โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“คนไทย” ยังไม่เที่ยวไทยแล้วใครจะมา! ท่องเที่ยวไทยมันไม่ดีที่ตรงไหน?

Another View

เผยแพร่ 26 ธ.ค. 2561 เวลา 05.00 น.

“คนไทย” ยังไม่เที่ยวไทยแล้วใครจะมา! ท่องเที่ยวไทยมันไม่ดีที่ตรงไหน?

ปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง คุณวางแผนไปเที่ยวที่ไหนกันบ้าง?

บางคนอาจจะนอนอยู่บ้าน ขณะที่บางคนเตรียมตัวออกเดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ใหม่ ๆ แต่คำถามที่น่าสนใจกว่านั้น คือจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวที่กำลังจะมาถึง คือการเที่ยวในประเทศไทย หรือเลือกออกเดินทางไปยังต่างประเทศ?

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน มีประเด็นถกเถียงในโลกออนไลน์ถึง ‘ความแพง’ ของการเที่ยวเมืองไทย โดยมีตัวอย่างเป็นจังหวัดสุดฮอตของชาวต่างชาติอย่าง “ภูเก็ตที่ค่าครองชีพสำหรับนักท่องเที่ยวไม่ได้เป็นใจให้คนไทยอย่างเราไปเที่ยวชมความงามของชายหาดซักเท่าไหร่

นอกจากของกินที่แพงแสนแพง อย่างน้ำเปล่าราคาเท่าในสนามบิน ยังมีอีกหนึ่งประเด็นนั่นคือเรื่องของ ‘การคมนาคมขนส่ง’ ภายในจังหวัด ที่ถูกครอบงำโดยแท็กซี่และรถ (ไม่) สาธารณะที่ไม่มีมาตรการจัดเก็บค่าโดยสารที่เป็นระบบ 

หากแท็กซี่ราคาเหมาในกรุงเทพฯ ว่าโหดแล้ว ที่ภูเก็ตน่าจะโหดกว่าเป็นสองเท่า!

จากผลสำรวจของ สำนักงานสถิติแห่งชาติและ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเมื่อปลายปี 2560 ถึงลักษณะของพาหนะที่ใช้เดินทางท่องเที่ยวในประเทศ พบว่า 65.7% ของกลุ่มตัวอย่างเดินทางด้วยรถส่วนตัว ส่วนจำนวนที่เหลือไม่ถึงครึ่งเดินทางด้วยการเดินทางอย่างรถตู้ รถโดยสาร รถไฟ และเครื่องบิน

นั่นหมายความว่าเมื่อเดินทางมาถึงจุดหมายปลายทาง ยังมีคนอีกมากที่ต้องพึ่งพาระบบขนส่งสาธารณะ ในพื้นที่จังหวัดนั้น ๆ ที่เดินทางได้จริงและมีราคาเหมาะสม เพื่อเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยว เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีรถขับ หรือยังมีความจริงที่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะขับรถเป็นหรือขับได้คล่อง

หากลองหันไปมองยังประเทศต่างๆ ที่เป็นจุดหมายยอดฮิตของชาวไทย อย่างญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน ฯลฯ สิ่งที่กลุ่มประเทศเหล่านี้มีร่วมกันคือความสะดวกในการเดินทางไม่ว่าจะทางรางหรือทางถนน ที่เอื้อให้นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวไปยังส่วนต่าง ๆ ของประเทศได้อย่างง่ายดาย หาข้อมูลเดินทางได้สะดวก ราคามีมาตรฐาน โดยไม่ต้องไปลุ้นราคาเอาหน้างานเหมือนตัวเลือกเดินทางในต่างจังหวัดของไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความท้าทายของประเทศไทย ที่พึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหลักเริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากตัวเลขเป้าหมายการท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยที่ไม่เป็นไปตามเป้า 9.5 แสนล้านบาทเมื่อปีก่อน (ทำไปได้ 9.3 แสนล้านบาท) สิ่งที่เราน่าจะรีบค้นหาจุดอ่อนเพื่อส่งเสริมให้คนไทยหันมาเที่ยวไทยมากขึ้น ส่วนหนึ่งคือการหาวิธีดึงคนที่ไม่อยากเที่ยวเพราะความลำบากเรื่องเดินทาง ให้ตัดสินใจเที่ยวไทยแทนต่างประเทศ ผ่านการพัฒนาระบบขนส่งทั้งระหว่างเมืองและในเมืองให้ดีขึ้นอย่างเป็นระบบ

แต่อะไรกันที่ทำให้การพัฒนาที่ว่าเกิดขึ้นอย่างช้าๆ เหมือนภาครัฐไม่ต้องการส่งเสริม

คำตอบอยู่ที่การไม่เอาจริงเอาจังในการ ‘กระจายอำนาจ’ ของรัฐ

ปัญหาการกระจุกตัวของความเจริญในเมืองหลวงดูจะเป็นปัญหาเรื้อรังมานานหลายทศวรรษอย่างไม่มีทีท่าจะลดลง เราเห็นการพัฒนาของกรุงเทพมหานครอย่างก้าวกระโดด เงินภาษีถูกนำมาวางแผนงานโครงสร้างการเดินทางขนาดใหญ่ทั้งทางรางและถนนเพื่อความสะดวกสบายของคนกรุง ในขณะที่เงินดังกล่าวไม่ถูกกระจายไปยังจังหวัดอื่น ๆ อย่างเต็มที่

ในเชิงของระบบขนส่งมวลชน ก็มีการผูกขาดอำนาจอนุมัติโครงการไว้ที่รัฐบาลส่วนกลาง แทนที่จะยกหน้าที่นี้ให้กับหน่วยงานปกครองท้องถิ่น มีหลายโครงการที่หน่วยงานบริหารในพื้นที่ต้องการพัฒนาระบบขนส่งในจังหวัดของตัวเอง แต่ต้องผ่านการเห็นชอบจาก สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร จากนั้นยังต้องรอการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทำให้แผนที่เคยคิดไว้ ไม่ได้สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของคนในพื้นที่ที่เปลี่ยนไปจากตอนที่ทำการศึกษาเส้นทางไว้แต่แรก

เมื่อแผนดำเนินการช้าเพราะต้องรอการอนุมัติแบบราชการไทย คนก็หันไปใช้ยานพาหนะส่วนตัวอย่างมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์ส่วนตัวเพื่อเดินทางในจังหวัด หรืออาจทำให้เกิดกลุ่มคนที่มีอำนาจ หรือเป็น ‘มาเฟีย’ ที่ตั้งตัวขึ้นมาเป็นผู้ให้บริการรายเดียวที่คนในจังหวัดต้องใช้ ทำให้ระบบการคิดค่าโดยสารเป็นไปอย่าง ‘ตามใจ’ เพราะเป็นทางเดียวที่ประชาชนสามารถใช้เดินทางได้

ผลที่ตามมาคือ จำนวนคนใช้ไม่มากพอที่จะทำกำไรหรืออุดหนุนเงินเพื่อการเดินรถ เพราะคนหันไปใช้พาหนะส่วนตัวของตัวเอง จากการรอคอยที่นานจนคิดว่าไม่มี กลายเป็นปัญหาไก่กับไข่ที่ไม่ว่าอะไรจะเกิดก่อนกัน ก็เป็นผลให้อีกข้อตามมาเสมอ

การปลดล็อกอำนาจจัดการระบบขนส่งมวลชนให้เหมาะสมและเข้ากับพฤติกรรมการเดินทางของคนท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลส่วนกลางควรให้ความสำคัญ ดั่งตัวอย่างที่เราอาจเห็นในจังหวัดขอนแก่นและเชียงใหม่ ที่เริ่มมีความก้าวหน้าของระบบขนส่งมวลชนที่ ‘ไว้ใจได้’ และ ‘ใช้งานได้จริง’ มีระบบการให้บริการที่ทันสมัย ทั้งแผนที่การเดินรถที่เป็นระเบียบ และแอปพลิเคชั่นดูตำแหน่งรถทางโทรศัพท์มือถือ

สิ่งจำเป็นอย่างการเดินทางที่ง่ายมากขึ้นนี้ น่าจะดึงดูดคนไทยกลุ่มใหญ่ที่อยากท่องเที่ยว แต่ติดปัญหาเรื่องการเดินทางในจังหวัด ให้หันกลับมามองเมืองไทยเป็นเมืองเที่ยวมากขึ้น

ข้อมูลอ้างอิง:

https://www.voicetv.co.th/read/516238

https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/business/Pages/z2941.aspx

http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/788995

https://www.marketingoops.com/reports/behaviors/insight-travel-thai-consumer/?utm_source=LINE%20Today&utm_medium=sourceUrl&utm_campaign=LINE%20Today

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0