โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

‘เขมจิรา’ข้องใจ ‘ธารินทร์’ถูกยิง ยังใส่กุญแจมือ

ไทยโพสต์

อัพเดต 17 พ.ย. 2562 เวลา 17.01 น. • เผยแพร่ 17 พ.ย. 2562 เวลา 17.01 น. • ไทยโพสต์

 

"เขมจิรา" ข้องใจ "พล.ต.ต.ธารินทร์" ถูกเสมียนทนายยิงหลังถูกจับใส่กุญแจมือแล้วหรือไม่ ท้าเปิดกล้องวงจรปิดห้องพิจารณาคดี เผยได้หลักฐานยักยอกที่ดิน 3.8 พันไร่หลังศาลตัดสินไปแล้ว ทำให้ "บัญชา-บุญช่วย" ขอไกล่เกลี่ย แต่ธารินทร์ไม่ยอมจึงถูกร้องถอดยศด้วย อัยการชี้ช่องฟ้องคู่กรณีถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินกลับมาเป็นชื่อมูลนิธิ    

    เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน น.ส.เขมจิรา บัณฑูรนิพิท อดีตภรรยา พล.ต.ต.ธารินทร์ จันทราทิพย์ อดีตรองจเรตำรวจแห่งชาติ ที่ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงนายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ และนายวิจัย สุขรมย์  2 ทนายความเสียชีวิต ขณะที่นางสุภาพร ปรมีศณาภรณ์ ภรรยานายบัญชา กับนายวิชัย อุดมธนภัทร ทีมทนายฝ่ายโจทก์ ได้รับบาดเจ็บ กลางห้องพิจารณาคดีศาลจังหวัดจันทบุรี ก่อนที่นายธนากร ธีรวโรดม เสมียนทนายจะคว้าปืนจาก ร.ต.อ.ขจร บรรจง รอง สวป.สภ.เมืองจันทบุรี ปฏิบัติหน้าที่ตำรวจศาล ยิงใส่ พล.ต.ต.ธารินทร์จนเสียชีวิต จากชนวนเหตุข้อพิพาทที่ดินกว่า 3,800 ไร่ ที่ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ว่าเรื่องราวข้อพิพาทที่ดินผืนดังกล่าวเชื่อว่านายบัญชาคือบุคคลสำคัญที่คอยดำเนินการช่วยให้นายบุญช่วย เจริญสถาพร น้องชายพระกิตติวุฒโฑ พระชื่อดังยักยอกที่ดินของมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัยไปเป็นของส่วนตัว      "อีกทั้งยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้พิจารณาถอดยศ พล.ต.ต.ธารินทร์ เนื่องจากฝั่งนายบุญช่วยและนายบัญชามองว่าหากยังปล่อยให้ พล.ต.ต.ธารินทร์ขุดคุ้ยพยานหลักฐานเอกสารทางราชการขึ้นมาจะทำให้ความจริงปรากฏขึ้นว่าตนเองแอบยักยอกไป"      น.ส.เขมจิรากล่าวอีกว่า กรณีที่สงสัยว่าถ้าตนมีพยานหลักฐานจริง เหตุใดถึงแพ้คดีครอบครองที่ดิน อยากชี้แจงว่าหลักฐานเอกสารราชการต่างๆ ที่ พล.ต.ต.ธารินทร์สืบหามาได้นั้น ก็เพิ่งได้มาหลังจากที่มีการตัดสินคดีไปแล้ว ถ้าหากตอนนั้นมีหลักฐานเหล่านี้ นายบุญช่วยก็คงไม่ได้ที่ดินผืนดังกล่าว เพราะหลักฐานที่ตนนำไปสู้ตอนนั้นมีเพียงแค่หลักฐานการแสดงจำนวนบุตรเท็จเพียงเท่านั้น ภายหลังจากนายบุญช่วยและนายบัญชารู้ว่าทางฝ่ายเรามีหลักฐานเหล่านี้ และนำไปยื่นร้องเรียนตามหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ผู้ครอบครองที่ดินผืนนี้ขึ้นอีกครั้ง นายบุญช่วยและนายบัญชาก็ได้มีการพยายามไกล่เกลี่ยในชั้นศาล โดยบอกว่าหากตนยุติเรื่องและเรียกคืนหลักฐานเหล่านี้กลับมา ทางฝ่ายของเขาจะยอมถอนฟ้องคดีต่างๆ ให้       "แต่ทาง พล.ต.ต.ธารินทร์ไม่ยอม เพราะด้วยความที่ตัวเขาเป็นตำรวจ รักความยุติธรรม เขาจะไม่ยอมให้นายบุญช่วยได้ที่ดินผืนดังกล่าวไปแน่นอน และจะต้องทวงคืนที่ดินผืนนี้คืนกลับมาให้กับมูลนิธิ เขาเคยบอกดิฉันว่าเขาทำมาขนาดนี้จะยอมหยุดไม่ได้ และความยุติธรรมจะต้องเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าอาจจะต้องเป็นผู้พ่ายแพ้ก็ตาม"      น.ส.เขมจิรากล่าวด้วยว่า กรณีที่ พล.ต.ต.ธารินทร์ถูกยิงเสียชีวิตนั้น ตนและครอบครัวก็ยังคงคาใจ เพราะเชื่อว่าข้อมูลที่เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่านายธนากรใช้อาวุธปืนยิงเสียชีวิตว่าทำไปเพราะต้องการระงับเหตุ และเป็นการยิงก่อนที่จะมีการจับ พล.ต.ต.ธารินทร์ใส่กุญแจมือนั้น เป็นข้อมูลที่บิดเบือน ถ้าหากต้องการให้ความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้กระจ่าง อยากให้นำภาพจากกล้องวงจรปิดภายในห้องพิจารณาคดีออกมาเปิดเผย เพื่อความเป็นธรรมของทุกฝ่าย ยังทราบอีกว่าภายหลังจากที่นายธนากรก่อเหตุเสร็จนั้น ยังมีผู้หญิงคนหนึ่งคอยให้การช่วยเหลือโดยการขับรถพาหลบหนี แต่จนถึงวันนี้ผู้หญิงคนดังกล่าวกลับยังไม่ถูกตรวจสอบข้อเท็จจริงใดๆ เลย      "กรณีที่ทางกองปราบฯ รับเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินผืนดังกล่าวนั้น ขณะนี้ทราบว่ามีความคืบหน้าไปมาก และค่อนข้างเป็นที่พอใจเกี่ยวกับการทำงานของตำรวจกองปราบฯ เป็นอย่างมาก ซึ่งเชื่อว่ากองปราบฯ จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่มีลำเอียง และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม" น.ส.เขมจิรากล่าว       ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด และอาจารย์ผู้บรรยายวิชาหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความ ม.ธรรมศาสตร์ และวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งชั้นสูง ม.รามคำแหง ให้ความเห็นข้อกฎหมายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงประเด็นการรื้อฟื้นคดีพิพาทที่ดินมรดก 3,800 ไร่ ว่าเรื่องการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่นี้ กฎหมายไทยกำหนดไว้เฉพาะในคดีอาญาและคดีปกครอง ส่วนคดีแพ่งนั้นกฎหมายไทยไม่ได้กำหนดเรื่องการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ไว้     "สำหรับคดีพิพาทเรื่องที่ดินมรดกนี้ ถึงแม้จะขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ในคดีแพ่งไม่ได้ แต่หากปรากฏหลักฐานว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิพระอภิธรรมมหาธาตุ (ซึ่งขณะนี้ยังมีประเด็นโต้แย้งกันอยู่ระหว่างคู่กรณีว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายใด) มูลนิธิและผู้มีส่วนได้เสียก็สามารถฟ้องคู่กรณีอีกฝ่ายต่อศาลเพื่อขอให้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่มูลนิธิ โดยขอให้มีการเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทและให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นชื่อของมูลนิธิได้"     ดร.ธนกฤตระบุว่า ส่วนจะฟ้องต่อศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองนั้น เนื่องจากคดีนี้มีประเด็นหลายประเด็นเกี่ยวพันกัน และมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นของใครซึ่งเป็นเรื่องสิทธิในทางแพ่ง ถึงจะมาวินิจฉัยประเด็นที่เป็นประเด็นวินิจฉัยชี้ขาดผลสุดท้ายของคดี ซึ่งเกี่ยวข้องกับเขตอำนาจของศาลปกครอง โดยแนวคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยวางแนวไว้จำนวนมากว่า หากประเด็นที่ต้องวินิจฉัยก่อนอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด ก็จะให้ศาลนั้นเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาคดีเรื่องนั้นทั้งคดี ทั้งที่ประเด็นที่เป็นประเด็นวินิจฉัยชี้ขาด ผลสุดท้ายของคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ซึ่งไม่สอดคล้องกับระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ข้อ 41 วรรคสอง อีกทั้งไม่สอดคล้องกับเขตอำนาจของศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามความเป็นจริง.  

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0