โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

‘Break Up Big Tech’ : เมื่อนักการเมืองต้องการลดอิทธิพลบริษัทไอทียักษ์ใหญ่

The101.world

เผยแพร่ 29 ม.ค. 2563 เวลา 08.00 น. • The 101 World
‘Break Up Big Tech’ : เมื่อนักการเมืองต้องการลดอิทธิพลบริษัทไอทียักษ์ใหญ่

อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2017 หลังโดนัลด์ ทรัมป์ รับตำแหน่งประธานาธิบดีมาเพียงครึ่งปี และสร้างความขัดแย้งมากมาย นิตยสาร The Economist ได้พยากรณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 ล่วงหน้า จำลองสถานการณ์ว่าจะเป็นการต่อสู้ 3 ฝ่ายระหว่างทรัมป์ ที่ลงชิงชัยเป็นสมัยที่สอง กับ อลิซาเบธ วอร์เรน สมาชิกวุฒิสภารัฐแมสซาชูเซตส์ ในฐานะตัวแทนจากพรรคเดโมแครต และ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กที่มาในฐานะผู้สมัครอิสระ เป็นทางเลือกใหม่สายกลาง

วันนี้เราเข้าสู่ปี 2020 เป็นที่เรียบร้อย อลิซาเบธ วอร์เรน ลงสมัครเป็นประธานาธิบดีตามที่พยากรณ์ไว้ แต่สิ่งที่ The Economist พลาดไปอย่างจังคือ ภายในเวลาเพียง 2-3 ปี ภาพลักษณ์ของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เปลี่ยนไปอย่างพลิกผัน จากนักเทคโนโลยีรุ่นหนุ่ม ผู้มีความทะเยอทะยานทางการเมือง กลายเป็นติดลบแบบสุดๆ เขาถูกมองว่าเป็นมหาเศรษฐีผู้เลือดเย็น เห็นผลกำไรของบริษัทเหนือกว่าจริยธรรมใดๆ ในสังคม

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เปรียบเสมือนตัวแทนของ 'ยักษ์ใหญ่วงการไอที' (Big Tech) ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก กูเกิล แอปเปิล แอมะซอน หรือไมโครซอฟท์ ที่เคยเป็นฮีโร่ของชาวอเมริกันยุคหลังปี 2000 เป็นต้นมา  แต่เมื่อถึงปี 2020 บริษัทเหล่านี้กลับกลายเป็น 'ผู้ร้าย' ของสังคมที่สร้างปัญหามากมาย ทั้งข่าวปลอม ความเกลียดชังในสังคม การผูกขาดตลาด ฯลฯ แต่กลับสร้างกำไรมหาศาล

 

รีพับลิกันเกลียด แต่เดโมแครตก็ไม่รัก

 

หากเรามองด้วยกรอบทางการเมือง อาจวิเคราะห์ได้ว่า บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของสหรัฐมักนิยมพรรคเดโมแครตอยู่แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่จะโดนนักการเมืองฝั่งรีพับลิกันโจมตี

เหตุผลที่บริษัทไอทีเหล่านี้นิยมพรรคเดโมแครต มีตั้งแต่เรื่องทำเลที่ตั้ง เพราะบริษัทเหล่านี้มีจุดกำเนิดอยู่ที่ฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะแถบซิลิคอนวัลเลย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย หรือไม่ก็นิวยอร์ก ซึ่งเป็นฐานเสียงใหญ่ของเดโมแครต, ปัจจัยเรื่องความสอดคล้องทางอุดมการณ์เศรษฐกิจ-การเมือง ที่เหล่าโปรแกรมเมอร์ทั้งหลายมีรสนิยมตรงกับเดโมแครตมากกว่า ไปจนถึงสายสัมพันธ์ส่วนบุคคล เช่น อีริค ชมิดท์ (Eric Schmidt) อดีตซีอีโอกูเกิล เป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาของฮิลลารี คลินตัน ในการเลือกตั้งปี 2016 หรือ เชอรีล แซนด์เบิร์ก (Sheryl Sandberg) ซีโอโอและบุคคลเบอร์ 2 ของเฟซบุ๊ก เคยทำงานกับลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ รัฐมนตรีคลังในรัฐบาลบิล คลินตัน

ด้วยสาเหตุเหล่านี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่พนักงานของบริษัทเหล่านี้จะผิดหวังหรือฟูมฟายที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งปี 2016 และพยายามทำทุกอย่างเพื่อต่อต้านไม่ให้ทรัมป์ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีก

ในทางกลับกัน ทรัมป์และฝ่ายรีพับลิกันเองก็ไม่พอใจเหล่าบริษัทไอทีที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามและแสดงออกเรื่องนี้อยู่เสมอ เป้าหมายอันดับต้นๆ ที่ทรัมป์โจมตีผ่านทวิตเตอร์อยู่เสมอคือ เจฟ เบซอส ซีอีโอของแอมะซอน ที่ทรัมป์มองว่าผูกขาดธุรกิจค้าปลีกและทำลายการแข่งขัน

แต่นักการเมืองฝ่ายพรรคเดโมแครตเองก็ไม่พอใจบริษัทไอทีเหล่านี้เช่นกัน ถึงแม้ทั้งสองฝ่ายมีศัตรูร่วมเป็นทรัมป์เหมือนกัน แต่นักการเมืองจากเดโมแครตก็มองว่าบริษัทไอทียักษ์ใหญ่มีอิทธิพลมากเกินไป และก่อให้เกิดปัญหาหลายๆ อย่างในสังคม จึงพยายามเสนอนโยบายในการ 'กำกับดูแล' บริษัทเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นประเด็นหาเสียงสำคัญในการเลือกตั้งปี 2020 ด้วย

ผู้สมัครประธานาธิบดีบางรายอย่าง อลิซาเบธ วอร์เรน ไปไกลถึงขั้นหาเสียงด้วยแคมเปญว่า หากได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี เธอจะจับแยกบริษัทเหล่านี้ (Break Up Big Tech) ออกเป็นบริษัทย่อยๆ เพื่อลดอิทธิพล และสร้างการแข่งขันระหว่างกัน

ส่วนผู้สมัครที่มีนโยบายเอียงซ้ายสุดๆ อย่าง เบอร์นี แซนเดอร์ส ถึงแม้ไม่ไปไกลถึงขั้นจับแยกบริษัท แต่ก็มีแนวคิดจัดการกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกาในภาพรวม (ไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี) รวมถึงการเก็บภาษีบรรดามหาเศรษฐีทั้งหลาย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

แม้แต่โจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีในยุคโอบามา ที่มีนโยบายสายกลางไม่สุดโต่ง ก็ยังยอมรับว่าบริการโซเชียลอย่างเฟซบุ๊กหรือยูทูบ สร้างปัญหาข่าวปลอมและความแตกแยกในสังคม

ในระดับของนักการเมืองคนอื่นที่ไม่ใช่ผู้สมัครประธานาธิบดี ยังมี อเล็กซานเดรีย โอคาซีโอ-คอร์เทซ นักการเมืองหญิงดาวรุ่งของเดโมแครต ที่เพิ่งได้เป็น ส.ส. สมัยแรกในการเลือกตั้งกลางเทอมปี 2018 ก็โจมตีแอมะซอนอยู่บ่อยครั้ง โดยเน้นไปที่ประเด็นเรื่องคุณภาพชีวิตและสวัสดิการของพนักงานในโกดังสินค้า

ทำไมคนถึงเริ่มต่อต้านบริษัทไอที

 

ข้อถกเถียงเรื่องอิทธิพลของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ยังไม่สามารถหาข้อยุติโดยง่าย และในรายละเอียดลงลึก แต่ละบริษัทก็มีประเด็นขัดแย้งที่แตกต่างกันไป แต่ในภาพรวมแล้ว เหตุผลที่บรรดาบริษัทเหล่านี้ถูกโจมตีจากทุกฝ่าย คงเป็นเรื่องว่าบริษัทกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในรอบทศวรรษที่ผ่านมา และบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวันก็เพิ่มขึ้นสูงมาก จนมีอิทธิพลต่อคนทุกกลุ่มในสังคม ทั้งในแง่เศรษฐกิจ ธุรกิจ ไปจนถึงปัญหาสังคม

เพื่อให้เห็นภาพ ขอสรุปประเด็นปัญหาที่ถูกกล่าวถึงบ่อยๆ โดยสังเขป ดังนี้

 

*การผูกขาดการแข่งขัน *

 

บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่มีความสามารถในการแข่งขันสูง สามารถสร้างนวัตกรรมได้เยอะและเร็วกว่าคู่แข่ง ทำให้การแข่งขันในตลาดลดลง เพราะคู่แข่งทยอยล้มหายตายจากไปอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ปัจจุบัน กูเกิลแทบไม่มีคู่แข่งด้านระบบเสิร์ช เฟซบุ๊กครองตลาดโซเชียลไปเกือบหมด และตลาดอีคอมเมิร์ซในสหรัฐอเมริกาเกินครึ่งเป็นของแอมะซอน

บริษัทกลุ่มนี้ใช้วิธีการซื้อกิจการเพื่อตัดโอกาสคู่แข่งให้มาเติบโต เช่น เฟซบุ๊กซื้ออินสตาแกรม  หรือถ้าซื้อไม่สำเร็จ ก็ลอกแนวคิดของคู่แข่ง และใช้ขนาดที่ใหญ่กว่ากันมากมาเป็นแต้มต่อทางธุรกิจ บีบให้คู่แข่งอยู่ไม่ได้ เช่น เฟซบุ๊กลอกแนวคิด Story มาจากสแนปแชท หรือ แอมะซอนออกสินค้าของตัวเองมาแข่งกับผู้ขายบนแพลตฟอร์มตัวเอง

กลยุทธ์เหล่านี้ทำให้วงการไอที (และวงการธุรกิจในภาพรวม) ขาดนวัตกรรม เพราะบริษัทสตาร์ตอัพหน้าใหม่ๆ ไม่สามารถเติบโตขึ้นมาท้าทายยักษ์ใหญ่เหล่านี้ได้เลย ดังจะสังเกตได้จากที่เราไม่เห็นบริการด้านเสิร์ชหรือโซเชียลใหม่ๆ เกิดขึ้น เพราะไม่มีใครคิดจะสร้างบริษัทมาแข่งกับกูเกิลหรือเฟซบุ๊กนั่นเอง

 

ข่าวปลอม (fake news) และการสร้างความเกลียดชัง (hate speech)

 

การมาถึงของสื่อออนไลน์และโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ ทำให้อุตสาหกรรมสื่อดั้งเดิมล่มสลายลง ผู้ควบคุมการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารในสังคมคือผู้ให้บริการโซเชียลเหล่านี้ ที่ทำรายได้จากการโฆษณา

แนวคิดของการเป็น 'แพลตฟอร์ม' ส่งเสริมให้คนตัวเล็กๆ มีโอกาสกลายเป็นสื่อที่มีคนติดตามนับล้าน แต่ในด้านกลับ การกระจายข้อมูลข่าวสารโดยไม่มีการคัดกรองหรือปิดกั้นใดๆ ก็กลายเป็นช่องทางให้เนื้อหาทางลบ เช่น ข่าวปลอม เนื้อหาอันตรายที่ยั่วยุทางเพศ ความรุนแรง อาวุธ หรือการสร้างความเกลียดชังจากเชื้อชาติ ศาสนา หรือกลั่นแกล้งออนไลน์ ระบาดได้อย่างรวดเร็ว

เดิมที แนวคิดของบริษัทไอทีมองตัวเองว่าเป็น 'ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม' และไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาที่สร้างโดยผู้ใช้งาน (user-generated content) ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ต่างไปจากองค์กรสื่อแบบดั้งเดิม บริษัทไฮเทคยุคใหม่ใช้แนวคิด notice and take down ในการจัดการเนื้อหาไม่เหมาะสม นั่นคือ ปล่อยให้ผู้ใช้โพสต์เนื้อหาไปก่อนแล้วค่อยตามไปลบทีหลัง แต่มันก็พิสูจน์แล้วว่าไม่เพียงพอต่อปริมาณเนื้อหาจำนวนมหาศาลที่ถูกอัพโหลดขึ้นเน็ตตลอดเวลา และบริษัทไอทีทั้งหลายก็ยังไม่มีทางออกที่เหมาะสมต่อสังคมในเรื่องนี้

 

ความเป็นส่วนตัว

 

กรณีของ Cambridge Analytica ที่เฟซบุ๊กปล่อยให้เก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน กลายเป็นตัวอย่างคลาสสิกของบริษัทที่สนใจผลประโยชน์ของตัวเองมากกว่าความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้

กูเกิลก็เพิ่งมีกรณียอมความกับคณะกรรมการทางการค้า (Federal Trade Commission หรือ FTC) ว่ายูทูบจะไม่ยอมให้ผู้ลงโฆษณาเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี และโครงการระบบไอทีด้านการแพทย์ของกูเกิล ก็ถูกตั้งคำถามอย่างหนักในแง่การเข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วยในโรงพยาบาล

แนวคิดการยิงโฆษณาแบบระบุตัวตนของผู้ใช้ (personalized ad หรือ targeted ad) กลายเป็นที่นิยมในหมู่นักการตลาดออนไลน์ยุคปัจจุบัน แต่มันก็ต้องแลกกับการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ ทั้งที่ยินยอมและไม่ยินยอม จนกลายเป็นกระแสความตื่นตัวในหมู่ชาวเน็ต ที่หันมาสนใจการปกป้องข้อมูลส่วนตัวมากขึ้น

 

การแข่งขันข้ามอุตสาหกรรม

 

ในทศวรรษก่อน บริษัทไอทีอาจเป็นที่รักของประชาชนทั่วไป เพราะช่วยทลายการผูกขาดจากบริษัทยักษ์ใหญ่รุ่นก่อนหน้า (เช่น ธนาคาร หรือ ประกัน) แต่เมื่อบริษัทไอทีเติบโตขึ้นจนกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่เสียเอง แถมกลับเก่งกล้าสามารถกว่าบริษัทรุ่นก่อนซะด้วย ทำให้เราเริ่มเห็นบริษัทไอทีออกมาแข่งขันนอกอุตสาหกรรมมากขึ้น ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ แอมะซอนซื้อกิจการ Whole Foods เพื่อเข้ามาในตลาดค้าปลีกออฟไลน์อย่างเต็มตัว

บริษัทไอทีรุ่นใหม่ๆ อย่าง Uber ที่เริ่มนำแนวคิด gig economy ก็ถูกต่อต้านจากกลุ่มคนขับรถแท็กซี่เดิม ว่าทำให้ตกงานหรือสูญเสียรายได้ เช่นเดียวกับ Airbnb ที่สร้างผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรม ถึงแม้ในสายตาของผู้บริโภค บริษัทเหล่านี้อาจมาช่วยสร้างทางเลือกในการรับบริการด้านต่างๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันสร้างผลกระทบในเชิงลบต่อวิชาชีพแบบเดิมจริงๆ

 

การมีอิทธิพลมากกว่าภาครัฐ

 

บทบาทของบริษัทไอทีที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในชีวิตของประชาชน กลายเป็นว่าบริษัทเหล่านี้มีอิทธิพลต่อชีวิตประชาชนเหนือกว่าหน่วยงานภาครัฐไปซะแล้วในบางกรณี

ในอดีต เมื่อเกิดเหตุอาชญากรรมขึ้นมา เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าไปค้นบ้านของผู้ต้องสงสัยเพื่อหาหลักฐานจากเอกสารกระดาษหรือคอมพิวเตอร์ แต่ในยุคที่ทุกคนเก็บทุกอย่างในสมาร์ทโฟน และข้อมูลภายในถูก 'เข้ารหัส' (encrypt) เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลตรงนี้ได้ หากไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟน (เช่น แอปเปิล)

แอปเปิลกลายเป็นคู่ขัดแย้งในอาชญากรรมลักษณะนี้อยู่บ่อยครั้ง เพราะบริษัทถือนโยบายว่าจะรักษาข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า (ซึ่งในที่นี้คือผู้ต้องสงสัย) เหนือสิ่งอื่นใด จนเป็นข้อถกเถียงในสังคมว่าตกลงแล้วอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องกันแน่ ระหว่างความเป็นส่วนตัวของปัจเจก หรือความสงบเรียบร้อยในสังคม

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ โครงการ Libra ของเฟซบุ๊กที่พยายามสร้างสกุลเงินดิจิทัลขึ้นมาใหม่ ก็เป็นชนวนขัดแย้งระหว่างเฟซบุ๊กกับบรรดาหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินทั่วโลก เพราะหากว่าเฟซบุ๊กทำสำเร็จ ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ จะหมดความหมายลงไปทันที

 

ปัญหาที่ยังไม่มีทางออก

 

ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน (บางอย่างเพิ่งเกิดขึ้นมาเพียง 1-2 ปีด้วยซ้ำ) และสังคมเองก็ไม่มีคำตอบหรือทางออกว่าควรแก้ปัญหาอย่างไร

มาตรการบางอย่างของภาครัฐที่ใช้กำกับดูแลธุรกิจก็อาจใช้ไม่ได้ผลแล้ว อย่างในสหรัฐอเมริกามีเครื่องมือที่ใช้แก้ปัญหาผูกขาดของธุรกิจขนาดใหญ่คือ กฎหมายแอนตี้ทรัสต์ (antitrust) ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 (กฎหมายฉบับแรกออกในปี 1890) และเคยมีบทบาทจับแยกบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Standard Oil หรือ AT&T มาก่อน

อย่างไรก็ตาม แนวคิดด้านต่อต้านการผูกขาดของสหรัฐ อิงอยู่บนแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เรื่อง 'ราคา' (price) ว่าการผูกขาดหรือการควบรวมกิจการที่ทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมลดน้อยลง จะส่งผลให้ธุรกิจสามารถ 'ขึ้นราคา' และส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค

แนวคิดเหล่านี้ใช้งานได้ผลในอุตสาหกรรมแบบเดิม เช่น หากบริษัทโทรคมนาคมสองรายจะควบรวมกิจการกัน ส่งผลให้จำนวนผู้เล่นในตลาดลดลง หน่วยงานภาครัฐจะเข้ามาแทรกแซงโดยการประเมินสภาพการแข่งขันหลังควบรวม และทำข้อตกลงกับบริษัทที่ควบรวมว่าห้ามขึ้นราคาในระยะเวลาที่กำหนด

แต่ในยุคออนไลน์ที่บริการทุกอย่างกลายเป็นของฟรี บริษัทดิจิทัลทั้งหลายนำเสนอบริการให้ผู้ใช้ฟรีๆ โดยหาโมเดลรายได้อย่างอื่นแทน (เช่น โฆษณาออนไลน์) ทำให้เครื่องมือต่อต้านการผูกขาดเหล่านี้ล้าสมัย และพิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถจัดการกับกรณีเฟซบุ๊กซื้ออินสตาแกรมหรือวอทส์แอปได้ เพราะทุกอย่างยังฟรีเหมือนเดิม แต่ไม่มีใครสร้างบริการใหม่ๆ ขึ้นมาแข่งกับเฟซบุ๊กอีกแล้ว

ฝ่ายผู้ออกนโยบายเองก็พยายามหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อกำกับดูแลบริษัทไอทีเหล่านี้ ตัวอย่างคือ อลิซาเบธ วอร์เรน ที่เคยเป็นอาจารย์ด้านกฎหมาย และมีบทบาทในการออกกฎหมายด้านผู้บริโภค-ส่งเสริมการแข่งขันมาก่อน ก็เสนอว่าควรออก 'กฎหมายเฉพาะ' และตั้ง 'หน่วยงานเฉพาะ' มากำกับดูแลบริษัทเหล่านี้ ขีดเส้นแบ่งให้ชัดเจนระหว่างการเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม กับการเป็นผู้แข่งขันในแพลตฟอร์ม (เช่น ห้ามแอมะซอนมาขายสินค้าบนเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซของตัวเอง)

ประเด็นเรื่องการกำกับดูแลบริษัท Big Tech จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ของทศวรรษ 2020 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจุดเริ่มต้นของมันคือการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2020 ครั้งนี้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0