โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

“ดีดีบินไทย”ยันฐานะการเงินแกร่ง  ออกหุ้นกู้8.7พันล.รีไฟแนนซ์

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 15 พ.ย. 2562 เวลา 10.35 น.

การบินไทยออกหุ้นกู้ 8.7 พันล้านบาทรีไฟแนนซ์ ทั้งไม่หวั่นแหล่งเงินซื้อเครื่องบิน-สนับสนุนเงินทุน เหตุได้แบงก์จีนไอซีบีซี(ไทย) หนุนเต็มที่ ทั้งมุ่งเน้นลดค่าใช้จ่ายอย่างเข้มข้นควบคู่การเพิ่มรายได้ลดภาระขาดทุน

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 บริษัทฯได้ดำเนินการออกและเสนอขายหุ้นกู้  8,788 ล้านบาท ซึ่งทำให้การบินไทยมีเงินเข้ามา เพื่อรีไฟแนนซ์ นำไปไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดและเพิ่มสภาพคล่อง

นอกจากนี้การบินไทยยังทำเอ็มโอยูกับธนาคารไอซีบีซี  (ไทย) สถาบันการเงินชั้นนำของจีน ในความร่วมมือใน 5 ด้าน อาทิ สนับสนุนจัดหาแหล่งเงินทุน ,สนับสนุนการจัดหาสินเชื่อเช่าซื้ออากาศยาน ,การบริหารเงินสด อัตราแลกเปลี่ยน ,เชื่อมอีคอมเมิร์ซ

ที่พร้อมสนับสนุนแหล่งเงิน และการทำตลาดเจาะลูกค้าบัตรเดบิตและเครดิตของธนาคารที่มีกว่า900ล้านใบในจีน ที่จะมีการแลกพ้อยท์เพื่อซื้อตั๋วเครื่องบินและบริการต่างๆของการบินไทย ทำให้การบินไทยขยายฐานลูกค้าในจีนเพิ่มขึ้น

 นายสุเมธ กล่าวต่อว่า สำหรับในไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 ปี 2562 บริษัทฯ ยังคงดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การลดค่าใช้จ่าย บริษัทฯ ได้ออกมาตรการลดค่าใช้จ่ายภายในบริษัทฯ โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติอย่างจริงจัง อาทิ ชะลอการลงทุนที่ไม่จำเป็น ปรับปรุงกระบวนการทำงาน (Reprocess) เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ปรับลดสวัสดิการและค่าตอบแทนของฝ่ายบริหารและพนักงาน รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ และรณรงค์ให้พนักงานทุกคนให้ความร่วมมือเพื่อกอบกู้สถานการณ์

ด้านการเพิ่มรายได้ บริษัทฯ ดำเนินกลยุทธ์เจาะกลุ่มลูกค้าแบบ Personalize มุ่งเน้นการสร้างรายได้เสริม (Ancillary Revenue) ซึ่งช่วง 9 เดือนของปี 2562 (มกราคม-กันยายน) มีรายได้เสริมรวม 4,604.17 ล้านบาท เร่งดำเนินงานด้าน Digital Marketing โดยใช้ Big Data และ Data Analytic ในการวิเคราะห์ตลาด เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มการขายทาง Online ให้มากขึ้น 
 

อีกทั้งบริษัทฯ มีแผนเพิ่มรายได้จาก e-Commerce ซึ่งจะเปิดตัวภายในปีนี้ อีกทั้งมีการเปิดเส้นทางบินใหม่ โดยเปิดเส้นทางบินสู่เซนได ประเทศญี่ปุ่น ศูนย์กลางภูมิภาคโทโฮคุ ทำการบินเที่ยวบินแรกไปเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 โดยทำการบิน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งขณะนี้มียอดสำรองที่นั่งล่วงหน้าถึงเดือนมีนาคม 2563 สูงถึง 80%

นอกจากนี้ บริษัทฯ จะดำเนินการตามแผนงานที่สำคัญ ในปี 2563 ได้แก่ แผนงานที่1 การบินไทยยังคงดำเนินการตามแผนฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นการหารายได้เสริม และยังคงมีแนวทางการดำเนินงานตามกรอบ 5 กลยุทธ์ ได้แก่ 
     1. การเร่งทำกำไรเพิ่มจากการตลาดเชิงรุกและมีต้นทุนที่แข่งขันได้ 
     2. การพัฒนาศักยภาพและแสวงหาโอกาสของกลุ่มธุรกิจ
     3. การสร้างประสบการณ์การเดินทางที่ดีให้กับลูกค้า
     4. การดำเนินงานด้วยนวัตกรรมและดิจิทัลเทคโนโลยี
     5. การบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างมีประสิทธิผล

 แผนงานที่2 วิเคราะห์และวางแผนเส้นทางการบินใหม่ที่มีศักยภาพ โดยใช้รูปแบบเซนไดโมเดล

 แผนงานที่3 สายการบินไทยสมายล์เข้าสู่ระบบ Connecting Partner ของกลุ่ม Star Alliance อย่างเต็มรูปแบบ เสริมความแข็งแกร่งเครือข่ายการบิน
 แผนงานที่4 ความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในวาระครบ 60 ปีของ 2 หน่วยงาน โดยจัดทำแคมเปญทางการตลาดร่วมกัน กระตุ้นนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ 
   

นายสุเมธ กล่าวต่อว่าในไตรมาส 3 นี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นลดค่าใช้จ่ายอย่างเข้มข้น ส่งผลให้การควบคุมค่าใช้จ่ายในไตรมาสนี้ลดลงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 7.8%

ทั้งนี้ สถานการณ์ของอุตสาหกรรมการบินในปัจจุบันมีปัจจัยลบหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ จนทำให้หลายสายการบินต้องปิดตัวลง สาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจโลก  การแข่งขันที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาค และค่าใช้จ่ายเรื่องอัตราชดเชยลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้มีสิทธิได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้าย จำนวน 400 วัน เป็นต้น

กอปรกับปัจจัยภายในที่ยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง คือปัญหาความล่าช้าของการซ่อมเครื่องยนต์ของบริษัทผู้ผลิต ทำให้ผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2562 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 3.7% ส่วนปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 0.6% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 80.0% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 77.5%

โดยมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 6.06 ล้านคน สูงกว่าปีก่อน 0.8% ซึ่งผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในไตรมาส 3 ของปี 2562 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 45,016 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 2,937 ล้านบาท หรือ 6.1% 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลประกอบการยังเป็นลบ แต่ในไตรมาสนี้บริษัทฯ มีการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายรวม 47,858 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 4,029 ล้านบาท หรือลดลง 7.8% ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีขาดทุนสุทธิ 4,680 ล้านบาท และหากรวม9เดือนแรกของปีนี้ขาดทุนอยู่1.1หมื่นล้านบาท

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0