โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“ทุเรียน GI” ทุเรียนเฉพาะพื้นที่ รสดีมีเอกลักษณ์

Manager Online

เผยแพร่ 03 ก.ค. 2563 เวลา 11.39 น. • MGR Online

“ทุเรียน” ขึ้นชื่อว่าเป็นราชาของผลไม้ ด้วยรสชาติที่หวาน มัน และกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ (แม้บางคนอาจจะไม่ชอบกลิ่นทุเรียนสักเท่าไหร่) ทำให้ทุเรียนเป็นผลไม้ที่ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ (บางส่วน) ชื่นชอบเป็นอย่างมาก

ทุเรียนในประเทศไทยมีหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งพันธุ์ที่เห็นได้ทั่วไปตามท้องตลาด เช่น พันธุ์หมอนทอง พันธุ์ชะนี หรือจะเป็นสายพันธุ์พื้นบ้านที่มีให้ลองชิมเฉพาะในท้องถิ่น เช่น พันธุ์กระดุม พันธุ์นกกระจิบ เป็นต้น

ส่วนสถานที่ปลูก ก็สามารถปลูกได้เกือบทั่วประเทศ และแม้ว่าจะเป็นทุเรียนสายพันธุ์เดียวกันแต่ถูกนำไปปลูกกันคนและพื้นที่ ก็ทำให้มีรสชาติและเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งทุเรียนแต่ละท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์แบบนี้ก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

มารู้จักกับ “สินค้า GI” กันก่อน GI หรือ Geographical Indication หมายถึง สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ คือเครื่องหมายที่ได้รับจากการขึ้นทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ใช้กับสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้านั้นๆ เป็นผลมาจากการผลิตในพื้นที่ดังกล่าว GI จึงเปรียบเสมือนเป็นแบรนด์ของท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า

ข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีทุเรียนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ 8 สินค้า ได้แก่

“ทุเรียนนนท์” หมายถึง ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว พันธุ์หมอนทอง พันธุ์ชะนี พันธุ์กระดุมทอง และพันธุ์พื้นเมือง ที่มีรสชาติดี หวาน มัน หอม เนื้อละเอียด สีเหลือง ปลูกในเขตพื้นที่ จ.นนทบุรี ซึ่งในพื้นที่นนทบุรีนี้ มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน ทำให้สภาพดินมีแร่ธาตุที่สำคัญมารวมกัน เหมาะสมต่อการทำสวนผลไม้ โดยเฉพาะสวนทุเรียน ทำให้ทุเรียนที่ปลูกในพื้นที่มีคุณภาพดี รสชาติหวานอร่อย

“ทุเรียนป่าละอู” หมายถึง ทุเรียนพันธุ์หมอนทองและพันธุ์ชะนี มีลักษณะเนื้อหนา สีเหลืองอ่อน เนื้อแห้งเนียนละเอียด กลิ่นอ่อน รสชาติหวานมัน เม็ดลีบเล็ก มีผลผลิตในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ปลูกในเขตพื้นที่ป่าละอู ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งในพื้นที่ป่าละอูนั้นเริ่มมีการนำทุเรียนเข้ามาทดลองปลูกเมื่อปี พ.ศ. 2527 โดยนำพันธุ์ก้านยาวมาจาก จ.นนทบุรี และ พันธุ์หมอนทองมาจาก จ.ระยอง โดยการทดลองนำมาปลูกในครั้งนั้นได้ผลดีคือ มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากต้นพันธุ์ที่นนทบุรีและรยอง ทุเรียนมีรสมัน หวานน้อย เนื้อแน่น และกลิ่นไม่แรง

“ทุเรียนปราจีน” หมายถึง ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว พันธุ์หมอนทอง พันธุ์ชะนี พันธุ์กระดุมทอง และพันธุ์พื้นเมืองอื่นๆ ที่มีเนื้อแห้ง หนา เส้นใยน้อย หวานมัน ปลูกในเขตพื้นที่ อ.เมืองปราจีนบุรี อ.กบินทร์บุรี อ.ประจันตคาม อ.ศรีมหาโพธิ์ และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี โดยเกษตรกรได้นำพันธุ์ทุเรียนทั้งแบบตอนกิ่งและเมล็ดมาจาก จ.นนทบุรี นำมาปลูกเมื่อประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา และด้วยสภาพภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝน และเนื้อดิน ทำให้ทุเรียนปราจีนมีเอกลักษณ์พิเศษคือ เนื้อแห้งไม่แฉะ

“ทุเรียนหลงลับแลอุตรดิตถ์” หมายถึง ทุเรียนพันธุ์หลงลับแล มีผลทรงกลม หรือกลมรี ขนาดเล็ก เปลือกบาง เนื้อมาก สีเหลืองเข้ม เนื้อแห้งละเอียดเหนียว มีกลิ่นอ่อน รสชาติหวานมัน เมล็ดลีบเล็ก ปลูกในเขตพื้นที่ อ.ลับแล อ.เมืองอุตรดิตถ์ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ จุดกำเนิดของทุเรียนหลงลับแลอุตรดิตถ์มาจากทุเรียนสายพันธุ์พื้นเมืองที่มีความพิเศษแตกต่างจากทุเรียนพื้นเมืองทั่วไป คือ เป็นทุเรียนที่มีรสชาติดี เมล็ดลีบ ภายหลังจากส่งเข้าประกวดทุเรียนและได้รับรางวัลยอดเยี่ยม เกษตรกรจึงได้รับการส่งเสริมให้ปลูกและขยายพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง

“ทุเรียนหลินลับแลอุตรดิตถ์” หมายถึง ทุเรียนพันธุ์หลินลับแล มีผลทรงกระบอก เปลือกบาง เนื้อสีเหลืองเข้ม เนื้อละเอียดเหนียวแห้ง รสชาติหวานมัน กลิ่นอ่อน เนื้อมาก เส้นใยน้อย เก็บไว้ได้นานโดยไม่แฉะ มีเมล็ดลีบเล็ก ปลูกในเขตพื้นที่ อ.ลับแล อ.เมืองอุตรดิตถ์ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ ต้นกำเนิดมาจากการนำเมล็ดทุเรียนมาปลูกแล้วได้ทุเรียนต้นใหม่ที่มีผลทุเรียนแปลกกว่าทุเรียนต้นอื่นๆ จากนั้นมีการส่งเข้าประกวด และได้รับความนิยมจากนักกินทุเรียนไม่น้อยกว่าทุเรียนพันธุ์หลงลับแล

“ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” หมายถึง เรียนพันธุ์ก้านยาว พันธุ์หมอนทอง พันธุ์ชะ ที่มีรสชาติหวานมัน มีกลิ่นหอมปานกลาง เนื้อละเอียด เนียนนุ่ม แห้ง สีเนื้อเหลืองสม่ำเสมอทั้งผล ปลูกในพื้นที่ อ.ขุนหาญ อ.กันทรลักษณ์ และ อ.ศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษเริ่มปลูกอย่างจริงจัง เมื่อ พ.ศ. 2531 มีการนำต้นพันธุ์ทุเรียนพันธุ์หมอนทองมาทดลองปลูก ปรากฎว่าได้ผลดี ให้ผลผลิตสูง และคุณภาพดี เนื่องจากดินบริเวณนี้เป็นดินที่เกิดจากภูเขาไฟโบราณผุพังมาจากหินบะซอลล์ มีธาตุอาหารชนิดต่างๆ ที่จำเป็นต่อพืชในปริมาณสูง ส่งผลให้ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษมีคุณสมบัติพิเศษ คือ เนื้อทุเรียนแห้ง นุ่มเหนียว เส้นใยละเอียด มีกลิ่นหอมไม่ฉุนมาก รสชาติค่อนข้างหวาน

“ทุเรียนสาลิกาพังงา” หมายถึง ทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองของ จ.พังงา มีลักษณะผลทรงกลม เปลือกบาง หนามสั้นและถี่ เนื้อหนาละเอียด สีเหลืองเข้ม กลิ่นหอมแต่ไม่ฉุนมาก แกนกลางเปลือกทุเรียนจะมีสีสนิมแดง เมล็ดลีบ รสชาติหวาน ปลูกในเขตพื้นที่ อ.กะปง จ.พังงา เหตุที่ชื่อสายพันธุ์สาลิกา เนื่องจากคนท้องถิ่นในยุคก่อนนิยมเปรียบเปรยความอร่อยเหมือนกับจะงอยปากของนกสาลิกาที่มีเสียงไพเราะ และเรียกขานกันมาจนถึงปัจจุบัน ทุเรียนพันธุ์สาลิกาต้นดั้งเดิมอยู่ในพื้นที่ อ.กะปง จ.พังงา มีอายุมากกว่า 100 ปี ยังคงยืนต้นและให้ผลผลิตอยู่เป็นปกติ

“ทุเรียนในวงระนอง” หมายถึง ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ผลทรงกลมรี มีร่องพูชัดเจน เปลือกบาง หนามถี่สีเขียว เนื้อหนาเนียนละเอียดสีเหลืองทอง เมล็ดลีบ รสชาติหวานหอม มัน กรอบ กลิ่นไม่ฉุน ปลูกในพื้นที่ ต.ในวงเหนือ และ ต.ในวงใต้ อ.ละอุ่น จ.ระนอง พื้นที่ในวง เป็นพื้นที่ที่มีภูเขาล้อมรอบ แต่เดิมมีการถางป่าเพื่อปลูกกาแฟและข้าวไร่ เมื่อราคากาแฟตกต่ำก็หันมาปลูกพื้นชนิดอื่น จนกระทั่งปี พ.ศ. 2536 ได้นำกล้าพันธุ์ทุเรียนหมอนทองมาจาก อ.หลังสวน จ.ชุมพร จากนั้นเกษตรกรก็เริ่มปลูกทุเรียนกันมากขึ้น โดยชาวบ้านที่นี่มีขนบธรรมเนียมในการทำสวนทุเรียน โดยจะมีการไหว้สวน (ไหว้เจ้าที่) ประจำปี หลังจากเสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว และมีความเชื่อว่าปลูกทุเรียนไว้ถือว่าเป็นไม้มงคลเพื่อป้องกันอุปสรรคขวากหนาม

สำหรับทุเรียนทั้ง 8 สินค้านี้เป็นส่วนหนึ่งในสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยสินค้า GI ของไทยนั้นมีทั้งหมด 143 สินค้า (ข้อมูลวันที่ 22 มิ.ย. 63) แบ่งออกเป็นประเภทข้าว อาหาร ผัก/ผลไม้ ผ้า หัตถกรรม/อุตสาหกรรม และไวน์/สุรา

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่Youtube :Travel MGR

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0