โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

‘แอร์พอร์ตลิงก์’ แจงยิบหลังโซเชียลติงปมราวกั้นบนชานชาลา

The Bangkok Insight

เผยแพร่ 19 ต.ค. 2561 เวลา 07.24 น. • The Bangkok Insight
‘แอร์พอร์ตลิงก์’ แจงยิบหลังโซเชียลติงปมราวกั้นบนชานชาลา

“แอร์พอร์ต เรล ลิงก์” แจงยิบปมการติดตั้งราวกั้นสแตนเลสบนชั้นชานชาลา ยืนยันถูกต้อง คุ้มค่า โปร่งใส และปลอดภัย

ภาพจาก วันนี้แอร์พอร์ตลิ้งค์เป็นอะไร
ภาพจาก วันนี้แอร์พอร์ตลิ้งค์เป็นอะไร

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) หรือ ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ กล่าวว่า จากกรณีที่มีสื่อโซเชียลเผยแพร่ภาพการติดตั้งราวกั้นสเตนเลสส์บนชั้นชานชาลาของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ กระทั่งกลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากประชาชน และผู้โดยสารที่ใช้บริการจนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายนั้น

บริษัท ขอชี้แจงรายละเอียดการดำเนินงานดังกล่าวเพื่อความชัดเจน และความเข้าใจที่ถูกต้องโดยระบุว่า ก่อนหน้านี้ รฟฟท. มีแผนจะดำเนินการติดตั้งระบบประตูกั้นชานชาลาแบบสูงครึ่งบาน (Platform Screen Door : PSD) ใน 7 สถานี งบประมาณ 200 ล้านบาท (ยกเว้นสถานีสุวรรณภูมิ) โดยทำการประมูลติดตั้งประตูกั้นชานชาลา แต่ต้องยกเลิกเนื่องจากมีผู้ผ่านประมูลรายเดียว ประกอบกับมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งจะได้ผู้ชนะการประมูลภายในสิ้นปี และรูปแบบสถานีของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์จะต้องเปลี่ยนไปรองรับโครงการดังกล่าว ซึ่งมีขนาดความกว้างของตัวรถไฟฟ้ามากกว่า

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารในช่วงระหว่างเปลี่ยนผ่านสู่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และเป็นการประหยัดงบประมาณแผ่นดิน บริษัท จึงปรับรูปแบบการดำเนินงานเป็นการติดตั้งราวกั้นชานชาลา หรือราวกั้นแบบราวสเตนเลสส์ คล้ายรถไฟชินคันเซ็นของประเทศญี่ปุ่น และสถานีรถไฟฟ้าอื่นๆในต่างประเทศ โดยบริษัทผู้ชนะการประกวดราคาจะต้องดำเนินงานติดตั้งราวกั้นชานชาลา หรือราวกั้นแบบราวสเตนเลสส์ ดังนี้

– งานเตรียมการ ป้องกัน และงานวัสดุอุปกรณ์อื่นๆ
– งานผลิตแผงกั้นราวสเตนเลสส์กันตกความสูงจากพื้นชั้นชานชาลา 1.2 เมตร ใช้วัสดุท่อกลมสเตนเลสส์ คุณภาพไม่ต่ำกว่า Grade 304 หรือดีกว่า มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 1 – 2 นิ้ว ความหนาตั้งแต่ 1.5 – 3 มิลลิเมตร ความยาวทั้งสิ้น 2,296 เมตร ( 2.296 กิโลเมตร ) แบ่งเป็น

: สถานีพญาไท 328 เมตร
: สถานีราชปรารภ 328 เมตร
: สถานีมักกะสัน 328 เมตร
: สถานีรามคำแหง 328 เมตร
: สถานีหัวหมาก 328 เมตร
: สถานีบ้านทับช้าง 328 เมตร
: สถานีลาดกระบัง 328 เมตร

ทั้งนี้ บริษัทผู้ชนะประกวดราคา จะเข้าดำเนินงานได้ในเวลาที่รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ปิดให้บริการแล้วเท่านั้น คือ 01.00 – 04.00 น.

ด้านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในการดำเนินงานดังกล่าว รฟฟท. ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 อย่างเคร่งครัด และดำเนิการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (E-bidding) ดังนี้

วันที่ 15 มีนาคม 2561 จัดทำแผนจัดซื้อจัดจ้าง และเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (www.gprocurement.go.th) , เว็บไซต์บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (www.srtet.co.th) และติดบอร์ดประชาสัมพันธ์ของส่วนจัดซื้อจัดจ้างภายในศูนย์ซ่อมบำรุงคลองตัน

วันที่ 22 มีนาคม 2561 นำเสนอร่างประกาศประกวดราคาเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อเปิดให้สาธารณชนเสนอแนะ หรือแสดงความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระยะเวลาในการประกาศเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ปรากฏว่าไม่มีการวิจารณ์ร่างประกาศดังกล่าว

วันที่ 29 มีนาคม 2561 ดำเนินการประกาศประกวดราคาผ่านเว็บไซต์ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ, เว็บไซต์บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) และติดบอร์ดประชาสัมพันธ์ของส่วนจัดซื้อจัดจ้างภายในศูนย์ซ่อมบำรุงคลองตัน

วันที่ 23 เมษายน 2561 เปิดยื่นข้อเสนอและราคา

ทั้งนี้มีผู้ดาวน์โหลดเอกสารจากเว็บไซต์ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จำนวน 36 บริษัท มีผู้ยื่นข้อเสนอและราคาผ่านระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จำนวน 15 บริษัท ถูกต้องตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่ รฟฟท. กำหนด 10 บริษัท โดยบริษัท แกรนด์ไลน์ อินโนเวชั่นส์ จำกัด ซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหนังสือรับรอง และจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้เสนอราคาต่ำที่สุด 13,456,900 บาท

โดยราวกั้นชานชาลาแบบราวสแตนเลสดังกล่าวผลิตจากวัสดุที่ได้คุณภาพ และมีมาตรฐานตามที่ รฟฟท. กำหนด ซึ่งมีประโยชน์ในการใช้งาน ดังนี้

– ใช้ระยะเวลาการติดตั้งรวดเร็ว (6 เดือน)
– มีอายุการใช้งานนาน
– ทำความสะอาดง่าย
– ทนทานต่อการใช้งานรองรับแรงลมกรณีขบวนรถที่ใช้ความเร็วผ่านเข้าสถานี
– ไม่กระทบการไหลเวียนของอากาศ ทำให้ไม่เกิดความร้อนสะสมภายในสถานี

ทั้งนี้ บริษัทยังมีมาตรการรักษาความปลอดภัยบนชั้นชานชาลาที่ยังคงอยู่ โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยประจำบนชั้นชานชาลา และมีปุ่มหยุดรถฉุกเฉิน รวมถึงมีการประกาศข้อความภายในสถานี และมีการทำ Group Release เพื่อจำกัดจำนวนผู้โดยสารบนชั้นชานชาลา และจะมีการดำเนินการติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ด้านความปลอดภัยเพิ่มเติมในอนาคต

 

ขอบคุณภาพจากเพจ “วันนี้แอร์พอร์ตลิ้งค์เป็นอะไร”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0