โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

“คุ้มไหม”...ที่เรียน ‘ป.โท’ ?

Wealthy Thai

อัพเดต 10 ต.ค. 2562 เวลา 08.51 น. • เผยแพร่ 10 ต.ค. 2562 เวลา 08.51 น. • wealthythai
“คุ้มไหม”...ที่เรียน ‘ป.โท’ ?

หลายๆ ท่านคงมีคำถามในใจว่าคุ้มหรือไม่ที่จะตัดสินใจศึกษาต่อระดับปริญญาโท จุดประสงค์ของแต่ละท่านคงแตกต่างกันไม่ว่าจะเข้าศึกษาเพื่อเพิ่มพูนทักษะ ประสบการณ์ และการเข้าถึงโอกาสต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือจำเป็นต้องศึกษาเพื่อหน้าที่การงาน ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ปัจจัยหลักที่ควรใช้ในการพิจารณา อาทิ หลักสูตร ระยะเวลาตลอดการศึกษา สถานที่บรรยาย การเดินทาง รวมไปถึงค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร เป็นต้น

 

สำหรับการศึกษาในประเทศ หลักสูตรมีรูปแบบการบรรยายเป็น ภาษาไทย และหรือ ภาษาอังกฤษ โดยมีทั้งการศึกษา ภาคปกติ ซึ่งศึกษาในเวลาราชการ กับการศึกษา ภาคพิเศษ ที่สามารถศึกษาในช่วงภาคค่ำวันธรรมดา และหรือวันเสาร์ วันอาทิตย์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการจัดตารางการบรรยายของแต่ละหลักสูตร

 

 

“การศึกษาภาคพิเศษเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมจากพนักงานออฟฟิศ โดยสามารถศึกษาควบคู่ไปกับการทำงานได้ นอกจากนี้ เนื้อหาในแต่ละรายวิชาคือสิ่งที่ผู้สนใจเข้าศึกษาควรพิจารณาว่าตรงกับความคาดหวังและเป้าหมายในอนาคตของตนด้วยหรือไม่ โดยทั่วไปจะใช้เวลาศึกษาตลอดหลักสูตรประมาณ 2ปี”

 

 

สำหรับ สถานที่ในการบรรยาย มีทั้งหลักสูตรที่บรรยาย ณ มหาวิทยาลัย (บางหลักสูตรมีการเปิดสถานที่เรียนตามย่านธุรกิจ) บรรยายผ่านช่องออนไลน์ หรือมีทั้งสองรูปแบบผสมผสานกัน ผู้เข้าศึกษาควรพิจารณาตารางเรียนและความสะดวกในการเดินทาง เพื่อให้การใช้ชีวิตประจำวัน การทำงานและการเรียนมีความสมดุล

 

 

นอกเหนือจากปัจจัยแวดล้อมข้างต้น ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรคือสิ่งสำคัญที่จะต้องเตรียมพร้อม ผู้เขียนขอยกตัวอย่างค่าใช้จ่ายโดยประมาณตลอดหลักสูตรที่ 250,000บาท เตรียมความพร้อมล่วงหน้า 3 ปีก่อนเริ่มศึกษา ใช้ สูตร 6-7-8’ ก็สามารถสำเร็จตามเป้าหมายได้อย่างไม่ยากนัก

 

ที่มาของสูตร 6-7-8 เกิดจากการพิจารณาเรื่องของงบประมาณส่วนบุคคล ซึ่งประกอบด้วยส่วนหลักๆ ได้แก่ รายรับ ภาษีและภาระผูกพันจากการจ้างงานอื่นๆ รายจ่ายคงที่ รายจ่ายผันแปร และการออมและการลงทุน เนื่องด้วยบางหลักสูตรในปริญญาโทจะต้องอาศัยประสบการณ์ทำงานก่อนการสมัครเข้าศึกษา

 

 

จากรายงาน Adecco Thailand Salary Guide 2019 ที่เงินเดือนเริ่มต้นของพนักงานที่มีประสบการณ์ทำงาน 1-5 ปี โดยส่วนใหญ่มีอัตราเงินเดือนขั้นต่ำที่สูงกว่า 20,000 บาท ผู้เขียนจึงขอตั้งสมมติฐานว่าพนักงานที่ทำงานมากกว่า 2 ปีขึ้นไป คาดว่าจะมีเงินเดือนอย่างน้อย 25,000 บาท (คาดว่ามีการขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยปีละ 5%)

 

 

ในแต่ละเดือนมีการนำส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนประกันสังคมรวมทั้งสิ้น 2,000 บาท หรือคิดเป็น 8% ของเงินเดือน มีรายจ่ายคงที่ประมาณ 20% ของเงินเดือน เช่น ค่าผ่อนชำระรถยนต์ ที่อยู่อาศัย ค่าเบี้ยประกันต่างๆ เป็นต้น

 

 

“ทั้งนี้หากยังไม่มีภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวมากนัก อาจมีรายจ่ายคงที่ในสัดส่วนที่น้อยกว่า 20% ของเงินเดือน รายจ่ายผันแปร เช่น ค่าอาหาร ค่าสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ค่าสังสรรค์นันทนาการ ค่ารักษาพยาบาลและอื่นๆ รวมประมาณ 40-50% ของเงินเดือน”

 

 

หลังจากคำนวณค่าใช้จ่ายตามที่ได้ประมาณการไว้ คาดว่าจะมีเงินสำหรับการออมและการลงทุนประมาณ 20-30% ของเงินเดือน หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 5,000 - 7,500 บาท โดยจำนวนเงินประมาณการสำหรับการออมและการลงทุนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ เมื่อรายได้สูงขึ้นจากการปรับขึ้นของเงินเดือนหรือการหารายได้เสริม รวมไปถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายให้ลดลงโดยตัดทอนบางรายการที่ไม่จำเป็นออกไป

 

 

สูตร 6-7-8’ คือ การเก็บเงินเท่ากันทุกๆ เดือน ในปีแรกเก็บเดือนละ 6,000บาท ปีที่สองเก็บเดือนละ 7,000บาท และปีที่สามเก็บเดือนละ 8,000บาท เงินที่ทยอยเก็บหอมรอมริบไว้ก็จะมีเงินต้นที่สูงถึง 252,000 บาท หรือมากกว่าด้วยการให้เงินทำงาน ผ่านรูปแบบเงินฝากออมทรัพย์พิเศษที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป

 

 

หรือพิจารณาลงทุนใน กองทุนตลาดเงินหรือกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ด้วยการลงทุนด้วยจำนวนเงินเท่าๆ กัน หรือเรียกว่า ‘DCA (Dollar Cost Average)’

 

 

“ส่วนเพิ่มจากการฝากหรือการลงทุนที่เกินจากเป้าหมาย 250,000 บาท ก็เก็บไว้สำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตอนกำลังศึกษาปริญญาโท หากมีเวลาเตรียมพร้อมน้อยกว่า 3 ปี จะต้องเพิ่มเงินเก็บแต่ละเดือนให้มากขึ้น เพื่อให้ยังสามารถบรรลุเป้าหมายได้”

 

 

อนึ่งสำหรับท่านที่มีเป้าหมาย 300,000 บาท ภายใน 3 ปี หากมีความสามารถในการเก็บออมได้ในจำนวนที่สูงกว่าตัวอย่างข้างต้น อาจพิจารณาการปรับใช้เป็น สูตร 8-9-10’ โดยเก็บเงินเดือนละ 8,000 บาท 9,000บาท และ 10,000 บาทใ นปีที่ 1 2 และ 3 ตามลำดับ ก็จะมีเงินต้นที่สูงถึง 324,000 บาท

 

อย่างไรก็ดีเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของหลายๆ ท่านที่มีความจำเป็นต้องเข้าศึกษา แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่ายอยู่ ท่านอาจพิจารณาเลือกหลักสูตรที่มีการ มอบทุนการศึกษา หรืออาศัยการกู้ยืมจากธนาคารในรูปแบบ สินเชื่อเพื่อการศึกษา โดยหลักประกันเงินกู้ของแต่ละธนาคารมีหลากหลาย ตัวอย่างรูปแบบการค้ำประกัน ได้แก่ เงินฝากค้ำประกัน หลักทรัพย์ค้ำประกัน บุคคลค้ำประกัน เป็นต้น

 

 

“ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยตามวงเงินกู้ยืม รูปแบบการค้ำประกันและระยะเวลาในการชำระคืน ทั้งนี้ ผู้กู้พึงชำระคืนดอกเบี้ยและเงินต้นตามที่ได้ทำสัญญากับธนาคารไว้ หากผิดนัดชำระแล้ว อัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับสูงขึ้นตามประกาศของธนาคาร จะทำให้ผู้กู้เกิดภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้นและอาจประสบปัญหาต่อการขอสินเชื่อประเภทอื่นๆ ได้ในอนาคต”

 

หากมีข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่าย การศึกษาในรูปแบบอื่นๆ ยังมีอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น หลักสูตรออนไลน์ระยะสั้น ที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งบางหลักสูตรได้เปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกสามารถลงทะเบียนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากดำเนินการครบตามเงื่อนไขที่กำหนดก็อาจจะได้รับประกาศนียบัตร

 

 

ผู้อ่านน่าจะมีคำตอบในใจแล้วว่า “คุ้มหรือไม่”…ที่จะตัดสินใจศึกษาต่อระดับ ปริญญาโทหากมุ่งมั่นที่จะเข้าศึกษาแล้ว ขอให้มีวินัยในการเริ่มเก็บออม ก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายเก็บเงินเพื่อเรียนปริญญาโทได้ หากท่านใดมีความจำเป็นต้องหยิบยืมก็ต้องมีวินัยในการชำระคืนดอกเบี้ยและเงินต้น เพื่อไม่ให้เกิดเป็นภาระในภายภาคหน้า

 

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand  , TFPA Facebook Fanpage และ  www.tfpa.or.th   

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0