โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

‘ไอเดีย’กระฉูด ยกเว้นค่าเทอม ดันปลด‘สมคิด’

ไทยโพสต์

อัพเดต 29 มี.ค. 2563 เวลา 17.01 น. • เผยแพร่ 29 มี.ค. 2563 เวลา 17.01 น. • ไทยโพสต์

 

ส่องไอเดียนักการเมืองพ่นน้ำลายสู้โควิดมหาภัย พปชร.ผุดชลบุรีโมเดลจ้าง 300 ให้คนกักตัวอยู่บ้าน เด็กสามัคคีธรรมกระฉูดไอเดียคืนค่าเทอมนักศึกษา ขณะที่ "พิชัย" ชี้หน้าบิ๊กตู่ปลดสมคิดพ้นเก้าอี้บริหารเศรษฐกิจล้ม 

    เมื่อวันอาทิตย์ นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธาน ส.ส.พปชร. กล่าวว่า ได้ประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดกับนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เพื่อจัดหาโรงแรมต่างๆ ในจังหวัดชลบุรีเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าวหากจำนวนผู้ป่วยมากเกินขีดความสามารถของโรงพยาบาลในจังหวัดชลบุรี โดยขณะนี้มีโรงแรมต่างๆ ที่จิตสาธารณะเข้าร่วมแล้ว 10 แห่ง ทั้งในตัวเมืองชลบุรีและพัทยา รองรับได้เป็นพันคน        “การใช้โรงแรมเป็นที่กักตัวถือว่าจะทำให้พื้นที่ชลบุรีควบคุมเชื้อโควิด-19 ได้ที่ดีขึ้น ตามแนวทางชลบุรีโมเดล ที่ระดมทุนจากพ่อค้าและภาคีในพื้นที่ช่วยค่าใช้จ่ายประชาชนที่ถูกกักตัวอยู่ที่บ้านวันละ 300 บาท และช่วยเหลือเป็นค่าใช้จ่ายของกลุ่ม อสม.อีก 300 บาทที่ทำหน้าที่ควบคุม เพราะชาวบ้านบางคนอาจอยู่ในครอบครัวใหญ่ ไม่มีพื้นที่ อาจสุ่มเสี่ยงติดเชื้อกับคนในบ้าน และเมื่อย้ายไปกักตัวตามโรงแรมต่างๆ ก็จะง่ายต่อการควบคุม อีกทั้งยังไม่ต้องกังวลรายได้ที่ขาดหายไปด้วย ที่สำคัญยังสร้างความมั่นใจให้ชาวชลบุรีว่าจะไม่มีผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงออกไปใช้ชีวิตข้างนอกบ้าน ถ้าโมเดลชลบุรีสำเร็จ จะขออนุญาตนายกฯ ไปใช้ในระดับชาติต่อไป โดยให้เงินสะสมท้องถิ่นมารับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ” นายสุชาติระบุ      ขณะที่ น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในขณะนี้เริ่มเกิดปัญหาการตามตัวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต้องกักตัว 14 วัน แต่สาธารณสุขจังหวัดในบางพื้นที่หาตัวไม่เจอ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ควรปรับบทบาททำงานในเชิงรุก จากที่เคยมุ่งเรื่องอาชญากรข้ามชาติ มาเพิ่มเรื่องการเฝ้าระวังโรคข้ามชาติ ด้วยการส่งต่อข้อมูลที่ได้จากโรงแรม สถานประกอบการให้สาธารณสุขในแต่ละพื้นที่ได้ข้อมูลที่เท่าทันสถานการณ์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเฝ้าระวังโรค      ด้านนายวิษณุ ดันนอก หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัคคีไทย  กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งมาตรการดังกล่าวทำให้มหาวิทยาลัยมีค่าใช้จ่ายลดลงจากเดิม เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องจ่ายหากไม่มีการเปิดการเรียนการสอน ดังนั้นในช่วงที่มหาวิทยาลัยมีค่าใช้จ่ายที่ลดลง ในขณะเดียวกันเองค่าใช้จ่ายของนิสิตนักศึกษากลับเท่าเดิมหรือมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะยังคงต้องจ่ายค่าเช่าหอพักเท่าเดิม ค่ากินอยู่ที่แพงขึ้นในภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่เช่นนี้ หรือสำหรับบางคนที่มหาวิทยาลัยไม่สามารถให้การสนับสนุนด้านอินเทอร์เน็ตได้ ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น     "ดังนั้นขอเสนอให้รัฐบาลนำประเด็นดังกล่าวไปหารือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อคืนค่าเทอมให้นักเรียนนักศึกษา อย่างน้อยก็สามารถช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองได้ในยามที่ประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์โรคระบาดเช่นนี้" นายวิษณุระบุ     ขณะที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า รู้สึกตกใจที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พูดถึงเศรษฐกิจไทยที่ย่ำแย่ และประกาศว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยินดีช่วยไทย ซึ่งน่าจะแสดงความไม่เข้าใจอย่างรุนแรง และอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และประธาน ศอฉ. ได้พิจารณาปลดนายสมคิดออกจากตำแหน่งรองนายกฯ     "ทั้งนี้ เพราะนายสมคิดแสดงถึงความหมดสภาพในการบริหารเศรษฐกิจแล้ว อีกทั้งยังสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนอย่างไม่มีเหตุผลในภาวะวิกฤตการณ์นี้ เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมาก โดยล่าสุดมีอยู่ถึง 2.199 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องการความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟแต่อย่างใด ไม่เหมือนในปี 2540 ที่เกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยหายหมดจากการที่แบงก์ชาติเข้าไปสู้ค่าเงินบาทในขณะนั้น ซึ่งหากนายสมคิดยังไม่เข้าใจเรื่องแค่นี้ นายสมคิดก็ไม่ควรจะบริหารเศรษฐกิจของประเทศไทยอีกต่อไปแล้ว" นายพิชัยกล่าว     ขณะที่นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 และอดีตกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็นให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ให้มีใช้อย่างเพียงพอ และตอบแทนทุกอย่างให้เต็มที่ โดยพิจารณาข้อเสนอแนะที่ให้ออก พ.ร.ก.นำเงินงบประมาณปี 2563 จากทุกกระทรววงที่ไม่จำเป็น 10% มาเป็นงบฉุกเฉินนำไปใช้ในการแก้การระบาดของไวรัสโควิดและกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจช่วยเหลือผู้ประกอบการ ลูกจ้าง และแม่ค้ารายย่อย โดยต้องมีมาตรการทั้งระยะสั้นระยะยาวครอบคลุมทุกมิติเพื่อไม่ให้ระบบเศรษฐกิจของชาติพังทลายลง และไม่เห็นด้วยที่จะกู้เงินไอเอ็มเอฟเท่ากับเอาประเทศไปจำนำซ้ำเติมเศรษฐกิจ     นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ข้อเสนอการนำงบประมาณแผ่นดินมาสู้กับไวรัสโควิด-19ในขณะนี้นั้น ส่วนตัวเห็นด้วยและขอสนับสนุนแนวความคิดของหลายฝ่าย ที่ต้องการให้นำงบลงทุนของกระทรวงกลาโหมมาใช้เยียวยาทางด้านเศรษฐกิจและแก้ปัญหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เพราะปัญหาใหญ่ของประเทศในวันนี้คือการต่อสู้กับเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ใช่การต่อสู้กับอริราชศัตรูที่มารุกราน จึงสนับสนุนให้มีการโอนงบลงทุนด้านการทหารมาเป็นงบประมาณแก้ปัญหาประเทศด้านเศรษฐกิจและด้านสาธารณสุขก่อนจะดีกว่า     ด้านนายบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 2540 และสื่ออิสระ ระบุว่า การสื่อสารรณรงค์เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างการรับรู้ โน้มน้าวใจเพื่อเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของคน ควรถูกรัฐบาลนำไปใช้เพื่อเอาชนะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาบรรลุเป้าหมาย คือลดจำนวนคนติดเชื้อ ผู้ป่วยหนัก และคนเสียชีวิต การสื่อสารรณรงค์ในภาวะวิกฤติเป็นโรคระบาดจะต้องมีกลยุทธ์ ดำเนินการโดยผู้ที่มีประสบการณ์ มีความเข้าใจในหลายมิติ ซึ่งปกติภาคราชการจะทำไม่ได้และไม่เคยทำ         "มี 2 เรื่องที่ท้าทายศักยภาพของทีมงานสื่อสารของรัฐบาลว่าจะกระทำได้หรือไม่ แค่ไหน ได้แก่ 1.กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่มีอยู่มากมายหลายกลุ่ม สื่อสารไปให้ถึงแต่ละกลุ่ม สร้างการรับรู้ให้เข้าใจง่าย มีพลัง ผลิตเนื้อหาและใช้สื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเป้าหมาย แยกตามพื้นที่ แยกตามอาชีพ แยกตามอายุ แยกตามศาสนา แยกตามอายุ ฯลฯ 2.กำหนดกลยุทธ์การใช้สื่อออนไลน์" นายบุญเลิศระบุ          นายบุญเลิศกล่าวว่า เนื่องจากสื่อออนไลน์มีบทบาทและอิทธิพลกับคนในสังคม ดังนั้นจึงต้องวางกลยุทธ์สื่อออนไลน์ ซึ่งมีหลายแพลตฟอร์ม ต้องรับว่าข่าวสารและภาพในออนไลน์มีมากมายมหาศาล คนที่มีมือถืออ่านไม่หวาดไม่ไหว เขียนหรือพูดยาวเกินไปก็รำคาญ ขี้เกียจอ่าน ขี้เกียจฟัง-ดู อย่างไรก็ตาม สื่ออื่นๆ ก็มองข้ามไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ แผ่นพับ โบรชัวร์ แผ่นป้าย บุคคลก็เป็นสื่อประเภทที่สำคัญ การสื่อสารรณรงค์ในภาวะวิกฤติโรคระบาดเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลควรรีบนำมาใช้เพื่อสู้รบกับโควิด-19 ให้ได้ชัยชนะ.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0