โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

“ประกันสะสมทรัพย์”...กับ ‘วิกฤต COVID-19’

Wealthy Thai

อัพเดต 27 มิ.ย. 2563 เวลา 17.04 น. • เผยแพร่ 27 มิ.ย. 2563 เวลา 17.04 น. • wealthythai
“ประกันสะสมทรัพย์”...กับ ‘วิกฤต COVID-19’
“วิกฤต COVID-19” ที่เกิดขึ้นส่งผลให้หลายๆ ท่านต้องปรับตัวกับ ‘วิถีชีวิตแบบใหม่ (New Normal)’ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อของออนไลน์มากขึ้นลดการเดินทาง

“วิกฤต COVID-19” ที่เกิดขึ้นส่งผลให้หลายๆ ท่านต้องปรับตัวกับ ‘วิถีชีวิตแบบใหม่ (New Normal)’ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อของออนไลน์มากขึ้นลดการเดินทาง ทำงานที่บ้าน ค่าใช้จ่ายบางอย่างก็เปลี่ยนไป เช่นค่าเดินทางอาจลดลง แปรเปลี่ยนไปเป็นค่าน้ำค่าไฟ ค่าอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคและอุปกรณ์ทำความสะอาดต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นแทน
ท่านที่บริหารเงินได้ดีมี ‘เงินสำรองฉุกเฉิน’ ที่เคยเตรียมไว้สำหรับค่าใช้จ่าย 3-6 เดือน คงรู้สึกอุ่นใจว่าหากมีความจำเป็นก็สามารถนำเงินก้อนนี้มาใช้จ่ายได้ แต่ท่านที่ยังกังวลกับสถานการณ์ COVID-19 ว่าอาจยืดเยื้อไปอีกหลายเดือนจนถึงเป็นปี แล้วต้องการเตรียมเงินฉุกเฉินให้มากขึ้น ในเวลานี้ท่านผู้อ่านสามารถสำรวจ ‘แหล่งเงินออม’ หรือ ‘ทรัพย์สิน’ ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายยามจำเป็น
“ทั้งนี้บทความนี้ขอเสนอแนวทางสำหรับท่านที่ได้ทำ ‘ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์’ มาหลายปี โดยสามารถนำเงินจากประกันออกมาใช้และกระทบกับสัญญาประกันให้น้อยที่สุด”
อย่างแรกที่ท่านผู้ถือกรมธรรม์สามารถทำได้คือ ตรวจสอบ ‘เงินคืนรายงวด’ ระหว่างสัญญา รวมถึง ‘เงินปันผล’ ที่เลือกสะสมไว้ในกรมธรรม์ว่าเพียงพอกับความต้องการหรือไม่
ตัวอย่างเช่น นายคิดดี ได้ทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์และชำระเบี้ยทุกปีเป็นเวลา 10 ปี ต่อมานายคิดดีประสบวิกฤตเศรษฐกิจจาก COVID-19 ธุรกิจได้รับผลกระทบ และรายได้ที่นำมาจุนเจือครอบครัวก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด นายคิดดีสามารถตรวจสอบ ‘มูลค่าเงินสะสม’ ในกรมธรรม์ว่าปัจจุบันมีมูลค่าเท่าใด
“ถ้าเพียงพอกับความต้องการ นายคิดดีสามารถถอนเงินจากกรมธรรม์ในส่วนนี้ออกมาได้ สัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์นี้ยังคงครบสมบูรณ์ นายคิดดีและครอบครัวยังคงได้รับผลประโยชน์จากกรมธรรม์นี้เช่นเดิม”
แต่หากผลกระทบทางการเงินในยามวิกฤตนี้มีมาก ทำให้นายคิดดีต้องการปรับปรุงหรือพัฒนากิจการให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่ามูลค่าเงินที่สะสมไว้ในกรมธรรม์ขณะที่การทำเรื่องขอกู้ธนาคารอาจใช้เวลาในการพิจารณา ด้วยความจำเป็นนี้ นายคิดดีสามารถ ‘กู้ยืมเงินจากมูลค่าเงินสด’ ในกรมธรรม์ของตัวเองได้ โดยยังได้รับความคุ้มครองชีวิตจากประกัน ถ้านายคิดดีจากไปก่อนวัยอันควรครอบครัวจะไม่เดือดร้อนมากนัก

 

 

“ซึ่งการกู้เงินจากกรมธรรม์ประกันชีวิตนั้น บริษัทประกันส่วนใหญ่จะให้วงเงินไม่เกิน 80-90% ของมูลค่ากรมธรรม์ปัจจุบันและคิดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 2% จากอัตราดอกเบี้ยที่นำมาคำนวณเบี้ยประกัน”
สมมติว่า นายคิดดีได้ทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์มีทุนประกันชีวิต 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยในการคำนวณเบี้ยประกันอยู่ที่ 5% ต่อปี มูลค่ากรมธรรม์ปัจจุบัน 600,000 บาท และสามารถกู้ยืมได้วงเงิน 80% ของมูลค่ากรมธรรม์
“นั่นคือนายคิดดีสามารถกู้เงินได้จำนวน 480,000 บาท (600,000 x 80%) ที่อัตราดอกเบี้ย 7% ต่อปี (5%+2%) ซึ่งอัตรานี้น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคล บัตรกดเงินสดหรือบัตรเครดิตที่มักจะมีอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 18% ต่อปี”
นอกจากนี้ ‘การกู้เงินจากกรมธรรม์ประกันชีวิต’ จะใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงในวันทำการเมื่อมีเล่มกรมธรรม์และหลักฐานการแสดงตัวตนของเจ้าของกรมธรรม์ครบถ้วน ซึ่งช่วยลดความกังวลกับระยะเวลารอคอยจากแหล่งเงินอื่นเพื่อมาจุนเจือครอบครัวหรือธุรกิจ ทั้งนี้ผู้กู้ควรชำระคืนเงินกู้จากกรมธรรม์ให้เร็ว เพื่อรักษาหลักประกันในอนาคตให้กับครอบครัว เพราะเงินประกันชีวิตที่ครอบครัวได้รับจะถูกหักด้วยจำนวนเงินกู้และดอกเบี้ย
เช่น ทุนประกันชีวิต 1 ล้านบาท เงินกู้ยืม 480,000 บาท และดอกเบี้ยสะสม 20,000 บาท เมื่อผู้กู้หรือเจ้าของกรมธรรม์ได้จากไป ครอบครัวจะได้รับเงินทั้งหมด 500,000 บาท (1,000,000 – 480,000 – 20,000) แต่หากก่อนเสียชีวิต ผู้กู้ได้ชำระดอกเบี้ยและเงินกู้ครบแล้วครอบครัวก็จะได้รับทุนประกันชีวิตเต็มจำนวน 1 ล้านบาท
“วัตถุประสงค์ในการทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ของหลายๆ คนคือ การได้รับเงินก้อนใหญ่เมื่อครบกำหนดสัญญา รวมถึงมีหลักประกันให้กับครอบครัว แต่จากสถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนและวิธีการรักษาที่ชัดเจนนักรวมถึงทิศทางของเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิต ธุรกิจและครอบครัว”
หากจำเป็นต้องใช้เงินอย่าง ‘เร่งด่วน’ เจ้าของกรมธรรม์สามารถกู้เงินที่เข้าถึงได้ง่าย รวดเร็ว และ ‘ดอกเบี้ยต่ำกว่า’ แหล่งเงินกู้แหล่งอื่น และเมื่อนำเงินมาชำระคืน ท่านยังคงมีแผนประกันที่ตั้งใจทำไว้เพื่อความมั่นคงทางการเงินของท่านและครอบครัว
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand,TFPA Facebook Fanpageและ  www.tfpa.or.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0