โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

‘ไดกิ้น’พลิกเกมรุกตลาดโครงการ หนีตลาดแอร์บ้านแข่งหั่นราคาระอุ

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 13 ธ.ค. 2562 เวลา 23.00 น.

อาคิฮิสะ โยโกยามาผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด ผู้จำหน่ายเครื่องปรับอากาศไดกิ้น กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลกระทบให้ค่าบาทแข็ง บริษัทแม่ยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพตลาดไทยว่ายังคงมีโอกาสเติบโตและเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจไดกิ้น ทั้งนี้ เนื่องจากอัตราการครอบครองเครื่องปรับอากาศต่อครัวเรือนของคนไทยยังต่ำโดยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 50% ต่างจังหวัด 10% ภาพรวมทั้งประเทศเฉลี่ย 40% จึงยังมี"ช่องว่าง"ในการขยายตลาดอีกมากโดยเฉพาะตลาดต่างจังหวัด ในเขตเทศบาลที่มีกำลังซื้อและไลฟ์สไตล์คล้ายกับคนกรุงเทพฯ

ในปีหน้าบริษัทจะให้ความสำคัญกับการขยายตลาดโครงการต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ที่ยังคงเดินหน้าการลงทุนอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โรงแรม โรงพยาบาล ยกตัวอย่างปีนี้ช่วงที่ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ทำให้ยอดขายโครงการในกลุ่มนี้ขยายตัว 10% สะท้อนเห็น"โอกาส"ในการขยายตลาดและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในตลาดโครงการมากขึ้น คาดว่าปีหน้าจะมีส่วนแบ่ง 30% ตอกย้ำความเป็นผู้นำในตลาด

"แทนที่จะขยายตลาดแอร์บ้านเราหันมาลุยตลาดโครงการมากขึ้น เพราะสถานการณ์การแข่งขันในตลาดแอร์บ้านรุนแรงมากมีแบรนด์จากจีนเข้ามาเล่นสงครามราคาด้วยการลดราคาต่ำลงมาถึง30% ไดกิ้น ไม่สามารถแข่งขันในตลาดนี้ได้จึงกลับมาโฟกัสที่ตลาดโครงการที่เป็นผู้นำตลาดอยู่เพื่อขยายฐานลูกค้าและส่วนแบ่งตลาดทิ้งห่างจากคู่แข่งเพิ่มขึ้นดีกว่าแข่งขันราคา"

สมพร จันกรีนภาวงศ์ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ เผยถึงเหตุผลในการหันมาโฟกัสตลาดโครงการในปีหน้า พร้อมกล่าวต่อว่าตลาดหลักคงหนีไม่พ้นหัวเมืองใหญ่ที่มีกำลังซื้อและการลงทุนจากโครงการต่างๆอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและเอกชน อย่างโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออกได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ที่มีทั้งการลงทุนอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว จังหวัดนครราชสีมา ที่มีการลงอุตสาหกรรม และการขยายตลาดไปในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่

โดยสินค้าในกลุ่มลูกค้าโครงการ จะประกอบไปด้วย เครื่องปรับอากาศไดกิ้น VRV-MAX ที่ประหยัดพลังงาน ประหยัดพื้นที่ คุ้มค่ากับการลงทุน ออกมารองรับลูกค้าในกลุ่มโรงานอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ซึ่งที่มีน้ำหนักเบาและผ่านการเคลือบด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความทนทานสูงสุด ป้องกันการกัดกร่อนแม้ใช้งานในสภาพภูมิอากาศที่เลวร้าย รวมทั้งระบบทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ (Magnetic Bearing Chillers)เทคโนโลยีความเย็นชั้นสูง นวัตกรรมเดียวกับรถไฟหัวกระสุนครั้งแรกในไทยที่ลดการใช้พลังงาน ให้ระบบความเย็นที่เงียบ และลดค่าดูแลรักษาลงเนื่องจากไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันคอมเพรสเซอร์ โดยมีกลุ่มเป้าหมายสำคัญคือ กลุ่มอาคารขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า โรงแรม 5 ดาว และเครือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เป็นต้น

นอกจากนี้บริษัทพยายามขยายฐานลูกใหม่ในกลุ่มของเครื่องปรับอากาศภายในบ้าน ด้วยการนำเสนอนวัตกรรมลดพลังในราคาที่เข้าถึงได้ภายใต้ซีรี่ส์ Smile lite,Sabai Plus รวมทั้งการนำเสนอเครื่องปรับอากาศ Room Air (Big Wall) ที่เพิ่มขนาด BTU สูงสุดในรุ่น 36,000 บีทียูเป็นเจ้าแรกในฐานะเครื่องปรับอากาศระบบ อินเวอร์เตอร์ ที่มีระบบความเย็นอัจฉริยะที่มีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานที่สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ท โฮมคิดส์ เพื่อจับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบการใช้เทคโนโลยี

"เราเชื่อว่าทันทีที่ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวมา ไดกิ้นสามารถขยายตลาดในกลุ่มแอร์บ้านได้มากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาการรับรู้ของแบรนด์ไดกิ้นของกลุ่มผู้บริโภคไทยดีขึ้นอย่างรวดเร็วจากเดิมอัตราการรับรูอยู่ที่20% ปัจจุบันขยับขึ้นมาอยู่ที่ 40% จากการใช้ณเดชน์เป็นพรีเซ็นเตอร์ และการสื่อสารผ่านทางโซเซียลมีเดียที่เหมาะกับกลุ่มลูกค้าในแต่ละพื้นที่ผ่านระบบเอไอ"

คาดว่า ผลประกอบการ ของสยามไดกิ้นเซลส์ ที่จะปิดในเดือน มี.ค.ปีหน้า สามารถทำยอดขายเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 15% คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 14,200 ล้านบาท และในปี 2563 ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 16,000 ล้านบาท

ด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมความเย็นอัจฉริยะของไดกิ้น และการตอบสนองทุกความต้องการของกลุ่มดีมานด์ จะทำให้ไดกิ้นยังครองความเป็นผู้นำระบบเครื่องปรับอากาศรวมในสัดส่วน 28% ของตลาดมูลค่า 60,000 ล้านบาท

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0