โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

บันเทิง

“ฟิลิปปินส์” โรงงานผลิตนางงาม ธุรกิจเวทีประกวดเม็ดเงินสะพัดมหาศาล

Manager Online

อัพเดต 19 ธ.ค. 2561 เวลา 00.23 น. • เผยแพร่ 19 ธ.ค. 2561 เวลา 00.23 น. • MGR Online

ความสำเร็จของ “แคทริโอนา เกรย์” กับการคว้ามงกุฏมิสยูนิเวิร์ส 2018 ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญเลยหากมองว่าเธอคือตัวแทนของฟิลิปปินส์คนที่ 2 ในรอบ 5 ปีที่คว้าตำแหน่งผู้หญิงที่สวยที่สุดในจักรวาลมาได้

ทางลัดสู่ชีวิตที่ดีกว่า

สำหรับประเทศไทยการประกวดความงามได้รับความสนใจมากพอสมควร แต่ในฟิลิปปินส์กิจกรรมค้นหาสาวงามแทบจะเป็นวาระแห่งชาติของประเทศ มีการประกวดเวทีน้อยใหญ่ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน จนไปถึงเมือง ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ

เพราะเวทีประกวดเหล่านั้นคือโอกาสสำหรับหญิงสาวทั้งหลาย พวกเธออาจจะได้รับรางวัลเป็นเงิน หรือสิ่งของ และถ้าโชคดีบางคนก็อาจจะได้เข้าสู่วงการบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นการแสดง หรือวงการแฟชั่น

เหมือนหญิงสาววัย 19 ปี จานีเซล ลูบิน่า อดีตผู้เข้าประกวด Binibining Pilipinas หรือ มิสฟิลิปปินส์ ที่บอกตรงๆ ว่าเวทีประกวดนางงามคือหนทางเดียวที่จะทำให้เธอหลุดออกจากชีวิตอันปากกัดตีนถีบได้ แม่ของเธอเป็นนักพนักงานทำความสะอาด เธอเองก็เคยทำงานนี้เช่นเดียวกัน

"ฉันไม่อยากจะเป็นคนทำความสะอาดไปทั้งชีวิต ฉันเคยต้องทำงานถูพื้นอยู่ทั้งวัน เพราะนายจ้างบอกว่าฉันทำไม่สะอาดซะที"

จนช่างแต่งหน้าคนหนึ่งที่รู้จักกัน มองเห็นความสวย และสูงถึง 183 ซม. ของ ลูบิน่า จึงส่งเสริมให้เธอได้ขึ้นเวทีประกวด ที่เธอขึ้นประชั้นความงามมาครั้งแล้วครั้งเล่า จากเวทีเล็กๆ รางวัล 3,000 เปโซ (1,800 บาท) หรือได้รับรางวัลเป็นโทรทัศน์ที่เธอบอกว่าดีใจมาก ถึงจะไม่ใช่ทีวีจอแบนด้วยซ้ำไป

แต่ตอนนั้น ลูบิน่า ก็รู้สึกว่าอย่างน้อย เธอจะมีทีวีให้พ่อกับแม่ดู "พวกท่านจะได้ไม่ต้องไปขอดูทีวีที่บ้านเพื่อบ้านอีกต่อไปแล้ว"

โรงงานผลิตสาวงาม

สาวสวยจำนวนมากในกรุงมนิลา และหัวเมืองใหญ่ๆ ของฟิลิปปินส์ จะเข้ารับการฝึกฝนระดับมืออาชีพ ทั้งฝึกฝนการเดินในรองเท้าส้นสูง, ฝึกโพสต์ท่า, ฝึกการยิ้มแย้ม, การแสดงออกบนเวทีประกวด รวมถึงฝึกฝนในการโชว์โฉมในชุดว่ายน้ำ ตั้งแต่พวกเธอบางคนยังใช้คำนำหน้าว่า “เด็กหญิง” ด้วยซ้ำไป

ในฟิลิปปินส์จะมี "ศูนย์ฝึก" สำหรับอบรบหญิงสาวเพื่อเตรียมความพร้อมในการขึ้นเวทีประกวดอยู่มากมาย รวมถึง Kagandahang Flores หรือ "โรงเรียนดอกไม้งาม" ของ โรดิน กิลเบิร์ต ฟลอเรส ที่เคยฝึกฝนจน บี โรส ซานติอาโอก สามารถคว้าตำแหน่ง Miss International 2013 และ เจมี แฮร์เรล ได้ครองตำแหน่ง Miss Earth 2014 มาแล้ว

ฟลอเรส เชี่ยวชาญในการฝึกฝนการเดินบนเวทีประกวดด้วยลีลาที่เรียกกันว่า "ท่าเป็ด" ซึ่งสาวงามจะเดินส่ายสะโพกในลีลาที่ชวนมอง เพื่อดึงดูคะแนนจากเหล่าคณะกรรมการ

อดีตนักวิศวกรรมเคมีที่ผันตัวมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสอนสาวงามบอกว่าสาวงามในสังกัดของเขา จะฝึกฝนการเดิน และการโพสต์ท่าอย่างหนัก ต้องทำท่าซ้ำๆ เดิมจน "กล้ามเนื้อจดจำทุกลีลาเอาไว้ได้ …. ตอนนี้พวกเธออาจจะรู้สึกเหน็ดเหนื่อย และอ่อนล้าแบบสุด ๆ แต่สุดท้ายพวกเธอจะกลายเป็นนางพญา" ฟรอเรส บอก

ในโรงยิมที่ใช้สำหรับฝึกฝนสาวงามจะเต็มไปด้วยหญิงสาววัยรุ่น ที่มีเหงื่อเต็มสองแก้ม กำลังฝึกฝนเดิน โดยมีกระจกบานใหญ่ให้พวกเธอมองเห็นท่วงท่าของตัวเอง สาวๆ เหล่านี้ยังจะได้รับการอบรมเรื่องการควบคุมอาหาร รวมถึงการพูดจา, ตอบคำถาม และปฏิบัติตัวด้วย

บ้านางงามกันทั้งประเทศทำธุรกิจเงินสะพัด

ปัจจุบันมีสาวงามชาวฟิลิปปินส์ถึง 4 คนที่เคยคว้ามงกุฏมิสยูนิเวิร์ส ส่วนเวทีมิสเวิลด์สาวชาวฟิลิปปินส์ก็เคยคว้ามาได้แล้ว 1 ครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าหญิงสาวที่ประสบความสำเร็จระดับคว้ามงกุฏระดับโลกได้กลายเป็นเหมือนราชินีในสายตาของชาวฟิลิปปินส์ทันที

จอยส์ เบอร์ตัน-ทิทูลาร์ อดีตมิสฟิลิปปินส์บอกว่าการชื่นชมความงามแทบจะกลายเป็นวัฒนธรรมของฟิลิปปินส์ไปแล้ว "วัฒนธรรมนี้คงเริ่มมาจากากรชื่นชมในความงามก่อน พวกเรายังรู้สึกสนุกดีกับวิจารณ์แบบแรง ๆ ทั้งกับคนที่ชนะ และแพ้ … เวทีประกวดเดี๋ยวนี้ก็มีความยุติธรรมค่อนข้างสูง คนที่ยากจนมาก ๆ ก็ยังมีโอกาสคว้ามงกุฏ เวทีความงามจึงเป็นเวทีแสดงพลังสำหรับเพศหญิงอย่างแท้จริง"

ความนิยมในการประกวดนางงามที่เพิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาจนทำให้ธุรกิจเวทีประกวดมีเม็ดเงินหมุมเวียนเพิ่มขึ้นอย่างน่าทึ่ง จากเดิมในปี 2010 ธุรกิจประกวดสาวงามในฟิลิปปินส์ได้รับเงินสปอนเซอร์จากภาคธุรกิจรวมทั้งหมดประมาณ 2.78 ล้านเปโซ (1.7 ล้านบาท) ตัวเลขก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 35 ล้านเปโซ (24 ล้านบาท) ในปี 2014 ยอดขายตั๋วเข้าชมการประกวดนางงามยังพุ่งกระฉูดจาก 1.2 ล้านใบในปี 2010 เป็น 4 ล้านใบในปี 2014 ด้วย

ด้วยความนิยมในหมู่คนดู ทำให้การประกวดนางงามสามารถเรียกสปอนเซอร์จากสินค้าต่างๆ ได้อย่างมากมาย ชนิดที่ว่าการประกวดหลายๆ เวทีสามารถประกาศยกรายได้จากการขายตั๋วให้กับการกุศลได้ทั้งหมด เพราะพวกเขาสามารถทำเงินจากสปอนเซอร์ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำอยู่แล้ว

ผู้หญิงกลายเป็นสินค้า หรือ เวทีแสดงพลังของผู้หญิง?

ริค กัลเวซ แห่งเว็บไซต์นางงามสุดฮิต Missosology เคยพยายามอธิบายว่าความนิยมในการประกวดของชาวฟิลิปปินส์อาจจะฝังอยู่ในวัฒนธรรมของประเทศมาตั้งแต่สมัยที่ฟิลิปปินส์อยู่ภายใต้การปกครองของสเปนแล้ว

"โดยเฉพาะในพิธีซานตาครูซาน ที่ชาวบ้านจะเลือกผู้หญิงที่สวยที่สุดมาเป็นผู้ทำพิธี รากเหง้าของการประกวดความงามอาจจะเริ่มต้นจากตรงนั้น"

"ชาวฟิลิปปิโน่เราเชิดชูความงามของผู้หญิง เราน่าจะเป็นประเทศที่เสรีนิยมที่สุดในอาเซียนแล้ว เรามองว่าการชื่นชมความงามของผู้หญิงเป็นการให้คุณค่ามากกว่าที่จะเป็นการเหยียดเพศ … รากฐานวัฒนธรรมลาตินอเมริกาทำให้เราแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน" กัลเวซ บอก

แต่ไม่ใช่ว่าชาวฟิลิปปินส์ทุกคนจะมองแบบนั้น เพราะยังมีชาวฟิลิปปินส์จำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับการที่ประเทศยกให้การประกวดนางงามเป็นวาระแห่งชาติแบบนี้ อย่างศิลปินสาวเฟมินิสต์ นิกกี้ ลูน่า ที่บอกว่า "การประกวดนางงามไม่เห็นจะเป็นการแสดงพลังของผู้หญิงตรงไหน เพราะสุดท้ายการประกวดก็คือการย้ำถึงคุณค่าของผู้หญิงในแบบเดิม ๆ ที่สังคมกำหนดว่าความงามคือ ต้องผอม, ต้องอ่อนเยาว์ สาวงามที่ขึ้นประกวดก็ต้องสูง"

"สุดท้ายการประกวดความงามก็คือการโชว์เนื้อหนัง ตีค่าผู้หญิงออกมาเป็นคะแนน คุณห้ามเตี้ย, ห้ามมีลูก, ห้ามผ่านการตั้งครรภ์ ต้องมีคุณสมบัติตามที่เขากำหนดให้ ถึงจะมีคุณค่าบนเวทีประกวด…" เฟมินิสต์ชาวฟิลิปปินส์กล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0