โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

‘ สมคิด’ โชว์ 5 ตัวแปรเปลี่ยนโครงสร้างประเทศให้เข้มแข็ง

MATICHON ONLINE

อัพเดต 23 พ.ค. 2561 เวลา 15.40 น. • เผยแพร่ 23 พ.ค. 2561 เวลา 10.30 น.
สมคิด เปิดงานประชาชาติ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา “Game Changer …เกมใหม่ เปลี่ยนอนาคต” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ที่โรงแรมดุสิตธานี ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 1/2561 ที่ขยายตัว 4.8% สะท้อนว่าเครื่องยนต์ทุกตัวกำลังขับเคลื่อน ฉะนั้นจึงต้องรักษาไว้ เพื่อทำให้เศรษฐกิจหมุนไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยภาคเกษตรขยายตัว 6.5% ภาคการลงทุนเอกชนขยายตัว 3.1% ภาคการผลิตขยายตัว 3.7% การใช้กำลังการผลิตขยายตัว 7.2% ขณะที่การส่งออกเดือนเมษายนปีนี้ขยายตัวได้ 12% และเฉลี่ย 4 เดือนแรกส่งออกแล้วขยายตัว 11% ส่วนการลงทุนต่างประเทศอยากให้ทุนคนมั่นใจ สัปดาห์ที่ผ่านมามีนักลงทุนเกาหลีใต้เข้ามาพบรัฐบาล และวันที่ 22 พฤษภาคม กูเกิ้ล เข้ามาเจรจาเรื่องการทำกูเกิ้ลไทยแลนด์กับรัฐบาล

สิ่งที่จะเป็นเครื่องยืนยัน คือ ข้อมูลการเติบโตของเศรษฐกิจปี 2557 มีมูลค่า 13.2 ล้านล้านบาท ขยับเป็น 15.4 ล้านล้านบาทในปี 2560 เพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านล้านบาท ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2557 อยู่ที่ 1,400 กว่าจุด และมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแค็ป) รวม 13.2 ล้านล้านบาทปี 2560  ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มเป็น 1,700 กว่าจุด และมีมาร์เก็ตแค็ปประมาณ 17.7 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4 ล้านล้านบาท สะท้อนความมั่นคั่งของประเทศ หรือเป็นเวลท์ ออฟ เนชั่น

และมีคำพูดว่าเราเอื้อธุรกิจหลายอย่าง แต่ไม่เอื้อเกษตรกร จริงหรือ ถ้าภาคเกษตรโตถึง 6.5% ภาคการเกษตรไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยหรือไม่ ภาคการผลิตโต 72% ไม่มีผลต่อการซื้อวัตถุดิบหรือการจ้างงานเลยหรือไม่ การลงทุนในอีอีซีไม่มีผลต่อประชาชนเลยหรือไม่ รวมไปถึงโครงการสวัสดิการแห่งรัฐหรือโครงการไทยยั่งยืน ลงไปถึงประชาชนรากหญ้าหรือไม่ ถ้าทำใจให้เป็นธรรมดูสิ่งที่ทำ รัฐบาลตั้งใจทำมาตลอด

ฉะนั้นอยากเรียนว่าตัวเลขที่ขึ้นมามันดี แต่รัฐบาลจะพยายามต่อไป เพื่อให้เป็นเอ็นคลูซีฟ โกรท ครอบคลุมชนขั้นล่าง-กลาง และจะพยายามไปเรื่อยๆ จนกว่าเวลาจะหมด และฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ โดยไม่ได้บริหารเศรษฐกิจแบบตามใจคน แต่บริหารเพื่อคนรุ่นหน้า ยื่นไม้ต่อให้ ซึ่งภารกิจตอนเข้ารับตำแหน่งวางไว้ 2 ข้อคือ 1.ไม่ให้เศรษฐกิจทรุด และ 2.การปฏิรูป ไม่พลาดโอกาสปรับเปลี่ยนโครงสร้างประเทศให้เข้มแข็ง

ในใจผมมีตัวแปรเป็นวิธีการใหม่ๆ ให้ทันกับเหตุการณ์ใหม่ ประกอบด้วย ตัวแปรที่ 1.ทุกอย่างของภาคการผลิตและบริการต้องสร้างมูลค่า เช่น การทำแพ็คเกจจิ้ง มาตรฐานสินค้า การใช้เทคโนโลยี ดีไซน์สร้างมูลค่า เช่น การแปรวัฒนธรรมให้เป็นจุดเด่น

ตัวแปรที่ 2.การปลูกป่าที่มีผู้ประกอบการรายใหม่ให้เต็มพื้นที่ ให้ผู้ประกอบการหนุ่มสาวเกิดขึ้นมาให้ได้ ไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นเขาหัวโล้น มีต้นไม้ใหญ่ๆ แค่ 50 ต้น ระบบเศรษฐกิจแบบนี้ไม่มีทางยั่งยืน หลังจากนี้คนตัวเล็กมีโอกาสท่องอินเตอร์เน็ต ขายสินค้าไปทั่วโลก สร้างแพลตฟอร์ตของโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ได้ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับพาร์ทเนอร์ทุกภาคส่วน สนับสนุนสตาร์ทอัพใหม่ๆ ทั้งในภาคเกษตร บริการ และการท่องเที่ยว เนื่องจากสตาร์ตอัพหรือเอสเอ็มอี อาจจะมีทุนน้อย แต่มีความคิดสร้างสรรค์ ต้องช่วยสร้างระบบนิเวศน์ขึ้นมาให้ได้ รัฐบาลได้ให้การบ้านทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ช่วยกันสร้างสตาร์ตอัพเนชั่นที่แท้จริง โดยรูปแบบการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ

ตัวแปรที่ 3 การพัฒนาดิจิทัล เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ผลจากการเจรจากับทางผู้บริหารกูเกิ้ล จากเอเชียแปซิฟิก จะช่วยสร้างความตื่นตัวได้ระดับหนึ่ง เพราะดิจิทัลเป็นตัวเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ และกำหนดดีมานด์ในตลาด เพราะฉะนั้นหากสามารถให้ความช่วยเหลือเรื่องอีคอมเมิร์ซกับคนตัวเล็ก ก็จะสามรถรวบรวมบิ๊กดาต้าขึ้นได้ นำไปสู่กับคิดค้นโมเดลธุรกิจใหม่ๆ กลายเป็นผู้เปลี่ยนแปลงหรือดิสรัปเตอร์ เช่น การวิเคราะห์บัญชีของญี่ปุ่น นำดิจิทัลเข้าไปปรับใช้ ทำให้ประสิทธิภาพของแอคเคาท์เล็กๆ ใกล้เคียงกับแอคเคาท์ขนาดใหญ่ มีต้นทุนไม่ต่างกันมากนัก และมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาใช้ในการปล่อยสินเชื่อ แม่นยำกว่าการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน

เกมทั้งหมด จึงเปลี่ยนไป จากเดิมเราเติบโตแบบการท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง ในรูปแบบของเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว เพราะฉะนั้น จึงต้องเปลี่ยนเพื่อสร้างการเติบโตของชาติเป็นทวีคูณ ขยายไปสู่ประชาชนส่วนใหญ่ให้เข้าถึงทุนและเทคโนโลยี สตาร์ทอัพเมืองไทยจึงไม่ใช่สตาร์ทอัพเก๋ๆ แต่คือเซ็คเมนท์ของคนรุ่นใหม่ สิ่งรัฐบาลพูดคุยกับนักลงทุนต่างประเทศทุกรายที่เข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ เพราะดิจิทัลคือตัวเปลี่ยน

ตัวแปรที่ 4 การสร้างนิว ฟรอนเทียร์ จากเมื่อก่อนภาคบริการ ภาคการท่องเที่ยวและการขนส่งเป็นตัวแถม เศรษฐกิจโตจากการส่งออกและภาคการผลิตเป็นหลัก แต่ปัจจุบันภาคการผลิตต้องเล็กกว่าภาคบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว มีห่วงโซ่อุปทานที่ใหญ่มาก แต่ยังขาดการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ มีแต่โรงแรม ทั้งที่จริงๆ สามารถต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ ได้ตั้งแต่เข้าสนามบินไปจนกระทั่งออกจากสนามบิน รวมถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองรอง ตลอดจนใช้เทคโนโลยีสร้างแพลตฟอร์มในห่วงโซ่อุปทานของการท่องเที่ยวขึ้นมา เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น ประเมินว่าอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 40 ล้านคน ส่งผลให้การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นด้วย เม็ดเงินจะค่อยๆ กระจายตัวสู่ข้างล่างและในต่างจังหวัด

ทำให้ในอนาคตไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาคนตกงาน เพราะหากค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไป เรามีภาคเกษตร ภาคท่องเที่ยวบริการรูปแบบใหม่รองรับ วันนี้จึงต้องตระหนักว่าจะเพิ่มโอกาสและสร้างธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมาได้อย่างไร ดังนั้นทุกธนาคาร เอกชน นักเศรษฐศาสตร์ของธปท.และกระทรวงการคลัง ต้องมาทำงานร่วมกัน ช่วยกันคิดนโยบายให้ภาคการผลิต ไม่จำกัดเฉพาะภาคการเงินเท่านั้น

และตัวแปรที่ 5 การสร้างศูนย์กลางกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น หรือสร้างซิตี้สเตท ต้องให้ทุกๆ จังหวัดพัฒนาขึ้นมาในทุกๆ ด้าน เพื่อพัฒนาเป็นเมืองใหญ่ที่สำคัญ ไม่กระจุกตัว อย่างไรก็ตามหากพบว่าจังหวัดไหนมีกำลังน้อย ก็บริหารแบบกลุ่มจังหวัดเป็นตัวช่วยตามยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะการพัฒนาท่องเที่ยวเมืองรอง เหล่านี้ล้วนเป็นเกมเชนจ์ คือ การตั้งอยู่บนข้อสมมติฐานว่าประเทศไทยต้องโดดเด่น อย่างสิงคโปร์ ภาพวันนี้ต้องนำภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อสร้างภาพให้เด่นชัดภายใน 5 ปี

ทั้งนี้ มององค์ประกอบสำคัญ 3 ข้อคือ 1.การมั่นใจในศักยภาพของประเทศ สร้างมันขึ้นมาด้วยใจสู้มุ่งมั่น แม้ว่าที่ผ่านมาสำนักต่างประเทศหลายสำนักคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยว่าจะขยายตัว 2-3% แต่วันนี้สามารถพิสูจน์ได้แล้วว่าเราสามารถพัฒนาเศรษฐกิจจากระดับการเติบโต 1% มาเป็นระดับ 4.8% ได้ 2.ต้องไม่ยอมรับสภาพ สร้างโอกาสให้เกิดขึ้น และ 3.ต้องเชื่อถือซึ่งกันและกัน เพราะปัญหาใหญ่วันนี้คือเราขาดความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน นี่คือหัวใจของการบริหารทุกระดับ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0