โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“ทิชชู” กระดาษชำระที่แรกเริ่มเจ๊งไม่เป็นท่า เพราะถูกมองว่าใช้สิ้นเปลือง

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 06 ก.พ. เวลา 03.18 น. • เผยแพร่ 05 ก.พ. เวลา 23.37 น.
ภาพปก-ห้องน้ำ
ห้องน้ำของครอบครัวหนึ่งใน Hamilton County รัฐ Ohio ภาพถ่ายเมื่อปี 1935 (ภาพจาก Library of Congress)

กระดาษชำระ หรือ ทิชชู (Tissues) เริ่มมาจากประมาณ พ.ศ. 2400 นายโจเซฟ กาเย็ตตี้ (Joseph Gayetty) นักธุรกิจชาวอเมริกัน ผลิตกระดาษชำระออกมาวางจำหน่าย แต่กิจการขาดทุนอย่างรวดเร็ว เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเสียเงินซื้อกระดาษชำระที่ใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง ทั้งๆ ที่มีกระดาษหนังสือพิมพ์เก่าๆ ใบปลิวเก่าๆ ใบโฆษณาและกระดาษห่อของให้ใช้ได้

ประมาณ พ.ศ. 2420 พี่น้องตระกูลสก๊อต (Scott) ได้พัฒนากระดาษแบบม้วนและมีรอยปรุขึ้น ซึ่งใช้ได้สะดวกกว่ากระดาษชำระแผ่นโตแบบของกาเย็ตตี้ ในระยะนี้ส้วมชักโครกและห้องน้ำภายในอาคารเริ่มเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในอเมริกาทำให้คนสนใจกระดาษชำระมากขึ้น เพราะมีขนาดเล็ก นุ่ม และยังเข้ากับแฟชั่นการตกแต่งห้องส้วมในขณะนั้นอีกด้วย ทำให้มีผู้ผลิตกระดาษชำระตามมาอีกหลายยี่ห้อ ซึ่งในระยะแรกการมีกระดาษชำระคู่กับโถชักโครกไว้ในห้องน้ำเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจของเจ้าของบ้านเลยทีเดียว

สําหรับฝรั่ง กระดาษชำระ หรือทิชชูจะเอาไว้เช็ดชำระจากการขับถ่ายอย่างเดียว ไม่ได้เป็นกระดาษอเนกประสงค์แบบคนไทยในปัจจุบัน ที่นอกจากเอาไว้เป็นกระดาษชำระแล้ว ยังใช้เช็ดหน้า เช็ดเครื่องสำอาง ใช้เป็นกระดาษเช็ดปาก และใช้เช็ดสิ่งสกปรก ซึ่งกระดาษทิชชูมาแทนวัฒนธรรมการใช้กิ่งไม้เช็ดก้น กระดาษเช็ดหน้ามาแทนผ้าเช็ดหน้า และกระดาษเช็ดปากมาแทนผ้าเช็ดปาก นอกจากนี้มีการผลิตกระดาษที่ใช้ทำความสะอาดมาแทนผ้าขี้ริ้ว กระดาษพวกนี้ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ต่างจากผ้าที่สามารถนำกลับมา

สําหรับการใช้กระดาษชำระหรือทิชชูในสังคมไทย ในอดีตผู้ที่มีโอกาสใช้ได้มีแต่ชนชั้นสูงและผู้มีฐานะดีเท่านั้น เพราะเป็นของที่ต้องสั่งเข้าจากเมืองนอก กระดาษชำระเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตของคนโดยเฉพาะในวัฒนธรรมการขับถ่ายและชำระร่างกายของคนในเมือง เรื่องของกระดาษชำระก็เช่นเดียวกันกับเรื่องของอุตสาหกรรมสุขภัณฑ์ที่มีปริมาณความต้องการใช้ของคนในสังคมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงได้มีการติดตั้งโรงงานผลิตขึ้นในประเทศไทย

ในช่วงสมัยเร่งรัดพัฒนาเมืองมีการขยายตัว เกิดที่อยู่อาศัยอย่างมากมายในกรุงเทพฯ ในบ้านที่มีห้องน้ำทันสมัย มีการใช้สุขภัณฑ์ชักโครก ซึ่งของที่คู่กับชักโครกอย่างหนึ่งคือกระดาษชำระ ประมาณทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา เราไม่ต้องนำเข้ากระดาษชำระที่เป็นม้วนโดยตรง มีผู้ประกอบการในไทยได้สั่งซื้อกระดาษม้วนใหญ่มาจากต่างประเทศ แล้วมาแปรเป็นม้วนเล็กๆ ซึ่งนอกจากจะมีกิจการกระดาษชำระแล้ว มักมีกิจการเกี่ยวกับผ้าอนามัยควบคู่ไปด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวบ้านในอดีต กระดาษชำระได้แก่พวกหนังสือพิมพ์ สมุดเก่าๆ และกระดาษห่อของ เป็นต้น โดยเอามาตัดเป็นแผ่นๆ ร้อยด้วยลวดหรือเชือกแขวนไว้ที่ห้องน้ำ การใช้กระดาษหนังสือพิมพ์เช็ดก็เป็นการใช้แทนกิ่งไม้หรือใบไม้ ซึ่งกว่าที่จะเปลี่ยนมาใช้และเห็นความสำคัญของกระดาษชำระหรือทิชชูก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และปัจจัยในด้านราคา และความสะดวกในการซื้อหา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

ข้อมูลจาก :

มนฤทัย ไชยวิเศษ.ประวัติศาสตร์สังคม-ว่าด้วยส้วม และเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย, สำนักพิมพ์มติชน, มิถุนายน 2545.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 พฤษภาคม 2562

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “ทิชชู” กระดาษชำระที่แรกเริ่มเจ๊งไม่เป็นท่า เพราะถูกมองว่าใช้สิ้นเปลือง

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0