โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“ขนส่งมวลชนไทย” เมื่อไหร่จะเชื่อมกันหมด? ไม่มองที่ ‘พื้นฐาน’ แล้วเมื่อไหร่จะทั่วถึง!

Another View

เผยแพร่ 26 มี.ค. 2562 เวลา 01.00 น.

ขนส่งมวลชนไทยเมื่อไหร่จะเชื่อมกันหมด? ไม่มองที่พื้นฐานแล้วเมื่อไหร่จะทั่วถึง!

ทุกวันนี้ไม่ว่าจะไปที่ไหน อ่านข่าว หรือฟังนโยบายของพรรคการเมืองที่ระดมหาเสียงในช่วงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เรื่องการแก้ไขปัญหาจราจร เป็นวาระระดับ ‘ชาติ’ ที่กินเวลายาวนานเหมือนไม่มีสิ้นสุด สิ่งที่เราได้ยินกันบ่อยที่สุด คือการ ‘สร้าง’ ระบบขนส่งมวลชนระดับ ‘เมกะโปรเจกต์’ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้านานาสถานี, รถไฟรางคู่, รถไฟความเร็วสูง, ไปจนถึงระบบไฮเปอร์ลูป นวัตกรรมแห่งอนาคตที่ต้องใช้ระยะวลาในการศึกษาและพัฒนาอีกหลายสิบปี กว่าจะนำมาใช้เพื่อการโดยสารได้จริง ๆ ฯลฯ 

โปรเจกต์ต่าง ๆ เปรียบเสมือนแสงสว่างปลายอุโมงค์ เป็น ‘เส้นเลือดใหญ่’ ของการโดยสารที่แน่นอนว่าไม่มีใครปฏิเสธในเรื่องประโยชน์มหาศาลเมื่อทำได้สำเร็จ หากแต่บางครั้งเราก็หลงลืมไปว่า ‘เส้นเลือดฝอย’ หรือระบบขนส่งมวลชนขนาดเล็ก ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน และควรจะต้องได้รับการพัฒนาเป็นอันดับแรก เพื่อรองรับผู้โดยสาร ‘ทุกชนชั้น’ ที่กระจัดกระจายอยู่ตามซอกมุมของเมืองใหญ่และเล็กให้ได้อย่างทั่วถึง 

ปัญหาที่ชัดเจนมากที่สุดคือ เมื่อมองลงมาที่ท้องถนน ซึ่งเป็นศูนย์รวมการเดินทางที่ใหญ่ที่สุด เรามีรถยนต์ส่วนบุคคลมากถึง 4 ล้านคัน และพุ่งสูงถึง 7 ล้านคัน หากนับรวมถึงรถในหมวดอื่น ๆ ที่วิ่งอยู่บนท้องถนนทั้งหมด ประกอบกับรถเมล์ที่ให้บริการอีกวันละ 1.1 ล้านเที่ยวต่อวัน 

จากตัวเลขที่เกิดขึ้น ควรจะเป็นทิศทางที่ดี เพราะแสดงให้เห็นถึงจำนวนยานยนต์จำนวนมากที่พร้อมใช้บริการ หากแต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทั้งหมดไม่ได้วิ่งอย่างสบายตามที่ควรจะเป็น หากแต่ไปจอดนิ่งติดกันอยู่บนถนน โดยเฉพาะเวลาเร่งด่วน และบริเวณ ‘ใต้’ สถานีรถไฟฟ้า ที่ควรจะเป็นพื้นที่ปลอดโปร่งเพราะ "รถไฟฟ้า" ถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดมิใช่หรือ

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการกล่าว ‘โทษ’ กันไปมาไม่รู้จบ คนใช้รถส่วนบุคคลก็โทษคนใช้รถเมล์ว่าทำให้รถติด คนใช้รถเมล์หรือบริการสาธารณะอื่น ๆ ก็โทษคนใช้รถยนต์ส่วนบุคคลว่ามีจำนวนมากเกินไป และมาแย่งพื้นที่บนถนนไปหมด 

เมื่อมองถึงปัญหาจริง ๆ เราจะเห็นว่า ไม่มีใครที่เป็น ‘ต้นเหตุ’ ของปัญหาทั้งหมดเสียทีเดียว เพราะจริง ๆ ปัญหาดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ ‘การวางผังเมือง’ ขั้นพื้นฐาน ที่ออกแบบมาให้ถนนหนทางในประเทศของเรา (โดยเฉพาะกรุงเทพ) มีความสลับซ้อน เต็มไปด้วยถนน และตรอกซอกซอยที่ยากต่อการเดินทางเต็มไปหมด 

แต่ต้องบอกก่อนว่า ปัญหาเรื่องผังเมือง เป็นปัญหาใหญ่ที่กล่าวโทษคนออกแบบผังเมืองแต่ฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะจากบริบทของสภาพบ้านเมืองในสมัยก่อน ที่เต็มไปด้วยคูคลอง ที่ลัดเลาะต่อถึงกัน เมื่อวันหนึ่งบ้านเมืองเจริญขึ้น ต้องสร้างสาธารณูปโภคมากมายเพื่อรองรับการเติบโตของเมืองแบบก้าวกระโดด การถมคลอง ตัดถนน สร้างตอกซอกซอยต่าง ๆ จึง ‘อาจ’ เป็นเรื่องจำเป็นและเหมาะกับความเจริญทางเทคโนโลยีในสมัยนั้นมากที่สุด (เพราะยังสร้างรถไฟฟ้า หรือระบบขนส่งมวลชนที่แก้ปัญหาได้ดีกว่านั้นไม่ได้) 

และหากจะพูดถึงปัญหาของการผังเมืองจริง ๆ อาจจะต้องยกประเด็นนี้ไปพูดเป็นอีกบทความหนึ่งโดยเฉพาะ  เพราะเป็นเรื่องที่ใหญ่เกินกว่าจะทำความเข้าใจและแก้ปัญหาได้ในเวลาสั้น ๆ ยังไม่นับปัญหาการสร้างรถไฟฟ้า ที่ควรช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นการสร้างเพื่อหวัง ‘เพิ่ม’ ราคาที่ดินของกลุ่มทุนที่หวังสร้างรายได้จากการสร้างสถานีรถไฟฟ้าที่จะต้องพูดกันอีกยาว

เพราะฉะนั้น เมื่อเราแก้ปัญหาที่ระดับนั้นไม่ได้ การ ‘เตรียม’ ระบบชนส่งมวลชนพื้นฐานที่กล่าวไปข้างต้น จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่า หากมีผู้ที่มองเห็นความสำคัญ และเริ่มที่จะลงมือทำจริง ๆ 

และสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ง่ายดีที่สุด ก็คือสิ่งที่หลายคนมองข้าม และมองว่าเป็นปัญหามากที่สุดอย่างรถเมล์ รถตู้ และรถ 2 แถว ที่เป็นเหมือนเส้นเลือดฝอย พาผู้คนเดินทางไปยังจุดต่าง ๆ มาหลายสิบปี 

ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะคนขับรถยนต์ส่วนตัว) มักจะมองว่ารถโดยสารเหล่านี้คือต้นเหตุของปัญหารถติด ดูได้จากกรณี รถโดยสาร BRT ที่สร้างเลนเฉพาะจากรถไฟฟ้าไปยังจุดต่าง ๆ ที่ถูกคัดค้านเป็นอย่างมาก ว่ามาแย่งพื้นที่การจราจรที่มีน้อยอยู่แล้วไปได้อย่างไร สุดท้าย เมื่อโครงการไม่ประสบความสำเร็จ ก็ต้องยกเลิกไปอย่างน่าเสียดาย

ทั้งที่ในความเป็นจริง "Bus Lane" คือวิธีการแก้ปัญหาการจราจรระดับสากลที่หลายประเทศให้ความสำคัญ ยกตัวอย่าง ของประเทศเกาหลีใต้ ที่มีระบบการขนส่งมวลชนขนาดใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ และเคยประสบปัญหาการจราจรเช่นเดียวกันมาก่อน รัฐบาลตัดสินใจ มีการสร้าง Bus Lane อย่างเป็นระบบ

รวมทั้งพัฒนาระบบของรถเมล์ ให้สามารถใช้ตั๋วโดยสารใบเดียวกัน หลังเชื่อมต่อจากรถไฟฟ้าไปยังสถานที่ต่าง ๆ ได้เลย เป็นการสนับสนุนให้คนที่รู้สึกว่า ไม่ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว พวกเขาก็สามารถเดินทางจากระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพได้เช่นกัน 

และอย่าลืมว่า หลายคน ไม่ได้ต้องการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลด้วยซ้ำ หากแต่การจราจรและระบบขนส่งที่ไม่สามารถพาเขาไปยังที่ทำงาน หรือกลับบ้านได้อย่างสะดวกสบาย บังคับให้เขาต้องไปออกรถ (ทั้ง ๆ ที่รายได้ก็ไม่มาก) เพื่อใช้เป็นพาหนะในการเดินทางไปทำงาน และเข้าสู่สายพาน ‘การผลิตงาน’ ในระบบเศรษฐกิจต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

หรือแม้กระทั่งรถตู้ หรือรถสองแถว (ที่ได้รับการพัฒนาระบบ อย่างมีมาตรฐาน) ที่ควรจะอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า หรือจุดเชื่อมต่อสำคัญมากที่สุด ก็มักจะถูกผลักออกไปให้ไกลจากจุดเชื่อมต่อเหล่านั้น เพราะมองว่าการเอาพื้นที่ทำเลทองบริเวณนั้นไปสร้างเป็นที่อยู่อาศัย สร้างห้างสรรพสินค้า ฯลฯ นั้นสร้างประโยชน์ได้มากกว่าการให้รถเหล่านี้มากินพื้นที่จอดรอผู้โดยสารในแต่ละวัน 

สุดท้าย นอกจากนโยบายการพัฒนาระบบพื้นฐานดังกล่าวที่ต้องเร่งพัฒนาอย่างเร่งด่วน อีกสิ่งหนึ่งที่ควรได้รับการแก้ไขไปพร้อม ๆ กันคือความสำนึกและตระหนักรู้ ว่าบนท้องถนน (และทุกที่บนโลกใบนี้) ทุกคนล้วนเท่าเทียมกัน การขับรถหรู ไม่ได้ทำให้คนนั้นมีคุณค่ามากกว่าคนที่เบียดเสียดกันอยู่บนรถเมล์ร้อน 

เพราะถ้าจะพูดให้ตรงและแรงไปกว่านั้น คนที่นั่งตากแอร์เย็นฉ่ำอยู่ในรถส่วนตัว ควรจะต้องขอบคุณคนบนรถเมล์ รถสองแถว และรถสาธารณะอื่น ๆ มากกว่าด้วยซ้ำ ในฐานะที่เขาช่วยลดภาระบนท้องถนนให้เป็นอย่างมาก ระหว่างรถยนต์คันหนึ่งขนผู้โดยสารได้ประมาณ 5 คน แต่รถเมล์เพียงคันเดียว สามารถจุคนได้เต็มที่มากถึง 60 คน  จริง ๆ ถ้ามองในแง่นี้ก็พอจะบอกได้ไม่ยากด้วยซ้ำว่า ใครที่น่าเห็นใจ และควรถูกมองเห็นความ ‘สำคัญ’ มากกว่ากัน

การเชื่อมต่อกันนี้ ทุกคนย่อมแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุด ใช้เวลาน้อยที่สุด โดยมีค่าใช้จ่ายต่อหัวตามเงื่อนไขส่วนที่ตนยอมรับไหวนั่นเอง

อ้างอิง

https://www.tcijthai.com/news/2013/02/scoop/3159

https://mgronline.com/daily/detail/9550000019828

https://waymagazine.org/interview_chadchart/

https://thematter.co/pulse/connectivity/15662

ภาพประกอบ

https://techfeedthai.com/2019/01/25/ขนส่งมวลชนไทย-ทำไมต้องข/

https://news.mthai.com/general-news/692977.html

https://unimon.co.th/about/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0