โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

‘โรงแรม’ กับผลกระทบมหาศาลจากโควิด-19 แต่ยัง ‘ไร้การเยียวยา’

The Bangkok Insight

อัพเดต 08 เม.ย. 2563 เวลา 05.30 น. • เผยแพร่ 08 เม.ย. 2563 เวลา 05.30 น. • The Bangkok Insight
‘โรงแรม’ กับผลกระทบมหาศาลจากโควิด-19 แต่ยัง ‘ไร้การเยียวยา’

วิกฤติการแพร่ระบาดในวงกว้างของไวรัสโควิด-19 ที่พ่นพิษไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ถือเป็นปัจจัยลบที่มีผลกระทบมหาศาลต่อเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจระดับประเทศ และภาคธุรกิจหลักที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ ธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง

ธุรกิจโรงแรม ถือเป็นอีกธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมหาศาลทางตรง จากพิษโควิด - 19 จากการล็อกดาวน์ประเทศ การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปิดประเทศห้ามชาวต่างชาติเดินทางมา รวมถึงการสั่งปิดสถานบริการที่ทำให้โรงแรมทั่วประเทศ ต้องประกาศปิดกิจการชั่วคราว และแน่นอนว่า หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อ อาจส่งผลให้ต้องถึงขั้นปิดกิจการ สำหรับผู้ประกอบการที่สายป่านไม่ยาวพอ

ผลกระทบที่ตามมาคือ บรรดาลูกจ้าง พนักงานโรงแรมหลายหมื่นคน จากการปิดกิจการของโรงแรม เนื่องจากไม่มีแขกเข้าพัก และส่วนหนึ่งเป็นการปิดเพื่อให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ที่สั่งปิดเพื่อลดการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ทำให้พนักงานต้องเผชิญภาวะการว่างงาน แต่ยังขาดมาตรการเยียวยาจากภาครัฐ เนื่องจากมาตรการเยียวยาที่ออกมาในขณะนี้ จะมีผลเฉพาะ ธุรกิจที่รัฐสั่งให้ปิดกิจการเท่านั้น ซึ่งไม่รวมถึงธุรกิจโรงแรม

ทั้งนี้จะเห็นได้จาก บรรดาเชนโรงแรมรายใหญ่ ที่เริ่มประกาศนโยบายต่างๆ ออกมา เพื่อลดต้นทุนในภาวะที่ไม่มีรายได้เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการปิดกิจการชั่วคราว โดยยังคงจ่ายเงินเดือนให้ตามปกติ การใช้มาตรการลดเงินเดือน การให้พนักงานลาโดยไม่รับเงินเดือน ไปจนถึงร้ายแรงสุดคือการให้ออกโดยจ่ายค่าชดเชยตามกฏหมาย

ที่น่าเป็นห่วงคือ ไม่รู้ว่าสถานการณ์วิกฤติไวรัสโควิด-19 จะลากยาวรุนแรงอีกนานแค่ไหน และแน่นอนว่ายิ่งนาน ยิ่งทำให้ผลกระทบลุกลามรุนแรงออกไปมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะเดือนเมษายน - พฤษภาคมนี้ ที่พบว่า อัตราการจองเข้าพักของโรงแรมเป็น 0% เรียบร้อยแล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ โรงแรมใหญ่เกือบทุกแห่ง ประกาศปิดกิจการชั่วคราว และมีทั้งการจ่ายเงินเดือนให้พนักงานตามปกติ หรือการขอลดเงินเดือนลง เช่น เครือ AWC หรือ แอสเสท เวิร์ด คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), โรงแรมในเครือ เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR ในเครือบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) และโรงแรมในเครือบีทู เป็นต้น ขณะที่เครือดุสิตธานี ได้ประกาศชัดเจนถึงการปิดบริการ 7 โรงแรมในเครือ พร้อมทั้งใช้มาตรการขอลดเงินเดือนพนักงานบางส่วนในกลุ่มหัวหน้างานและผู้บริหารเพื่อลดต้นทุน เป็นต้น และเครือเซนทารา ที่ให้พนักงานลาโดยไม่รับเงินเดือน เป็นต้น

แน่นอนว่า ในส่วนของเชนโรงแรมรายใหญ่ ย่อมสามารถประคองตัวให้ผ่านวิกฤติจากสายป่านที่ยาวพอ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ โรงแรมขนาดกลาง และโรงแรมที่ไม่ได้มีเชนบริหาร หรือมีสาขามากมาย และมีสายป่าน "สั้น" ย่อมไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เกิดขึ้นทุกวัน หรือฟิกซ์คอสต์ อย่าง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแรงพนักงาน ในภาวะที่รายได้เป็น "ศูนย์" กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่เห็นผลกระทบที่รุนแรงและชัดเจนที่สุด จากการปิดบริการชั่วคราว และจะเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มว่าอาจจะปิดกิจการเป็นการถาวร หากปัญหายังไม่ได้รับการเยียวยา

ภาพที่เกิดขึ้นแล้วสำหรับผู้ประกอบการโรงแรมในกลุ่มนี้คือ การเลิกจ้างพนักงาน หรือเรียกง่ายๆ ว่าปลดคน หรือหากจะอยู่ต่อก็ต้องรับเงื่อนไขกับอัตราเงินเดือนที่ปรับลดลง ตัวอย่างที่เห็นคือ โรงแรมแห่งหนึ่งย่านลุมพินี ที่เลิกจ้างพนักงานรวดเดียว 300 คน หรือ โรงแรมอีกแห่งย่านสุขุมวิท ที่ยื่นเงื่อนไขให้พนักงานตัดสินใจภายใน 24 ชั่วโมง ว่าจะลาออกแล้วรับเงินชดเชย หรือเลือกอยู่ต่อ แต่รับเงินเดือนเพียง 25% จากอัตราเงินเดือนปกติ หากไม่เลือกภายใน 24 ชั่วโมง จะถือว่าสิ้นสภาพพนักงานและไม่ได้รับเงินชดเชยใดๆ

ทั้งหมดนี้คือความเลวร้ายของพิษโควิด-19 ที่เป็นดั่งคลื่นสึนามิที่โหมกระแทกใส่ผู้ประกอบการโรงแรม และแรงงานหลายหมื่นคนในธุรกิจโรงแรม และยังมองไม่เห็นมาตรการเยียวยาใดๆ จากภาครัฐ แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากผู้ประกอบการและสมาคมที่เกี่ยวข้องที่ร้องขอความช่วยเหลือก็ตาม

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ หากปล่อยให้อุตสาหกรรมโรงแรมไทยพังลง ย่อมกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยอย่างยากจะหลีกเลี่ยง และวันหนึ่ง เมื่อการแพร่ระบาดของมหันตภัยไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง เมื่อนั้น ไทยอาจจะไม่สามารถพลิกฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้กลับมาเป็นเครื่องจักรสำคัญในการสร้างรายได้เข้าประเทศได้ทันท่วงที ซึ่งย่อมต้องส่งผลกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจของไทยที่ยากจะฟื้นตัวได้ในเร็ววันเช่นกัน

ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้ว ที่รัฐบาลต้องหันมาหามาตรการเยียวยาอย่างจริงจิงและเร่งด่วนให้กับอุตสาหกรรมโรงแรมและแรงงานในภาคอุตสาหกรรมนี้ อย่าลืมว่า ในอดีตธุรกิจโรงแรมเคยสร้างรายได้มหาศาลให้ประเทศไทย เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจไทย เมื่อวันนี้อุตสาหกรรมโรงแรมต้องประสบความยากลำบากครั้งรุนแรงจากปัจจัยภายนอกที่ยากจะควบคุม พวกเขาก็ควรที่จะได้รับการเหลียวแลและเยียวยาจากภาครัฐเช่นกัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0