โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“ความเรื่องมาก” ของฝรั่งกับการสร้างถนนในสมัยรัชกาลที่ 4

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 05 ก.พ. เวลา 02.47 น. • เผยแพร่ 04 ก.พ. เวลา 22.47 น.
ภาพปก - ความเรื่องมาก
ภาพถ่ายเก่า ถนนเจริญกรุง

“ความเรื่องมาก” ของ “ชาวต่างชาติ” กับการสร้าง “ถนน” ในสมัย รัชกาลที่ 4

การพัฒนาสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อสร้างความ “ศิวิไลซ์” ให้กับประเทศชาติ หนึ่งในการพัฒนาที่สำคัญในสมัยนั้นคือ“ถนน” ซึ่งเป็นสิ่งกระตุ้นการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและการขยายตัวของเมือง รวมทั้งเป็น “หน้าตา” ไม่ให้อายพวกฝรั่งด้วย

ถนนเจริญกรุงเป็นถนนสายแรกที่สร้างขึ้นตามแบบ “ตะวันตก” สายแรกของสยาม เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กองก่อสร้างถนนสายใหม่ตั้งแต่สะพานเหล็ก บริเวณริมวังเจ้าเขมรยาวเรื่อยไปแล้วแยกออกอีก 2 สาย

สายแรกตัดไปข้ามคลองผดุงกรุงเกษมเชื่อมต่อกับ“ถนนตรง” ส่วนอีกสายให้ตัดลงมาทางใต้ยาวตลอดไปถึงบริเวณดาวคะนอง ซึ่งไม่นานหลังจากตัดถนนก็ทำให้บริเวณสองฝากถนนคับคั่ง เป็นแหล่งค้าขายที่สำคัญของสยาม รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นความสำคัญของถนน จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนใหม่อีกหลายสาย เช่น ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร

ในการครั้งนี้ยังตัดถนนอีกสายหนึ่ง โดยขุดคลองแล้วนำดินที่ขุดมาถมเป็นถนน โดยเริ่มตั้งแต่บริเวณสถานกงสุลฝรั่งเศส ยาวตลอดมาถึงบริเวณศาลาที่เจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดีสร้างไว้ (ปัจจุบันคือศาลาแดง) ภายหลังเรียกถนนสายนี้ว่า “ถนนสีลม”

ถนนเจริญกรุงและถนนสีลมนี้ นอกจากจะเป็นพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 4 ในการพัฒนาสยามแล้ว การสร้างถนนทั้งสองสายก็มีสาเหตุมาจาก “ความเรื่องมาก” ของ ชาวต่างชาติ อีกประการหนึ่งด้วย

เนื่องจากพวกกงสุลต่างประเทศมีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายถึงรัชกาลที่ 4 ว่า เมื่อพวกเขาอาศัยอยู่ที่ยุโรปก็มักขี่รถขี่ม้าไปเที่ยวต่างอากาศทำให้เกิดความสบาย ไม่มีเจ็บไม่มีไข้ แต่เมื่อมาอาศัยอยู่สยามนั้นแล้ว ไม่มีถนนหนทางที่จะขี่รถขี่ม้าออกไปเที่ยวต่างอากาศ จึงทำให้เจ็บไข้อยู่เนือง ๆ

นอกจากนี้ ยังมี ถนน อีกสายหนึ่งที่กล่าวไปเบื้องต้นแล้วคือ“ถนนตรง” ซึ่งการก่อสร้างถนนสายนี้ก็มีประเด็น “ความเรื่องมาก” ของชาวต่างชาติ

ใน พ.ศ. 2400 พวกกงสุลนายห้างต่างประเทศได้รวมชื่อกันถวายหนังสือถึงรัชกาลที่ 4 ว่า จะขอลงไปตั้งห้างร้านซื้อขายสินค้าเสียใหม่ ตั้งแต่คลองพระโขนงยาวไปตลอดถึงบางนา โดยให้เหตุผลว่า ครั้นเมื่อถึงฤดูน้ำหลากแล้วน้ำเชี่ยวมาก กว่าเรือจะแล่นขึ้นมาถึงกรุงเทพฯ นั้นเสียเวลาไปหลายวัน

รัชกาลที่ 4 ทรงปรึกษากับบรรดาเสนาบดี ก็เห็นชอบให้ขุดคลองถมถนนตามที่พวกชาวต่างชาติร้องขอ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยารวิวงศมหาโกษาธิบดี เป็นแม่กอง จ้างชาวจีนขุดคลองตั้งแต่หน้าป้อมผลาญไพรีราบบริเวณหัวลำโพงตัดตรงไปถึงคลองพระโขนง และขุดคลองพระโขนงให้ทะลุออกแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วจึงให้เอาดินที่ขุดนั้นมาถมเป็นถนน

พระราชทานนามว่า “คลองถนนตรง” ครั้นเมื่อขุดคลองแล้วเสร็จ พวกชาวต่างชาติเหล่านั้นก็ไม่ได้ย้ายไปอยู่ที่พระโขนงหรือบางนาตามที่อ้างเหตุให้ขุดคลองตามหนังสือที่ทูลเกล้าฯ ถวาย โดยให้เหตุผลในครั้งนี้ว่าไกล และจะขออยู่ที่เดิม

ในตอนที่เหล่าเสนาบดีปรึกษากันเรื่องการขุดคลองถนนตรงนั้น ต่างก็คิดว่าหากทำตามที่ชาวต่างชาติร้องขอก็จะทำให้เกิด “ความสงบ” กับฝ่ายสยาม ดังความกราบบังคมทูลว่า “ถ้าชาวยุโรปยกกันลงไปตั้งอยู่ที่บางนาได้ ก็จะห่างไกลออกไป ก็มีคุณอย่างหนึ่งด้วยความหยุกหยิกนั้นน้อยลง”

จากข้อความข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า “ความเรื่องมาก” ของชาวต่างชาตินั้นสร้างความ “รำคาญใจ” ให้ชาวสยามอยู่ไม่น้อย เฉพาะเรื่องถนนยังจุกจิกน่ารำคาญขนาดนี้ เรื่องอื่น ๆ อีกยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าสยามในสมัยนั้นต้องมาปวดหัวกับพวกชาวต่างชาติมากเพียงใด

อย่างไรก็ตาม สยามต้องขอบคุณ “ความเรื่องมาก” ของชาวต่างชาติในเรื่อง ถนน นี้ เพราะถือเป็นแรงผลักดันและแรงกระตุ้นให้สยามต้องพัฒนาชาติด้านการคมนาคมอย่างแข็งขัน และยังส่งผลต่อแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 4

รัชกาลที่4 มีพระราชดำริว่ากรุงเทพฯ นั้นมีแต่เพียงตรอกเล็กซอยน้อยอันคับแคบ ส่วนถนนใหญ่ก็เปรอะเปื้อนไม่เป็นที่เจริญตา ครั้นพวกชาวต่างชาติเข้ามากรุงเทพฯ มากขึ้นทุกปี เมื่อย้อนนึกถึงบ้านเมืองตะวันตกของพวกเขานั้นสะอาดเรียบร้อย ก็กลัวว่าจะเป็นที่ขายหน้าแก่นานาประเทศ

ดังพระราชดำริในพงศาวดารรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ว่า “เขาว่าเข้ามาเป็นการเตือนสติ เพื่อจะให้บ้านเมืองงดงามขึ้น”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. (2507). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ: การพิมพ์เกื้อกูล. ฉบับออนไลน์ที่ archive.org

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. (2551). ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ: มติชน.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2562

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “ความเรื่องมาก” ของฝรั่งกับการสร้างถนนในสมัยรัชกาลที่ 4

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0