โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“บิ๊กตู่”ผุด 3 มาตรการช่วย “โชห่วย”

new18

เผยแพร่ 14 ธ.ค. 2561 เวลา 14.00 น. • new18
“บิ๊กตู่”ผุด 3 มาตรการช่วย “โชห่วย”
นายกฯ ระบุรัฐบาลเร่งช่วยเหลือ “โชห่วย” หลังได้รับผลกระทบจากร้านค้าสมัยใหม่ เผย 3 วิธีแก้ 1. ปรับภาพลักษณ์ จัดร้านในรูปแบบ “5 ส” 2. นำโมเดล “โย๋ เล่อ” ของจีนมาใช้ และ 3. โครงการโชห่วยออนไลน์

นายกฯ ระบุรัฐบาลเร่งช่วยเหลือ “โชห่วย” หลังได้รับผลกระทบจากร้านค้าสมัยใหม่ เผย 3 วิธีแก้ 1. ปรับภาพลักษณ์ จัดร้านในรูปแบบ “5 ส” 2. นำโมเดล “โย๋ เล่อ” ของจีนมาใช้ และ 3. โครงการโชห่วยออนไลน์

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมา การเติบโตของเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนำมาซึ่งการขยายตัวและการพัฒนาของธุรกิจการค้าต่าง ๆ ทำให้เกิดร้านค้าสมัยใหม่และห้างร้านขนาดใหญ่ขึ้นมากมาย ส่งผลต่อการค้าขายของร้านค้าเล็ก ๆ หรือโชห่วย ทั่วประเทศไทย มีร้านค้าโชห่วยอยู่ประมาณ 370,000 ร้านค้า ซึ่งปัจจุบันหลายแห่ง ต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ในการทำมาค้าขาย ทั้งการเพิ่มขึ้นของร้านค้าสมัยใหม่ ต้นทุนที่สูงขึ้น อีกทั้งความสามารถทางการแข่งขันก็น้อยกว่า ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ที่ดึงดูดลูกค้าและมีสินค้าที่ครบครันกว่า ทำให้ร้านค้าโชห่วยหลายแห่งต้องประสบปัญหาขาดทุน รายได้ลดลงมาก ภาครัฐรับทราบปัญหาเหล่านี้ดี และก็ได้พยายามหาทางในการดำเนินการช่วยเหลือ สนับสนุน เพื่อให้ร้านโชห่วยเหล่านี้สามารถปรับตัวและแข่งขันในการประกอบธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

นายกฯ กล่าวต่อว่า ได้มีการดำเนินการผ่านหลายช่องทาง และหลากหลายวิธีด้วยกัน ได้แก่ 1. โครงการปรับภาพลักษณ์ร้านค้า ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกับผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ ลงพื้นที่ทั่วประเทศไปยังชุมชนต่าง ๆ เพื่อจะช่วยปรับภาพลักษณ์ “ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ” และ “ร้านโชห่วย” ให้มีการจัดร้านในรูปแบบ “5 ส” คือ สวย –สว่าง –สะอาด–สะดวก –สบาย ปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วทั้งสิ้น 4,500 ร้านค้า จากเป้าหมาย 10,000 ร้านค้าทั่วประเทศ แต่ก็ยังมีเหลืออีกมาก หากโครงการนี้ยังไปไม่ถึงพื้นที่ของท่าน ในระหว่างนี้ ขอแนะนำให้ลองปรับร้านค้าของท่านในรูปแบบ “5 ส” ในเบื้องต้นด้วยตนเองก่อน โดยเฉพาะความสะอาด สว่าง จัดวางของให้สวยงาม หยิบได้สะดวก

2. การนำโมเดล “โย๋ เล่อ” (Ule Model) ของจีนมาใช้ในการพัฒนาร้านค้า โดยเป็นการช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับร้านค้าเล็กๆ ในชนบท มีความร่วมมือกับไปรษณีย์ของจีน เปิดเป็นแพลตฟอร์มการค้าอิเล็กทรอนิกส์ในร้านค้า ให้ร้านค้าในชนบทและทั่วประเทศเข้าไปจำหน่ายสินค้าขายแบบออนไลน์ นอกจากจะมีสินค้าอุปโภค-บริโภคทั่วไปแล้ว ยังมีสินค้าเกษตร เช่น ผัก ผลไม้ หรือของดี ของเด่นของชุมชน เช่น สินค้าหัตถกรรม โอทอป ซึ่งในท้องถิ่นอื่น อาจไม่มีหรือหาได้ยาก โดยร้านโชห่วยที่เข้าร่วม ก็จะต้องสแกนรหัสสินค้าทุกชนิด ตั้งแต่เครื่องดื่ม ไปจนถึงผัก ผลไม้ต่าง ๆ เข้าไปในระบบ ทำให้ในแพลตฟอร์มมีสินค้าให้เลือกหลากหลาย ผู้ซื้อในทุกพื้นที่ทั่วประเทศสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ทันที ซึ่งร้านค้าที่อยู่ในชุมชนสามารถนำไปส่งให้ถึงที่ หรือหากอยู่ไกลจากแหล่งสินค้า ก็สามารถให้ไปรษณีย์จัดส่งสินค้าให้ได้ ทำให้ร้านโชห่วยกลายสภาพเป็นห้างใหญ่ในโลกดิจิทัล หรือเป็น “โชห่วย 4.0” ที่สามารถขายสินค้าทุกชนิดที่ต้องการขายได้ โดยไม่ต้องสต๊อกสินค้าไว้จำนวนมาก ซึ่งโมเดลนี้ จะลองนำมาปรับใช้กับร้านโชห่วยของไทย เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น โดยบริษัทที่อยู่เบื้องหลังการให้บริการ “แพลตฟอร์มโย๋เล่อ” นี้ จะส่งทีมมาให้คำแนะนำกับไทยในช่วงต้นปี 2562 นี้ด้วย เพื่อให้สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น

3. โครงการโชห่วยออนไลน์ เป็นแนวคิดในการพัฒนาช่องทางการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ระหว่างธุรกิจด้วยกันเอง ผ่านแอพพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ มาทำเป็นแพลตฟอร์มในการสั่งซื้อสินค้าจากร้านโชห่วยไปยังผู้ผลิตสินค้าโดยตรง ซึ่งการดำเนินการนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วยบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด, กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ธนาคารออมสิน, ธ.ก.ส. และภาคเอกชนผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน โดยในการดำเนินงาน บริษัทไปรษณีย์ไทยฯ จะพัฒนาช่องทางในการรับคำสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ และการบริหารสต๊อก สินค้า และคำสั่งซื้อสินค้า รวมถึงการบริหารจัดการด้านการขนส่ง โดยกระทรวงพาณิชย์จะเจรจากับผู้ผลิตสินค้าในเรื่องราคา และคัดเลือกร้านค้าโชห่วยที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการ รวมถึงการเชื่อมโยงสินค้าชุมชนเพื่อกระจายสินค้าผ่านร้านโชห่วยในพื้นที่ต่าง ๆ อีกด้วย ในขณะที่ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. จะสนับสนุนด้านสินเชื่อการค้า หรือสินเชื่อในการสั่งซื้อสินค้าให้กับร้านค้าโชห่วยที่เข้าร่วมโครงการ การดำเนินโครงการนี้ จะทำให้ร้านค้าโชห่วย สามารถซื้อสินค้าจากผู้ผลิตได้ในราคาที่ถูกลง และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสินค้าชุมชน มีช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น โดยจะเริ่มนำร่องใน 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินโครงการได้ในเดือน ม.ค. 2562

“โครงการของภาครัฐทั้งหมดนี้ เป็นความพยายามที่จะนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาปรับใช้ภายใต้รูปแบบการดำเนินงานแบบประชารัฐ คือทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยให้ร้านค้าโชห่วยสามารถปรับตัวในการทำธุรกิจและใช้จุดแข็งที่มีอยู่ ในการแข่งขันกับร้านค้าสมัยใหม่ได้ดีขึ้น ซึ่งการปรับตัวนี้ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงแค่ความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่เจ้าของร้านค้าก็จะต้องเร่งปรับตัวให้เท่าทัน ช่วยตัวเองไปด้วย”นายกฯ กล่าว

นายกฯกล่าวว่า ขอยกตัวอย่างร้านโชห่วยที่ปรับตัวทำธุรกิจได้ต่อเนื่องเช่น ร้านบิ๊กเต้ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ที่พยายามหาข้อมูลว่าลูกค้าที่เป็นนักศึกษาชอบสินค้าอะไร หรือปัจจุบันมีสินค้าอะไรที่น่าสนใจ แล้วหามาขายในร้าน นอกจากนี้ ยังรับฝากสินค้า ที่มีฝีมือจากนักศึกษาเพื่อสนับสนุนให้นักศึกษามีรายได้เสริม อีกทางหนึ่ง ก็จะได้ประโยชน์ร่วมกัน 2 ต่อ ก็ทำให้สามารถดึงดูดลูกค้าและสร้างลูกค้าประจำได้ หรือ “ร้านจีฉ่อย” แถวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีเอกลักษณ์ว่ามีสินค้าทุกชนิด หากที่ร้านไม่มีแต่ลูกค้ามาถามหา ก็จะวิ่งไปซื้อหามาให้ทันที โดยบวกราคานิดหน่อย ก็มีส่วนดึงดูด ให้ลูกค้ามาหาของที่ร้านนี้ก่อน อีกตัวอย่างก็คือ “ร้าน ล.เยาวราช” ที่ปรับปรุงใหม่ จากร้านที่มีสินค้าแน่นร้านแทบไม่มีทางเดิน ให้เป็นร้านโชห่วยที่สว่างไสว มีผนังสีทึบเพื่อให้สินค้าโดดเด่นออกมา ที่สำคัญ ก็คือการเปิดสม่ำเสมอทุกวัน เปิดเป็นเวลาแน่นอน เพื่อให้ลูกค้าสามารถมาซื้อหาของได้ รวมถึงความสะอาดของร้านด้วย ตัวอย่างเหล่านี้ อยากให้ได้เห็นเป็นข้อคิด ในการการปรับตัว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0