โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“นพ.ทวีศิลป์’ โฆษก ศบค. เผย หลังจากนี้จะมี ‘คนไทย’ เดินทางกลับจากต่างประเทศมากขึ้น เป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง!

สวพ.FM91

อัพเดต 08 เม.ย. 2563 เวลา 07.44 น. • เผยแพร่ 08 เม.ย. 2563 เวลา 07.44 น.
“นพ.ทวีศิลป์’ โฆษก ศบค. เผย หลังจากนี้จะมี ‘คนไทย’ เดินทางกลับจากต่างประเทศมากขึ้น  เป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง!

ผู้ป่วยติดเชื้อ ‘โควิด-19’ รายใหม่ เพิ่มขึ้น 111 ราย เสียชีวิต 3 คน เป็นชาวต่างชาติ “นพ.ทวีศิลป์’ โฆษก ศบค. เผย หลังจากนี้จะมี ‘คนไทย’ เดินทางกลับจากต่างประเทศมากขึ้น  เป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง!  ‘ปชช.’ ที่อยู่ในประเทศ ต้องดูแลตัวเอง ไม่ออกไปข้างนอก ต้องช่วยกันลด ‘ผู้ติดเชื้อ’
 
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 8 เมษายน 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลง พบผู้ป่วยติดเชื้อใหม่ 111 ราย ยอดผู้ป่วยยืนยัน สะสมอยู่ที่ 2,369 ราย ผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 888 ราย ขณะที่มีผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสม 30 ราย โดยมีรายละเอียด ผู้เสียชีวิต รายที่ 28 เป็น ผู้ชาย สัญชาติรัสเซีย อายุ 48 ปี มีประวัติเดินทางไปจังหวัดภูเก็ต ในช่วงวันที่ 8-21 มีนาคม 2563 และเริ่มมีอาการป่วย วันที่ 22 มีนาคม 2563 เข้ารับการรักษาพยาบาล เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ด้วยอการ ไข้ ไอ เจ็บคอ โดยรักษาตัวที่บ้าน ก่อนจะเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา
 
ส่วนผู้เสียชีวิตรายที่ 29 เป็นผู้ชาย สัญชาติอินเดีย อายุ 69 ปี มีอาชีพทำธุรกิจส่วนตัว พบมีโรคประจำตัว คือ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เริ่มมีอาการป่วย เมื่อวันที่ 17 มีนาคม เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ต่อมาวันที่ 21 มีนาคม 2563 มีอาการไข้ 39.3 องศาเซลเซียส พ่วงด้วยอาการไอ มีน้ำมูก ปวดกล้ามเนื้อ และถ่ายเหลว จากนั้นย้ายเข้าแผนก ไอซียู ในวันเดียวกัน และส่งตัวเข้าโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในวันที่ 29 มีนาคม 2563 ซึ่งอาการไม่ดีขึ้น ก่อนจะเสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 และผู้เสียชีวิต รายที่ 30 เป็นผู้ชายสัญชาติอเมริกัน อายุ 69 ปี มีโรคประจำตัว คือ โรคไตเรื้อรัง เริ่มมีอาการป่วย เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ด้วยอาการไอ ปวดกล้ามเนื้อ หายใจลำบาก เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์ ต่อมาวันที่ 22 มีนาคม 2563 มีอาการหายใจหอบ เหนื่อยมากขึ้น และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตทั้ง 3 ราย เป็นชาวต่างชาติ ฉะนั้นเราจะต้องเชื่อมโยงกับคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ทั้งคนไทย และชาวต่างชาติ
 
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ผู้ป่วยรายใหม่ 111 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ  ผู้ป่วยรายใหม่ จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 69 ราย โดยเป็นผู้ป่วยที่มีประวัติกับผู้ป่วยยืนยัน หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 37 ราย  ขณะที่ผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ที่มีเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 11 ราย แบ่งเป็น คนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 2 ราย ไปสถานที่ชุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 3 ราย อาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในสถานที่แออัด หรือทำงานใกล้ชิดสัมผัสชาวต่างชาติ 4 ราย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 2 ราย และผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 21 ราย ส่วนผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้า State Quarantines คือ คนที่เดินทางมาจาก อินโดนีเซีย 42 ราย  
 
ตัวเลขผู้ติดเชื้อ จากการเดินทางกลับจากอินโดนีเซียข้างต้น แม้ว่าท่านจะมีใบรับรองแพทย์ยืนยัน แต่ก่อนมาท่านอาจจะไม่มีไข้ แต่อาจจะมาป่วยตอนลงเครื่องก็ได้ ทั้งนี้ เรายังทำการตรวจคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ 57 คน และกาตาร์ 14 คน รวม 71 คน ซึ่งคนที่กลับมาจาก เกาหลีใต้ ไม่ผ่านการตรวจคัดกรอง 8 คน จึงได้ส่งต่อไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล ส่วนคนที่เหลือได้เข้าสู่ระบบ State Quarantines ในสถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้ หลังจากนี้ จะมีคนไทยเดินทางกลับมาจากต่างประเทศมากขึ้น จึงเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง ส่วนประชาชนที่อยู่ในประเทศอีก 60 กว่าล้านคน ก็มีหน้าที่ต้องดูแลตัวเอง ไม่ออกไปข้างนอก คือ เราต้องลดจำนวนผู้ติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศ และคนที่อยู่ในประเทศไปพร้อมๆ กัน
 
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวและว่า ทั้งนี้ ในจำนวน 111 ราย กระจายอยู่ใน 11 จังหวัดประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร 23 ราย, จังหวัดสตูล จากอินโดนีเซีย จำนวน 16 ราย, ยะลา 14 ราย, สงขลา 10 ราย, ปัตตานี 9 ราย, นนทบุรี 7 ราย, กระบี่, นครปฐม, นราธิวาส, พัทลุง, ภูเก็ต และจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดละ 2 ราย, จังหวัดนครราชสีมา, ปทุมธานี จังหวัดละ 1 ราย อยู่ระหว่างสอบสวน 18 ราย สำหรับสถิติจังหวัดที่รับรักษาผู้ป่วยยืนยันสะสมทั่วประเทศ มีจำนวน 2,369 คน ใน 67 จังหวัด
 
พบผู้ป่วย ในกรุงเทพมหานคร 1,223 ราย, นนทบุรี 141 ราย, ภูเก็ต 140 ราย, สมุทรปราการ 102 ราย, ชลบุรี 70 ราย, ยะลา 68 ราย, ปัตตานี 55 ราย, สงขลา 47 ราย, เชียงใหม่ 39 ราย, ปทุมธานี 27 ราย อยู่ระหว่างสอบสน 92 ราย
 
ทั้งนี้ มี 10 จังหวัด ที่ยังไม่มีรายงานการรักษาผู้ป่วย ประกอบด้วย จังหวัดกำแพงเพชร, ชัยนาท, ตราด, น่าน, บึงกาฬ, พังงา, พิจิตร, ระนอง, สิงห์บุรี และจังหวัดอ่างทอง จะเห็นว่า สตูล เริ่มมีผู้ติดเชื้อเป็นครั้งแรก อาจจะเรียกว่า เมืองแตกก็จะแรงเกินไป แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อป่วยก็ต้องรักษา อีก 10 จังหวัดที่เหลืออยู่ก็ต้องช่วยกันให้เต็มที่
 
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า อัตราผู้ป่วยติดเชื้อต่อประชากรแสนคน จำแนกตามจังหวัดที่รับรักษา จากจำนวน 2,369 คน ใน 67 จังหวัด พบว่า อันดับหนึ่ง คือ จังหวัดภูเก็ต  อัตราป่วยต่อประชากรแสนคน อยู่ที่ 33.9 ตามมาด้วย กรุงเทพมหานคร 21.6 ส่วนจังหวัดยะลา 12.7 จังหวัดนนทบุรี 11.2 จังหวัดสมุทรปราการ 7.6 จังหวัดปัตตานี 7.6 จังหวัดสตูล 5.0 จังหวัดชลบุรี 4.5 จังหวัดกระบี่ 3.4 และจังหวัดสงขลา 3.3 เหตุที่เราเสนอสถิตินี้ก็เพราะ เราจะได้มามาตรการแยกเฉพาะของจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง โดยในช่วงที่ผ่านมา ภูเก็ต ใช้วิธี active case finding เป็นความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข และจังหวัด เพื่อเจาะหาคนติดเชื้อในบางพื้นที่ ไม่ได้เลือกตรวจคนทั้งหมด 600,000 คน เพราะเปลืองค่าใช้จ่ายมาก แต่จะเลือกตรวจจากข้อมูลที่มีอยู่ เบื้องต้น เก็บตรวจได้ 2 พันกว่าคน หากพบว่า มีคนติดเชื้อในส่วนนี้ก็จะขีดวงเพื่อตรวจหาในพื้นที่นั้น เป็นแนวทางของระบาดวิทยา
 
“สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 โลก พบว่า ขณะนี้ มีผู้ติดเชื้อรวม 1,425,803 คน รักษาหายแล้ว 301,828 คน อาการหนัก 47,912 คน  มีผู้เสียชีวิต รวม 81,972 คน โดยสหรัฐอเมริกา มีผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุด จำนวน 395,612 คน ประเทศสเปน 141,942 คน ประเทศอิตาลี 135,586 คน และประเทศฝรั่งเศล 109,069 คน และประเทศไทย อยู่อันดับที่ 42” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว    

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ดูเพิ่มเติม สวพ.FM91