โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“กาฬโรค” การกลับมาของโรคระบาดในตำนาน - เพจวันนี้ชั้นติ่งอะไร

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 13 ก.ค. 2563 เวลา 17.05 น. • เพจวันนี้ชั้นติ่งอะไร

ไม่กี่วันมานี้มีข่าวใหญ่ที่เป็นที่สนใจของประชาคมโลก เมื่อมีการเปิดเผยว่า เกิดโรคระบาดใหม่ต้องสงสัยเป็น “กาฬโรค” (Plague, Black Death) จากมองโกเลียใน หนึ่งในเขตปกครองพิเศษของจีน ข่าวนี้สร้างความตื่นตัวให้คนทั้งโลกอีกครั้งท่ามกลางกระแส COVID-19 ที่ยังไม่ซา

กาฬโรคที่ว่าเป็นอย่างไร เรื่องนี้จะกลายหนังม้วนยาวหรือไม่ เกิดอะไรที่จีนกันแน่

วันนี้เราจะมาย้อนรอยโรคนี้กันค่ะ

“Doctor Beaky of Rome” แพทย์ผู้รักษากาฬโรคพร้อมเครื่องป้องกันในสมัยยุคกลาง (via Wikipedia)
“Doctor Beaky of Rome” แพทย์ผู้รักษากาฬโรคพร้อมเครื่องป้องกันในสมัยยุคกลาง (via Wikipedia)

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มขึ้นตั้งแต่ก่อนโลกนี้จะรู้จัก COVID-19

ต้นพฤศจิกายน 2019 บริเวณมองโกเลียใน (Inner Mongolia) ในปกครองของจีน พบผู้ป่วยปอดอักเสบชนิดพิเศษที่ไม่ตรงกับวินิจฉัยทั่วไปใด ๆ 2 ราย แพทย์ผู้ดูแลเปิดเผยผ่านโซเชียลมีเดียส่วนตนว่า อาจเป็นไปได้ว่านี่คือ “Pneumonic Plague” หรือกาฬโรคปอดที่ได้สาบสูญไปนาน

ไม่นานจากนั้น ผู้ป่วยทั้งสองถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลในกรุงปักกิ่งเพื่อดูแลรักษา ก่อนที่ผู้ใกล้ชิดจะถูกตรวจสอบต่อมา และค้นพบผู้ป่วยลักษณะคล้าย “Bubonic Plague” หรือกาฬโรคต่อมน้ำเหลืองอีก 2 ราย

สิ้นพฤศจิกายน โซเชียลมีเดียของแพทย์ผู้ดูแลคนแรกถูกปิดลง พร้อมกับที่เวยป๋อของจีนลุกเป็นไฟ

ชาวจีนหลายคนเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาเปิดเผยรายละเอียดให้มากกว่านี้ ขณะเดียวกันบางส่วนตำหนิทีมผู้รักษาที่ใช้เวลาเนิ่นนานกว่าจะวินิจฉัยได้

แต่โชคร้าย ก่อนที่เรื่องราวทั้งหมดจะดำเนินไป เมืองอู่ฮั่นก็เกิดข่าวใหญ่ พร้อมกับโรคกำเนิดใหม่อย่าง COVID-19 ก็ได้กลบข่าวทั้งหมดฝังลงกับความมืด

หลายเดือนถัดจากนั้น มิได้มีรายงานผู้ป่วยกาฬโรคอีกต่อไป นั่นคือข้อมูลเท่าที่เราพอจะทราบได้

กระทั่งมรสุม COVID-19 เริ่มพัดผ่านไป ก็ปรากฏผู้ป่วยเพิ่มอีก 2 ราย ต้องสงสัยเป็นกาฬโรคต่อมน้ำเหลืองบริเวณมองโกเลียในอีกครั้ง

นั่นคือเหตุการณ์ไม่กี่วันที่ผ่านมานี้

อันที่จริง กาฬโรคเป็นโรคที่อยู่คู่มนุษยชาติมาเนิ่นนาน

มันคือคู่กัดคู่อาฆาต ที่เราและมันผลัดกันแพ้ชนะ ต่างฝังตัวรอคอยวันแก้แค้น ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน กาฬโรคเคยระบาดใหญ่นับเฉพาะที่มีบันทึก 3 ครั้ง 

ครั้งแรกที่ 1 เกิดในโลกยุคโบราณ (ค.ศ.542-546) คร่าชีวิตคนเฉียดร้อยล้าน และเป็นสาเหตุแห่งการล่มสลายของไบแซนไทน์โรมันตะวันออก 

ครั้งที่ 2 เกิดในโลกยุคกลาง (ค.ศ.1347-1350) คือตำนาน “Black Death” หรือความตายสีดำ ซึ่งคร่าชีวิตกว่าครึ่งของชาวยุโรปยาวถึงแอฟริกา สั่นคลอนศรัทธาที่มีต่อศาสนา และนำพาโลกเปลี่ยนยุคสมัย

ครั้งที่ 3 เกิดในโลกยุคใหม่ (ค.ศ.1894) จากจีนสู่อินเดียลามไปตามเส้นทางการค้า คร่าชีวิตผู้คนจากทั้งห้าทวีป

ทั้งหมดถือเป็นระดับ Pandemic หรือข้ามทวีปไปทั่วโลก

ณ จุดสูงสุดของการระบาด กาฬโรคคร่าชีวิตผู้คนในระดับเป็นภัยสูงสุดต่อมนุษยชาติ ทั้งกินเวลายาวนานข้ามชั่วอายุคน ส่งผลทำลายระบอบดั้งเดิมของสังคมในยุคนั้น ๆ จนหมดสิ้น

ชื่อของมันคล้ายฝังรากลึก เป็นเมล็ดพันธุ์อันน่าสะพรึงในจิตวิญญาณของมนุษย์ทุกคน

แต่ล่วงถึงวันนี้ มันยังน่ากลัวเช่นนั้นอยู่หรือไม่

การระบาดของกาฬโรคในเขตแมนจูเรีย ในช่วงการระบาดใหญ่ของโลกครั้งที่ 3 (via Wikipedia)
การระบาดของกาฬโรคในเขตแมนจูเรีย ในช่วงการระบาดใหญ่ของโลกครั้งที่ 3 (via Wikipedia)

ความจริงแล้ว กาฬโรคเกิดจากแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ชื่อว่า Yersinia Pestis (เยอร์สิเนีย เพสทิส) แบคทีเรียตัวนี้อาศัยในหมัดหนู หมัดเหล่านี้จะเกาะไปกับหนู และเข้าสู่บ้านเรือนผู้คน

เมื่อมันกัดคน คนผู้นั้นจะติดเชื้อเข้าร่างกาย แต่โชคดีที่ร่างของเราคุ้นเคย มีระบบดักจับมันไว้ได้ โดยจะดักและเก็บมันไว้ในต่อมน้ำเหลืองเพื่อฆ่ามัน

เมื่อถึงเวลานั้น ต่อมน้ำเหลืองจะขยายขนาด โตขึ้นจนคลำได้ กลายเป็นสนามรบขนาดใหญ่ของร่างกายกับเชื้อกาฬโรค นำไปสู่ “กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง หรือ Bubonic Plague”

หากร่างกายชนะมันจะหยุดเพียงเท่านั้น แต่หากพ่ายแพ้มัน เชื้อจะติดเข้าสู่กระแสเลือด นำไปสู่ “กาฬโรคแบบโลหิตเป็นพิษ หรือ Septicemic Plague” ในเวลาต่อมา

เมื่อมาถึงจุดนี้ โอกาสเสียชีวิตก็สูงขึ้นมาก

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยตายเพียงเท่านี้ เชื้อก็หยุดเพียงตัวของเขาผู้เดียวเท่านั้น ก่อนที่เหล่านกหนูจะรุมทึ้งซากศพที่กองสุมกัน และแพร่กระจายเชื้อต่อเนื่องไปอย่างที่เกิดในยุคโบราณ ซึ่งในโลกปัจจุบันย่อมไม่ยากแก่การเก็บกวาดแต่อย่างใด

แต่บางครั้งตัวเชื้อกลับไปถึงปอดก่อนที่ผู้ป่วยจะตาย และติดเข้าไปกลายเป็น “กาฬโรคปอด หรือ Pneumonic Plague” ซึ่งเป็นรูปแบบที่ร้ายกาจที่สุด

เพราะไม่เพียงอัตราตายสูงสุด มันยังสามารถลอยฟุ้งออกจากลมหายใจของผู้ป่วย ติดต่อสู่คนรอบข้างอย่างง่ายดาย

นั่นทำให้กาฬโรคยังคงเป็นโรคติดเชื้ออันตราย 1 ใน 3 ที่ต้องรายงานต่อองค์การอนามัยโลกในทันที

จะสังเกตได้ว่า หากการระบาดไม่มี (หรือสามารถควบคุม) กลุ่มผู้ป่วยที่เป็นกาฬโรคเข้าปอดได้ การติดต่อจากคนสู่คนแทบจะเป็นไปไม่ได้ โรคจะระบาดออกจากหนูกลุ่มนำเชื้อเท่านั้น ซึ่งการควบคุมโรคย่อมเป็นไปอย่างง่ายดาย

แต่เราไม่อาจตอบได้ ว่ากาฬโรคจะเข้าปอดหรือไม่ หรือเมื่อเข้าไปแล้วใครจะติดต่อถึงใครกันแน่

ปี 2017 เกิดการระบาดของกาฬโรคที่เกาะมาดากัสการ์ และแม้การระบาดจะเกิดในยุคใหม่ที่พรั่งพร้อมด้วยยาฆ่าเชื้อและอุปกรณ์ที่ทันสมัย แต่ชาวมาดากัสการ์กลับติดโรคไปถึง 2,348 คน และเสียชีวิตถึง 202 คน คิดเป็นอัตราตาย 8.6%

ประเทศไทยเราควรกลัวกาฬโรคมากน้อยแค่ไหน

ย้อนไปปี พ.ศ.2447 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ขณะนั้นเกิดการระบาดของกาฬโรคในระดับ Pandemic หรือข้ามทวีป (ครั้งที่ 3 ของโลกตามบันทึก) โดยมีเส้นทางจากจีนผ่านเข้าสู่อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยในยุคนั้น

ขณะนั้นได้เกิดการตายปริศนาขึ้นบริเวณตำบลตึกแดง ในเขตอาณัติอังกฤษ ผู้ตายมีทั้งชาวอินเดียและชาวไทย พบลักษณะต้องสงสัยกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง และอาจมีกาฬโรคปอดปะปน

รัฐบาลสยามขณะนั้น ได้จัดประชุมด่วนเพื่อหาแนวทางตอบโต้เหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้นทันที

เวลานั้นสยามเป็นเพียงประเทศด้อยพัฒนา ที่พยายามอย่างสุดขีดหวังรอดปากเหยี่ยวปากกาอาณานิคม พวกเขาไม่มีเจ้าหน้าที่ ไม่มีเครื่องมือทันสมัย ไม่มีหยูกยาอันใดจะต่อสู้ได้ ทางรอดเดียวที่คิดได้ คือต้องควบคุมโรคไว้มิให้แพร่กระจายจนเกินยับยั้ง

การควบคุมโรคอย่างชนิดกวดขันและรอบคอบที่สุดจึงเกิดขึ้น

พื้นที่ที่เกิดการระบาดและบริเวณโดยรอบถูกควบคุม ผู้คนต้องอยู่ในบ้าน ลดการติดต่อเจรจา ผู้มีอาการจะถูกแยกออกมา เข้าสู่โรงพยาบาลที่สร้างอย่างเร่งด่วนเพื่อรักษาและแยกโรคมิให้กระจาย ขณะเดียวกันก็มีหน่วยเคลื่อนที่เร็วลงสอบสวน ก่อนจะทำความสะอาดบ้านช่อง หรือบางกรณีอาจเผาทำลาย แยกผู้ใกล้ชิดเข้าสู่พื้นที่ที่จัดไว้ เพื่อสังเกตอาการและแยกโรคหากจำเป็น ทั้งนี้รัฐบาลสยามได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบด้วย

สังเกตได้ว่า นี่คือการทำ Social Distancing และ State Quarantine รวมถึงจัดให้มีทีมสอบสวนโรคหรือ Joint Investigation Team (JIT) อย่างในปัจจุบันนั่นเอง !

แต่แม้ราชสำนักจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อควบคุมโรค แต่ก็ได้มีกาฬโรคระบาดไปตามหัวเมืองต่าง ๆ ในที่สุด 

รัฐบาลกลางขณะนั้นจึงออกนโยบายให้หัวเมืองต่าง ๆ ตั้งโรงพยาบาล จัดหน่วยสอบสวน และระบบกักกันโรคล้อไปกับของพระนครทันที

ที่สุดแล้วแม้ไม่อาจยับยั้งการระบาดให้จำกัดในวงแคบได้ แต่การระบาด (Cluster) ที่เกิดขึ้นใหม่ ก็ถูกควบคุมจนระงับได้ในทุกครั้ง ทำให้กาฬโรคแม้เข้าสู่ไทยแล้วนั้น กลับไม่เกิดการระบาดชนิดล้มตายนับแสนนับล้านอย่างที่เกิดในส่วนอื่นของโลก

เวลาต่อมา มีการค้นพบว่าหนูเป็นพาหะสำคัญในการนำโรค สอดคล้องกับลักษณะการระบาดที่มักเกิดบริเวณตลาดห้างร้านที่แออัด จึงมีการตั้งรางวัลนำจับ ว่ากันว่าในการนี้มีหนูตายไปถึง 150,000 ตัว

ไม่เพียงเท่านั้น เพื่อควบคุมโรคที่จะถูกนำเข้ามาใหม่จากต่างแดน ได้มีการจัดตั้งเจ้าหน้าที่สำหรับควบคุมโรคขึ้น บริเวณปากชายฝั่งที่เป็นทางผ่านของเรือนำสินค้า โดยกักกันเรือจากประเทศที่ระบาดมิให้เข้าสู่อาณาจักรได้

นี่จึงคล้ายการควบคุมโรคในยุคใหม่ ที่จำกัดมิให้มีผู้ป่วยนำเชื้อเข้าใหม่ และทำลายสัตว์พาหะมิให้ติดต่ออีกได้

จากกระบวนการทั้งหมด สยามที่เป็นเพียงประเทศด้อยพัฒนาขณะนั้น กลับรอดพ้นจากการระบาดครั้งสำคัญ ที่คร่าชีวิตประชากรทั่วโลกอย่างน่าอัศจรรย์ใจ กลายเป็นที่โจษจันทั่วไปในหมู่นักวิชาการ

และกลายเป็นผลงานอันองอาจ เป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง แห่งการสาธารณสุขไทย

ผู้ป่วยกาฬโรคปอดรายสุดท้าย เกิดขึ้นที่มองโกเลียในตั้งแต่ปลายปีก่อน และแม้จะพบผู้ป่วยรายใหม่ไม่กี่วันก่อน ก็เป็นเพียงกาฬโรคต่อมน้ำเหลืองที่ไม่อาจแพร่กระจายโดยง่าย

เท่าที่มีหลักฐาน ผู้ป่วยจากสองเหตุการณ์มิได้สัมพันธ์กัน นอกเสียจากอาศัยอยู่ในมองโกเลียในเช่นเดียวกัน และมีประวัติสัมผัสตัวมาร์ม็อต สัตว์ฟันแทะคล้ายหนูที่มีอยู่ทั่วไป

นั่นคือกาฬโรคในจีนยังไม่นับว่าระบาดใหญ่ แต่คงมีสัตว์รังโรคอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ไม่น้อยอย่างแน่นอน

ก้าวต่อไปของจีน คงเป็นการจัดการรังโรค และตรวจตราหากาฬโรคปอด ที่อาจปรากฏตัวอย่างไม่คาดฝันให้รวดเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้

ประเทศไทยเราไม่พบผู้ป่วยกาฬโรค นับเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว

เมื่อศึกษาโรคระบาดร้ายแรงที่ควบคู่กันมา จะพบว่าพวกเราควบคุมได้อย่างน่าประหลาดใจ อาจเพราะเรามีระบบที่แข็งแกร่งแต่แรกเริ่ม หรืออาจเพราะเรามีเจ้าหน้าที่หน้างานที่ทุ่มเทก็เป็นได้ แต่ที่ขาดไม่ได้ คงเป็นประชาชนทั่วไปที่ให้ความร่วมมืออย่างดี ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันนั่นเองค่ะ

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่การป้องกันโรคสำคัญ แต่เราอาจต้องเท่าทันข่าวด้วย ที่จริงทุกปียังคงมีกาฬโรคเกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ ประปราย รวมถึงคู่แค้นอย่างสหรัฐอเมริกา จำนวนที่พบที่จีนถือว่าไม่มาก แต่เมื่อรวมกับสถานการณ์การเมือง (และพฤติกรรมปิดข่าว) ก็กลายเป็นข่าวดังไปค่ะ

ก็น่าจะสบายใจได้ โดยเฉพาะในวันที่สถานการณ์ COVID-19 (ในไทย) เองก็เริ่มคลี่คลายแล้วค่ะ

อ้างอิง

- BBC NEWS

- The Guardian

- World Health Organization-WHO

- โพสต์ทูเดย์

- สถาบันวิจัย จัดการความรู้ และมาตรฐานการควบคุมโรค (สวคร.)

ติดตามบทความใหม่ ๆ จากเพจวันนี้ชั้นติ่งอะไรได้ทุกวันอังคารที่ 2 และ 4 ของทุกเดือน บน LINE TODAY และหากสามารถอ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่เพจวันนี้ชั้นติ่งอะไร 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0