โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

“พนัส แอสเซมบลีย์” เปิดเวทีร่วมทุน/ปั้นโลจิสติกส์เทค

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 18 มิ.ย. 2562 เวลา 14.00 น.

นายพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ประกอบกิจการขนส่งมากว่า 50 ปี เปิดเผยว่า ในช่วง 1-2 ปีนี้ พนัสฯ ได้เข้าร่วมลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพ 5 รายผ่านกองทุนนวัตกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นกองทุนประเภท Corporate Venture Capital (CVC) โดยให้การสนับสนุนรายละ 5-10 ล้านบาททั้งในลักษณะของเงินให้เปล่าและการร่วมลงทุน พบว่า 2 ใน 5 บริษัทที่ลงทุนไปนั้นสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างดี

บริษัทจัดตั้งกองทุน PANUS Logistics Innovation Fund ขึ้นมาเพื่อเป็นการต่อยอด สนับสนุนสตาร์ทอัพกลุ่ม LogTech ที่มีวิสัยทัศน์ นวัตกรรมและมีแนวคิดที่ดีที่สามารถผลักดันผลงานออกสู่ตลาดในเชิงธุรกิจได้ แต่อาจขาดปัจจัยสำคัญ เช่น แหล่งเงินทุน แผนการตลาด รวมถึงพี่เลี้ยงคอยชี้แนะและวางแผนธุรกิจ กองทุนฯ จึงเข้ามาตอบโจทย์และปิดจุดอ่อนดังกล่าว

"แม้ว่าสตาร์ทอัพด้านโลจิสติกส์จะช่วยเกื้อหนุนและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ธุรกิจขนส่งดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทันสมัยขึ้น เร็วขึ้น ลดต้นทุน มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจโดยภาพรวมของประเทศให้เดินหน้าไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้ แต่ก็ยังมีไม่พอกับความต้องการของภาคธุรกิจ จึงต้องการการพัฒนาเพิ่มทั้งจำนวนและศักยภาพ เราจึงจัดทำโครงการประกวดแนวคิดหรือรูปแบบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง" นายพนัส กล่าว

Panus Thailand LogTech Award เกิดขึ้นจากความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ปีนี้เป็นปีที่ 3 เพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูงเข้ารับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ซึ่งผู้ประกอบการ 5 รายที่บริษัทให้การสนับสนุนก็เป็นทีมชนะเลิศจากกิจกรรมการประกวดในปี 2560 และ 2561

"ช่องว่างในธุรกิจโลจิสติกส์ยังมีอีกมาก เช่น การลดเที่ยวเปล่าในการขนส่งที่สูญเสียต้นทุน 30-40% ของการขนส่ง, การเชื่อมโยงการขนส่งตั้งแต่ต้นขบวนจนถึงปลายขบวน, การทำ GPS Tracking ในสถานที่ปิด เช่น สนามบิน, คลังสินค้า, โดรนส่งของ หรือแม้แต่เรื่องของออโตเมชั่น ลอจิสติกส์ กิจกรรมในปีที่ 3 นี้หวังที่จะเห็นสตาร์ทอัพด้านนี้มากขึ้น และจะสนับสนุนทุนในจำนวนเท่าเดิมคือ 2-3 ราย"

นายพนัส กล่าวอีกว่า ธุรกิจของบริษัทฯ ตอบสนองภาคการขนส่งในประเทศเกือบ 100% นับเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนความสำเร็จของเกือบทุกอุตสาหกรรม หัวใจสำคัญที่ทำให้ก้าวเป็นผู้นำในธุรกิจขนส่งอย่างแข็งแรงจนถึงทุกวันนี้ คือ การวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถตอบความต้องการและการใช้งานที่หลากหลายของลูกค้าในแต่ละอุตสาหกรรมได้

++ ตัวอย่าง 2 สตาร์ทอัพดีกรีแชมป์

นายปิโยรส ปิยจันทร์ ซีอีโอบริษัท อินเท็นติก จำกัด ผู้ชนะโครงการฯ ปี 2560 ด้วยผลงาน "SILICA FOR LOGISTIC-Retail Inventory Software" กล่าวว่า ซิลิก้า เป็นระบบตรวจจับและติดตามความเคลื่อนไหว "สิ่งของทุกอย่าง" ที่จะช่วยให้รู้ทุกความเคลื่อนไหวของทุกอย่างแบบทันทีทันใด ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดต้นทุน และประหยัดเวลา ด้วยระบบการตรวจจับและคำนวณใน 3 ระดับ จึงช่วยให้เห็นข้อมูลที่เกิดขึ้นในสถานที่จริงอย่างทันทีทันใด

"เราเริ่มจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี มาช่วยบริหารจัดการสินค้าให้กับร้านค้า โดยเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน้าร้านกับสินค้าที่อยู่ในสต๊อกหลังร้าน โกดัง หรือดิสทริบิวเตอร์ ซึ่งต่างประเทศเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายแล้ว แต่ในไทยยังใหม่มากจนผู้ประกอบการไม่พร้อมที่จะใช้ หลังการทดลองตลาด เราจึงปรับโดยมองไปที่ธุรกิจโลจิสติกส์ภายในองค์กร โดยเฉพาะโรงพยาบาล"

กระบวนการขนส่งภายในโรงพยาบาลไม่ว่าจะเป็น การขนย้ายผู้ป่วย รถเข็น อาหารผู้ป่วย สิ่งส่งตรวจ ผลตรวจ โดยเฉพาะผ้าซึ่งมักพบปัญหาสูญหาย บางโรงพยาบาลคิดเป็นมูลค่าความเสียหายถึง 10 ล้านบาท จึงพัฒนาแพลตฟอร์มดูแลการขนส่งผ้าและชุดผู้ป่วย ตั้งแต่การส่งให้เอาท์ซอร์สทำความสะอาดไปจนถึงการรับของ และส่งไปยังผู้ใช้งานในแผนกต่างๆ สามารถเช็คสต๊อก ดูความต้องการใช้ผ้าได้แบบเรียลไทม์ผ่านโมบายดีไวซ์ ล่าสุด แพลตฟอร์มนี้มีโรงพยาบาลรายใหญ่ของไทยซื้อไปใช้แล้ว

ด้านนายอานันท์ ประเสริฐรุ่งเรือง บริษัท แอร์พอเทลล์ จำกัด ผู้ชนะโครงการฯ ปี 2561 จากผลงาน "AIRPORTELs บริการรับฝากขนส่งกระเป๋าสัมภาระ" ตอบดีมานด์นักท่องเที่ยว กล่าวว่า ปัญหาของนักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับเที่ยวบินรอบดึก แต่ไม่มีที่รับฝากกระเป๋า จึงเริ่มทำธุรกิจล็อกเกอร์ฝากกระเป๋าในชื่อ LockBox และเห็นปัญหาอีกรูปแบบ

"นักท่องเที่ยวต่างชาติบางคนต้องเดินทางมาที่ล็อกเกอร์เพื่อฝากกระเป๋า และต้องเผื่อเวลาอีก 2-3 ชั่วโมง เพื่อมารับกระเป๋าก่อนที่จะเดินทางไปสนามบิน เราจึงมองว่า ถ้าตัดขั้นตอนนี้ไป แล้วส่งกระเป๋าไปรอที่สนามบินเลย หรือส่งจากสนามบินมารอที่โรงแรม น่าจะสะดวกกว่า"

"แอร์พอเทลล์" จึงเกิดขึ้นโดยทำหน้าที่เป็นตัวช่วยให้นักเดินทางได้ใช้เวลาและวางแผนการมากรุงเทพฯ ได้อย่างไม่ต้องกังวลเรื่องของกระเป๋า โดยจะทำการจัดส่งกระเป๋าไปยังโรงแรมหรือสนามบินให้นักเดินทาง ซึ่งสามารถจองบริการผ่านเว็บไซต์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเดินมาใช้บริการที่เคาน์เตอร์ได้ทันที จุดเด่นเรื่องของการประหยัดเวลา สะดวกและปลอดภัยไว้ใจได้โดยมีประกันค่าเสียหายสูงสุด 1 แสนบาท และระบบรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้มีผู้ใช้บริการมากกว่า 1 แสนใบ ก่อนจะขยายธุรกิจจากใน กรุงเทพฯ สู่แหล่งท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา และขยายกลุ่มเป้าหมายสู่ลูกค้าคนไทยในการรับส่งประเป๋าเดินทางข้ามจังหวัด อีกทั้งพยายามปรับลดเวลาให้สามารถรับส่งได้ในวันเดียวกัน จากปกติเป็นบริการแบบรับได้ในวันถัดไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0