โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

“ฟอมม์” ถึงเวลาแจ้งเกิด  รถยนต์ไฟฟ้า 100% …??? 

Manager Online

อัพเดต 17 ต.ค. 2561 เวลา 04.16 น. • เผยแพร่ 17 ต.ค. 2561 เวลา 04.16 น. • MGR Online

“หนึ่งพันล้านบาท” คือตัวเลขที่ทางบริษัท เอฟโอเอ็มเอ็ม (เอเชีย) จำกัด ตั้งเอาไว้สำหรับการลงทุนในการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่ 100% (BEV) ซึ่งได้มีการประกาศแผนการลงทุนดังกล่าวไปแล้วหลังจากที่ผ่านการอนุมัติการสนับสนุนการลงทุนจากบีโอไอ

ในแผนการดังกล่าว จะประกอบไปด้วยการตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ จังหวัดชลบุรี โดยมีกำลังการผลิตสูงสุด 10,000 คันต่อปี มุ่งเน้นทำตลาดในประเทศไทยและส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศอีกด้วย โดยมีชื่อรุ่นว่า ฟอมม์ วัน (Fomm ONE EV)

หากมองแบบผิวเผิน ก็คงเหมือนบริษัทฯ ธรรมดาทั่วไปที่กำลังก่อร่างสร้างตัว แต่สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ นี่ไม่ใช่เรื่องปกติทั่วไป

ถ้าติดตามข่าวมาโดยตลอด ฟอมม์ มีข่าวในเรื่องของการทำตลาดมาตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท โดยมีการประกาศว่า จะทำรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย จนกระทั่งในช่วงเวลานี้ แม้จะมีความชัดเจนมากขึ้นตามกำหนดเวลา แต่โดยข้อมูลแล้ว ไม่แตกต่างจากเมื่อครั้งเปิดตัวสักเท่าใดนัก

ประเด็นสำคัญ คือ การลงทุนมูลค่า 1,000 ล้านบาท เพียงพอสำหรับการตั้งโรงงานประกอบรถยนต์หรือไม่ เป็นข้อสังเกตุ ที่เมื่อดูจากข่าวเรื่องการลงทุนเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหลายนั้น แต่ละแบรนด์ต่างใช้งบลงทุนมูลค่ามหาศาลระดับหลายพันล้านบาทถึงหมื่นล้าน และเมื่อมองถึงภาพการขึ้นไลน์ประกอบรถยนต์แน่นอนว่า ใช้เงินลงทุนมหาศาล ดังนั้น เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท จะเพียงพอต่อการผลิตได้จริงหรือไม่ คงจะต้องรอดูกัน

ทั้งนี้ บริษัท เอฟโอเอ็มเอ็ม มีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนจากทาง ฟอมม์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น 80% เทียบทุนกับมูลค่าการลงทุนแล้ว ในมุมของผู้บริโภคจะมั่นใจได้ขนาดไหน สำหรับบริษัท เกิดใหม่เช่นนี้ ยังคงไม่สามารถหาคำตอบได้เช่นเดียวกัน

ลองเปรียบเทียบง่ายๆ บริษัทฯ ที่ลงทุน ผลิตสินค้าบางอย่างขึ้น โดยตั้งเป้าขายไว้อย่างเลิศหรู แต่หากประสบปัญหาขายไม่ได้ตามเป้า หรือติดขัดด้านสภาพคล่อง ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าไปแล้วจะทำอย่างไร หากเป็นชิ้นเล็กๆ มูลค่าไม่มาก ผู้บริโภคคงไม่เดือดร้อนเท่าไหร่เพราะเสียหายเพียงเล็กน้อย แต่สำหรับรถยนต์ถือเป็นสินค้าที่มีราคาแพงและยิ่งเป็น รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งใหม่มากในแง่ของเทคโนโลยี ย่อมเดือดร้อนมากแน่ๆ

ขณะที่เมื่อมองตัวรถยนต์ไฟฟ้า “ฟอมม์ วัน อีวี” จัดอยู่ในหมวดของยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก L7 ตามสเปค คือ มีขนาด 4 ที่นั่ง มิติตัวถัง ยาว 2,585 มม. กว้าง 1,295 มม. และสูง 1,560 มม. น้ำหนักตัวรถ 445 กก. (ไม่รวมแบตเตอรี่) ติดตั้งมอเตอร์แบบ In-Wheel ขนาด 5kW จำนวน 2 มอเตอร์ที่ล้อซ้ายและขวา แรงบิดสูงสุด 560 นิวตันเมตร แบตเตอรี่ขนาด 2.96 kWh 4 ก้อนการชาร์จจาก 0-100% ใช้เวลา 6 ชั่วโมง ระยะทางวิ่งไกลสุด 160 กม. ความเร็วสูงสุด 80 กม./ชม.

ในแง่ของตัวรถคงต้องไปพิสูจน์กันก่อนจึงจะนำมาเสนอข้อมูลได้ แต่มีข้อสังเกตุ เมื่อครั้งแรกเห็นสเปคในเรื่องของระยะทางกับขนาดแบตเตอรี่ ดูไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะแบตเตอรี่มีขนาดรวมเพียง 12 kWh สามารถวิ่งได้ถึง 160 กม. นั้นถือว่า ดีที่สุดในเวลานี้ (อัตรส่วน 1 kWh ต่อระยะทางราว 13 กม. ขณะที่แบรนด์อื่นๆ 1 kWhต่อ 4-5 กม.)

“รถจริงจะผลิตในช่วงเดือนมกราคม และเริ่มส่งมอบให้กับลูกค้าได้ราวเดือนกุมภาพันธ์ หรือมีนาคม ส่วนในระหว่างนี้ เป็นการทดลองประกอบอยู่ โดยในช่วงแรก คาดว่าจะผลิตได้เดือนละประมาณ 300 คัน” คำตอบของ นายธนานันต์ กาญจนคูหา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอฟโอเอ็มเอ็ม (เอเชีย) จำกัด ต่อคำถามของสื่อมวลชนเกี่ยวกับกำหนดการส่งมอบให้กับลูกค้า

ฟอมม์ วัน อีวี เปิดตัวอย่างเป็นทางการ พร้อมรับจองจากลูกค้า เป็นที่เรียบร้อยแล้วภายในงาน มอเตอร์โชว์ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา กำหนดราคาจำหน่ายมาตรฐานที่ 664,000 บาท แต่สำหรับผู้ที่จองก่อนภายในงานดังกล่าว จะได้ราคาพิเศษที่ 599,000 บาท และมียอดจองทั้งสิ้น 355 คันแล้ว โดยขายผ่านทาง บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของการไฟฟ้าภูมิภาค

เมื่อถามถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ผู้บริหารบอกว่า เป็นกลุ่มองค์กรต่างๆ ซึ่งเน้นใช้งานภายในองค์กรเช่น การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง เป็นต้น โดย กฟภ. มีแคมเปญพิเศษสำหรับพนักงาน ให้ผ่อนได้เป็นระยะเวลา 120 เดือน ขณะที่ลูกค้าทั่วไป ยังไม่มีแคมเปญใดๆ อาจจะต้องรอช่วงที่มีการจัดงานแสดงรถยนต์เช่น มอเตอร์ เอ็กซ์โป ช่วงปลายปีนี้อีกครั้ง

สำหรับในส่วนของโชว์รูมและศูนย์บริการ กลายเป็นสิ่งที่น่าแปลกใจที่สุด เมื่อผู้บริหารตอบว่า จะให้ลูกค้าไปใช้บริการผ่านศูนย์บริการของ เอซีที และบี-ควิก

“เราจะไม่มีโชว์รูม ส่วนศูนย์บริการตอนนี้เราอยู่ระหว่างการเจรจากับทาง เอซีที และบี-ควิก ในการร่วมมือกัน เพื่อให้บริการหลังการขายกับลูกค้าของฟอมม์ เนื่องจาก ฟอมม์ เป็นรถไฟฟ้าที่ไม่ต้องดูแลอะไร มีเพียง ล้อยาง,ใบปัดน้ำฝนและของเหลวเท่านั้น ที่ต้องเปลี่ยน ส่วนการรับประกันคุณภาพ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา” นายธนานันต์ กล่าว

ประเด็นนี้ ได้มีข้อท้วงติงไปยังทีมผู้บริหารว่า ควรจะต้องมีอย่างน้อยหนึ่งแห่ง ในลักษณะของศูนย์บริการ หรือเทคนิคคอลเซนเตอร์ เพื่อให้ข้อมูล, คำปรึกษาและนำรถเข้าไปตรวจสอบกรณีรถฟอมม์ เกิดปัญหาขึ้น นอกเหนือจากการบำรุงดูแลตามปกติ โดยผู้บริหารรับปากว่าจะรับไปพิจารณา

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด ด้วยความห่วงใย ทั้งตัวผู้ประกอบการและผู้บริโภค อยากให้เตรียมความพร้อมให้สมบูรณ์ที่สุด แม้จะไม่ถึงกับครบ 100% แต่อย่างน้อยถ้ารถเกิดปัญหาขึ้น ควรมีที่พึ่งให้กับลูกค้าในการนำรถเข้าไปตรวจสอบและแก้ไขได้อย่างถูกต้อง

ถึงบรรทัดนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยานยนต์ต่างยอมรับว่า รถยนต์ไฟฟ้า กำลังมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนจะมาแล้วแจ้งเกิดได้สำเร็จเมื่อไหร่ ยังเป็นคำถามที่ไม่มีใคร

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0