โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“ภาวะฉุกเฉินภูมิอากาศ”พิฆาตโลก

สยามรัฐ

อัพเดต 11 พ.ย. 2562 เวลา 23.00 น. • เผยแพร่ 11 พ.ย. 2562 เวลา 23.00 น. • สยามรัฐออนไลน์
“ภาวะฉุกเฉินภูมิอากาศ”พิฆาตโลก

ระยะนี้โลกของเรา ต้องบอกว่า อ่วม น่วมไปกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ อันสืบเนื่องมาจากวิกฤติของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง แปรปรวน จนระส่ำกันไปในหลายพื้นที่ หลากภูมิภาค

ไม่ว่าจะเป็นทวีปอเมริกาเหนือ อย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ยังคงเผชิญหน้ากับพิษภัยของไฟป่าครั้งใหญ่สุดเป็นประวัติการณ์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย หลังประกายไฟแรกได้เริ่มปะทุคุโชนกันมาตั้งแต่ช่วงปลายตุลาคมเดือนที่แล้ว บริเวณย่านคินเคด แต่จนถึง ณ วินาทีนี้ เปลวไฟก็ยังคงลุกลามอย่างต่อเนื่อง โดยเผาผลาญสรรพสิ่งที่ขวางหน้าไปแล้วคิดเป็นพื้นที่ 79,000 เอเคอร์ หรือราว 199,870 ไร่ พร้อมกับสร้างความเสียหายให้แก่อเมริกันชนจำนวนนับล้านคนได้รับผลกระทบ

ขณะที่ ภูมิภาคเอเชียใต้ ที่ประเทศบังคลาเทศ และคาบเกี่ยวพื้นที่บางส่วนของประเทศอินเดีย บริเวณพื้นที่ชายฝั่งอ่าวเบงกอล เช่น นครกัลกัตตา เขตเบงกอลตะวันตก เกาะซาการ์ รวมถึงมงคลา และจิตตะกอง ซึ่งเป็นสองเมืองท่าสำคัญของบังคลาเทศ ก็กำลังระส่ำจากมหาวาตภัยไซโคลน “บุลบุล” ที่พัดกระหน่ำด้วยขนาดความเร็วลมสูงถึง 120 – 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไปเมื่อช่วงกลางดึกของสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยแรงลมยังก่อให้เกิดปรากฏการณ์คลื่นซัดฝั่งขนาดความสูง 2 เมตร ถล่มชายฝั่ง พร้อมทำให้เกิดภาวะฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง และน้ำท่วมสูงฉับพลันเป็นบริเวณกว้างตามมา

ทั้งนี้ มหาวาตภัยไซโคน “บุลบุล” ได้คร่าชีวิตประชาชนไปแล้วจำนวนมาก และยังบังคับให้ทั้งชาวอินเดียและบังคลาเทศจำนวนเรือนแสน ต้องอพยพออกจากบ้านเรือนของตน ก่อนไปพำนักหลบภัยตามสถานพักพิงชั่วคราวต่างๆ แทน

นอกจากนี้ ก็ยังมีภูมิภาคออสเตรเลีย แดนจิงโจ้ ก็ผจญชะตากรรมจากมหันตภัยไฟป่า ซึ่งตามรายงานก็ระบุว่า เป็นไฟป่าครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นบนแดนดินถิ่นจิงโจ้เลยก็ว่าได้

โดยเป็นไฟป่าที่เกิดขึ้นถึงกว่า 100 จุด ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน บริเวณพื้นที่ชายฝั่งด้านตะวันออกของออสเตรเลีย คาบเกี่ยวระหว่างรัฐนิวเซาท์เวลส์ และรัฐควีนส์แลนด์ ซึ่งทั้งสองรัฐ ถือเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อออสเตรเลีย ทั้งในเรื่องการบริหาร ปกครอง และเศรษฐกิจ

เพราะไม่ว่าเมืองหลวง คือ กรุงแคนเบอร์รา อันเป็นศูนย์กลางบริหารและการปกครอง และเมืองท่า ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ คือ นครซิดนีย์ ก็ตั้งอยู่ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ส่วนที่รัฐควีนส์แลนด์ ก็มีนครบริสเบน เมืองท่าสำคัญอีกแห่งของออสเตรเลียสถิตอยู่

เบื้องต้นรายงานความสูญเสีย ก็ปรากฏว่า มีผู้เสียชีวิตและสูญหาย ตลอดจนผู้ได้รับบาดเจ็บ มีจำนวนหลายสิบราย ซึ่งในจำนวนผู้บาดเจ็บนี้ มีเจ้าหน้าที่หน่วยดับเพลิง ที่เข้าไปผจญเพลิง จำนวนนับสิบนายรวมอยู่ด้วย ส่วนความสูญเสียทางทรัพย์สิน ก็ปรากฏว่า บ้านเรือนกว่า 150หลังคาเรือน ถูกไฟป่าเผาผลาญจนวอด

ทั้งนี้ แม้ว่าทางการออสเตรเลีย ได้ส่งเจ้าหน้าที่จาก “สำนักงานดับเพลิงชนบท” หรือ “อาร์เอฟเอส (RFS : Rural Fire Service)” จำนวนรวมแล้วกว่า 1,300 นาย เข้าไปผจญเพลิงกับไฟป่าในพื้นที่ทั้งสองรัฐ คือ นิวเซาท์เวลส์ และควีนส์แลนด์ แต่ปรากฏว่า ก็ยังไม่สามารถสกัดไฟป่าได้ โดยแสงเพลิงยังคงไหม้ลุกลามไปอย่างต่อเนื่อง จนมีการระบุว่า พื้นที่ที่ประสบไฟป่าและบริเวณใกล้เคียง ตกอยู่ในสภาพที่เรียกว่า “สภาวะภัยพิบัติ (Catastrophic Conditions)” แล้ว

พร้อมกันนั้น ทางสำนักงานอาร์เอฟเอส ก็ยังมีคำเตือนให้บรรดาเมืองสำคัญต่างๆ ทั้งในรัฐนิวเซาท์เวลส์ และรัฐควีนส์แลนด์ เช่น นครซิดนีย์ เป็นต้น เฝ้าระวังสถานการณ์ไฟป่าอย่างใกล้ชิดตลอดช่วงสัปดาห์นี้ ซึ่งถ้าหากลุกลามเข้าใกล้ชุมชน อันเป็นที่ตั้งสถานที่สำคัญๆ อย่างโรงเรียน เป็นอาทิ ก็ต้องระงับกิจกรรมต่างๆ และเตรียมความพร้อมสำหรับการอพยพ

การออกมาเตือนของสำนักงานดังกล่าว ก็สะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์ไฟป่าในออสเตรเลียครั้งนี้ มีความรุนแรงขนาดไหน ใช่แต่เท่านั้น กระทั่งผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานอาร์เอฟเอสบางราย ก็ยังเอ่ยปากเองเลยว่า ไม่เคยเห็นสถานการณ์ไฟป่าที่เผาผลาญพื้นที่ต่างๆ นับร้อยจุดเฉกเช่นนี้มาก่อน

ทางด้าน บรรดานักวิทยาศาสตร์หลากสาขาทั้งหลาย ซึ่งมิใช่แต่เฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ก็ยังแสดงความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ มีความรุนแรงมากกว่าที่ผ่านๆ มา และมีแนวโน้มจะรุนแรงยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต จากการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ก่อนมีแถลงการณ์ร่วมกันในส่งซิกสะกิดเตือนว่า โลกของเราได้เข้าสู่ “ภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ (Climate Emergency)” จนน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ก่อนส่งเสียงเพรียกเตือนผ่านบทรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกฉบับล่าสุด เมื่อไม่กี่วันก่อน เพื่อเรียกร้องให้ประชาชน ตลอดจนรัฐบาลทางการประเทศต่างๆ ได้ตระหนัก และร่วมมือกันแก้ไขวิกฤติปัญหาอย่างจริงจังกว่าที่เป็นอยู่

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0