โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

‘โรคซึมเศร้านี่ เป็นโรคของคนรวยอย่างเดียวใช่ปะ?’ - เพจ Beautiful Madness by Mafuang

TOP PICK TODAY

อัพเดต 25 ก.พ. 2563 เวลา 10.44 น. • เผยแพร่ 25 ก.พ. 2563 เวลา 09.46 น. • เพจ Beautiful Madness by Mafuang

หนึ่งในเพื่อนของเราที่ไทย เคยถามเราด้วยคำถามนี้

ช็อคมากเลยแหละ…

เธอไม่ได้พูดเล่น เธอไม่ได้แกล้ง

แต่นั่นคือสิ่งที่เธอเชื่อจริงๆ ตอนนั้น

‘ก็เราไม่เห็นเคยเห็นคนจนคนไหนเขาเป็นโรคซึมเศร้ากันเลย’

.

.

.

ปวดใจเข้าไปอีก

จนเราต้องอธิบายให้เธอฟังว่า

น่าเศร้าแหละ เพราะการบำบัดจิตใจ หรือความช่วยเหลือด้านจิตวิทยาต่างๆ

มันเข้าไปถึงผู้คนที่ไม่ได้มีทุนมากพอในประเทศได้ยาก

หนึ่งคือ

ค่าหานักบำบัดจิตใจต่อหนึ่งครั้ง ก็เป็นเงินที่เยอะ

ลำพังจะหาเงินมากินข้าวให้ครบทุกมื้อทั้งเดือนก็ยากแล้ว

สองคือ

ถ้าคุณภาพชีวิตยังไม่ดีพอ มันก็สมเหตุสมผลมากที่จะไม่มานั่งคิดถึงเรื่องสุขภาพจิตหรอก แค่เวลาจะหายใจยังแทบไม่มี ทุกวันต้องยุ่งกับงานหามรุ่งหามค่ำ

.

.

.

ทำให้ย้อนไปนึกถึง

สเตตัสหนึ่ง ที่เพื่อนอีกคนของเราเคยตั้งคำถาม

ว่าทำไมช่วงนี้ คนมีอาการเจ็บปวดทางใจกันเยอะเหลือเกิน

ไม่เห็นเหมือนคนในยุคก่อนๆ เลย

ความวุ่นวายว้าวุ่นที่คนรุ่นนี้ต้องเจอ

ทำให้เกิดอาการที่หลายครั้งก็กลายเป็นโรคทางใจมากมายรึเปล่า

แต่เรากลับคิดว่า ไม่หรอก

สมัยก่อน คนเขาอาจจะมีอาการแบบเดียวกันนั่นแหละ

แต่เขาแค่ไม่มีความรู้พอที่จะอธิบายได้ว่า ‘นี่คือความผิดปกติทางใจ’

เขาไม่มีจิตแพทย์หรือนักบำบัดเตรียมพร้อมเพื่อเขา

เขาอาศัยธรรมชาติ ความเชื่อโชคลาง ผีสางนางไม้ เทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ยึดเหนี่ยวไว้

แต่ก็เหมือนได้ผลในช่วงนั้นนะ

.

.

.

เพื่อนของเราอีกคน

เคยไปเป็นครูอาสาสมัครที่แอฟริกา

เด็กที่นั่นฐานะยากจนมาก และมักมีปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

มีเด็กสาวตัวเล็กคนหนึ่ง โดนผู้ชายข่มขื่นเธออย่างโหดร้าย

แต่ในวันต่อมา

เด็กคนนั้น มาโรงเรียนอย่างปกติ

เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่แสดงอาการร้องไห้ฟูมฟายหรือตระหนกใดๆ ออกมาให้เห็น

เพื่อนของเราเป็นห่วงมาก เลยหารือกับครูผู้ช่วยอีกคน

‘คิดดูนะ ในเมืองที่ความช่วยเหลือด้านสำคัญต่างๆ ยังเข้าไม่ถึง

เด็กคนนั้นและอีกหลายคน ก็ต้องสร้างเกราะป้องกันตัวเอง

ด้วยการทำตัวให้ เข้มแข็ง เพื่อให้ความเปราะบางนั้น มันก้าวมาไม่ถึงข้างใน จิตใจ’

นั่นคือคำตอบที่เธอได้รับกลับมา..

.

.

.

‘การช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต มันเป็นสิทธิพิเศษของพวกคนขาวจริงๆ นะ’

เราเคยได้ยินคนที่อยู่ในอเมริกาบอกเราแบบนี้

พวกคนขาว ในที่นี่ ก็คือกลุ่มคน ตัวแทนในประเทศที่พัฒนาแล้วนั่นเอง

การช่วยเหลือเรื่องจิตใจและสภาวะทางร่างกายต่างๆ ของที่นี่ทั่วถึงมาก

อย่างที่ทำงานของเราตอนนี้ เป็นองค์กรไม่หวังผลกำไร

โดยใช้ระบบ ‘จ่ายเงินค่าบำบัดตามฐานเงินเดือน’

เพราะฉะนั้น แต่ละคน ก็จะจ่ายค่าบำบัดไม่เท่ากัน

เงินเดือนเยอะ จ่ายเยอะ เงินเดือนน้อย ก็จ่ายเท่าที่ไหว

แล้วยังมีกลุ่มสนับสนุน หรือที่เรียกว่าซัพพอร์ตกรุ๊ป คอยเป็นกำลังใจให้กันและกัน

ไม่ว่าจะเป็น พวกที่เลิกเหล้า/ลูกของพ่อแม่ที่ติดเหล้า พวกที่เลิกบุหรี่ ยาเสพย์ติดอื่นๆ จนไปถึงเลิกติดเซ็กส์ เลิกมีความรักที่เป็นพิษทำลายจิตใจ และที่เราอยากไปรวมกลุ่มด้วยมากๆ ก็คือ ‘เลิกเสพย์ติดการช้อปปิ้ง!’ และอื่นๆ อีกมากมาย

แต่ละกลุ่มนี่ก็มีเยอะรอบเมือง เดินไปได้จากบ้านเราก็มี

แต่สิ่งที่เราสัมผัสและรับรู้ได้เลยก็คือ

ไม่ว่า อเมริกา จะเป็นประเทศที่รองรับผู้คนที่มีแผลใจมากขนาดไหน

ก็ไม่ได้เป็นตัวการันตีจำนวนคนที่บอบช้ำในจิตใจว่าจะน้อยลง

เรายังคงเห็นคนไร้บ้านเพ้อๆ เดินอยู่ทั่วเมือง

เรายังเห็นข่าวการยิงกราดตามเมืองต่างๆ อยู่เนืองๆ

 

เพราะการเยียวยา - บางครั้งมันต้องใช้เวลา ควบคู่ไปกับความอดทน

.

.

.

อะไรก็ตามที่ทำให้สภาวะจิตใจของเราสั่นคลอน

กระทบการดำเนินชีวิตปกติในแต่ละวันของเรา

และกระทบความสัมพันธ์ของเรากับคนรอบข้าง

ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ฐานะอะไร ชาติพันธุ์ไหน

กระบวนความคิดของคุณมันอาจได้รับแรงกระเพื่อมบางอย่าง

กะเทาะตัวตนซะแตก จนแบกรับไว้ไม่ไหวได้เหมือนกัน

คอยสังเกตตัวเอง ว่าถึงเวลาที่ต้องหันมาดูแลจิตใจ

ไม่ให้กลายเป็นสิ่งที่ทิ้งความสำคัญไว้ท้ายๆ

แต่ค่อยๆ หาวิธีที่ใช่ เยียวยาหัวใจตัวเอง

อ่านบทความใหม่จากเพจ Beautiful Madness by Mafuang ได้บน LINE TODAY ทุกวันอังคาร

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0