โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

‘เจ้าหนี้’ กับ ‘เจ้าของ’

Businesstoday

เผยแพร่ 13 ต.ค. 2562 เวลา 23.59 น. • Businesstoday
‘เจ้าหนี้’ กับ ‘เจ้าของ’

ในอดีต มนุษย์ยุคโบราณดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ แต่มนุษย์ยุคนี้ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยเงิน เริ่มตั้งแต่เด็กเล็กๆ ที่ต้องพึ่งพาเงินพ่อแม่ จนเติบโตหาเงินได้เอง สร้างครอบครัว มีลูก ไปจนกระทั่งวัยเกษียณและตาย…การทำศพก็ยังต้องใช้เงิน

ผมจำแนกที่มาของรายได้ของคนเราเป็น2 ประเภทคือเจ้าหนี้กับเจ้าของ” 

สถานะและผลตอบแทนของ “เจ้าหนี้” กับ “เจ้าของ” ต่างกันอย่างไร เราลองมาดูกันครับ 

หลังเรียนจบ เข้าทำงานเป็นลูกจ้างหรือพนักงานของบริษัท รับรายได้เป็นค่าจ้างรายวันหรือรายเดือน (เงินเดือน) สถานะของพนักงานคือ เจ้าหนี้บุริมสิทธิ ซึ่งหมายความว่า หากบริษัทมีปัญหาไม่สามารถจ่ายเงินเจ้าหนี้ได้ครบทุกราย พนักงานจะมีสิทธิได้รับชำระค่าจ้างก่อนเจ้าหนี้อื่น (ยกเว้นสรรพากรซึ่งเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิเช่นกัน)

ทำไมลูกจ้างจึงเป็นเจ้าหนี้ บริษัทไปเป็นหนี้อะไรหรือ? คำตอบคือ เป็นหนี้ค่าตอบแทนแรงงานครับ การใช้แรงงานของลูกจ้างโดยสัญญา (จะเป็นลายลักษณ์อักษรหรือแค่ตกลงกันด้วยปากเปล่าก็ได้) ว่าจะให้ค่าจ้างตอบแทน สถานะความเป็นเจ้าหนี้-ลูกหนี้ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว

เมื่อทำงานมีรายได้ แล้วนำเงินไปฝากไว้กับธนาคาร ผู้ฝากเงินก็คือเจ้าหนี้ และธนาคารคือลูกหนี้ โดยเจ้าหนี้และลูกหนี้จะมีข้อตกลงกันว่า เจ้าหนี้สามารถเรียกเงินคืนได้ตลอดเวลา (เงินฝากออมทรัพย์หรือสะสมทรัพย์หรือกระแสรายวัน) หรือจะมีการกำหนดเวลาเพื่อแลกกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เช่น เงินฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน หรือ 24 เดือน  

คนที่สามารถล็อคเงินตัวเองด้วยการฝากประจำ แสดงว่ามีเงินออมเหลือมากพอ และคนกลุ่มนี้แหละที่มีศักยภาพจะก้าวไปสู่การลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งต้องล็อคเงินไว้ยาวขึ้นอีก เช่น 3 ปี 5 ปี หรือ 7 ปี

ส่วนคนที่มีเงินออมมากพอและมีความรู้เกี่ยวกับการลงทุนมากพอ ก็จะมีช่องทางการลงทุนที่มากกว่าคนอื่น เช่น ลงทุนในหุ้น ในอสังหาริมทรัพย์ หรือในธุรกิจของตัวเอง นี่คือการขยับจากเซฟโซนของสถานะ “เจ้าหนี้” มาเป็น “เจ้าของ”

จะเห็นว่าความเป็นเจ้าของมีความเสี่ยงสูงกว่าเจ้าหนี้เพราะไม่สามารถกำหนดอัตราผลตอบแทนที่ตายตัวได้ว่าจะได้รับเงินวันละเท่าไรเดือนละเท่าไรไตรมาสละเท่าไรหรือปีละเท่าไรบางช่วงเวลาอาจได้รับผลตอบแทนจำนวนมหาศาลในขณะที่บางช่วงอาจไม่มีเงินเข้ามาเลยต้องควักออกอย่างเดียวจนฐานะการเงินเป็นลบหรือขาดทุน

ถึงแม้ “เจ้าของ” จะมีความเสี่ยงสูงกว่าเจ้าหนี้ แต่ผู้คนจำนวนมากก็อยากที่จะมีสถานะเจ้าของ เพราะมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงกว่าเจ้าหนี้มาก

นักการเงินซึ่งเข้าใจหลักการนี้ดี ก็พยายามพัฒนาตราสารทางการเงินที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง “เจ้าของ” กับ “เจ้าหนี้” ออกมามากมาย แต่ที่กำลังฮิตติดลมอยู่ในตลาดการเงินไทยตอนนี้ก็คือ หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ” 

ผู้ถือหุ้นกู้นั้นมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ซึ่งอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่มีเรตติ้งระดับลงทุน(BBB- ขึ้นไป) หากเป็นระยะ5 ปีดอกเบี้ยอย่างมากก็ได้3% นิดๆต่อปี  แต่ก็ยังสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลอายุ5 ปีซึ่งจ่ายดอกเบี้ยประมาณ1.4% ต่อปีเท่านั้น 

แต่บริษัทเอกชนขนาดใหญ่อย่าง บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL บริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกบริษัทบี.กริมเพาเวอร์จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนชั้นนำของไทยและของภูมิภาค รวมถึง บริษัทไทยยูเนี่ยนกรุ๊ปจำกัด (มหาชน) หรือ TU ผู้นำธุรกิจอาหารทะเลระดับโลก ซึ่งประกาศออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ อยู่ตอนนี้ ให้ดอกเบี้ยในช่วง 5 ปีแรกที่ 5.00% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ปกติมาก โดยที่เครดิตเรตติ้งของ 3 บริษัทนี้อยู่ในระดับสูง นี่คือการตอบโจทย์ของผู้มีเงินออมที่ต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงกว่าตราสารหนี้ โดยที่ความเสี่ยงต่ำกว่าตราสารทุนหรือหุ้น   

ทั้งหลายทั้งปวงที่เขียนมานี้ น่าจะจุดประกายความคิดของผู้ที่มีเงินออมและต้องการต่อยอดให้เงินงอกเงยได้ว่าควรจะเลือกทางไหนระหว่างความเป็น “เจ้าของ” กับ “เจ้าหนี้” 

ตามความเห็นของผมควรจะต้องผสมผสานทั้ง 2 อย่างเพื่อถ่วงดุลความเสี่ยงส่วนจะมีสัดส่วนของเจ้าหนี้หรือเจ้าของมากกว่ากันอันนั้นเอาตามที่สบายใจเลยครับ…ได้หมดถ้าสดชื่น 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0