะด้วยวิธีนี้ต้องพรวนดินให้ร่วนซุยผสมปุ๋ยมูลสัตว์ เพื่อให้ดินร่วนซุยยิ่งขึ้น นำเมล็ดมะระมาเรียงห่างกัน ประมาณ 3 เซนติเมตร กลบด้วยดินหนา 2-3 เซนติเมตร เอาฟางคลุมรดน้ำ 3-4 วัน รอจนต้นกล้ามีใบจริง 2 ใบ หรืออายุประมาณ 8-10 วัน ก็ย้ายแปลงปลูก โดยก่อนการถอนกล้าควรรดน้ำให้ชุ่มเสียก่อน เพื่อต้นกล้าไม่บอบช้ำมากนัก
  • วิธีการเพาะกล้าในถุงดำเล็ก นำดินผสมปุ๋ยคอกและวัสดุปลูกที่หาได้ใส่ถุงดำ ขนาด 7×8 เซนติเมตร แช่เมล็ดมะระในน้ำ ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วนำเมล็ดเพาะใส่ถุง ถุงละ 1 เมล็ดรดน้ำให้พอชุ่ม เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 2-3 ใบ จึงย้ายลงแปลงปลูก
  • วิธีการเพาะกล้างอกวิธีเพาะกล้ามะระโอกินาวา นำเมล็ดพันธุ์มะระโอกินาวา มาแช่น้ำอุ่นไว้ ประมาณ 1 คืน หรือราว 5-8 ชั่วโมง เช้าอีกวันก็นำเมล็ดมาห่อกับผ้าเปียกน้ำหมาดๆ นำไปบ่มไว้ในกระติกน้ำหรือกล่องโฟม หรือใช้ถุงร้อนคลุมอบก็ได้ เพื่อให้เมล็ดมะระออกรากเร็วและงอกดีขึ้น ประมาณ 2 วัน เมื่อเปิดดูจะเห็นรากสีขาวๆ โผล่ออกมา เลือกเมล็ดที่รากงอกนั้น แล้วนำไปปลูกในถาดเพาะกล้าหรือถุงดำขนาดเล็ก เพื่อให้ง่ายในการดูแลรักษาต้นกล้า ดังนั้น แนะนำให้เพาะกล้าเสียก่อน การย้ายเมล็ดต้องทำด้วยความระมัดระวัง อย่าให้รากอ่อนที่งอกจากเมล็ดหัก ควรใช้ไม้กดจิ้มวัสดุปลูกให้เป็นหลุมเสียก่อน แล้วนำเมล็ดหยอดลงไป ใช้ปลายนิ้วชี้กับนิ้วโป้งบีบดิน หรือวัสดุปลูกกลบเมล็ดเบาๆ

จากนั้นรดน้ำอย่างสม่ำเสมออย่าให้แฉะ จนต้นมะระโอกินาวามีใบจริง 2-3 ใบ ก็สามารถย้ายปลูกในแปลงหรือถุงดำขนาดใหญ่ได้ ในช่วงที่เลี้ยงกล้าต้องหมั่นระวังแมลงที่จะมากัดกินยอด เช่น ตั๊กแตน และแมลงปีกแข็ง เป็นต้น

  • วิธีหยอดลงหลุมปลูกในแปลง นำเมล็ดมะระแช่น้ำอุ่นไว้อย่างน้อย 5-8 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นการงอกและทำให้เปลือกมะระขี้นกยักษ์โอกินาวานิ่มก่อน แล้วนำไปหยอดกลบที่หลุมปลูก หลุมละ 1-2 เมล็ด ในแปลงปลูกได้เลย

หลังการย้ายปลูกกล้ามะระขี้นกยักษ์โอกินาวาลงแปลง แนะนำใช้สารไดโนทีฟูแรน เช่น สารสตาร์เกิล จี อัตรา 2 กรัม ต่อหลุมปลูก หรือต่อต้น ใช้รองก้นหลุม ทั้งแบบย้ายจากกระบะ หรือย้ายจากแปลงเพาะกล้า หยอดพร้อมเมล็ดพันธุ์ โรยรอบโคนต้นหลังปลูกสามารถป้องกันแมลงศัตรูได้หลายชนิด ซึ่งอยู่ในกลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ ที่พบในยาสูบทั่วไป มีความเป็นพิษต่ำมากต่อมนุษย์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก ปลา และสิ่งแวดล้อม ออกฤทธิ์ดูดซึมเข้าทางระบบราก สามารถป้องกันกำจัดแมลงที่หลบซ่อนอยู่บนต้นพืชและใต้ดินได้ดี มีประสิทธิภาพออกฤทธิ์ควบคุม และกำจัดแมลงได้ยาวนาน 30-45 วัน ป้องกันกำจัดแมลงบนดิน เช่น เพลี้ยจักจั่นฝ้าย เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง แมลงหวี่ขาว เพลี้ยไฟ หนอนแมลงวันชอนใบ หนอนแมลงวันเจาะลำต้น ด้วงเต่าแตง และแมลงใต้ดิน เหมาะสำหรับพืชผัก โดยเฉพาะพืชผักส่งออก

กล้ามะระโอกินาวา มีใบจริง 3-5 ใบ หรือหลังเพาะเมล็ดราวๆ 30-45 วัน ก็สามารถย้ายปลูกลงแปลงได้ หรือปลูกลงถุงดำใบใหญ่ ในกรณีที่ดินปลูกไม่ดีต้องการปรุงดินปลูกเอง หรือมีพื้นที่ปลูกน้อย ระยะปลูก ระหว่างหลุมปลูกให้ห่างกัน ประมาณ 30 เซนติเมตร และระยะห่างระหว่างแถว ประมาณ 1-1.50 เมตร ในกรณีทำค้างแบบกระโจม แต่ถ้าทำแบบขึ้นค้างแบบสี่เหลี่ยมก็เลือกขนาดค้างได้ตามความเหมาะสม

การย้ายกล้าก็จะเหมือนพืชผักทั่วไป คือนิยมย้ายปลูกในช่วงเวลาเย็นที่แสงแดดไม่ร้อนมากนัก เพื่อไม่ให้ต้นกล้าเหี่ยว มะระเป็นไม้เถามีมือเกาะ จำเป็นต้องทำค้างเพื่อให้มะระเลื้อยขึ้นไปได้ ซึ่งการทำค้างต้องใช้ไม้ไผ่ ยาวประมาณ 2.50-3.0 เมตร ปักลงข้างๆ หลุมปลูกหรือข้างๆ ถุง แล้วรวบปลายไม้ทำเป็นจั่วหรือกระโจม มัดให้เหลือปลายไม้ไว้ หรือทำค้างแบบสี่เหลี่ยมตามความต้องการ แล้วใช้ตาข่ายไนล่อนขึงให้ต้นมะระเลื้อยเกาะขึ้นไป

วิธีการใส่ปุ๋ย

เริ่มต้นในขณะที่เตรียมดินปลูก ควรใส่ปุ๋ยคอกเก่าคลุกเคล้าลงไปในดินด้วย เพื่อช่วยให้ดินร่วน อุ้มน้ำให้อยู่ในดินได้นาน และช่วยรักษาสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้อยู่ในระดับเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช หลังปลูกมะระได้ประมาณ 1 สัปดาห์ ก็จะเริ่มให้ปุ๋ยเคมี ใส่ปุ๋ยทุก 7 วันครั้ง โดยจะเน้นใส่ปุ๋ยเสมอ เช่น สูตร 16-16-16 หลักการคือ เน้นการให้ปุ๋ยบ่อย แต่ให้ครั้งละไม่มาก ให้มะระได้กินปุ๋ยอย่างต่อเนื่อง ถ้าสังเกตว่าต้นมะระยอดแตกไม่ค่อยดี ยอดไม่เดิน ก็อาจจะเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยสูตรตัวหน้า (ไนโตรเจน) สูง อย่าง 25-7-7 พอยอดมะระเดินดีแล้วก็ค่อยกลับมาใช้ 16-16-16 ยืนพื้นตามเดิม

หรือในบางพื้นที่อาจจะหาซื้อปุ๋ยสูตร 25-7-7 ไม่ค่อยมี จะสามารถผสมปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 อัตรา 1 ส่วน กับปุ๋ยที่มีสูตรตัวหน้า (ไนโตเจน) สูง เช่น ยูเรีย (สูตร 46-0-0) หรือแคลเซียมไนเตรต (สูตร 15-0-0)  เลือกใช้ตามความเหมาะสม อัตรา 1 ส่วน นำมาผสมกัน ส่วนการให้ปุ๋ยทางใบ ฮอร์โมน สารป้องกันกำจัดโรคและแมลง จะฉีดพ่นทุกๆ 5-7 วัน ตั้งแต่ช่วงปลูกแรกๆ พอมะระแตกใบมา 4-5 ใบ ก็เริ่มฉีดพ่นแล้ว เพื่อเร่งต้นให้โตเร็ว แตกยอดเลื้อยขึ้นค้างได้เร็ว โดยจะฉีดพ่นทั้งฮอร์โมนสลับกันไป เช่น สาหร่ายสกัด เร่งการแตกยอด แตกใบ แคลเซียม-โบรอนอี เสริมให้ต้นแข็งแรง ช่วยให้ดอกดี ผสมเกสรดีติดผลได้ดี, แมกนีเซียมเดี่ยว ช่วยทำให้ใบเขียว ขยายลูก สร้างเนื้อ เป็นต้น

ช่วงมะระขี้นกยักษ์โอกินาวา อายุได้ 30 วัน หรือพบว่าเริ่มเห็นดอกของมะระ ให้รดน้ำวันละ 1-2 ครั้ง ตามความเหมาะสม การให้น้ำวันละกี่ครั้ง หรือให้ปริมาณเท่าไร ต้องดูความชื้นดินและสภาพอากาศประกอบ ช่วงที่มะระออกดอกตลอดระยะเวลาที่เลี้ยงผลจะขาดน้ำไม่ได้เลยในช่วงนี้ ไม่เช่นนั้นจะทำให้ต้นมะระไม่ค่อยอยากจะโต ใบดูไม่สดชื่น

เมื่อได้น้ำสม่ำเสมอทุกวัน ระยะนี้มะระจะติดดอกติดผล สังเกตต้นมะระถ้าสมบูรณ์ดี ยอดพุ่งดี มันจะติดดอกติดผลดีมาก

 

(อ่านต่อฉบับหน้า)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0