โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

‘เฟซบุ๊ก’ผวา ก.ม.เก็บภาษี ยักษ์ข้ามชาติ

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 21 เม.ย. 2562 เวลา 02.12 น.

เอ็ตด้า แจง พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์  มองภาพใหญ่อี-คอมเมิร์ซไทยมากกว่าขึ้นทะเบียนเก็บภาษียักษ์ข้ามชาติ  ด้าน กูรู อี-คอมเมิร์ซ ชี้มีหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจดิจิทัลชัดเจนเป็นเรื่องดี ระบุดึงโซเชียลข้ามชาติขึ้นทะเบียนเป็นเรื่องท้าทาย“เฟซบุ๊ก-อินสตาแกรม” ผวาถกมาตรการรับมือด่วน

การประกาศใช้พระราชบัญญัติสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรม อิเล็กทรอนิกส์ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2562) โดยมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. (ETDA) สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นหน่วยงานกำกับดูแลผู้ให้บริการธุรกรรมดิจิทัล รวมถึงมีสิทธิ์ในการ ออกใบอนุญาตการประกอบธุรกรรม ดิจิทัล ซึ่งเนื้อหาของ พ.ร.บ.ได้กำหนดให้ผู้ที่จะดำเนินกิจการธุรกรรมดิจิทัลต้องขึ้นทะเบียน โดยหากไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบให้ ETDA เป็นผู้รับผิดชอบขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาต ทั้งนี้ได้ระบุโทษของการทำกิจการธุรกรรมดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือผิดหลักเกณฑ์ มีโทษปรับสูงสุด 2 ล้านบาทและมีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี

นางสุรางคณา วายุภาพ  ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. (ETDA)  เปิด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า พรบ.ทั้ง 2 ฉบับนั้นเป็นการทำให้การบังคับใช้กฎหมายจากแมนวลไปสู่ดิจิทัล มีความชัดเจนมากขึ้น และช่วยส่งเสริมการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ขณะเดียวกัน เอ็ตด้า มีความชัดเจนในการเข้ามากำกับดูแล ดิจิทัลไอดี  และลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งเป็นการยกระดับเอ็ตด้า ซึ่งเป็นองค์การมหาชน จากหน่วยงานภายใต้พระราชกฤษฎีกา เป็นองค์การมหาชนภายใต้พระราชบัญญัติ สำคัญสุด คือ พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับจะทำให้การมองภาพใหญ่ในการพัฒนาอี-คอมเมิร์ซของประเทศชัดเจนมากขึ้น

“เอ็ตด้าคงไม่ได้มองเรื่องการเก็บภาษีจากผู้ให้บริการระดับโลก แต่เรามองภาพใหญ่จะทำอย่างไร ผู้ให้บริการระดับโลก และโลคัล อยู่ ด้วยกันได้  และแข่งขันได้ด้วยความ เป็นธรรม ผู้ให้บริการโลคัลเสียภาษีผู้ให้บริการโกลบัลก็ต้องเสียภาษี และดูแลลูกค้าในประเทศไทย”

ด้านนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตลาด ดอท คอม กรุ๊ป จำกัด  กล่าว ว่า การที่มีหน่วยงานชัดเจนเข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจดิจิทัล เป็นเรื่องดี เนื่องจากที่ผ่านมาธุรกิจ ดังกล่าวยังไม่มีผู้กำกับดูแลโดยตรง ขณะที่ที่ผ่านมาผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งธนาคารผู้ให้บริการอี-คอมเมิร์ซ ก็ปฏิบัติตามมาตรฐานที่เอ็ตด้ากำหนดอยู่แล้ว การเข้ามากำกับดูแล และทำหน้า ที่จดทะเบียนธุรกิจบริการดิจิทัลจึงถือเป็นเรื่องดี

ส่วนกรณีการจดทะเบียนผู้ให้บริการดิจิทัลนั้นขณะนี้ยังไม่มีกรอบกฎระเบียบที่ชัดเจนออกมา  แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ดึงผู้ให้บริการข้ามชาติ ทั้งอี-คอมเมิร์ซ และโซเชียลมีเดีย เข้ามามีตัวตนในไทย ซึ่งมองว่าน่าการมีหน่วยงานกำกับจะเป็นก้าวแรกของการลงทุนที่ชัดเจนในอนาคต รวมถึงการ จัดเก็บภาษีรายได้จากการให้บริการในไทย อย่างไรก็ตามก็ยังมีความท้าทายอยู่ในเรื่องของแรงจูงใจให้บริการข้ามชาติเหล่านี้เข้ามา
จดทะเบียน กรณีที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีบทลงโทษหากไม่มีการจดทะเบียนนั้นจะไปบังคับใช้กับผู้ให้บริการดิจิทัลข้ามชาติเหล่านี้อย่างไร เพราะไม่มีสำนักงานในไทย ขณะที่มาตรการ ปิดกั้นบริการโซเชียลมีเดียข้ามชาติหากไม่มีการจดทะเบียนบริการนั้นก็อาจส่งผลกระทบกับผู้ใช้       

ด้านนางสาวชวดี วงศ์พยัต หัวหน้าฝ่ายธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ประเทศไทย เปิดเผยว่า สำหรับกรณีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าว ทางเฟซบุ๊ก และ อินสตาแกรมอยู่ระหว่างการหารือกันภายใน อย่างไรก็ตามยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะมีมาตรการหรือการดำเนินการอย่างไร จึงยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3463 วันที่ 21-24 เมษายน 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0