โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

“ผลตอบแทน”...อีก ‘กับดักตัวเลข’ ของกองทุน

Wealthy Thai

อัพเดต 16 ต.ค. 2562 เวลา 09.14 น. • เผยแพร่ 16 ต.ค. 2562 เวลา 09.14 น. • wealthythai
“ผลตอบแทน”...อีก ‘กับดักตัวเลข’ ของกองทุน

ในครั้งก่อน เราได้พานักลงทุนไปรู้จักกับ ‘กับดักตัวเลข’ ที่ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่เข้าใจคลาดเคลื่อน ทั้งในเรื่องของ ‘มูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วย (NAV)’ ของกองทุน ที่สรุปได้ความว่า NAV จะ ‘มาก’ หรือ ‘น้อย’ นั้น ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องของ ‘ผลตอบแทน’ เลย
ตามมาด้วยเรื่อง ‘ขนาดของกองทุน’ ก็ไม่ได้สะท้อนถึงเรื่อง ‘ผลตอบแทน’ ของกองทุนเช่นเดียวกัน จะกองทุน ‘ใหญ่’ หรือ ‘เล็ก’ ก็ตาม
ยังมีอีกตัวเลขที่นักลงทุนให้ความสนใจและสุดท้ายก็ติดกับดักตัวเลขอีกจนได้ นั่นก็คือ ‘ผลตอบแทน’ ของกองทุนนั่นเอง
ตัวเลขเหล่านี้ไม่เพียงไม่ได้บอกอะไรในเรื่องของ ‘ผลตอบแทน’ เท่านั้น ยังบอกเรื่องกองทุน ‘ถูก’ หรือ ‘แพง’ ไม่ได้อีกด้วย วันนี้ทีมงาน ‘Wealthythai’ ยังคงมีเรื่องราวที่น่าสนใจมาฝากกันเช่นเคย

 

 

ขนาดกองทุน… ‘ใหญ่’ หรือ ‘เล็ก’ ไม่ได้เกี่ยวกับ “ผลตอบแทน”

ก่อนจะไปถึงเรื่อง ‘กับดักตัวเลข’ สุดฮิตในเรื่องของ ‘ผลตอบแทน’ ของกองทุนนั้น เราลองมาดูกันชัดๆ อีกสักครั้งในเรื่องของ ‘ขนาดกองทุน’ กับ ‘ผลตอบแทน’ กัน
จากข้อมูล ‘กองหุ้นไทย’ (กองเปิด) ที่มีอยู่ 338 กองทุนนั้น เมื่อนำมาแบ่งตามขนาดแล้วจะพบว่า ‘กองหุ้นไทย’ มีขนาดเฉลี่ย 2,331.41 ล้านบาท แต่มีเพียง 81 กอง คิดเป็น 23.96% ของกองหุ้นทั้งหมด ที่มีขนาดมากกว่าค่าเฉลี่ย ที่เหลือส่วนใหญ่อีก 257 กอง คิดเป็น 76.04% ของกองหุ้นทั้งหมด มีขนาดต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
“จึงไม่น่าแปลกใจ หากจะมีการสร้างจุดต่างในเรื่องของ ‘ขนาด’ มาเป็นจุดขาย และอาจทำให้นักลงทุนไปติดกับดักตัวเลขในเรื่องของ ‘ขนาดกองทุน’ ได้ไม่ต่างกับ ‘NAV’ เช่นกัน”

 

*          *

 

จากข้อมูลผลงานกองหุ้น (ณ 31 ส.ค. 19) แบ่งตามขนาด จะพบว่า กองหุ้นที่มีขนาดมากกว่า 5,000 ล้านบาท ขึ้นไป ช่วงของผลตอบแทนเคลื่อนไหวเป็น ‘บวก’ ทั้งในช่วง YTD และย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งข้อมูลนี้อาจจะขัดแย้งกับความรู้สึกของนักลงทุนที่ไปติดในเรื่องของ ‘ขนาดกองทุน’ กับ ‘ผลตอบแทน’ อยู่บ้างพอสมควร ส่วนกองหุ้นที่มีขนาดต่ำลงมา ในแต่ละช่วงจะมีช่วงผลตอบแทนทั้ง ‘บวก’ และ ‘ลบ’ ผสมกันไป โดยกองหุ้นที่มี ‘ผลงานดีสุด’ นั้น มีขนาดอยู่ในช่วง ‘100-500 ล้านบาท’
“เราจะพบว่า ‘กองหุ้นไทย’ ส่วนใหญ่จะมีขนาดอยู่ในช่วง 100 - 500 ล้านบาท มี 99 กอง คิดเป็น 29.29% จากทั้งหมด และในช่วง 1,000 - 5,000 ล้านบาท มี 88 กอง คิดเป็น 26.04% จากทั้งหมด รวม 2 ช่วงขนาดกองทุนนี้มีสัดส่วนรวมกัน 55.33% ของกองหุ้นทั้งหมดเลยทีเดียว

 

 

“ผลตอบแทน”…ใน ‘อดีต’ ไม่ได้บอกถึงผลตอบแทน ‘ในอนาคต’

นักลงทุนในกองทุนรวมคงจะคุ้นเคยกับคำเตือนอัตราผลตอบแทนในอดีตมิได้รับประกัน
ถึงอัตราผลตอบแทนในอนาคต การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน" อยู่บ้างไม่มากก็น้อยใช่มั้ย? แต่สิ่งที่เรามักพบเห็นโดยทั่วไปเวลาจะลงทุนในกองทุนอะไรก็ตาม นักลงทุนจะให้ความสนใจเรื่อง ‘ผลตอบแทน’ เป็นอันดับแรกๆ เลยทีเดียว (หรือคุณว่าไม่จริง)
“นี่ก็ถือเป็นอีก ‘กับดักตัวเลข’ ที่แม้จะมีคำเตือนตัวเล็กๆ อยู่ แต่นักลงทุนก็เลือกที่ปิดตาไม่มองคำเตือนเหล่านี้ จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม”

 

      

 

 

ทำไมถึงต้องเตือน ก็เพราะ ‘ผลตอบแทน’ ของกองทุน จะแสดง ‘ย้อนหลัง’ กลับไปจากช่วงเวลาที่ประกาศข้อมูลเป็นสำคัญ เช่น ย้อนหลัง 1 ปี หรือย้อนหลัง 5 ปี เป็นต้น หรือนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) ณ วันที่ประกาศข้อมูล ซึ่งเป็นภาพในอดีตที่เกิดขึ้นมาแล้วนั่นเอง
“แล้วผลตอบแทนในอนาคตล่ะ? ตอบเลยว่า ‘ไม่รู้’ แต่ผลตอบแทนในอดีตของกองทุนนั้นๆ หากช่วงเวลา 5 ปีในอดีต ผลงานกองหุ้น A สามารถทำได้เฉลี่ย 10% ต่อปี เราก็เพียงเชื่อมั่นว่าด้วยกระบวนการลงทุนของผู้จัดการกองทุนของกองทุนหุ้น A ที่ยังเป็นทีมเดิมที่บริหารมาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ น่าจะยังมีศักยภาพที่จะบริหารกองทุนให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยระดับนี้ไปได้ในช่วง 5 ปี ข้างหน้า (บนสมมติฐานว่าสถานการณ์ลงทุนใน 5 ปีข้างหน้าไม่ได้ต่างจาก 5 ปีที่ผ่านมานะ) ถ้าจะมองในลักษณะนี้ ก็อนุโลมให้สามารถใช้เป็นข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนของคุณได้เช่นกัน (ส่วนจะทำได้หรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ)”

 

 

กองทุน… ‘ถูก’ หรือ ‘แพง’ ดูยังไง?

หากลงทุนใน ‘หุ้น’ รายตัว อาจจะมีชุดเครื่องมือที่เอาไว้ใช้ในการตรวจจับดูชีพจรว่าหุ้นตัวนั้น ‘ถูก’ หรือ ‘แพง’ เช่น สัดส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E) หรือ สัดส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) เป็นต้น แต่ ‘กองทุนรวม’ โดยปกติแล้วไม่มีเครื่องมืออะไรที่จะมาบอกว่ากองทุนนี้ ‘ถูก’ หรือ ‘แพง’ แต่ประการใด
นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนหันไปหาข้อมูลตัวเลขอื่นๆ เพื่อมาดูว่ากองทุน ‘ถูก’ หรือ ‘แพง’ แล้วหรือยัง? เช่น NAV หรือ ผลตอบแทน เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่เป็นตัวเลขที่บอกถึงความ ‘ถูก-แพง’ ของกองทุนแต่ประการใด
แต่ในกลุ่ม ‘กองทุน Passive Fund’ นักลงทุนยังอาจสามารถประเมินความ ‘ถูก-แพง’ ของกองทุนได้ โดยมองภาพผ่านภาพตลาดที่กองทุนนั้นเข้าไปอ้างอิง เช่น กองหุ้นดัชนี SET50 ตรงนั้นนักวิเคราะห์อาจมีการประเมินภาพตลาดดัชนี SET50 ได้ว่า ตลาด ‘ถูก’ หรือ ‘แพง’ แล้ว ในภาพใหญ่ ตรงนั้นเมื่อเราลงทุนผ่านกองทุนดัชนีSET50 ก็สามารถอนุโลมในการใช้มองภาพ ‘ถูก-แพง’ ของกองทุนดัชนีSET50 ที่เราลงทุนอยู่ได้เช่นกัน
“อย่างไรก็ตาม ในกลุ่ม ‘กองทุน Active Fund’ นั้น ในระดับนักลงทุนมองดูกองทุนว่า ‘ถูก-แพง’ คงลำบาก แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะพอร์ตหุ้นของกองทุน หุ้นแต่ละตัว ‘ผู้จัดการกองทุน’ เขาจะต้องดูแลหุ้นในพอร์ตให้อยู่แล้วว่าหุ้นตัวไหน ‘แพง’ ไปแล้ว ควรขายปรับสัดส่วน หรือขายทิ้ง หรือหุ้นตัวไหน ‘ถูก’ ควรเข้าไปลงทุนให้อยู่แล้ว แต่ถ้าหนังสือชี้ชวนแสดงค่า P/E หรือ P/BV ของหุ้นในพอร์ตที่กองทุน Active Fund ลงทุนนั้น เราก็จะสามารถพอบอกได้ว่ากองทุนนั้น ‘ถูก’ หรือ ‘แพง’ ได้เช่นกัน เพียงแต่ปัจจุบันไม่ได้มีค่าเหล่านี้แสดงเอาไว้ แต่เราก็รู้ว่าผู้จัดการกองทุนเขาดูแลให้อยู่แล้วนั่นเอง”
สุดท้าย อย่าลืมว่าเมื่อจะลงทุนใน ‘กองทุนรวม’ ควรสนใจใน ‘นโยบายการลงทุน’ ของกองทุนนั้นๆ ว่าตอบโจทย์เราหรือเปล่าเป็นอันดับแรก เพราะถ้าคุณเข้าใจแนวคิดนี้ โอกาสการลงทุนคุณจะเปิดกว้าง ไม่ถูกปิดกันด้วยเรื่อง ‘ขนาด NAV’ หรือ ‘ขนาดกองทุน’ หรือ ‘ผลตอบแทนในอดีต’ แต่ประการใด นั่นจะช่วยให้คุณไม่พลาดโอกาสการลงทุนที่ดีไปด้วยนั่นเอง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0