โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“ครู” จังหวัดสุราษฎร์ฯ ที่สู้กับทหารญี่ปุ่น เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จนตัวตาย

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 1 วันที่แล้ว • เผยแพร่ 29 มี.ค. 2565 เวลา 07.34 น.
เหตุการณ์สู้รบในสงครามโลกครั้งที่ 2 (ภาพจาก หนังสือ “บันทึกภาพประวัติศาตร์ในสงครามโลกครั้งที่ 2” สนพ.มติชน)
เหตุการณ์สู้รบในสงครามโลกครั้งที่ 2 (ภาพจาก หนังสือ “บันทึกภาพประวัติศาตร์ในสงครามโลกครั้งที่ 2” สนพ.มติชน)

ในยามปกติเรื่องความมั่นคงและความปลอดภัยของชาติเป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง แต่ไม่ใช่ยามวิกฤติ เช่น เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ประชาชนหลากหลายอาชีพที่อาสาสมัครเข้าร่วมกับเจ้าหน้าที่ เพื่อต่อสู้กับทหารญี่ปุ่น และที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีครูคนหนึ่งชื่อ “ลำยอง วิศุภกาญจน์” ร่วมปฏิบัติการครั้งนั้นจนเสียชีวิต

เรื่องราวของครูลำยอง วิศุภกาญจน์ ทศพล งามไพโรจน์ ซึ่งขณะนั้นเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสุราษฎร์ธานี เขียนบทความชื่อ “วันวิญญาณ รำลึกเหตุการณ์ญี่ปุ่นบุกสุราษฎร์ฯ ในสงครามโลกครั้งที่ 2” (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2529)

โดยใช้ข้อมูลจากเอกสารที่บรรดาครูอาจารย์มอบให้ และเขาได้ไปพบกับนายธวัช วงศ์อนันต์ (อายุ 64 ปี-ขณะที่ทศพลเขียนบทความนี้) ซึ่งขณะเกิดเหตุอายุ 20 ปี ทำงานอยู่ที่สโมสรศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่อยู่ร่วมเหตุการณ์วันที่ 8 ธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นบุกขึ้นฝั่งที่บ้านดอน (อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี) สรุปได้ว่า

วันที่ 8 ธันวาคม 2484 เวลาประมาณ 5.40 น. มีเสียงร้องตะโกนของชาวบ้านว่า “ญี่ปุ่นจะบุก” ขณะที่ พ.ต.ต. หลวงประภัศร์ เมฆะวิภาค ผกก.สถานีตำรวจภูธรสุราษฎร์ธานี ได้รับโทรเลขจากปัตตานีว่าญี่ปุ่นจะขึ้นโจมตี จึงสั่งให้พลแตรเป่าแตรบอกเหตุ

ก่อน 8.00 น.ตำรวจทุกนายทยอยมาที่สถานีตำรวจเพื่อรับอาวุธ นอกจากนั้นยังมีบุคคลอื่น เช่น ยุวชน, ประชาชน ฯลฯ และครูลำยอง วิศุภกาญจน์ มาร่วมสมทบ

ครูลำยอง วิศุภกาญจน์ (2459-2484) เป็นครูประจำชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสุราษฎร์ธานี ในเช้าวันนั้น ครูลำยองจะต้องพานักเรียนไปเชิญพานรัฐธรรมนูญที่ศาลากลางจังหวัดที่กำลังจะจัดงานรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อเดินผ่านสถานีตำรวจ จึงทราบว่าญี่ปุ่นบุก ครูลำยองจึงเข้าร่วมกับเจ้าหน้าที่ในการต่อสู้กับญี่ปุ่น

ประมาณ 8.00 เศษ เรือท้องแบนบรรทุกทหารญี่ปุ่นจำนวน 2 ลำ แล่นมาตามแม่น้ำตาปี ผ่านศาลาจังหวัดหลังเก่าไปขึ้นบกที่ตลาดกอบกาญจน์ แล้วทั้งสองฝ่ายก็เผชิญหน้ากันที่บริเวณสะพานคูเมือง หน้าสถานดับเพลิง

ผู้นำฝ่ายญี่ปุ่นมีพันตำรวจโท นาคากาวา ยูโก ซึ่งแฝงตัวเข้ามาขายถ้วยชามในตลาดบ้านดอนก่อนหน้าหลายปี จนแต่งงานและมีบุตร 2 คนกับสาวอำเภอไชยา และ ร.ท. โดอี้ นายทหารผู้บังคับกองร้อยพิเศษ ฝ่ายไทยมีหลวงสฤษฎ์สาราลักษณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด, พ.ต.ต.หลวงประภัศร์ เมฆะวิภาค ผกก., ร.ต.ต. ประดิษฐ์ อัถศาสตร์ ผ.บ.หน่วยตำรวจสยาม ทันทีที่สิ้นการเจรจา พ.ต.ต.หลวงประภัศร์ถูกยิงล้มลงต้องนำส่งสุขศาลา

ทศพล งามไพโรจน์ เขียนเหตุการณ์ว่า “สายฝนก็สาดกระหน่ำควบคู่ไปกับห่ากระสุนปืน คุณลุง [ธวัช วงศ์อนันต์] บอกว่าถ้าฝนไม่ตกหนักอาจตายกันหมด เพราะตกชนิดที่มองอะไรกันไม่เห็น กระสุนก็ต้องใช้อย่างประหยัด ทหารญี่ปุ่นโอบตีมาทางถนนตลาดใหม่ เข้าวัดไตรธรรมาราม ทหารญี่ปุ่นก็พยายามปีนขึ้นต้นมะพร้าว เพื่อหาที่มั่นของทหารไทย…

คุณลุงได้ถอยออกมาที่บริเวณศาลากลางเห็นไฟลุกไหม้ศาลากลางอยู่ ซึ่งเข้าใจว่าคนไทยผู้หวังดีเป็นคนจุดไฟเผาเพื่อไม่ให้เอกสารตกอยู่ในมือข้าศึก ได้เห็นเสมียนจังหวัดถูกยิงขาลาก จึงนำส่งสุขศาลา… เมื่อมาถึงสุขศาลา ซึ่งตั้งเป็นกองปรึกษาในเรือกลไฟของบริษัทเอเชียติกส์ ซึ่งทำโรงเลื่อย…

นายฝาก มิตรภักดี ปลัดเทศบาลถามคุณลุงว่าขี่ม้าเป็นไหม จะให้ไปโทรเลขที่ท่าข้ามอำเภอพุนพิน ที่สถานีรถไฟ แต่มีคนอาสาไปแทน 1 ชั่วโมงให้หลัง ชายผู้นั้นกลับมารายงานว่า ทางนครศรีธรรมราชไม่สามารถส่งทหารมาช่วยได้ เพราะขณะนี้กำลังปะทะกับทหารญี่ปุ่นเช่นกัน”

ส่วนครูลำยอง วิศุภกิจกาญจน์ เป็นแนวรบปีกขวา ร่วมกับบรรดาลูกเสือ และบุคคลอื่น ๆ ใช้กองหินเป็นที่กำบังตัวอยู่ที่สวนจ่าจ้อย (สถานธนานุบาล เทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานี ปัจจุบัน) ถูกโจมตีอย่างหนัก และถูกยิงเข้ากลางหน้าผาก เวลา 11.15 น. ลูกเสือบุญรอด ชมตันติ (ร.ต.องอาจ ชมตันติ) เป็นผู้เข้าไปประคองครูลำยองมาที่สถานีอำเภอเก่า ครูลำยองพูดว่า “สู้มัน” เป็นคำสุดท้ายก่อนจะจากไป

ค่ำคืนนั้นเหตุการณ์ก็ยุติลงเมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศผ่านวิทยุแห่งประเทศไทยว่าให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านไปได้

หลังจากเหตุการณ์สงบลง โรงเรียนสุราษฎร์ธานี มีการจัดพิธีสดุดีดวงวิญญาณครูลำยอง ในวันที่ 8 ธันวาคม (ติดต่อกันมาหลายปี) ซึ่งขุนวิชาการพิศิษฎ์เรียกว่า “วันวิญญาณของโรงเรียน” (บ้างเรียกว่า “วันวิญญาณ”) และปี 2527 โรงเรียนและสมาคมศิษย์เก่าฯ และหน่วยงานอื่น ๆ ได้ร่วมกันจำลองเหตุการณ์จริงของวันที่ 8 ธันวาคม 2484

ขณะทางราชการได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ และต่อมาได้รับยศ “จ่าสิบตำรวจ”

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “ครู” จังหวัดสุราษฎร์ฯ ที่สู้กับทหารญี่ปุ่น เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จนตัวตาย

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0