โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“บาซูก้า” การคลัง – สิงคโปร์ยิงแล้ว ไทยเอายังไง?

The101.world

เผยแพร่ 31 มี.ค. 2563 เวลา 04.59 น. • The 101 World
“บาซูก้า” การคลัง – สิงคโปร์ยิงแล้ว ไทยเอายังไง?

สันติธาร เสถียรไทย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

สัปดาห์ที่ผ่านมา สิงคโปร์ได้ช็อกทุกวงการด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ จนถูกขนานนามว่าปืนใหญ่ "บาซูก้า" ทางการคลัง

ด้วยขนาดถึง 11% ของ GDP สิงคโปร์ หรือประมาณ 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อรวมทั้งสองก้อนที่รัฐบาลประกาศออกมา (ก้อนแรกออกมาตอนประกาศงบประมาณประจำปีเดือนก่อน)

สิงคโปร์ยอมควักเงินเก็บก้นถุงที่สะสมไว้ออกมาใช้เป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ (ครั้งแรกคือตอนวิกฤตเศรษฐกิจโลก 2008-2009) พร้อมกู้เพิ่มเพื่อยิงปืนใหญ่การคลังครั้งนี้

 

บาซูก้าครั้งนี้ใหญ่แค่ไหน?

 

ลองเทียบกับมาตรการกระตุ้นของประเทศไทยที่ออกมา 2 ชุด รวมมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 3.1% ของ GDP ไทย เพราะฉะนั้นหากดูในเชิงสัดส่วนของ GDP เท่ากับของสิงคโปร์ใหญ่กว่าของเราเกือบ 4 เท่า

หรือถ้าเราอยากจะเห็นภาพว่า 11% ของ GDP นี่มันใหญ่สักขนาดไหน ลองสมมติว่าหากเป็นประเทศไทยใช้เงินเท่ากับ 11% ของ GDP ไทย มูลค่าจะเท่ากับประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท!

 

ทำไมต้องทำขนาดนี้?

 

รัฐมนตรีคลังสิงคโปร์บอกว่า นี่คือ "วิกฤต" ที่สิงคโปร์ไม่เคยเผชิญมาก่อนและมีความซับซ้อนสูงมาก

ด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว GDP ในปี 2020 น่าจะอยู่ที่ -1% ถึง -4% โดยสิงคโปร์มีการเตรียมพร้อมถึงขนาดที่ว่าปัญหาโควิด-19อาจจะยืดเยื้อเป็นปี

 

ปืนใหญ่ยิงไปที่ไหนบ้าง?

 

มาตรการต่างๆ มีทั้งช่วยคนงาน ครัวเรือนรายได้น้อย ธุรกิจ รวมถึงสังคมและจิตวิทยา

เนื่องจากมีรายละเอียดเยอะมาก ผมจะขอยกบางตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทย

เศรษฐกิจ "ตกน้ำ" แต่อย่าให้คน "จมน้ำ"

หากเปรียบเทียบว่าเศรษฐกิจมีสภาพเหมือนกำลังจมน้ำครั้งใหญ่ นโยบายของรัฐบาลสิงคโปร์กำลังพยายามช่วยไม่ให้คนและบริษัทจมน้ำตาย ให้เขามีที่เกาะและพยุงตัวไปได้

ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลสิงคโปร์จะชดเชยค่าจ้างให้กับบริษัทต่างๆ 25% ของค่าจ้างทั้งหมดเป็นเวลา 9 เดือน จากเดิมที่เคยประกาศจะช่วยแค่ 8% เป็นเวลา 3 เดือน หากเป็นอุตสาหกรรมที่โดนหนักเช่น การบิน ท่องเที่ยว ร้านอาหาร จะชดเชยให้ถึง 50-75% ของค่าจ้าง

พวกอาชีพอิสระจะได้เดือนละ 1,000 เหรียญสิงคโปร์ (2 หมื่นกว่าบาท) ต่อเดือนเป็นเวลา 9 เดือน และจะมีการศึกษาต่อว่าจะช่วยคนกลุ่มนี้อย่างไรในอนาคต

รัฐร่วมมือเอกชนขนาดใหญ่ทำโครงการ SGUnited Jobs สร้างงานใหม่ 10,000 ตำแหน่ง ในภาคเศรษฐกิจที่กำลังขาดแคลนคน เช่น ภาคสาธารณสุข (เช่น คนตรวจอุณหภูมิ) การขนส่ง (ส่งอาหารและสินค้าจำเป็น)

นโยบายมองทะลุถึง "วันที่น้ำลง"

สิงคโปร์ดูจะไม่ได้แต่มีมาตรการเพื่อให้คนและบริษัทรอดจากการ "จมน้ำ" เท่านั้น แต่พยายามจะสร้างรากฐานให้คนสามารถวิ่งได้เร็วยิ่งกว่าเดิมในวันที่ "น้ำลง" แล้ว

รัฐบาลมีงบช่วยส่งเสริม SME ให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยร่วมมือกับแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ นอกจากจะช่วยในระหว่างที่ต้องทำงานจากที่บ้าน (Social Distancing) แล้วยังช่วยให้เกิด Digital Transformation ในระยะยาวอีกด้วย

นอกจากนี้มีหลายโครงการที่ช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือคนงาน (Upskill and Reskill) เพราะเวลาที่งานประจำเงียบเหงาเป็นเวลาดีที่สุดที่จะเรียนรู้พัฒนาตนเอง โดยเฉพาะหากไม่ต้องห่วงเรื่องจะโดนไล่ออก

 

ไม่ได้มีแต่สิงคโปร์

 

ไม่ได้มีแต่สิงคโปร์ที่จัด "บาซูก้า" การคลังเพื่อพยุงเศรษฐกิจในวิกฤตรอบนี้

สหรัฐอเมริกาจัดกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ ขนาดกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 10% ของ GDP อเมริกา

มาดูใกล้บ้านเราอีกประเทศ มาเลเซียเองยิ่งจัดหนักอัดฉีดมาตรการเศรษฐกิจมูลค่าถึง 17% ของ GDP มาเลเซีย!

แม้นักวิเคราะห์บางคนบอกว่าประมาณครึ่งหนึ่งไม่ควรนับเป็น "มาตรการการคลัง" เพราะเป็นการพักหนี้เฉยๆ แต่ถึงหักส่วนนั้นออก บาซูก้าของมาเลเชียก็ยังมีขนาด 10% ของ GDP

 

หันมาดูไทย แค่โอนงบ+กู้เพิ่ม 2 แสนล้านอาจยังไม่พอ?

 

วันนี้มีข้อเสนอจากผู้เชี่ยวชาญหลายท่านให้ประเทศไทยโอนงบที่หน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะส่วนที่ไม่น่าจะได้ใช้ หรือไม่จำเป็นเร่งด่วน มาเติมให้สาธารณสุขที่เป็นทัพหน้าของเราในการต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง

แต่เกรงว่าความท้าทายทางเศรษฐกิจระดับที่เรากำลังเผชิญคงต้องการมากกว่าการโยกงบ อาจต้องใช้กระสุนการคลังที่ขนาดใหญ่ขึ้นด้วย

ผมเข้าใจว่าทางทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลกำลังพิจารณาแนวทางออกพระราชกำหนดกู้เงินเพิ่ม 2 แสนล้านบาท ซึ่งคือประมาณ 1.2% ของ GDP เพื่อออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดที่ 3

หากทำสำเร็จ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งสามชุดจะมีมูลค่ารวมประมาณ 4-4.5% ของ GDP ไทย ซึ่งไม่ใช่ปริมาณที่น้อยแน่นอน

เพียงแต่ในวิกฤตระดับประวัติศาสตร์ครั้งนี้อาจต้องเผื่อใจไว้บ้างว่า แม้ทำทั้งหมดนี้ก็อาจยัง "ไม่พอ"

 

ได้เวลาไทยใช้ "บาซูก้า" หรือยัง?

 

เราอาจบอกว่าเศรษฐกิจข้างต้นโดนศึกหนักกว่าไทย เลยต้องใช้ยาแรงกว่า

แต่หากดูจากประมาณการเศรษฐกิจของ ธปท. ที่มอง GDP ไทยอยู่ที่ -5.3% จะเห็นว่าเป็นสถานการณ์ที่หนักที่สุดตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 และหนักกว่าตัวเลขประมาณการ GDP ของสิงคโปร์ (-1% ถึง -4%) และมาเลเซีย (ไม่ติดลบ) เสียอีก เพราะเราโดนปัญหาอื่นเช่นภัยแล้งด้วย

เราอาจนึกว่ารัฐ "ไม่มีเงิน" แต่ฐานะการคลังของเราเข้มแข็งกว่ามาเลเซียและสหรัฐอเมริกาเสียอีก หนี้ภาครัฐของไทยอยู่ที่ 41% ของ GDP เทียบกับมาเลเซียอยู่ที่กว่า 52% ของ GDP ในขณะที่อเมริกาอยู่ที่ประมาณ 107%

แถมรัฐบาลไทยยังกู้ในตลาดพันธบัตรได้ดอกเบี้ยต่ำกว่ามาเลเซียเสียอีก (ดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีของไทยอยู่ที่ 1.5% เทียบกับ 3.4% ของมาเลเซีย)

 

ยาม "สงคราม" ไม่เหมือนยามปกติ

 

ผมไม่ได้บอกว่าเราต้องรีบควักกระเป๋าจัดบาซูก้าการคลังขนาด 10% ของ GDP หรือกว่าล้านล้านบาทแบบไม่ลืมหูลืมตา เพราะ "คุณภาพ" ก็สำคัญเช่นกัน

มาตรการทางการคลังต้องไป "ถูกที่" เพื่อช่วยเหลือคนที่เปราะบางที่สุด ต้องไป "ถูกเวลา" คือช่วยเขาทันและช่วยนานพอให้พ้นระยะวิกฤต นอกจากนี้ควรมองข้ามช็อตสำหรับลงทุนเพื่ออนาคตในยุคหลังโควิด-19 ด้วย ดังเช่นสิงคโปร์

แต่ในยามเผชิญ "สงคราม" เศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรงและซับซ้อนขนาดนี้ คุณภาพอย่างเดียวอาจไม่พอ การใช้กระสุนการคลังที่ "ถูกขนาด" และทันท่วงทีเป็นสิ่งสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในเมื่อประเทศไทยยังมีฐานะการคลังที่แกร่งพอและกำลังเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจระดับนี้ เราอาจต้องกล้าคิดกันแล้วว่า

"ได้เวลางัดบาซูก้าออกมาใช้หรือยัง?"

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0