โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

’รงค์ วงษ์สวรรค์ ‘พระรอง’ จากบางลำพู สู่นักประพันธ์สำนวนเพรียวนม

The MATTER

อัพเดต 20 พ.ค. 2562 เวลา 11.06 น. • เผยแพร่ 20 พ.ค. 2562 เวลา 06.35 น. • Thinkers

มีคนไม่น้อยเลยใน พ.ศ. 2562 ที่ได้รู้จักชื่อเสียงเรียงนามและสัมผัสผลงานของ 'รงค์  วงษ์สวรรค์ แม้เขาจะโบยบินอำลาโลกไปแล้วนานสิบปีเต็ม (ถึงแก่กรรมเมื่อ 15 มีนาคม 2552) ซึ่งวันที่ 20 พฤษภาคมศกนี้ หากเจ้าของสำนวนเพรียวนมยังคงมีชีวิตอยู่ก็จะอายุครบ 87 ปีพอดี

แน่ล่ะ เครื่องแสดงความรำลึกถึงนักเขียนที่ดีที่สุดย่อมมิพ้นการเขียนถวิลถึงเรื่องราวของเขา สำหรับ 'รงค์  วงษ์สวรรค์ ความยิ่งใหญ่ในฐานะนักประพันธ์แห่งบรรณพิภพช่างถูกกล่าวอ้างเอาไว้เสียมากมาย ทว่าอีกแง่มุมหนึ่งที่นักอ่านส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยทราบเท่าใดนักคือ กว่าที่จะก้าวเข้ามาสู่แวดวงน้ำหมึกได้ หรือพูดแบบสำนวนแบบ 'รงค์ เองว่า กว่าที่นักอ่านจะอนุญาตให้เป็นนักเขียนนั้น เขาเผชิญและฝ่าฟันอุปสรรคแสนลำบากทุรนมาเยี่ยงไรบ้าง?

ครับ โปรดอนุญาตให้ผมสาธยายเถิด

'รงค์ วงษ์สวรรค์ เริ่มต้นเขียนหนังสือตั้งแต่เมื่อไหร่?

คงต้องย้อนไปสมัยเขาสวมชุดนักเรียนชั้นมัธยมปลาย ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งเมื่อคราวที่ทางโรงเรียนจัดแข่งขันกีฬาสีและกำหนดให้มีการออกหนังสือประจำคณะสีนั้น ความเป็นคนชอบท้าทาย’รงค์จึงไม่ไปร่วมออกหนังสือด้วย แต่เขากลับเขียนหนังสือขึ้นเองให้เพื่อนๆ ในห้องอ่านเล่น ที่จริง ’รงค์ เกือบจะเรียนจบชั้นมัธยมปลาย ถ้าไม่  ‘ฝันร้ายกลางแดด’ เพราะมีเรื่องขี้ผงกับครูพละเสียก่อน และมันก็ร้ายแรงจนทำให้เขาเป็นนักเรียนเตรียมอุดมคนแรกที่ถูกไล่ออก

’รงค์ตัดสินใจไม่เรียนหนังสือในสถาบันการศึกษาต่อ แต่เลือกออกมาใช้ชีวิตอย่างโชกโชน โดยเฉพาะถิ่นพำนักบริเวณแถวๆ บางลำพู ดังเขาเอ่ยพาดพิงกรณีนี้เชิงติดตลกขณะร่วมสนทนางานอภิปรายเรื่อง‘เขาเขียนหนังสือและเขียนการ์ตูนกันอย่างไร?’ ในรายการคุยกันเรื่องหนังสือ จัดโดยสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ณ สถานีวิทยุ ท.ท.ท. เช้าวันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2503 ซึ่งผู้อภิปรายคนอื่นๆ ได้แก่ ประยูร จรรยาวงศ์, ประหยัด ศ. นาคะนาท และนิตยา นาฏยะสุนทร ขณะที่ รัญจวน อินทรกำแหง เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย มีความว่า

“…คือเมื่อผมอยู่โรงเรียนผมเป็นคนเรียนหนังสือดีครับ แต่ความประพฤติเลว อยู่ๆ มาก็หลายปีครับทางโรงเรียนเขาก็เลยขอร้องให้ลาออก ลาออกจากโรงเรียนแล้วผมก็เลยมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยบุศยพรรณบางลำพู มาเรียนที่นี่อยู่อีกหลายปีครับได้รู้จักคนมาก ได้รู้จักเด็กหน้าโรงหนังด้วยกัน คำว่า “ด้วยกัน” นี่หมายถึงผมด้วยนะครับในฐานะเป็นนิสิตร่วมมหาวิทยาลัยเดียวกัน ก็มีนักล้วงกระเป๋า มีเด็กคาวบอย มีอีกหลายพวกครับ  เด็กกระเป๋ารถเมล์ มาร์กเก้อร์บิลเลียด ตัดช่องย่องเบาเกือบทุกชนิดในบรรดาเด็กที่พวกเราเรียกว่าคาวบอยในสมัยนั้น

ทีนี้พอผมเรียนจบมหาวิทยาลัยบุศยพรรณนี่บังเอิญได้ฟูลไบรท์  ฟูลไบรท์ของผมมันเป็นฟูลไบรท์ส่วนตัวนะครับ ถ้าสมัยนี้ก็ควรจะเรียกว่าสปอนเซอร์  คือได้ภรรยารวย (หัวเราะ) อันนี้ก็เป็นโอกาสดีอย่างยิ่งสำหรับผมเพื่อจะได้ไม่ต้องทำอะไร คือก็นอนแล้วก็เอาใจเมียบ้าง แล้วก็ชีวิตส่วนมากก็อยู่ในร้านเหล้าร้านกาแฟ เที่ยวเตร็ดเตร่ไป นี่ละครับก็เป็นโอกาสที่ค่อนข้างสำคัญมาก ถ้าจะพูดถึงว่าสำหรับชีวิตในการเขียนหนังสือของผม ผมได้รู้จักกับคนต่างๆ เหล่านี้แล้ว นอกจากรู้จัก ผมยังได้เอาคนเหล่านี้เข้ามาเลี้ยงในบ้านด้วยโดยสปอนเซอร์ของผมไม่ขัดข้อง มันก็เป็นมายังงี้แล้วก็พร้อมๆ กันนั้นผมก็เป็นนักอ่านหนังสือ แล้วก็อยากจะเขียนหนังสือ…”

ซึ่งมหาวิทยาลัยบุศยพรรณ ก็มิแคล้วโรงหนังบุศยพรรณที่เลื่องลือประจำบางลำพู

ช่วงเวลาเดียวกัน ’รงค์ หมั่นสร้างงานเขียนของตนเสมอๆ

เขาพากเพียรเขียนบทละครวิทยุส่งไปอ่านออกอากาศแลกค่าเรื่อง 30 บาท

ชิ้นแรกคือ แดนูบเป็นสีเลือด ความยาว 1 ชั่วโมง แต่ประสบความล้มเหลวเนื่องจากเขียนข้อมูลผิดพลาดคลาดเคลื่อนความจริงเยอะแยะ ’รงค์ ยังคงมุมานะเขียน คืนสุดท้ายแห่งฤดูฝน และ ศัตรูคู่อาฆาต เป็นชิ้นถัดๆ มา บทละครวิทยุทั้งสามได้อ่านออกอากาศก็น่าปลื้มหรอก กระนั้นไม่ค่อยสัมฤทธิ์ผลด้านการเงินและชื่อเสียงสักนิด

ตอน ’รงค์ ออกจากโรงเรียนต้นทศวรรษ 2490 บิดาของเขามอบเรือโยงให้ลำหนึ่งเพื่อใช้ประกอบอาชีพ เขาจึงทดลองเป็นนายท้ายเรือโยงจากบางบัวทอง เมืองนนทบุรี ไปยังสุพรรณบุรีอยู่ระยะหนึ่ง พอชักจะเบื่อหน่ายการลอยล่องท้องน้ำก็ระเหเร่ร่อนขึ้นไปเป็นคนคุมปางไม้ของ หม่อมราชวงศ์จิรเดช กฤดากร ที่เมืองฝาง จังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 2 ปี  แล้วหวนคืนสู่กรุงเทพฯ หอบลมหายใจมาวนเวียนอยู่ละแวกย่านบางลำพูตามเคย จวบกระทั่งได้พบกับชายคนหนึ่งที่เขาเรียกว่า ‘อาว์ถัม’ ผู้มักแวะนั่งร้านกาแฟไอ้ไฝเนืองๆ ภาพลักษณ์ของอาว์ถัมในสายตา 'รงค์ คือ

“…เป็นคนยิ้มไม่ยากแต่ไม่อยากยิ้ม ไม่พูดถ้าไม่อยากพูดไม่ ไม่ทักทายถ้าไม่อยากทักทาย ท่วงทีของอาว์ถัมภ์ไม่ถึงกับกีดกันตัวเองออกจากผู้อื่นโดยความเคร่งขรึมหรือไว้ยศ  แต่ดูคล้ายกับว่าคนอื่นจำนนกับการทอดสะพานแห่งความเป็นเพื่อนมากกว่า”

อาว์ถัมนิยมนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ ซึ่ง “ไม่—ไม่ใช่หนังสือพิมพ์ที่ไอ้ไฝซื้อไว้ให้ลูกค้าอ่าน ผ่านสายตาและมือนับไม่ถ้วน ยับเยินเหม็นขี้เมือกหมึกและขี้มือ แต่อาว์ถัมถือมาเองมากกว่าหนึ่งฉบับ แล้วคลี่ออกอ่านราวจมลงในทะเลความคิด” และ “ใครถ้าอยากขอยืมอ่านบ้างรับรองว่ารอไม่ไหวอย่างแน่นอน”

อาว์ถัมของเจ้าปุ๊จบการศึกษามัธยมศึกษาปลายจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ ผองเพื่อนที่คบหาเป็นทั้ง “บุคคลประเภทหัวกะทิในทบวงราชการ และในวงการหนังสือพิมพ์” ยิ่งเพื่อนๆ ในวงการหลังดูเหมือนจะผูกพันแน่นแฟ้นอย่างล้ำลึก 'รงค์ในวัยหนุ่มค่อนข้างเชื่อมั่น อาว์ถัมเป็น “พนักงานระดับเหนือกว่าปานกลางขององค์การท่าเรือฯ” และ “…เป็นคนในแวดวงสำคัญกว่าที่บางลำพูมองและคิดอย่างผิวเผิน”

อุ๊ย! ก่อนจะเผลอลืม ผมควรบอกว่า 'รงค์ มีชื่อเล่นว่า ‘ปุ๊’

ต่อหน้าเจ้าปุ๊ อาว์ถัมเปรยๆ ถึงเพื่อนพ้องให้ฟังบ่อยๆ เช่น “โชติป่วยอีกแล้วนี่อาว์เพิ่งไปเยี่ยมมา…น่าเป็นห่วงแท้..”

‘โชติ’ ของอาว์ถัมจะเป็นใครไปเสียอีกถ้ามิใช่ โชติ แพร่พันธุ์ หรือผู้ใช้นามปากกา ‘ยาขอบ’ เพียงเจ้าปุ๊แว่วยินเข้าหัวใจตื่นเต้นเริงโลดเสียยกใหญ่ ใช่สิ! แต่ละวันชีวิตคนหนุ่มในบางลำพูคลุกคลีกับการ “กินเหล้า  เล่นไพ่ ตีกะหรี่ รินักเลง คบโจร เล่นมีด เล่นปืน ยืนเยี่ยวรดป้อมตำรวจ” กระนั้น มิอาจหักห้ามความเป็นหนอนหนังสือของเขาที่เปี่ยมล้น “…นิสัยอ่านหนังสือฝังในหัวใจและสมอง ขนาดนอนในกรงขังโรงพักวัดชนะสงครามติดสินบนจ่าขี้เมาขอให้ไปซื้อนวนิยายเล่มใหม่จากสำนักพิมพ์ละแวกศาลาเฉลิมกรุง…”

’รงค์วัยหนุ่มรำลึกงานเขียนของ ‘ยาขอบ’ ที่เขาเคยอ่านผ่านตา ไม่ว่าจะ “อ่านเรื่องสั้น มุมมืด อย่างชื่นชม บทบาทสุภาพบุรุษระหว่างคนจนกับผู้ดีสูงศักดิ์” หรือ “ผู้ชนะสิบทิศ อ่านไม่ครบบท แต่ก็นับถือ จะเด็ด ว่าเจ้าชู้ฉมังกว่า ขุนแผน ดอนฮวน และ คาสโนวา” มิหนำซ้ำ เจ้าปุ๊เอ่ยปากกับอาว์ถัมว่า “แหม! อาว์พาผมไปฝากตัวกับยาขอบได้ไหม? ผมอยากกราบไว้แล้วขอปิดทอง” และอาว์ถัมร้องขึ้นว่า “เฮ้ย !  คนไม่ใช่รอยพระพุทธบาทนี่หว่า!  เออ—ถ้าโชติเขาสบายดีจะพาไปรู้จักก็ไม่แปลกอะไรเลย โรงพิมพ์อักษรนิติบางขุนพรหมแค่นี้”

หม่อมหลวงต้อย ชุมสาย เพื่อนคนหนึ่งของอาว์ถัมที่ละเลยการเอ่ยถึงมิได้  และก็ด้วยสิ่งที่เพื่อนผู้นี้กำลังจะทำช่วงต้นทศวรรษ 2490 คือหัวเลี้ยวที่ชักนำชะตาชีวิตของ'รงค์ วงษ์สวรรค์

“นี่ต้อยเขากำลังสร้างหนังสีธรรมชาติเรื่องชั่วฟ้าฯ ของครูมาลัย  ปุ๊เคยอ่านไหม?”อาว์ถัมเกริ่นขึ้นในคืนหนึ่ง ณ ร้านกาแฟไอ้ไฝ

หนอนหนังสือแห่งบางลำพู ถ้าไม่เคยอ่านวรรณกรรมชิ้นเยี่ยมของ

ครูมาลัย ชูพินิจ อย่าง ชั่วฟ้าดินสลาย เห็นทีจะน่าอายเอาการ

“เออ—ต้อยเขาเป็นหัวเรือใหญ่คบคิดกับเพื่อนในค่ายสีลมกันมานานหลายเดือนแล้ว หม่อมราชวงศ์อะไรนะ บังเอิญไม่คุ้นกัน อาว์ก็นึกชื่อไม่ออก  ท่านเป็นรองอธิบดีกรมสรรพสามิต  แล้วท่านก็คิดสูตรล้างฟิล์มได้เองไม่ต้องง้ออเมริกันเก๋าเจ๊ง ซื้อฟิล์มของมันแล้วต้องส่งไปเข้าแหล็บถึงฮาวาย ท่านรับเป็นนายทุนเองด้วยว่ากันเป็นเงินแสน แต่โยนลูกให้ครูมาลัยรับเป็นโปรดิ๊วเซ่อร์ ประหยัดรับลูกสองเป็นแอสซีสแต๊นต์โปรดิ๊วเซ่อร์ ประมูลถนัดอยู่แล้วเขียนสกรีนเพลย์ ระบิลว่าตำแหน่งช่างภาพมือชั้นเชื่อกราขาวเจ๊กกินได้เลย  ต้อยเขายอมเหนื่อยกว่าเพื่อนเป็นไดเร็คเตอร์ ไซโคเขาสูงมาก ก็อย่างว่าผู้หญิงสาวนั่งก้มหน้าอายม้วนเขากล่อมประเดี๋ยวเดียวยอมแก้ผ้าให้ถ่ายรูปนู้ด

เออ—พระเอกเขาเลือกกันแล้วว่าคนอื่นไม่ได้นอกจาก ชลิต นางเอกก็ ไศลทิพย์ พระรองกำลังคิดว่าจะเอาใคร? นี่ต้อยเขาฝากให้อาว์เป็นแมวมองหาใครหน่วยก้านเข้าท่าชวนไปดูตัวกันเลย  ข้อสำคัญรูปร่างหน้าตาต้องรับกล้องด้วยอย่างอื่นฝึกกันได้ไม่ยาก ภาษาหนังเขาเรียกว่าสกรีนเทสต์…”

อาว์ถัมเล่าเพลินเสียยาว เจ้าปุ๊อดมิได้ ออกปากถามทำนองว่าได้สบตาใครไว้บ้างหรือเปล่า ทันใดนั้น อาว์ถัมยิ้มเพราะอยากยิ้มพร้อมหล่นถ้อยคำจากริมฝีปาก“ก็มองอยู่หลายคนแล้วมาสะดุดอยู่ที่ปุ๊ว่ะ”  และราวจะโน้มน้าวคนหนุ่มให้เอาแน่ จึงสำทับอีกชุด

“เออ—ค่าตัวก็คงว่ากันเป็นพันนะปุ๊  นั่นก็สุดแล้วแต่ต้อยเขากำหนดกับฝ่ายบัญชี  อาว์ฟังมาชัดเจนว่าระหว่างซ้อมบทรอเข้ากล้องบริษัทจ่ายเบี้ยเลี้ยงวันละห้าบาท ตีว่าเป็นค่ารถ การกินไม่ต้องอนาทร ไปเช้ามีกินเช้า ข้าวต้มกุ้งกาแฟขนมปังไข่ดาว กลางวันกินข้าวราดแกงพะแนงไก่พอว่าแก้หิว เย็นถึงกลางคืนเขากินเหล้ากัน ของขบเคี้ยวเครื่องแกล้มเพียบ

ต้อยเขาโรแมนติกเป็นอาร์ติ๊สต์ทุกกระเบียดนิ้ว  แต่เขาวางระเบียบงานเป็นสากล  แบ่งเป็นแผนกว่ากันแบบฝรั่งฮอลลีวู้ด ดูแลต้อนรับกันอย่างถี่ถ้วน  เพื่อนรักเขาทุกคนเพราะเขารักเพื่อนเสมอหน้ากัน  โชติแวะไปไม่ถี่ไม่ห่าง ถ้าสบายดี  ไอ้จ้อยเฮี้ยวก็แทบไม่ขาดเลย  ไอ้ลุงผีไปกับแจ๋วคู่นี้เขาเป็นครูเป็นศิษย์กัน  ใครต่อใครหลายคนครบสำรับแทบทุกคืน…”

ผองเพื่อนที่อาว์ถัมไล่เรียงรายชื่อล้วนเป็นบุคคลผู้ครองบทบาทโดดเด่นแห่งแวดวงสื่อบันเทิงไทยห้วงยามนั้น เป็นต้นว่า ระบิล บุนนาค ช่างภาพฝีมือฉมัง, ประมูล อุณหธูป นักเขียนและนักแปลสำนวนเย็นนอกร้อนใน ผู้ใช้นามปากกา ‘อุษณา เพลิงธรรม’, ประหยัด ศ. นาคะนาท บรรณาธิการ, ลุงผี หรือ ทองอิน บุณยเสนา เจ้าของนามปากกา ‘เวทางค์’ อดีตสมาชิกนักเขียนคณะสุภาพบุรุษ และ แจ๋ว หรือ สง่า อารัมภีร นักแต่งเพลง

ชั่วฟ้าดินสลาย ถ่ายทอดเรื่องราวความรักที่ปิดฉากลงด้วยโศกนาฏกรรม ผ่านตัวละคร ส่างหม่อง, ยุพดี และพะโป้ ผลงานวรรณกรรมชิ้นนี้ได้ถูกนำมาสร้างภาพยนตร์หลายหน อย่างล่าสุดในยุคนี้ คือฝีมือกำกับของ หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล นำแสดงโดย  อนันดา เอเวอริ่งแฮม และเฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. 2553 ซึ่งน่าจะเป็นเวอร์ชั่นที่คุณผู้อ่านทั้งหลายคุ้นชินกันดี

กล่าวได้ว่า หม่อมหลวงต้อยและคณะนับเป็นกลุ่มแรกสุดที่จะสร้าง

ชั่วฟ้าดินสลาย ในรูปแบบภาพยนตร์ราวๆ ปี พ.ศ. 2495-2496

ตามที่วางแผนไว้จะใช้ชื่อหนังว่า ‘ชั่วฟ้า ’ให้ชลิต สุเสวี ผู้เขียนภาพประกอบในนิตยสารสยามสมัย มารับบทพระเอก ส่างหม่อง (เขายังแสดงภาพยนตร์ 'สาวเครือฟ้า'เมื่อปี พ.ศ. 2495) ส่วน ไศลทิพย์ ตาปนานนท์ เป็นยุพดี (เธอแสดงภาพยนตร์ 'ศาสนารักของนางโจร' เมื่อปี พ.ศ. 2494) ร่วมด้วย สำราญ เหมือนประสิทธิเวช เป็น พะโป้ และไอ้จ้อยเฮี้ยว อันเป็นฉายาของนักเขียนอย่าง บรรพต สิงหพันธุ์ เป็นผู้จัดการโรงเลื่อย โดยกำลังขาดผู้มาบทพระรอง

ตกดึกคืนนั้น อาว์ถัมชวนเจ้าปุ๊เดินจากร้านไอ้ไฝไปกินบะหมี่ร้านเจ๊ากี่ ริมคลองบางลำพู ด้านเชิงสะพานโค้ง ผู้อาวุโสกว่าพูดก่อนแยกย้าย “คืนนี้นอนคิดดูนะปุ๊  ก็ถ้าไม่เกี่ยงว่าเป็นพระรอง เช้าพรุ่งนี้รออาว์ที่ร้านไอ้ไฝแล้วไปด้วยกันเลย…”

เจ้าปุ๊นอนไม่หลับ ระหว่างกระวนกระวาย เขาคว้ารองเท้ามาลูบแปรงขัด รีดกางเกงผ้าบิสค็อพ (Biscop) สีเทาและเสื้อแอว์โรว์ (Arrow) สีชมพูจนกลีบไม่ยับตระเตรียมไว้พร้อม ครั้นแดดเช้าของอีกวันมาถึง คนหนุ่มเดินออกไปจากบางลำพู

“ไป—ไปกับอาว์ แวะอันเฮียงเหลาตอกบรั่นดีกันคนละเป๊กก่อนดีไหม? กินขวานหงายมันเลยวันนี้ อาว์มีหลายเงิน ขอบอกให้จำไว้ว่าอย่าประหม่าอย่าอาย  เล่นเป็นพระรองไปก่อนวันหน้าก็เป็นพระเอก  แต่ชอบขีดชอบเขียนก็คงได้ไหว้ครูกันคราวนี้ละวะปุ๊…”

'รงค์ วงษ์สวรรค์ ได้รับบทบาทพระรองในภาพยนตร์ 'ชั่วฟ้าดินสลาย' ของหม่อมหลวงต้อย ชุมสาย ซึ่งก็คือบทของ ทิพย์ ผู้จัดการปางไม้ของพะโป้ น่าเสียดายที่หนังเรื่องนี้มิได้ออกฉาย เพราะฟิล์มที่ถ่ายทำมาเสียหายทั้งหมด เจ้าปุ๊มิได้แจ้งเกิดบนจอภาพยนตร์ แต่น้ำคำของอาว์ถัมมิได้เสื่อมคลายมนต์ขลัง “…แต่ชอบขีดชอบเขียนก็คงได้ไหว้ครูกันคราวนี้ละวะปุ๊…”

คนหนุ่มจากบางลำพูได้เข้ามาสู่แวดวงน้ำหมึกและสื่อสิ่งพิมพ์เต็มตัว การไปร่วมแสดงภาพยนตร์และรู้จักชิดเชื้อกับผองเพื่อนของอาว์ถัมเปิดโอกาสให้เขาชิมลางการเขียนบทหนัง การเป็นช่างภาพ และการเป็นผู้กำกับหนัง เช่นในเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2495 นักดูหนังชาวไทยได้รับชมภาพยนตร์ 'สาวเกาะสมุย' ผลิตโดยบริษัท สนั่นศิลป์ภาพยนตร์ จำกัด ซึ่งเข้าฉายรอบพิเศษ ณ ศาลาเฉลิมกรุง นับเป็นภาพยนตร์สีธรรมชาติเรื่องที่สองแห่งยุค โดดเด่นด้วยเสียงเพลงผสาน ฉากต่อสู้ดุเดือด และฉากรักหวานแหวว ก่อนหน้าหนังเสร็จสิ้น ’รงค์ เดินทางจากกรุงเทพมหานครไปใช้ชีวิตบนเกาะสมุยโดยรับหน้าที่ผู้กำกับพร้อมร่วมเขียนบทภาพยนตร์จากเค้าโครงที่ มนัส จรรยงค์ เขียนไว้แล้ว ซึ่งเขาอาศัยร่างทรงในนามแฝงว่า‘ชาครีย์ ทีรฆะพันธ์’

คณะถ่ายทำภาพยนตร์ชั่วฟ้าดินสลาย จากซ้าย:ชลิต สุเสวี รับบทพระเอก, ’รงค์ วงษ์สวรรค์ รับบทพระรอง, บุญส่ง  ดวงดารา ผู้กำกับบท

ชาครีย์ ทีรฆะพันธ์ หรือ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ คือคนสวมหมวก วางแขนไว้บนไหล่คนที่นั่งตรงกลาง

ณ บ้านชาตพงศ์ ถนนวรจักร เป็นแหล่งชุมนุมของนักเขียนระบือนาม ทั้ง ยาขอบ, เวทางค์, มาลัย ชูพินิจ และหม่อมหลวงต้อย ชุมสาย ที่ห้องชั้นบนของบ้านนั้น หม่อมหลวงต้อยได้ขอเช่าเป็นห้องถ่ายรูปและจัดทำ ‘ภาพศิลป์’ ส่งไปลงตามหน้าหนังสือพิมพ์  ซึ่งคำว่า ‘ภาพศิลป์’ หมายความถึงภาพเรือนร่างเปล่าเปลือยของผู้หญิงอันสะท้อนให้เห็นทรวดทรงแห่งศิลปะ พูดง่ายๆ ก็คือ ‘ภาพนู้ด’ โดยคนหนุ่มคนหนึ่งที่คอยติดตามหม่อมหลวงต้อยมาด้วยบ่อยๆ ในฐานะลูกศิษย์ที่ปรารถนาเรียนรู้เทคนิคการถ่ายภาพมิใช่ใครอื่นไกล ก็เจ้าปุ๊ หรือ 'รงค์ นั่นแหละ

ดังสง่า อารัมภีร เจ้าของฉายา ‘แจ๋ว วรจักร’ ขาประจำของร้านถ่ายรูปชาตพงศ์อีกคนที่มักจะมาพร้อมกับคณะละครศิวารมย์ในฐานะนักแต่งเพลงเล่าความหลังว่า “ที่นี่เอง เมื่อร้านชาตพงศ์ยุคใหม่เปิดทำการแล้ว ผมก็รู้จักหนุ่มคนหนึ่ง เขาไว้หนวดท่าทางเข้าที ใบหน้าสี่เหลี่ยมใหญ่ นัยน์ตาสีเหล็กที่มีสนิม แสดงว่าเป็นคนเอาทุกท่า เขาถือกล้องถ่ายรูปตามหลังหม่อมต้อยไปไหนมาไหนเสมอ หนุ่มคนนี้ใครๆ เขาเรียกกันว่า ‘เจ้าปุ๊’  หรือคุณณรงค์ เป็นคนมือไม้อ่อนอัธยาศัยสัมมาคารวะ”

'รงค์ ถือกล้องติดสอยห้อยตามหม่อมหลวงต้อย จนอดีตผู้กำกับ 'ชั่วฟ้าดินสลาย' มองออกชัดเจนว่าเจ้าปุ๊อยากเป็นนักขียนอย่างจริงจัง ประจวบกับตอนนั้น ประหยัด ศ. นาคะนาทและประมูล อุณหธูปกำลังเป็นกองบรรณาธิการจัดทำ สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ซึ่งออกเผยแพร่ฉบับปฐมฤกษ์ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2497 หม่อมหลวงต้อยจึงพา ‘รงค์ ไปฝากทำงานที่นั่น ประหยัดเห็นความตั้งใจพยายามเขียนหนังสือของคนหนุ่มเลยรับเขาเข้าทำงานในหน้าที่ตรวจปรู๊ฟ และถ่ายภาพ พร้อมเขียนคำบรรยายใต้ภาพ

แท้แล้ว ‘รงค์พยายามเขียนเรื่องสั้นส่งไปให้ประหยัดพิจารณาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 ขณะประหยัดเป็นบรรณาธิการ พิมพ์ไทยวันจันทร์  ตอนนั้นประหยัดอ่านเรื่องสั้นแล้วแจ้งแก่ ’รงค์ ว่าเกือบใช้ได้  ให้นำกลับไปแก้ไขแล้วค่อยส่งมาใหม่

'รงค์ ขะมักเขม้นทำงานเขียนตามคำสั่งบรรณาธิการในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ อยู่หลายปี ’รงค์ จึงได้เริ่มต้นเขียนคอลัมน์ ‘รำพึง รำพัน’ โดยใช้นามปากกาว่า ‘ลำพู’ ถ่ายทอดผ่านลีลาและภาษาอันแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร แล้วความโด่งดังก็มาเยี่ยมเยือนเขา ในปี พ.ศ. 2503 ’รงค์ อายุ 28 ปี

หนาวผู้หญิง หนังสือเล่มแรกในชีวิตตีพิมพ์และมีเสียงตอบรับเกรียวกราวลือลั่น

นักอ่านอนุญาตให้ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นนักเขียนอย่างบริบูรณ์

หลังจากนั้น บ่อยครั้งที่ 'รงค์ ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเหตุไฉนเขาจึงเลือกวิถีชีวิตนักประพันธ์ เฉกเช่นในงานเสวนา 'เขาเขียนหนังสือกันอย่างไร' ที่มีคนในแวดวงหนังสือร่วมกันอภิปรายได้แก่  แสงทอง, อิงอร, มาลัย ชูพินิจ, นิตยา นาฏยะสุนทร, ชูวงศ์  ฉายะจินดา, สุภาว์  เทวกุล และ 'รงค์  วงษ์สวรรค์ ส่วนผู้ดำเนินการอภิปรายคือ รัญจวน อินทรกำแหง จัดโดยสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ณ  หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องในงานประชุมใหญ่เมื่อบ่ายวันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พุทธศักราช 2503  ตอนหนึ่ง วิราวรรณ วีรานุวัตร์ บรรณารักษ์สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติเอ่ยถามดังนี้

"ดิฉันอยากจะเรียนถามคุณรงค์  วงษ์สวรรค์ ซึ่งกำลังจะเป็นนักประพันธ์มีชื่ออยู่ในปัจจุบันนี้ว่า คุณรงค์  วงษ์สวรรค์ นี่มีเหตุอะไรจูงใจที่ทำให้เกิดอยากเขียนหนังสือขึ้น เพราะเท่าที่ดิฉันทราบว่า  เมื่อก่อนนี้ คุณรงค์  วงษ์สวรรค์ ไม่ได้เขียนหนังสือแต่ว่าถ่ายรูปเป็นส่วนใหญ่"

คำตอบของ 'รงค์ คือ "ที่ผมอยากจะเขียนหนังสือก็รู้สึกว่าไม่เป็นเรื่องที่น่าปิดบังอะไร คือผมอยากจะเป็นคนที่มีชื่อเสียงเท่านั้นแหละครับ"

ผู้ฟังพากันเฮฮาและปรบมือ ขณะวิราวรรณยังคงถามต่อ"ปกติเป็นนักถ่ายรูปฝีมือดีๆ อย่างคุณรงค์ก็พอจะหาชื่อเสียงได้ ดิฉันสงสัยว่าจะมีเหตุผลอย่างอื่นกระมังคะ"

'รงค์กล่าวว่า "ความจริงเรื่องการถ่ายรูปนั่นไม่ใช่สิ่งที่ผมหวังมากนัก แต่ว่ามันเป็นวิธีการที่จะต้องหยิบกล้องขึ้นมาบังหน้าเพื่อจะหาโอกาสเข้ามาสู่งานหนังสือพิมพ์"

พลันเสียงหัวเราะลั่น ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

'รงค์ วงษ์สวรรค์นั้นแน่นอนว่าเขาคือหนึ่งใน ‘พระเอก’ แห่งบรรณพิภพผู้จำเรียงและจำหลักในความรู้สึกนักอ่านชาวไทย ผลงานของเขายังเร่งเร้าให้ใครหลายคนหลายยุคสมัยมุ่งมาดปรารถนาที่จะเขียนหนังสือเช่นกัน แต่เส้นทางสู่การเป็นนักเขียนของ 'รงค์ หาได้ราบรื่นและง่ายดายเลย เขาต้องผ่านการเคี่ยวกรำทำงานหนักพร้อมๆ สั่งสมประสบการณ์สารพัดกว่าจะมาโผบินถึงความสำเร็จ

การเดินทางในชีวิตหนุ่มจึงกลายเป็นวัตถุดิบที่หยิบฉวยมาปรุงอรรถรสตัวอักษรบนหน้ากระดาษไม่สิ้นสุด สมดังถ้อยคำของเขา “การเดินทางเป็นสายตาของนักเขียน”  อย่างไรก็ดี มิอาจปฏิเสธได้ว่าสิ่งที่เปิดทางให้คนหนุ่มจากบางลำพูได้เข้าไปโลดแล่นในบรรณพิภพเกินกว่าห้าทศวรรษ คือการตัดสินใจสวมบทบาทพระรองในภาพยนตร์จากวรรณกรรม ชั่วฟ้าดินสลาย และใครคนนั้นผู้ผายมือแนะนำหนทางก็มิควรลืมเลือน

อาว์ถัม ประหนึ่งแมวมองแห่งวันวาน ชื่อเต็มๆ ของเขา—ประถัมภ์ ประภาสโนบล

อ้างอิงข้อมูลจาก

“เขาเขียนหนังสือกันอย่างไร” ในชุมนุมปัญหาชาวบ้าน. อดิศร อิสี (บันทึกและรวบรวม).พระนคร: เกษม

บรรณกิจ, 2506. หน้า139- 196

“เขาเขียนหนังสือและเขียนการ์ตูนกันอย่างไร” ในชมรมนักอภิปราย. ทวน วิริยาภรณ์ (บันทึกและ

รวบรวม).พระนคร: โรงพิมพ์อักษรบริการ,2508. หน้า405-434

'รงค์ วงษ์สวรรค์. บูชาครูนักเลง.กรุงเทพฯ : มติชน, 2538

‘รงค์ วงษ์สวรรค์. พูดกับบ้าน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: ฟรีฟอร์ม, 2553

วิชา ทรวงแสวง. วิเคราะห์งานประพันธ์ของ รงค์ วงษ์สวรรค์ (2503-2512). ปริญญานิพนธ์ การศึกษา

มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร,2521.

สง่า อารัมภีร. ความเอย ความหลัง. กรุงเทพฯ : พี.วาทิน พับลิเคชั่น, 2531

หนังสือประกอบภาพยนตร์ สาวเกาะสมุย.พระนคร: บริษัท สนั่นศิลป์ภาพยนตร์ จำกัด, 2495

อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. “มีสมุย สำหรับ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ว่าด้วยภาพยนตร์เรื่องหนึ่งในปีพุทธศักราช

2495.” รูสมิแล.ปีที่ 39 ฉบับที่ 1 (มกราคม - เมษายน) 2561

Illustration by Sutanya Phattanasitubon

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0