โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

“ภาวะหัวใจเต้นระริก” ภัยร้ายที่ไม่ควรมองข้าม

new18

อัพเดต 20 มิ.ย. 2562 เวลา 08.25 น. • เผยแพร่ 20 มิ.ย. 2562 เวลา 08.25 น. • new18
“ภาวะหัวใจเต้นระริก”  ภัยร้ายที่ไม่ควรมองข้าม

“โรคหัวใจ” นับเป็นภัยสุขภาพที่มีความเสี่ยงต่อชีวิต โดยโรคหัวใจสามารถแบ่งย่อยได้เป็นหลายกลุ่มโรค อาทิ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ รวมไปถึงโรคหัวใจเต้นระริก หรือโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดย นพ.คมสิงห์ เมธาวีกุล หน่วยสรีระไฟฟ้าหัวใจ กลุ่มงานอายุรศาสตร์หัวใจ สถาบันโรคทรวงอก ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง และวิธีป้องกันการเกิดโรคหัวใจเต้นระริก มีใจความสำคัญดังนี้

ภาวะหัวใจเต้นรัว หรือเต้นเร็วจนรู้สึกได้ หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ มีความรู้สึกเหนื่อยง่าย นั่นคือ สัญญาณเตือนของโรค “หัวใจห้องบนเต้นระริก” ซึ่งเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยโรคหัวใจเต้นระริกหรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า atrial fibrillation เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบบ่อย และพบมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยพบว่าโรคหัวใจเต้นระริกมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองขาดเลือด 5 เท่า, เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจล้มเหลว 3 เท่า และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและเกิดสมองเสื่อม 2 เท่า ดังนั้น การป้องกันการเกิดโรคหัวใจเต้นระริกจึงมีความสำคัญในการป้องกันโรคต่างๆ อันเป็นผลตามมามากมาย  

ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเต้นระริกมีทั้งปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ และไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การจะป้องกันโรคหัวใจเต้นระริกคงทำได้เพียงการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเต้นระริก ซึ่งปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ได้แก่
1. การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น สุรา ไวน์ เบียร์ เป็นต้นในปริมาณมากเกินพอดี
2. การออกกำลังกายอย่างหักโหม อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจสั่นพลิ้วได้
3. ความเครียดและโกรธง่าย มีข้อมูลว่าสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจสั่นพลิ้วได้
4. การสูบบุหรี่อันนำไปสู่โรคปอดเรื้อรัง ไม่เพียงแต่ผู้ที่สูบบุหรี่เท่านั้นที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเต้นระริก ผู้ที่ได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่นได้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเต้นระริกเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
5. ภาวะอ้วนและน้ำหนักเกิน มีหลายการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ค่าดัชนีมวลกาย (body mass index; BMI) ซึ่งคำนวณจากน้ำหนักหน่วยเป็นกิโลกรัมหารด้วยส่วนสูงหน่วยเป็นเมตรยกกำลังสอง โดยค่าดัชนีมวลกายที่เพิ่มขึ้นมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเต้นระริก ในคนเอเชีย ถ้าค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 23 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไปถือว่ามีน้ำหนักเกิน และตั้งแต่ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไปถือว่ามีภาวะอ้วน3
6. โรคความดันโลหิตสูง มีการศึกษาพบว่า ระดับความดันโลหิตที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเต้นระริกได้
7. โรคเบาหวาน มีการศึกษาพบว่าโรคเบาหวานมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจเต้นระริกได้ อย่างไรก็ตาม การศึกษาการควบคุมระดับน้ำตาลอย่างเข้มงวดยังไม่ได้แสดงให้เห็นว่าสามารถลดการเกิดโรคหัวใจเต้นระริกได้
8. โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า obstructive sleep apnea (OSA) อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อมูลน้อยเกี่ยวกับการรักษาโรคนี้ว่าจะสามารถป้องกันการเกิดโรคหัวใจเต้นระริกได้หรือไม่
9. โรคหัวใจ มีข้อมูลที่พบว่า โรคหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute myocardial infarction) หรือหัวใจล้มเหลว (heart failure) มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเต้นระริกเพิ่มขึ้น

ด้านการป้องกันการเกิดโรคหัวใจเต้นระริก ทำได้โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น ซึ่งประกอบด้วย
1. การส่งเสริมสุขภาพ โดยการหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลต่ำและไม่เค็ม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานตามลำดับ ออกกำลังกายในระดับปานกลางและไม่หักโหมซึ่งสามารถป้องกันการเกิดโรคหัวใจสั่นพลิ้วได้ และหาเวลาผ่อนคลายความเครียดและไม่โกรธง่าย
 2. ควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเต้นระริก โดยลดน้ำหนัก ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และป้องกันหรือรักษาการเกิดโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
3. การรักษาโรคหัวใจร่วมด้วย เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หัวใจล้มเหลว เป็นต้น
สิ่งที่สำคัญ เราควรจะหันมาใส่ใจสุขภาพให้มากขึ้น ดูว่ามีปัจจัยเสี่ยงอะไรหรือเปล่า ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ หมั่นไปพบแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อได้รับการวินิจฉัยรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งจะสามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงได้ดี โอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคตก็จะลดลง  “หัวใจ” เป็นสิ่งสำคัญ ป้องกัน ตรวจรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อจะได้อยู่กับคนที่เรารักไปนานๆ 
ขอบคุณข้อมูลจาก สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0