โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“ทำเรื่องฝุ่น ให้เป็นเรื่องใหญ่” สังคมไทยเรียนรู้อะไรจาก ‘ฝุ่น’

Another View

เผยแพร่ 07 ก.พ. 2562 เวลา 05.00 น.

“ทำเรื่องฝุ่นให้เป็นเรื่องใหญ่” สังคมไทยเรียนรู้อะไรจาก ‘ฝุ่น’

อากาศในเมืองใหญ่ไม่ได้เพิ่งมาเลวร้ายวันนี้ มันเลวแบบนี้มานานมากแล้ว แต่มันเพิ่งระเบิดออกมาเป็นปัญหาให้เราตื่นตัว ดังนั้น วันนี้เรื่องฝุ่น ๆ ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ อีกต่อไป มันถึงเวลาที่เราจะมาฉุกคิด เรียนรู้ และแก้ไขปัญหา ก่อนที่ฝุ่นตัวร้ายจะใหญ่คับเมือง ครองบ้านเราไปนานกว่านี้

"เมื่อความเป็นเมืองขยายตัวมลพิษทางอากาศก็ขยายตาม"

เราจะสังเกตว่าในเมืองมีกิจกรรมการเผาไหม้ และสร้างมลภาวะหนาแน่นมาก เราอยู่กับการใช้ชีวิตประจำวันที่สร้างมลภาวะฝุ่นควันทุกวัน แต่เราเพิกเฉยกับมัน ทั้งการเผาขยะ การก่อสร้างอาคาร การปล่อยควันพิษจากโรงงาน การเผาถ่านหินจากโรงไฟฟ้า การปล่อยควันดำจากท่อไอเสียรถยนต์ และอีกนานากิจกรรมที่เราทำ

พอกิจกรรมของเราขยายตัว น่าแปลกที่เรากลับไม่สร้าง "ปอดของโลก" คือต้นไม้มาช่วยชีวิตเรา เราจะเห็นว่าการตัดต้นไม้เป็นเรื่องปกติ และในยุคหลัง ๆ มานี้ไม่มีการรณรงค์การปลูกต้นไม้สีเขียวให้เราได้เห็นกัน เอาง่าย ๆ แค่ริมทางตามฟุตปาธ ยังโกร๋นเกลี้ยง เมื่อไม่มีปอดที่ใหญ่พอไว้ดูดซับมลพิษ แต่มลพิษตัวร้ายเพิ่มขึ้นทุกวัน อากาศจึงพังไม่เป็นท่า

"เมื่อรัฐบาลส่งเสริมกิจกรรมการเผาไหม้ผ่าน. 44  ราวกับช่วยเผาชาติให้เร็วขึ้น"

จากข้อมูลของแหล่งข่าว ispace Thailand ระบุว่า "เมื่อปี 2559 หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 4/2559 ใช้อำนาจ ม. 44 เปิดทางให้เอกชนสามารถตั้งโรงงานหลายประเภท เช่น โรงงานเผาขยะ โรงงานไฟฟ้า โดยไม่ต้องสนใจกฎหมายและกฎระเบียบใด"

นั่นหมายความว่า รัฐบาลขาดการควบคุมผังเมือง เพื่อให้เอกชนใช้สอยพื้นที่ตามต้องการอย่างอิสระ ทำให้ผังเมืองถูก ‘ฉีก’ เป็นการชั่วคราว หรือหมายถึง การงดเว้นการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยผังเมืองเพื่อเปิดทางให้ประกอบกิจการบางประเภท เช่น โรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ โรงบำบัดน้ำเสีย เตาเผาขยะ โรงงานคัดแยกและฝังกลบสิ่งปฏิกูล หรือ หลุมฝังกลบขยะ โดยไม่ต้องคำนึงถึงการกำหนดโซนผังเมือง

แน่นอนว่ารัฐบาลส่งเสริมความเป็นเมือง ส่งเสริมธุรกิจ ให้เมืองมีการดำเนินกิจกรรมกิจการทุกอย่างอย่างให้เสรี แต่ลืมนึกไปว่า "สิ่งแวดล้อม" และ "สุขภาพของประชาชน" นั้นสำคัญมากเพียงใด ส่งผลให้ทั้งเมือง และอากาศจึงพังเละเทะไม่เป็นท่า

"เมื่อคนในชาติเดือดร้อนทางออกคือการแก้ไขปัญหาปลายเหตุ"

ไม่ว่าจะฉีดน้ำ ฝนหลวง หรือการหาหน้ากากมาใส่ นี่เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาชาติด้านมลพิษอากาศ แบบปลายเหตุ (Passive Solution) คือการรอให้เกิดแล้วไปแก้ แต่ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ

ในขณะที่บ้านเมืองอื่น ชาติอื่นเขามีปัญหา เขามุ่งวิธีการแก้ปัญหาไปที่ต้นเหตุ (active solution) คือ การหยุด / ลดละการก่อเกิดกิจกรรมเผาไหม้ในเมือง ไม่ว่าจะเป็นประเทศเกาหลีใต้ จีน อินเดีย เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี เดนมาร์ก และเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก ต่างเป็นตัวอย่างที่ดีในการแก้ไขปัญหามลภาวะของชาติ แต่เราไม่ได้เอาเขาเป็นตัวอย่างเลย ยกตัวอย่างนโยบายการแก้ปัญหาระดับนานาชาติที่น่าสนใจ เช่น

จีน: สั่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน / งดการเผาใบไม้ / ระงับโครงการก่อสร้างช่วงที่สุ่มเสี่ยงมลภาวะในอากาศสะสม

เดนมาร์ก: รณรงค์ให้คนใช้จักรยาน

เมืองใหญ่อย่างปารีส เอเธนส์ มาดริด และเม็กซิโกซิตี้: รณรงค์เลิกใช้รถดีเซลที่เป็นสาเหตุของฝุ่นละอองมลพิษ และรณรงค์ให้คนใช้ขนส่งสาธารณะ

เยอรมัน: มีคำสั่งห้ามจอดรถใกล้บ้าน เสียเงินค่าเช่าจอดแพง เพราะอยากให้คนมีรถ หันไปใช้งานขนส่งสาธารณะ

อินเดีย: ห้ามจุดพลุไฟในเทศกาลต่าง ๆ และห้ามแท็กซี่ดีเซลขับให้บริการ

เกาหลีใต้: ปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินชั่วคราวในช่วงวิกฤติมลพิษ และเตรียมปิดถาวรปีหน้า

แต่หันกลับมามองบ้านเรา เรายังคงฉีดน้ำขึ้นฟ้า หรือแม้กระทั่งน้ำหวาน ซึ่งไม่ช่วยอะไรเท่าไหร่ และรณรงค์ใส่หน้ากากรุ่น N95 ที่พวกเราดูแลตัวเองกันไป เพราะรัฐขาดงบมาดูแลพวกเรา และก็เพิ่งจะมาเป็นเดือดเป็นร้อนเรื่องแหล่งเผาไหม้ในเมืองเมื่อไม่นานมานี้เอง ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลเป็นผู้เห็นชอบให้เกิดการสร้างมลพิษมายาวนานกว่า 2 ปี ผ่านกฎหมาย ม. 44 หรือแม้กระทั่ง กรมการขนส่ง เพิ่งจะมาร้องให้ประชาชนช่วยกันตรวจตราและแจ้งเมื่อพบรถเมล์ที่มีควันดำ คำถามคือ ทำไมไม่ไปตรวจเอง ใช้ประชาชนตรวจจับให้ทำไม ทำอะไรอยู่? หรือ ณ ตอนนี้ ที่เพิ่งออกด่วน ๆ มาให้ห้ามขับ แต่เพิ่งมาจริงจัง ก็เมื่อสายไปแล้ว เพราะท้องถนนเต็มไปด้วยเขม่าควันพิษดำทมึนไปหมดแล้ว

"บทเรียนราคาแพงเรื่องมลภาวะในอากาศกำลังสอนอะไรเราบ้าง?"

1. เมืองจะขยายยังไงก็แล้วแต่ จะเจริญมากแค่ไหน ต้องไม่ลืมสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอันดีของประชาชน

2. กฎหมายในบ้านเมืองมีไว้เพื่อคุ้มครองเราทุกคน ดังนั้น หากจะยกเลิกกฎต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่มีต่อประชาชนด้วย อย่าเห็นซึ่งผลประโยชน์ทางธุรกิจเท่านั้น เมื่อรัฐเป็นช้างเท้าหน้า ผู้นำทัพ เดินหน้าให้กับประเทศ มีโอกาสที่จะชี้เป็นหรือชี้ตายในแนวทางปฏิบัติ และกรอบกฎหมายที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตคน ควรต้องทบทวนให้ดี ว่าสิ่งที่ทำ กำลังสร้างประโยชน์ส่วนตน หรือประโยชน์กับประชาชน ไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ก่อน action ใด ๆ

3. ประเทศเราเป็นประเทศที่ต้องรอให้มีปัญหาก่อน แล้วค่อยไปดับปลายเหตุ แต่ไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ มันทำให้เราแก้ปัญหาไม่ขาด เหมือนชาติอื่นเขา ต้องรอให้เกิด ให้พัง จึงจะมีบทเรียน คล้าย ๆ กับตอนสึนามิมาผลาญเอาชีวิตและทรัพย์สินเสียหาย จึงจะเพิ่งมีการติดตั้งระบบสัญญาณเตือน

4. เราไม่ใช่ประเทศแรกที่เกิดปัญหาอะไรแบบนี้ เมื่อมีตัวอย่างที่ดีที่เป็น Best Practices เรากลับไม่เรียนรู้แนวทางการหาทางออกของประเทศที่เจริญแล้ว แต่กลับทำอะไรบ๊อง ๆ มันก็จะทำให้เรายังคงเป็นประเทศที่กำลัง (จะ) พัฒนาต่อไป

5. ในขณะที่เราโทษรัฐบาล โยนความผิดให้นโยบายชาติบ้านเมือง และการแก้ปัญหาของผู้นำประเทศ แต่สิ่งหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้คือ คนไทย และกลุ่มธุรกิจเอกชนต่าง ๆ ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ของพลเมืองที่ดีมากพอ ที่จะปกป้อง ดูแล หวงแหนสิ่งแวดล้อมที่ดี และทรัพยากรธรรมชาติของประเทศเราเองเช่นกัน เรายังคงทำกิจกรรมเดิม ๆ ที่สร้างมลภาวะ และอยู่กับการทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยวิถีชีวิตของเราทุกวัน เช่น การทิ้งขยะ การตัดไม้ทำลายป่า การเผาไหม้ในโรงงาน การเผาขยะ เป็นต้น ดังนั้น การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนจริง ๆ คือสำนึกของเราคนไทยทุกคนที่ตระหนักถึงปัญหา และร่วมใจกันแก้ปัญหาด้วยการดูแลสิ่งแวดล้อมของเราให้ดีที่สุด มิใช่โยนความผิดให้หน่วยงาน หรือองค์กรรัฐฝ่ายใด เพราะทุกอย่างเริ่มต้นที่สองมือของเราเอง…เราทุกคนล้วนมีหน้าที่เดียวกันคือดูแลบ้านเมืองของเราให้ดีที่สุด

ประเทศเราใช้ทรัพยากรกันจนพินาศ แต่คำถามกลับคือ เมื่อรัฐบาลผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลมองเห็น 'สุขภาวะของประเทศชาติ' พังขนาดนี้ คุณคงต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อทำให้บ้านเมืองเรากลับมาสูดอากาศได้เต็มปอด สดชื่นกันเหมือนเดิม และนอกจากฝากความหวังไว้ที่รัฐบาลแล้ว หากเราทราบว่าเรามีส่วนในกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิต ที่สร้างแหล่งเผาไหม้ให้กับประเทศอยู่ในขณะนี้ เช่น เผาขยะ ขับรถควันดำ เป็นต้น เราทุกคนจงหยุด เพื่อไม่เพิ่มมลพิษ ซ้ำเติมอากาศแย่ ๆ ให้แย่ยิ่งขึ้นไปอีก…ไม่เพิ่มฝุ่นด้วยมือของเราทุกคน

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:

กฎหมาย ม. 44 จาก ispace Thailand Link: https://goo.gl/gw1rLS

ข้อมูล Best Practices ของนานาชาติ จาก The Standard

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0