โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

‘เมียน้อย’ ที่ไม่ใช่ตัวร้ายในละคร

The101.world

เผยแพร่ 16 ก.ค. 2563 เวลา 06.53 น. • The 101 World
‘เมียน้อย’ ที่ไม่ใช่ตัวร้ายในละคร

สิรินทร์ มุ่งเจริญ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ให้เลวกว่านี้ ฉันก็ยังยินดีจะทำทุกอย่าง ชีวิตขอเลือกเส้นทางเส้นเดียวที่นำไปสู่จุดหมาย ถ้าเลวแล้วได้ครอบครอง ฉันยอมให้มองว่าร้าย ต้องเปลืองตัวและหัวใจ ต้องแย่งชิงใครฉันจะทำ”

 เพลง 'ให้เลวกว่านี้' โดย ปาน ธนพร ประกอบละคร 'ดอกส้มสีทอง'

 

 1

 

‘เมียน้อย’ ไม่ใช่คำแปลกหูสำหรับคนไทย เราเคยชินกับการได้ยินคำนี้ โดยเฉพาะในสื่อหรือละครโทรทัศน์ที่มักให้ความหมายในแง่ลบ เช่น เมียน้อยกระทำผิดศีลธรรมและทำร้ายความสัมพันธ์ของผู้อื่น เป็นต้น

ภาพของ ‘เมียน้อย’ ตามที่เราเห็นในละครโทรทัศน์คือผู้หญิงมั่นใจในตัวเอง ทาปากแดง ใส่รองเท้าส้นสูง และตั้งใจ ‘อ่อย’ ผู้ชายที่มีครอบครัวแล้ว ในทางตรงกันข้าม ภรรยาหลวงในละครกลับเป็นผู้หญิงเรียบร้อย อ่อนหวาน เป็นแม่และภรรยาที่ดีตามที่สังคมคาดหวัง ทั้งยังเป็นเหยื่อในความสัมพันธ์ของสามี-ภรรยาหลวง-ภรรยาน้อย คำถามก็คือภาพของ ‘เมียน้อย’ ที่สื่อนำเสนอ ตรงกับความเป็นจริงที่ผู้หญิงเหล่านี้เป็น และชอบธรรมกับสิ่งที่พวกเธอต้องเผชิญหรือไม่

“เราเชื่อว่าผู้หญิงส่วนใหญ่เริ่มจากจุดคล้ายกันค่ะ คือโดนหลอก เราเองก็ด้วย” บางเสียงจาก ‘เมียน้อย’ ที่หากมองภายนอก ไม่มีอะไรเหมือนเมียน้อยในละครเลย เธออายุ 27 ปี รับราชการ ไม่มีภาพของผู้หญิงมาดมั่น แต่งหน้าจัด หรือตั้งใจแย่งผู้ชายที่เธอหมายปองจากเมียหลวงเลย เรื่องราวที่เธอเล่าเจือไปด้วยความรู้สึกผิด เธอบอกว่า จุดเริ่มต้นของการเป็นเมียน้อยเกิดจากความไม่ตั้งใจ

“เราโดนหลอกว่าโสด บอกว่ามีคนคุยๆ อยู่ แต่ยังไม่พัฒนา และไม่น่าจะพัฒนาแล้ว เลยขอจีบเรา ขอคุย พอคุยไปสักพัก เราเริ่มระแคะระคาย เริ่มรู้สึกแปลกๆ ว่า กลางคืนบอกว่าไม่สะดวกคุยนะ มีคนอยู่บ้านค่อนข้างเยอะ มีธุระต้องทำ วันอาทิตย์ไม่ว่างคุยเลย ทำงานพิเศษ แรกๆ ก็เชื่อค่ะ แต่ผู้หญิงเราจะมีเซนส์อย่างหนึ่งเลยเริ่มสืบ เราสืบจากเฟซบุ๊กเลย ภาพมาทั้งเมียทั้งลูก ในใจเราคือเลิก เลิกแน่ๆ แต่พอไปถามเขา เขายอมรับ ขอโทษ บอกรู้สึกดีกับเราอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่รู้อะไรดลใจค่ะ เลยยอมเป็นรองโดยสมัครใจ”

สาเหตุที่ทำให้เธอคบผู้ชายคนดังกล่าวต่อหลังจากที่พบว่าเขามีครอบครัวแล้ว เป็นคำตอบเรียบง่าย เธอตอบว่ารักผู้ชายคนนี้ เขามีทุกอย่างที่เธอต้องการ มีทุกอย่างที่เธอรู้สึกว่า ‘คนนี้ใช่’

“รู้สึกว่าอยู่ด้วยแล้วสุขใจจังเลย แค่นี้จริงๆ เราแค่รักผู้ชายคนหนึ่งแล้วมีความสุขที่มีเขาอยู่”

“เราคิดว่ามีสิ่งจูงใจอย่างหนึ่งที่ทำให้เรายอม คือเรากลัวเสียเขาไป และเราก็ขี้เหงามากๆ เขาเข้ามาตอนเราเลิกกับแฟนได้ไม่นานด้วย เหมือนเราเหงา ต้องการคนอยู่ด้วย พอเขาเข้ามา เราเลยรู้สึกดีและไม่อยากให้เขาหายไป”

ในด้านของความรู้สึกเรื่องการเป็น ‘เมียน้อย’ เธอก็ไม่ได้มีความสุขหรือสะใจกับการอยู่กินกับผู้ชายที่มีครอบครัวแล้ว

“แรกๆ เป็นช่วงที่ยากสำหรับเราจริงๆ อยู่กับเขาเราหัวเราะมีความสุข แต่พอเขาไป ไม่ว่างจะอยู่กับเราแล้ว เรามีแต่น้ำตา ร้องไห้ตลอดเวลาที่อยู่คนเดียว คิดวนๆ อยู่กับเรื่องนี้ หาทางออก หาทางไปตลอด แต่ไม่เคยไปได้ กังวล กลัวเมียเขาจะมาแหกอก กังวลว่าถ้าเมียเขารู้ บ้านเขาจะแตก ไหนจะลูกเขาอีก คิดซ้ำไปซ้ำมาจนเพื่อนรอบข้างจะพาไปหาจิตแพทย์ เพราะเรากินข้าวไม่ได้ นอนไม่หลับ

"ในด้านศีลธรรม คือบาป คือผิด คือเลว ด้านสังคมก็มีคนประณาม ด้านจิตใจคือทุกข์ ทุกข์ว่าวันหนึ่งจะเป็นอย่างไรถ้าเรื่องแดง จะไปต่อทางไหน เราไม่ได้อยากไปต่อในสถานะนี้ แต่จะทำอย่างไร เรารักไง เดินออกมายาก จึงต้องค่อยๆ ลด เราไม่ยุ่ง ไม่เคยไปแสดงตัวเลยนะ ไม่ใช่แบบในละครที่ต้องแสดงตัวว่า ผัวมึงก็คือผัวกู เรานี่บล็อกทีละอย่าง กันตัวเอง แค่นี้ก็ละอายสุดๆ แล้วไม่เคยอยากเป็นมากกว่านี้เลย อยากหายไปด้วยซ้ำ”

พอคุยถึงเรื่องภาพของเมียน้อยในละครโทรทัศน์ เธอย้ำว่าเมียน้อยไม่เหมือนในละคร ไม่ใช่วันๆ จะมานั่งคิดแผนแย่งสามีคนอื่น

"เรานั่งคิดว่าทำอย่างไรดีนะให้หมดกรรมตรงนี้ ทำไมฉันไม่ใจแข็งแล้วเดินออกมา ทำไมฉันโง่ ฉันเลว ไม่มีความสุขนะคะ โอเค เรามีความสุขที่อยู่กับเขา แต่ทุกข์มากกว่า ทุกข์ใจที่เราต้องทำให้หลายคนเดือดร้อน ถ้าวันหนึ่งเกิดอะไรขึ้น พ่อแม่เราจะเป็นอย่างไร ครอบครัวเขาจะเป็นอย่างไร ทรมานมากจริงๆ ไม่ได้อยากอยู่ แต่ก็เดินออกมาไม่ได้ รู้ถูกผิดตลอดเวลา แต่เลิกรักไม่ได้จริงๆ

"แต่เชื่อเถอะ คนอื่นมองเราว่าอยู่เพราะเงิน ผิดนะ เราไม่เคยขอเงิน ไม่เคยเอาอะไรเลย เราพยายามเดินออกมาด้วยซ้ำ เราอาจจะดูเป็นตัวร้ายในสายตาหลายๆ คนถ้าเขารู้ว่าเราอยู่ในสถานะนี้ แต่เราอยากบอกว่า เราไม่มีเจตนาให้ใครเดือดร้อน เราแค่รักผู้ชายคนหนึ่ง แต่เราอยู่ผิดที่ผิดเวลา เราขอเวลาหน่อยนะ เราจะไป เราขอโทษทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้”

 

2

 

วิทยานิพนธ์เรื่อง‘เมียน้อย’: กระบวนการตัดสินใจและการปรับตัว ของสุภาวดี มนัสปิยะเลิศ อ้างถึงแนวคิดความเบี่ยงเบน (Deviance Perspective) ซึ่งมองว่าบุคคลเบี่ยงเบนเมื่อมีพฤติกรรมที่ละเมิดบรรทัดฐานหรือกฎระเบียบสังคม โดยตัวพฤติกรรมเองไม่ได้แสดงถึงความเบี่ยงเบน แต่ความเบี่ยงเบนเป็นการตอบสนองของสมาชิกในสังคมที่มีต่อพฤติกรรมดังกล่าว

ในสังคมชายเป็นใหญ่ พฤติกรรมและการแสดงออกทางเพศของผู้หญิงถูกควบคุมด้วยบรรทัดฐานทางเพศ เมื่อเมียน้อยมีภาพในละครโทรทัศน์ว่ามีความต้องการทางเพศ ทั้งยังมีเพศสัมพันธ์นอกระบบการแต่งงาน เป็นผู้ทำลายครอบครัว ‘เมียน้อย’ จึงกลายเป็น ‘ผู้เบี่ยงเบน’ เนื่องจากสังคมมองว่าพวกเธอกระทำผิดไปจากบรรทัดฐานที่ ‘ผู้หญิงที่ดี’ พึงกระทำ

สุภาวดียังอ้างถึงแนวคิดการประทับตรา (labeling theory) โดยสังคมสร้าง ‘รอยมลทิน’ (stigma) ให้กับบุคคล โดยนิยามว่าเขาเป็นผู้ด้อยศีลธรรม (morally inferior beings) ซึ่งควรถูกปฏิเสธและได้รับการลงโทษจากสังคม จึงไม่น่าแปลกใจที่ละครโทรทัศน์จะซ้ำเติมเมียน้อยด้วยการผลิตซ้ำลักษณะของตัวละครเมียน้อยที่เบี่ยงเบนจากบรรทัดฐาน ‘ผู้หญิงที่ดี’ และเพิ่มรอยมลทินให้แก่เมียน้อยในชีวิตจริง โดยไม่ได้นำเสนอมิติอื่นๆ ของเมียน้อย เช่น สาเหตุของการเป็นเมียน้อย

วิทยานิพนธ์ของสุภาวดีสรุปเงื่อนไขสำคัญของเหตุผลในการตัดสินใจเป็นเมียน้อยว่า คือความผูกพันทางอารมณ์ จากปัจจัยเกื้อหนุน เช่น สภาพครอบครัวแตกแยก ความเข้มงวดของการเลี้ยงดูของครอบครัวที่สร้างความกดดันในชีวิต หรือสถานการณ์เปิดโอกาสให้พบเจอกับชายที่สร้างความรู้สึกเข้าอกเข้าใจ ความห่วงใย ฯลฯ เกิดเป็นความผูกพันทางใจ ซึ่งเป็นเหตุผลหลักในการเป็นเมียน้อย ตรงกับที่ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวไว้ว่าเธออยู่ในสถานะเมียน้อยเพราะ ‘ความรัก’

ภาพจำของ ‘เมียน้อย’ ที่สังคมรับรู้ ถูกละครโทรทัศน์ไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันประกอบสร้าง ในวิทยานิพนธ์ เรื่อง การสร้างความเป็นจริงทางสังคมของเมียน้อยในละครโทรทัศน์ ของณัฐพร อาจหาญ ใช้ทฤษฎีการสร้างความเป็นจริงของสังคม (social construct of reality) เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ความหมายและความจริงทางสังคมของเมียน้อยในละครโทรทัศน์

ณัฐพรสรุปผลการวิจัยว่า “ละครโทรทัศน์ได้หยิบยกบางส่วนของเมียน้อยมาประกอบสร้าง กลายเป็น ‘ภาพตัวแทน’ (stereotype) ของเมียน้อย เป็นคนไม่ดี เป็นกลุ่มบุคคลที่มีลักษณะขัดแย้งกับบรรทัดฐานอันดีของสังคม โดยอาศัยองค์ประกอบเรื่องการแต่งกาย และพฤติกรรมที่รุนแรง” และเมียน้อยในละครยังมีทั้งเมียน้อยที่น่าเห็นอกเห็นใจ คือ เป็นผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นธรรม และเมียน้อยที่ลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องสิทธิ ที่ถูกประกอบสร้างให้เป็นตัวร้ายที่ต้องโดนกำจัดไปในตอนจบ เป็นกระบวนการควบคุมทางสังคมของสังคมชายเป็นใหญ่

ตัวอย่างเมียน้อยในละครที่รู้จักกันในวงกว้าง คือ 'เรยา' จากละคร 'ดอกส้มสีทอง' ผู้มาพร้อมวลี “ฟ้ารักพ่อ” ที่ยังไม่หายไปไหนตั้งแต่ละครออกฉายในปี 2554

เมื่อพูดถึงเมียน้อยที่มีความทะเยอะทะยาน แย่งชิงคนรักของคนอื่น ภาพตัวละครเรยาคือภาพแรกๆ ที่หลายคนนึกถึง แม้เรยาจะเป็นตัวละครหลักของเรื่อง แต่เนื่องจากความเป็นเมียน้อย สุดท้ายในตอนจบของละคร เรยาจึงไม่ได้มีความสุขเหมือนนางเอกละครที่ปฏิบัติตามบรรทัดฐานความเป็นหญิงภายใต้ค่านิยมของสังคม เรยาเต็มไปด้วยความทุกข์เนื่องจากเธอไม่เหลือคนที่รักเธอ

ณัฐพรยังสรุปอีกว่า เมียน้อยในชีวิตจริงต่อรองความหมายภาพเมียน้อยที่ละครโทรทัศน์นำเสนอด้วยการจำแนกความเป็นเมียน้อยของพวกเธอให้แตกต่างจากภาพในละครโทรทัศน์ที่บอกว่าพวกเธอเป็นผู้หญิงไม่ดี “เช่น การต่อรองความหมายว่า พวกเธอเป็น ‘เมียน้อยทำมาหากิน’ ไม่ใช่ ‘เมียน้อยเกาะผัวกิน’ หรือ ‘เมียน้อยให้เกียรติเมียหลวง’ ไม่ใช่ ‘เมียน้อยราวีเมียหลวง’ ซึ่งการจำแนกตนเองให้ต่างออกไปนั้นเป็นกลยุทธ์การเอาตัวรอดของคนที่มีอำนาจน้อย เพื่อต่อรองพื้นที่ยืนในสังคม” เช่นเดียวกับที่ผู้ให้สัมภาษณ์ย้ำว่าตนไม่ได้เป็นเมียน้อยเพราะต้องการเงินและไม่เคยคิดจะสู้รบปรบมือกับภรรยาตามกฎหมายของชายคนรัก

นอกจากบรรทัดฐานฐานทางเพศที่สังคมกำหนดให้ผู้หญิงบางกลุ่มต้องถูกตีตราเป็น ‘เมียน้อย’ แล้ว ทัศนคติที่เป็นผลมาจากสังคมชายเป็นใหญ่ยังทำให้เราลืมนึกถึง ‘ผู้ชาย’ ที่เป็นฝ่ายไม่ซื่อสัตย์ด้วย ในสังคมไทย ผู้ชายที่แต่งงานจะมีผู้หญิงคนอื่นอีกก็ดูเป็นเรื่องเบา เหมือนในสื่อโทรทัศน์ที่ชอบแสดงภาพการแอบภรรยาหลวงไปหาน้อยให้ดูเป็นเรื่องขำขัน บางคนถึงกับบอกว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ชายจะ ‘นอกกาย’ ไปหาความสุขทางเพศข้างนอกบ้าน เช่น ใช้บริการผู้ให้บริการทางเพศ หรือมีเมียน้อย เป็นต้น

แม้ว่าใน ‘เมืองพุทธ’ อย่างประเทศไทย การมีชู้จะผิดศีลข้อสาม แต่ในวิทยานิพนธ์ ‘ผัวเดียวเมียเดียว’ ในสังคมไทยสมัยใหม่จากทศวรรษ 2410 ถึงทศวรรษ 2480 ของสุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ เขียนถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ที่ยกพุทธศาสนามาอ้างอิงว่าพุทธศาสนาไม่ได้ห้ามการมีภรรยาหลายคน และ “ทรงอ้างถึงพระอรรถาธิบายทางธรรมของสมเด็จฯ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระมหาสมณเจ้าด้วยว่าสำหรับพุทธศาสนาไม่ถือว่าการมีเมียมากเป็นเรื่องเสียหาย แต่จะเน้นเรื่อง ‘ความสันโดษ’ เป็นสำคัญกว่า คือ ‘ถ้าไม่ปรารถนาหรือคิดแย่งชิงเมียผู้อื่นแล้ว ถึงจะมีเมียกี่คนก็คงนับว่าตั้งอยู่ในความสันโดษ’”

หากไม่พูดถึงเรื่องศาสนา ทัศนคติในสังคมปิตาธิปไตยที่ว่า 'ผู้ชายถึงจะมีผู้หญิงหลายคน แต่ถ้าเลี้ยงดูผู้หญิงได้ก็พอแล้ว' ก็มีอิทธิพลมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในวิทยานิพนธ์เรื่องเดียวกันให้ข้อมูลว่าในช่วงปี 2477 เมื่อสภาผู้แทนราษฎรอภิปรายถึงการเลือกใช้ระบบ ‘ผัวเดียวเมียเดียว’ มีผู้โต้แย้งว่า ระบบ ‘ผัวเดียวหลายเมีย’ ทำหน้าที่ปกป้องผู้หญิง คือหากผู้หญิงเต็มใจเป็นเมียน้อยของชายที่ร่ำรวย ถ้าห้ามไม่ให้เธอจดทะเบียนสมรสก็จะดูไม่ยุติธรรม ในปัจจุบันแม้เราจะยึดระบบ ‘ผัวเดียวเมียเดียว’ แล้ว แต่ถ้าผู้ชายที่มีภรรยาแล้วสามารถ ‘เลี้ยงดู’ ภรรยาน้อยได้ในด้านการเงิน สังคมดูจะมองเป็นเรื่องที่ยอมรับได้และไม่รีบโทษผู้ชายเรื่องมีชู้เท่ากับที่รีบรุมประณามเมียน้อย

อีกฝ่ายที่ถูกกล่าวโทษคือ ‘เมียหลวง’ ที่แม้จะไม่ถูกประณามอย่าง ‘เมียน้อย’ แต่ก็ถูกตั้งคำถามจากสังคมว่าเป็น ‘เมียที่ดี’ พอหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความพึงพอใจทางเพศ ข้ออ้างคลาสสิกที่ทำให้ผู้ชายไปหาผู้หญิงคนอื่น ในอดีตก็เช่นกัน วิทยานิพนธ์เรื่องเดิมบอกว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ประพันธ์ให้ตัวเอกตอนหนึ่งในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง ‘หัวใจชายหนุ่ม’ แสดงความเห็นว่า “หากผู้หญิงแต่งตัวให้งามยวนตาเข้าไว้และปฏิบัติตัวทั้งทางกายและใจให้ผัวรู้สึกว่าเธอเป็นทั้งมิตรและที่ปรึกษาก็จะทำให้ผัวมีความสุขและไม่นึกถึงการมีเมียน้อยเลย”

ชัดเจนว่าสังคมชายเป็นใหญ่มักโทษผู้หญิงไม่ว่าจะเป็นทั้ง ‘เมียน้อย’ หรือ ‘เมียหลวง’ เช่นเดียวกับที่สังคมจดจ้องไปที่ผู้หญิงเมื่อเธอถูกล่วงละเมิดทางเพศมากกว่าที่จะจดจ้องที่ผู้กระทำ เมื่อผู้หญิงคนหนึ่งมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับผู้ชายที่มีพันธะแล้ว อัตลักษณ์ของเธอจะกลายเป็นเมียน้อย และถูกสังคมสงสัยทันทีว่าเธอเป็นผู้เริ่ม ‘อ่อย’ ฝ่ายชายหรือเปล่า ตั้งใจที่จะ ‘แย่ง’ หรือเปล่า ซึ่งวกกลับมาที่เรื่องของอัตลักษณ์ ‘เมียน้อย’ ในละคร ส่วนฝ่าย ‘เมียหลวง’ ก็ถูกสังคมตั้งคำถามว่าเธอปฏิบัติหน้าที่ ‘เมียที่ดี’ ได้ไม่เพียงพอหรือเปล่า

ค่านิยมสังคมและบรรทัดฐานเรื่องเพศแบบนี้ส่งผลกระทบต่อการเกิดอัตลักษณ์ ‘เมียน้อย’ ที่ถูกตีตราจากสังคม และยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ชายลอยตัว ไม่ถูกตั้งคำถามในสถานการณ์ที่สังคมเอาแต่มองไปที่เมียหลวง-เมียน้อย แม้กระทั่งผู้หญิงที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจความเชื่อแบบนี้ก็พร้อมจะโจมตี ‘เมียน้อย’ เนื่องจากรู้สึกว่าตนเองคือ ‘ผู้หญิงที่ดี’ และคู่ตรงข้ามของผู้หญิงที่ดีก็คือ ‘เมียน้อย’ ผู้ผิดบรรทัดฐานของผู้หญิงที่ดี

สิ่งที่เราควรจะต้องตั้งคำถาม จึงไม่ใช่ทั้ง ‘เมียน้อย’ และ ‘เมียหลวง’ หากแต่เป็นสังคมชายเป็นใหญ่ ที่ครอบงำทัศนคติคนส่วนใหญ่ในสังคม มอบอัตลักษณ์ ‘เมียน้อย’ ให้กับผู้หญิงบางกลุ่ม และทำให้ผู้ชายเป็นผู้ลอยนวลในเรื่องความสัมพันธ์เช่นนี้

นอกจากละครโทรทัศน์จะสร้างภาพจำให้เมียน้อย ซึ่งเป็นผู้หญิงที่สังคมตีตราว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี เนื่องจากปฏิบัติตนผิดไปจากบรรทัดฐานทางเพศ คือ ไม่ใช่ผู้หญิงเรียบร้อยที่สยบยอม เป็นผู้หญิงทะเยอะทะยาน เป็นผู้ ‘แย่งชิง’ ไขว่คว้าความพึงพอใจ สถานะทางสังคม หรือสถานะทางการเงินผ่านการมีความสัมพันธ์ทางเพศกับชายที่มีภรรยาแล้ว เมียน้อยยังเป็นที่รังเกียจเนื่องจากสังคมเห็นว่าเป็นภัยต่อสถาบันครอบครัว ต่อคุณค่าแบบ ‘ผัวเดียวเมียเดียว’

จากวิทยานิพนธ์เรื่องเดียวกัน สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ เขียนว่า ‘ผัวเดียวเมียเดียว’ คือการสร้างคุณค่าใหม่แบบชนชั้นกลาง แข่งขันกับวัฒนธรรมแบบ ‘ผัวเดียวหลายเมีย’ ของชนชั้นสูง และการถกเถียงในสภาผู้แทนราษฎรปี 2477 สะท้อนให้เห็นลักษณะของชนชั้นกลางที่ถือว่าครอบครัวเป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิต โดยที่ผู้ชายรักษาคุณค่าของตัวเองในฐานะเป็นผู้หาเลี้ยงและผู้คุ้มครองของครอบครัว ซึ่งเป็นการรับเอาระบอบชายเป็นใหญ่ไว้ในครอบครัว

นอกจากชนชั้นกลางจะเสนอคุณค่าแบบ ‘ผัวเดียวเมียเดียว’ ขึ้นมา ยังผูกความหมายใหม่คือ ‘ความรักบริสุทธิ์ฉันท์หนุ่มสาว’ ที่เชื่อมโยงกับคุณค่าแบบความรักโรแมนติก ซึ่งเป็นอุดมคติของชนชั้นกลาง เรียกว่าชนชั้นกลางเป็นผู้สถาปนาระบบ ‘ผัวเดียวเมียเดียว’ ก็ว่าได้ นอกจากนี้สุรเชษ์ฐเขียนว่า ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม การสร้างชาติอาศัยแนวคิด ‘ครอบครัวผาสุก’ ให้ครอบครัวเป็นรากฐานของชาติ ยิ่งครอบครัวเข้มแข็ง ชาติก็จะยิ่งเข้มแข็งตามไปด้วย

สุรเชษ์ฐยังอ้างถึงธงชัย วินิจจะกูล ซึ่งบอกว่าในการเมืองแบบพุทธ มีการกำหนดชั้นสูงต่ำทางสังคมจากบุญบารมี (hierarchical order of moral authority) ครอบครัวตามอุดมคติที่เป็นรากฐานของชาติจึงแตกแยกไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้น ชาติที่ถูกเปรียบเปรยเป็น ‘ครอบครัวใหญ่’ ก็จะถูกกระเทือน

ทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ แทรกซึมไปยังทุกอณูของสังคม ไม่ว่าจะเป็นทัศนคติต่อครอบครัวในอุดมคติของชนชั้นกลาง ที่กำหนดให้สามีเป็นหัวหน้าครอบครัว กำหนดลักษณะของ ‘ภรรยาที่ดี’ หรือ ‘ผู้หญิงที่ดี’ ที่ต้องดูแลบ้าน ผลิตทายาท และปรนนิบัติสามีทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ การมีอยู่ของ ‘เมียน้อย’ จึงเป็นภัยทั้งต่อครอบครัวในอุดมคติของชนชั้นกลาง และลักษณะของ ‘เมียน้อย’ ที่ผิดไปจากบรรทัดฐานของผู้หญิงที่ดี จึงถูกมอบตราบาป เกิดอัตลักษณ์ ‘เมียน้อย’ ผู้เป็นขั้วตรงข้ามของ ‘ผู้หญิงที่ดี’ และอัตลักษณ์ ‘เมียน้อย’ นี้ก็ถูกผลิตซ้ำโดยละครโทรทัศน์ต่อไป จนกว่าเราจะหลุดพ้นจากกรอบของสังคมชายเป็นใหญ่

 

อ้างอิง

ณัฐพร อาจหาญ. (2555). การสร้างความเป็นจริงทางสังคมของเมียน้อยในละครโทรทัศน์

สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ. (2556). “ผัวเดียวเมียเดียว” ในสังคมไทยสมัยใหม่จากทศวรรษ 2410 ถึงทศวรรษ 2480

สุภาวดี มนัสปิยะเลิศ. (2548). 'เมียน้อย' : กระบวนการตัดสินใจและการปรับตัว.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0