โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

‘เกาหลีใต้’ พบป่วยโควิด-19 พุ่งพรวด คาดสาเหตุจาก ‘ไวรัสที่กลายพันธุ์’

Xinhua

เผยแพร่ 07 ก.ค. 2563 เวลา 10.09 น.
‘เกาหลีใต้’ พบป่วยโควิด-19 พุ่งพรวด คาดสาเหตุจาก ‘ไวรัสที่กลายพันธุ์’
(แฟ้มภาพซินหัว : เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยรายหนึ่งเข้าโรงพยาบาลในกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ วันที่ 11 มี.ค. 2020)
(แฟ้มภาพซินหัว : เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยรายหนึ่งเข้าโรงพยาบาลในกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ วันที่ 11 มี.ค. 2020)

โซล, 7 ก.ค. (ซินหัว) -- ยอดผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ได้รับการยืนยันผลของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ ซึ่งก่อให้เกิดการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนขนาดเล็กหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคเกาหลีใต้ (KCDC) เปิดเผยการตรวจพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้น 44 ราย ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา เมื่อนับถึงเวลา 00.00 น. ของวันอังคาร (7 ก.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ทำให้เกาหลีใต้มีผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 13,181 ราย

ยอดผู้ป่วยใหม่รายวันรักษาระดับต่ำกว่า 50 รายต่อวัน ติดต่อกันเป็นวันที่ 2 แล้ว หลังจากพุ่งเกิน 60 รายต่อวัน ติดต่อกัน 3 วันก่อนหน้านี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนขนาดเล็กที่ยังไม่คลี่คลายและกลุ่มผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ

นับตั้งแต่เกาหลีใต้รายงานผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันผลรายแรกเมื่อปลายเดือนมกราคม จำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในประเทศก็พุ่งสูงอย่างฉับพลันในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม โดยมีต้นตอจากกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเชื่อมโยงกับพิธีกรรมในโบสถ์ของลัทธิชินชอนจิ (Sincheonji) ลัทธิทางศาสนากลุ่มย่อยในท้องถิ่นเมืองแทกู

เมืองแทกูตั้งอยู่ห่างจากกรุงโซลไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 300 กิโลเมตร มีประชากรราว 2.5 ล้านคน และเคยเป็นศูนย์กลางการระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากตรวจพบการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ที่สุด ส่วนผู้นับถือลัทธิข้างต้นจะประกอบพิธีกรรมโดยนั่งข้างกันบนพื้นโบสถ์

ยอดผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันผลของเกาหลีใต้ทะลุ 10,000 รายเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่รัฐบาลสามารถควบคุมจำนวนผู้ป่วยได้ด้วยการทดสอบและแกะรอยผู้มีประวัติติดต่อใกล้ชิดกับผู้ป่วยขนานใหญ่ รวมถึงการรณรงค์เว้นระยะห่างทางสังคม

(แฟ้มภาพซินหัว : ทหารเกาหลีใต้สวมชุดป้องกันทางการแพทย์ ขณะฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในเมืองแทกู วันที่ 2 มี.ค. 2020)
(แฟ้มภาพซินหัว : ทหารเกาหลีใต้สวมชุดป้องกันทางการแพทย์ ขณะฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในเมืองแทกู วันที่ 2 มี.ค. 2020)

หลังจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ลดลง รัฐบาลได้ผ่อนปรนมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม แต่เริ่มพบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนขนาดเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่ถูกตรวจสอบประวัติแล้วพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคลับและบาร์ในเขตอีแทวอน ย่านสถานบันเทิงยามค่ำคืนใจกลางกรุงโซล โดยการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนขนาดเล็กในช่วงแรกมีความเกี่ยวข้องกับอีแทวอน แต่ต่อมาได้กระจายวงกว้างไปยังย่านมหานครโซล จนกระทั่งปัจจุบันได้ลุกลามออกนอกเขตเมืองหลวงแล้ว

หน่วยงานด้านสุขภาพของเกาหลีใต้ระบุว่าการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนขนาดเล็กที่พบเมื่อไม่นานนี้เกี่ยวข้องกับไวรัสโคโรนาก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์จีเอช (GH) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ทราบกันว่าเกิดจากการกลายพันธุ์จากสายพันธุ์เอส (S)

ศูนย์ควบคุมฯ ได้จัดลำดับจีโนมของเชื้อไวรัสจากผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวน 526 ราย และพบสายพันธุ์จีเอชในผู้ป่วย 333 ราย หรือร้อยละ 63.3 ของทั้งหมด โดยเชื่อกันว่าสายพันธุ์จีเอชนี้สามารถแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่นสูงสุดถึง 6 เท่า และพบสายพันธุ์วี (V) ในผู้ป่วย 127 ราย สายพันธุ์เอส (S) ในผู้ป่วย 33 ราย สายพันธุ์จีอาร์ (GR) ในผู้ป่วย 19 ราย สายพันธุ์จี (G) ในผู้ป่วย 10 ราย และสายพันธุ์อื่น ๆ อีก 4 รายตามลำดับ

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) จำแนกไวรัสโคโรนาก่อโรคโควิด-19 ตามกรดอะมิโนออกเป็น 7 สายพันธุ์ โดยเกาหลีใต้ยังไม่ได้ระบุถึงสายพันธุ์แอล (L)

ด้านจองอึนกยอง ผู้อำนวยการศูนย์ฯ แถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ (6 ก.ค.) ถึงการตรวจพบสายพันธุ์จีเอชในผู้ป่วยที่มีประวัติเกี่ยวโยงกับการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในอีแทวอนเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม และการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในจังหวัดคยองซังเหนือเมื่อต้นเดือนเมษายน พร้อมระบุว่าสายพันธุ์เอสและวีเป็นสายพันธุ์ที่พบในเกาหลีใต้ก่อนเดือนเมษายนเป็นส่วนใหญ่

จองกล่าวว่าสายพันธุ์จีเอชน่าจะเป็นเชื้อไวรัสที่เข้ามาจากยุโรปหรือสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน เนื่องจากขณะนั้นมีชาวต่างชาติเข้ามาในเกาหลีใต้จำนวนมาก พร้อมเสริมว่าไวรัสที่ถูกนำเข้ามาดังกล่าวเป็นสายพันธุ์หลักที่ส่งผลให้เกิดการระบาดล่าสุด

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0