โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“ถนนข้าวสาร” โฉมใหม่ไฉไลรับคลายล็อกดาวน์

Manager Online

เผยแพร่ 01 ก.ค. 2563 เวลา 13.47 น. • MGR Online

“ถนนข้าวสาร” สถานที่ท่องเที่ยวบันเทิงยามราตรี ที่มีชื่อเสียงลือเลื่องไปไกลทั่วโลก ถือเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กสำคัญของกรุงเทพฯ ที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต่างปักหมุดเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางเมื่อเดินทางมาท่องเที่ยวที่เมืองหลวงของไทย

หลังจากสถานการณ์ของไวรัสโควิด 19 ที่แพร่ระบาดทั่วโลกในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยว เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทย สถานประกอบการย่านถนนท่องเที่ยวยามราตรีแห่งนี้จึงต้องปิดกิจการเป็นการชั่วคราว และในช่วงยามวิกฤตนี้ทางกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตพระนคร จึงพลิกโอกาสปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่บริเวณถนนข้าวสารเปลี่ยนโฉมใหม่ให้ไฉไลยิ่งกว่าเดิม

โดยโครงการงานปรับปรุงพื้นที่ย่านถนนข้าวสาร เพื่อให้พื้นที่มีความสวยงาม สะอาด กว้างขวาง และสามารถรองรับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างเหมาะสม โดยปรับสภาพถนนและทางเท้าให้เป็นระดับเดียวกันตลอดสายและปูพื้นด้วยวัสดุสวยงาม คงทน และสามารถทำความสะอาดได้ง่าย รวมทั้งรองรับการจัดระเบียบหาบเร่ – แผงลอย บริเวณถนนข้าวสาร ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย

สำหรับการปรับปรุงถนนข้าวสาร รวมระยะทาง 400 เมตร กว้าง 16 เมตร ปริมาณพื้นที่ 6,400 ตร.ม. โดยประกอบด้วย การรื้อถอนพื้นทางเท้าเดิม ปรับปรุงผิวทางและทางเท้าคอนกรีตเสริมเหล็ก จัดทำรางระบายน้ำ (GUTTER STAINLESS) ติดตั้งเสา STAINLESS DAI ชนิดเก็บลงพื้นได้ เพื่อเป็นแนวกั้นระหว่างผู้ค้า และผู้ประกอบการในอาคาร ติดตั้งเต้ารับไฟฟ้าแบบฝังพื้นและกันน้ำ เป็นต้น

ภาพที่เคยคุ้นตาสภาพเดิมๆ ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปของถนนข้าวสารรูปแบบใหม่ ทัศนียภาพดูโล่ง โปร่งสบาย ไม่มีสายไฟมาเกะกะรกสายตา ในช่วงยามเย็นในแต่ละวันจะมีประชาชนที่อาศัยอยู่ในย่านนั้น ออกมาใช้พื้นที่บริเวณริมถนนบ้างก็มาเดินออกกำลังกาย บ้างก็จับกลุ่มตั้งวงเล่นตะกร้อกันอย่างสนุกสนาน

จากการสอบถามนักท่องเที่ยวกลุ่มวัยรุ่น 2-3 กลุ่ม ที่เดินทางเยี่ยมชมถนนข้าวสารโฉมใหม่ ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่ามาเพื่อเยี่ยมชมการเปลี่ยนแปลงไปของถนนสายนี้ และมาเพื่อถ่ายรูปเก็บภาพบรรยากาศ เนื่องจากช่วงนี้ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยว แม้ว่าร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม ที่พัก เกสต์เฮ้าส์ จะปิดบริการชั่วคราวก็ตาม และเมื่อถามว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับการนำร่องปรับภูมิทัศน์ของถนนแห่งนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ตอบว่าชื่นชอบ เพราะดูแล้วสะอาดตา เป็นระเบียบมากขึ้น และอยากให้มีการปรับภูมิทัศน์ในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

แม้ว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาร้านค้าต่างๆ บนถนนข้าวสารจะเปิดบริการไม่มากนัก ซึ่งต่างจากถนนรามบุตรีบริเวณด้านหน้าวัดบวรนิเวศวิหาร ที่มีร้านอาหารเริ่มทยอยมาตั้งร้านค้าขายของกินให้กับนักท่องเที่ยวแล้ว ซึ่งพ่อค้าร้านน้ำผลไม้ปั่นเล่าให้ฟังว่า ในช่วงโควิดก็มีหลายร้านที่ปิดไปบ้าง ส่วนร้านน้ำผลไม้ปั่นของตนนั้นเปิดขายทุกวัน ไม่ได้หยุดหรือปิดเหมือนกับร้านอื่นๆ ถึงช่วงนี้จะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ยังมีนักท่องเที่ยวคนไทยที่มาท่องเที่ยวไหว้พระทำบุญ และคนที่มาชมถนนข้าวสารรูปแบบใหม่ ทำให้ที่ร้านพอขายได้บ้าง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. มีมติคลายล็อกดาวน์เฟส 5 หรือผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 5 ในการเปิด 5 กลุ่มกิจการและกิจกรรม ที่มีความเสี่ยงสูง โดยหนึ่งในนั้นคือ ผับ บาร์ สถานบันเทิง โดยจะต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมอย่างเคร่งครัด โดยจะสามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตั้งแต่ 5 โมง-เที่ยงคืน มีระยะยืน-นั่งห่างมากกว่า 1 เมตร จำกัดมาตรการใช้พื้นที่ 4 ตร.ม.ต่อคน ทางร้านจะต้องทำความสะอาดพื้นผิว ระยะห่างของโต๊ะ ต้องเกิน 2 เมตร หากทำไม่ได้ให้ทำฉากกั้น สูง 1.5 ม. รวมทั้งทุกคนต้องลงทะเบียน เข้าออกสถานที่ผ่านแอปพลิเคชันชัยชนะ เป็นต้น

ในส่วนการเตรียมความพร้อมของผับ บาร์ บนถนนข้าวสาร ให้พนักงานของร้านทำความสะอาด และจัดเตรียมพื้นที่ต่างๆ ภายในร้าน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม โดยได้ปรับรูปแบบร้านตามวิถีใหม่ หรือ New normal ด้วยการจัดโต๊ะให้มีระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร และมีพาร์ทิชั่นกั้นทุกโต๊ะ, ทำความสะอาดอุปกรณ์การใช้งานทุกชนิดที่มีการสัมผัส เป็นต้น และลูกค้าที่จะมาใช้บริการต้องทำการจองโต๊ะล่วงหน้า เพื่อเป็นการควบคุมจำนวนและลดความแออัดภายในร้าน

สำหรับถนนข้าวสาร เป็นถนนที่สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2435 เดิมเป็นย่านเก่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นตรอกที่ขายข้าวสาร แหล่งค้าขายข้าวสารที่ใหญ่ที่สุดของเขตพระนคร ซึ่งข้าวสารจำนวนมากจะถูกขนส่งมาจากฉางข้าวหลวง สะพานช้างโรงสี ริมคลองคูเมืองเดิม หรือ ปัจจุบันก็คือ คลองหลอด เลียบมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นที่ท่าเรือบางลำพู เพื่อนำข้าวมาขายให้แก่ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นถนนข้าวสาร หลังจากนั้นก็เริ่มเกิดชุมชนขึ้น และขยับขยายต่อไป ต่อมาเริ่มมีร้านขายของมากขึ้น

ต่อมาความเป็นอยู่ของชุมชนแห่งนี้เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาในช่วงปี พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานครครบรอบ 200 ปี ได้เข้ามาเช่าห้องพักอาศัยเพื่อเที่ยวชมเมืองหลวงของไทยในช่วงเทศกาลสำคัญนี้ และเริ่มมีฝรั่งเข้ามามาถ่ายภาพยนตร์ โดยมีทีมงานกองถ่ายมาอยู่กันจำนวนมาก ที่มาเช่าที่ เช่าเกสเฮาส์ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มี ก็ต้องเช่าจากบ้านที่อยู่แถวนั้นซึ่งใช้แบ่งเช่า จึงเป็นที่มาของเกสเฮาส์ จนกลายเป็นศูนย์รวมของพวกแบ็คแพ็กเกอร์ที่มาท่องเที่ยวประเทศไทย จนเป็นที่โด่งดังในที่สุด ก่อนที่จะมาปรับเปลี่ยนรูปแบบอีกทีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากลายเป็นย่านบันเทิงยามราตรีที่สำคัญของกรุงเทพฯ

ถนนข้าวสารถือเป็นถนนที่ได้รับความนิยมในการเล่นน้ำในวันสงกรานต์ที่คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลก การเล่นสงกรานต์บนถนนข้าวสารเริ่มเมื่อประมาณ พ.ศ. 2533 เนื่องจากที่ถนนข้าวสารนี้เป็นแหล่งที่พักอาศัยชั่วคราว หรือที่เรียกว่าเกสต์เฮ้าส์ ดังนั้นประเพณีการเล่นน้ำสงกรานต์ของคนไทยจึงถูกใจนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่มาพักในถนนข้าวสารเป็นอย่างมาก โดยการเล่นสงกรานต์ถนนข้าวสารในช่วงแรกๆ ก็เป็นแต่เพียงเล่นสาดน้ำกันธรรมดาเท่านั้น

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0