โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

“ต้มยำกุ้ง” วิกฤตการเงินรสเผ็ดร้อนของคนไทย ภาคอวสานต้มยำกุ้ง

aomMONEY

อัพเดต 04 ส.ค. 2561 เวลา 05.26 น. • เผยแพร่ 14 ก.ค. 2561 เวลา 07.58 น. • นายปั้นเงิน
“ต้มยำกุ้ง” วิกฤตการเงินรสเผ็ดร้อนของคนไทย ภาคอวสานต้มยำกุ้ง
“ต้มยำกุ้ง” วิกฤตการเงินรสเผ็ดร้อนของคนไทย ภาคอวสานต้มยำกุ้ง

“ตระกูลใหญ่แบงก์ไทย โยกเงินฝากธ.ต่างชาติ” 

พาดหัวข้อข่าวที่แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของระบบการเงินของไทย ที่แม้แต่เจ้าของธนาคารต้องขนเงินส่วนตัวไปฝากไว้กับธนาคารในต่างประเทศ เพราะเป็นช่วงที่ค่าเงินบาทกำลังโดนโจมตีอย่างรุนแรงจากกลุ่มเฮดจ์ฟันด์ และจอร์จ โซรอส 

ข้อความดังกล่าวปรากฎอยู่ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 1 กรกฏาคม 2540 

หนึ่งวันก่อนที่นายทนง พิทยะ รมว.การคลัง จะประกาศลอยตัวค่าเงินบาท…

เป็นที่รู้กันว่าฟองสบู่ของระบบเศรษฐกิจไทยนั้นถูกปั่นขึ้นมา มีสาเหตุหลักมาจากการกู้เงินต่างประเทศอย่างสนุกสนานโดยสถาบันการเงิน และบริษัทเอกชนไทยหลายแห่ง ซึ่งหนี้สินที่กู้ยืมมาโดยส่วนมากเป็นหนี้ระยะสั้นที่กำหนดจ่ายในระยะเวลา 1 ปี (ติดตามเรื่องราวตอนแรกอย่างละเอียดที่นี่)

ในปี 2539 เป็นช่วงเวลาที่หลายฝ่ายเริ่มมองเห็นอาการอ่อนแอของระบบเศรษฐกิจไทย เริ่มจาก IMF หรือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้ออกมาเตือนประเทศไทยว่า 

“นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวจะช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นวิกฤตทางการเงินได้” 

แต่สุดท้ายแล้วประเทศไทยเราก็ไม่ได้สนใจคำเตือนและเดินหน้าด้วยนโยบายเดิมต่อไป

สัญญาณต่างๆเริ่มชัดเจนขึ้น เมื่อบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวนมาก มีอัตราส่วนกำไรก่อนหักค่าเสื่อมราคาดอกเบี้ยและภาษี (EBITDA) น้อยกว่า “จำนวนดอกเบี้ยจ่าย” ที่เป็นภาระจากการกู้ยืมเงิน 

หมายความว่า กำไรที่เป็นสภาพคล่องของบริษัทเอกชนหลายแห่งนั้นไม่พอที่จะจ่ายดอกเบี้ยและภาษี

ดอกเบี้ยยังจ่ายไม่ไหว แล้วเงินต้นที่กู้มาจะทำอย่างไร ? สัญญาณของหนี้เสียไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสถาบันการเงิน (NPL) เริ่มปรากฎชัด

โซรอสมองเห็นอะไรในความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจไทย?

จอร์จ โซรอส เริ่มเห็นว่าเงินส่วนมากที่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินกู้ไปนั้น ถูกนำไปใช้เก็งกำไรในราคาสินทรัพย์ที่เป็นฟองสบู่ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ถูกปั่นขึ้นสูงกว่าความเป็นจริง และลูกหนี้ส่วนนั้นมีโอกาสกลายเป็นหนี้เสียที่ดูเน่าหนอน 

สถาบันการเงินและบริษัทต่างๆจึงมีโอกาสถูกเบี้ยวหนี้สูงมาก

และเมื่อมองไปที่ตัวเลขมูลหนี้ต่างชาติก็พบว่า…ประเทศไทยเป็นหนี้ระยะสั้นจำนวนมหาศาลที่สะสมมาสิบปี และสัดส่วนเงินก้อนนี้สูงกว่าเงินสำรองระหว่างประเทศของแบงก์ชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่โซรอสตัดสินใจโจมตีค่าเงินบาทไทยทันที

(การที่แบงก์ชาติจะใช้นโยบายแลกเปลี่ยนแบบคงที่ได้นั้น จำเป็นจะต้องมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมาก เพราะถ้ามีความต้องการเงินดอลล่าร์ทะลักเข้ามาในประเทศในวันหนึ่ง ประเทศไทยจะมีทุนรองรับความต้องการได้อย่างเพียงพอ แต่ประเทศไทยไม่ได้มีเงินทุนสำรองมากพอในเวลานั้น…)

โซรอสซัดค่าเงินบาทโดยเพิ่มความต้องการซื้อเงินตราต่างประเทศจากไทย เมื่อความต้องการซื้อมีสูง แต่แบงก์ชาติไม่ต้องการขายเพราะอยากปกป้องเงินบาทไทย ก็ยิ่งทำให้อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างไทยบาทกับดอลล่าร์สูงขึ้น ดอลล่าร์กลายเป็นของหายากในไทย ถ้าอยากได้ก็ต้องใช้เงินบาทจำนวนมากขึ้นในการแลกดอลล่าร์

เมื่อประเทศไทยโดนโจมตีค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง กลุ่มธนาคารต่างชาติที่เป็นเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินและบริษัทในไทยมองเห็นความอ่อนแอของลูกหนี้ตัวเอง จึงต้องเรียกคืนเงินต้นของตัวเองทันที เพราะไม่ต้องการรับความเสี่ยงไปมากกว่านี้แล้ว

และแล้วความเชื่อใจของเจ้าหนี้เริ่มหมดลง สถาบันการเงินไทยก็ต้องนำเงินไปแลกเงินดอลล่าร์กับแบงก์ชาติเพื่อที่จะนำเงินไปชำระหนี้ ปริมาณความต้องการซื้อเงินดอลล่าร์พุ่งสูงขึ้นทันที เงินทุนสำรองระหว่างประเทศจึงลดลงอย่างรวดเร็ว สุดท้ายแล้วก็ไม่เพียงพอความต้องการจำนวนมหาศาล

จนในที่สุด…2 กรกฎาคม 2540 ประเทศไทยประกาศปล่อยลอยตัวค่าเงินบาท

ตัวเลขความเสียหายทั้งหมดของต้มยำกุ้งรสเผ็ดชามนี้

ความตื่นกลัวเกิดขึ้นทั่วทุกสารทิศเพราะค่าเงินบาทไทยอ่อนตัวลงอย่างรุนแรง และไหลลงอย่างไม่มีที่ท่าจะหยุดนิ่ง คนไทยเริ่มถอนเงินฝากออกจากสถาบันการเงินขนาดเล็ก เพราะมีโอกาสสูงที่จะล้มละลาย และก็เป็นอย่างนั้นจริง เมื่อสถาบันการเงินขนาดเล็กกู้ยืมเงินต่างประเทศมาเกินตัว สุดท้ายไม่มีเงินจ่ายเพราะอัตราแลกเปลี่ยนทำให้มูลหนี้มีมูลค่ามากขึ้นเป็นเท่าตัว

เมื่อเปิดดูตัวเลข NPL ที่เน่าเฟะก็พบว่า มีมูลค่าหนี้เสียในระบบสูงถึง 2.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 45% ของตัวเลขหนี้ในระบบทั้งหมด เข้าสโลแกน “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย”**

ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ก็เกือบเอาตัวไม่รอด แต่เศรษฐกิจจะขาดระบบธนาคารไปไม่ได้ รัฐบาลไทยจึงต้องเข้ามาถือหุ้นเพื่อช่วยอุ้มธนาคารใหญ่ไว้ รัฐบาลจึงกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง แต่ถือหุ้นได้ไม่นานก็ต้องยอมปล่อยให้กับนักลงทุนต่างชาติ ค่าเสียหายจากครั้งนั้นคิดเป็น 1.4ล้านล้านบาท ยังไม่รวมจำนวนดอกเบี้ยที่รัฐต้องช่วยจ่ายอีก

รัฐบาลไทยเข้ารับการช่วยเหลือจาก IMF เพื่อรับวงเงิน 17.2 พันล้านเหรียญสหรัฐมาใช้เพื่อปลดหนี้ให้กับภาคเอกชน แม้จะนำเงินก้อนนี้ไปชำระหนี้ที่คงค้าง แต่หนี้สินจำนวนมหาศาลไม่สามารถหายไปได้เพียงชั่วข้ามคืน แต่อย่างน้อยก็พอช่วยให้ประเทศไทยตั้งตัวได้หลังเจอหมัดฮุคเข้าที่ปลายคาง

ต้มยำกุ้งชามหม้อพิเศษ เผ็ดร้อนสำหรับคนไทย แต่หวานชื่นใจชาวต่างชาติ

หนี้ NPL จำนวนมหาศาลได้ทิ้งวัตถุพยานไว้ให้คนไทยดูต่างหน้า ซึ่งส่วนมากเกิดขึ้นกับภาคอสังหาริมทรัพย์ อาคารร้างและโรงงานที่ยังสร้างไม่เสร็จถูกปล่อยให้รกร้างกลายเป็นบ้านผีสิง ก่อนจะกลายมาเป็นซากปรักหักพังทางเศรษฐกิจ ที่เรารู้จักกันดีคือ “สาทรยูนีคทาวเวอร์” 

“ต้มยำกุ้ง” วิกฤตการเงินรสเผ็ดร้อนของคนไทย ภาคอวสานต้มยำกุ้ง
“ต้มยำกุ้ง” วิกฤตการเงินรสเผ็ดร้อนของคนไทย ภาคอวสานต้มยำกุ้ง

Credit: Home.co.th

หลายคนมองมันเป็นอาคารที่อุบาทว์ทัศนวิสัย แต่สำหรับบางคนแล้วมันคืออนุสรณ์แห่งบทเรียน

ไม่ใช่แค่ภาคอสังหาฯที่มีการกู้ยืมเงินมาปั่นราคาเพื่อเก็งกำไร แต่ในส่วนของตลาดหุ้นก็มีหุ้นหลายตัวที่ถูกปั่นราคาเกินมูลค่าที่แท้จริง มีการใช้บัญชีมาร์จิ้นเล่นหุ้นเพื่อเก็งกำไรจำนวนมาก 

ดัชนีตลาดหุ้นทำจุดสูงสุดในปี 2537 ที่ระดับ 1,753.73 จุด ก่อนที่จะลดลงมาที่ระดับ 1,410.33 ในเดือนมกราคม 2540 และร่วงหล่นสู่ 457.97 จุดในเดือนมิถุนายนก่อนที่จะประกาศลอยตัวค่าเงิน และลงสู่จุดต่ำสุด 207 จุดในเดือนกันยายน 2541

คุณศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ (เจ้าของแบรนด์ศิริวัฒน์แซนด์วิช) ก็เป็นหนึ่งในนักลงทุนที่สูญเงินกว่าพันล้านจากการเล่นบัญชีมาร์จิ้น เล่าว่า หุ้นในเวลานั้นมันร่วงแบบติดฟลอร์ เปิดมาแล้วก็ฟลอร์ นักลงทุนทุกคนโดนบังคับขาย ขายหุ้นจนหมดแล้วหนี้ก็ยังเหลือ ดอกเบี้ยจ่ายในอัตรา 17-19%ต่อปีกลายเป็นภาระที่ต้องแบกรับ 

นักลงทุนหลายคนต้องล้มละลายและหายไปจากตลาดหุ้น

เมื่อฟองสบู่แตกราคาของหุ้นและอสังหาฯตกลงเกินครึ่ง ค่าเงินก็อ่อนลงมากลายเป็นโอกาสการลงทุนของชาวต่างชาติ พวกเขาเข้ามาซื้อของลดราคาในเมืองไทย สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทเอกชนกลายเป็นของต่างชาติ ทั้งธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ก็กลายเป็นของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาถือหุ้นใหญ่สุดจนถึงทุกวันนี้ 

ต่างชาติรู้ดีว่าประเทศเรามีศักยภาพในการเติบโต เพียงแต่ที่ผ่านมามันโตขึ้นมาอย่างผิดพลาดจนทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

แม้จะเป็นวิกฤตฟองสบู่ที่เกิดขึ้นไปแล้ว หลายคนเชื่อว่ามันจะไม่เกิดซ้ำรอยเดิมอีก เพราะทุกภาคส่วนต่างเรียนรู้และได้รับบทเรียนจากความเสียหายครั้งนี้ไป แต่อย่าลืมว่าประวัติศาสตร์บนโลกมักจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ด้วยสาเหตุเดิม เพียงแต่เปลี่ยนบทแสดงและตัวละครเท่านั้น

ก็ได้แต่หวังว่าวิกฤตต้มยำกุ้งจะเป็นบทเรียนสำคัญให้นักลงทุนไทยทุกคนลงทุนด้วยความรู้และความพอดี

เพราะคงไม่มีใครอยากลิ้มลองต้มยำกุ้งชามนี้อีกเป็นครั้งที่สอง…

ปล. พิเศษยิ่งกว่า !!! 

ใครที่อ่านบทความจนถึงตรงนี้แสดงว่าชอบศึกษาประวัติศาสตร์ของวิกฤตต่างๆแน่เลยย 

นายปั้นเงินมีข่าวดีมาบอก เพียงแค่แอดเฟรนด์เป็นเพื่อนกันในไลน์ที่ http://bit.ly/artisanmoney

รอรับฟรี !!! E-BOOKS เรื่องราววิกฤตการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งเราจะรวบรวมบทความเกี่ยวกับวิกฤตที่ผ่านมา เรียบเรียงและเพิ่มรายละเอียดเข้าไป รวมถึงตอนพิเศษที่จะไม่เผยแพร่เนื้อหาผ่านช่องทางอื่นๆ 

แจกให้ในเดิอนสิงหาคมนี้นะครับ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0