โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

‘อินทผาลัม’ เจ๋งนะรู้ยัง!!

The Bangkok Insight

เผยแพร่ 04 ม.ค. 2562 เวลา 18.28 น. • The Bangkok Insight
‘อินทผาลัม’ เจ๋งนะรู้ยัง!!

เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ดิฉันได้มีโอกาสบินไปประชุมดูงานที่ประเทศอิตาลี โดยสารการบินเอมิเรตส์แอรไลน์ เครื่องต้องแวะสนามบินนานาชาติดูไบ เพื่อเปลี่ยนเครื่องเป็นระยะเวลา 3 ชั่วโมง ต้องขอบอกว่า สนามบินแห่งชาติดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ครึกครื้นด้วยผู้โดยสารนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจมากมาย ถือเป็นสนามบินที่มีผู้คนใช้หนาแน่นที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก และอันดับ 1 ของโลกในกลุ่มผู้โดยสารระหว่างประเทศ โดยเป็นสนามบิน ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2503 และขยายตัวอย่างรวดเร็วจนเป็นหนึ่งในสนามบินที่ใหญ่ที่สุดของโลกในแง่พื้นที่ใช้สอยของอาคารผู้โดยสาร

สิ่งหนึ่งที่ดิฉันสังเกตระหว่างทางในสนามบิน จะเต็มไปด้วยร้านค้าเสื้อผ้า แบรนด์เนม เครื่องใช้ไฟฟ้าเยอะเต็มไปหมด ซึ่งแทบไม่ต่างกับสนามบินอื่น ๆ ที่เคยแวะผ่าน แต่อีกอย่างหนึ่งที่เป็นภาพติดตา คือ ร้านขายอินทผาลัมเยอะมาก บางร้านเป็นมุมเล็ก ๆ ขายเป็นกล่องเพื่อเป็นของฝาก อินทผาลัมที่นี่เขาสอดไส้ถั่วอัลมอนด์ และถั่วชนิดต่างๆ ให้เลือกอีกด้วย ทำให้เพิ่มรสชาติให้น่าสนใจขึ้นไปอีก กล่องแพคเกจจิ้ง ก็น่าหยิบซื้อเป็นของฝากและแน่นอน ดิฉันก็เป็นหนึ่งในผู้โดยสารที่อดใจไม่ได้ที่จะหยิบซื้อฝากญาติผู้ใหญ่ที่เคารพ

เพื่อน ๆ เคยสงสัยไหมว่า “อินทผาลัม” จริงๆ ประโยชน์มีอะไรบ้าง? ทานเยอะ อ้วนไหม? ทานเยอะ ค่าน้ำตาลเพิ่มไหม? เหล่านี้เป็นต้น วันนี้ดิฉันขออนุญาตรวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับผลไม้ทรงคุณค่าสารอาหารเพียบมาให้อ่านกันค่ะ

อินทผาลัม คืออะไร?

อินทผาลัม เป็นผลไม้ที่มีรสหวาน และอุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็น และสำคัญหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น วิตามิน แร่ธาตุ และไฟเบอร์ ใยอาหาร แร่ธาตุที่มีฤทธิ์ช่วยต้านอนุมูลอิสระ อีกด้วย เล็กดี รสโต เลยใช่ไหมคะ ถึงแม้ผลไม้ชนิดนี้จะมีขนาดเล็ก โดยหนึ่งผลจะหนักประมาณ 7.5 กรัม และเนื้ออินทผาลัม 100 กรัม จะให้พลังงานมากถึง 314 แคลอรี่เลยทีเดียว และยังให้แร่ธาตุมากถึง 10 ชนิด เช่น ทองแดง โพแทสเซียม แมกนีเซียม ซีลีเนียม ฯลฯ ในปริมาณมากกว่า 15 % ของปริมาณที่แนะนำในแต่ละวัน รวมทั้งสารโพลีฟีนอล (Polyphenol) ที่มีส่วนช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพ ที่เกิดจากการเสื่อมของร่างกาย เช่น ป้องกันเซลล์ และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ไม่ให้ถูกทำลายจากสารอนุมูลอิสระ อีกทั้งยังอุดมด้วย วิตามินซี วิตามินบี วิตามินเค ธาตุเหล็ก และเส้นใยอาหารเพียบ!

นอกจากนี้ ยังพบสารอาหารจำพวกน้ำมันโวลาไทล์ ไฟเบอร์ และเบต้าแคโรทีน ที่ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย และช่วยต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ป้องกันการเกิดมะเร็งได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบัน อินทผาลัม ได้รับความนิยมปลูกในประเทศไทยมากขึ้น แต่ก็ยังถือว่ามีจำนวนไม่มาก เนื่องจากสภาพภาวะอากาศที่ไม่เหมาะสม ราคาของผลไม้ชนิดนี้ในประเทศไทยจึงยังมีราคาค่อนข้างสูงเนื่องจากต้องนำเข้า

อินทผาลัมกับชาวมุสลิม

อินทผาลัม เป็นผลไม้ที่เป็นที่นิยมในกลุ่มชาวมุสลิม เนื่องจากในเดือนรอมฎอน หรือ เดือนถือศีลอด จะมีการละศีลอด แต่สามารถรับประทานอินทผาลัมได้ เป็นความเชื่อจากศาสดามูฮัมหมัด ที่ส่งเสริมให้ชาวมุสลิม ทานแต่เพียงอินทผาลัมกับน้ำเปล่า

อินทผาลัมกับสรรพคุณน่าทึ่ง!

อีกอย่างที่ชื่นชอบของผลไม้ อินทผาลัม คือ เป็นผลไม้ที่ไม่มีคอเลสเตอรอล และไขมันต่ำ อินทผาลัม อุดมไปด้วย เบต้าแคโรทีน ลูติน และ ซีแซนทิน ซึ่งมีส่วนช่วยป้องกันมะเร็งในช่องท้อง แก้โรควิงเวียนศีรษะ แก้กระหาย ลดเสมหะภายในลำคอ หากรับประทานอินทผาลัมตอนช่วงเช้า ขณะท้องว่าง จะช่วยฆ่าเชื้อโรค พยาธิ และสารพิษที่ตกค้างในลำไส้ และระบบทางเดินอาหาร ช่วยลดความรุนแรงของแผลในกระเพาะอาหาร และอินทผาลัมสดนั้น มาคั้นเป็นน้ำเพื่อดื่มโดยมีประโยชน์ไม่แพ้ อินทผาลัมแห้ง

  • โพแทสเซียม

ถือว่า อินทผาลัม เป็นแหล่งของโพแทสเซียม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น ช่วยสร้างกล้ามเนื้อ รักษาสมดุลของเหลวในร่างกาย ควบคุมการเต้นของหัวใจ และความดันเลือด รวมทั้งป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจ

  • วิตามินต่าง ๆ

วิตามินบี 3 ช่วยควบคุมการทำงานของระบบประสาท ระบบย่อยอาหาร ให้ทำงานเป็นปกติ รวมทั้งยังช่วยบำรุงผิวพรรณ ให้มีสุขภาพดีอีกด้วย วิตามินบี 6 ช่วยในการพัฒนาสมอง เสริมสร้างระบบประสาท และระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง วิตามินเอ ช่วยในเรื่องบำรุงสายตา ช่วยเสริมสร้างเยื่อเมือกบุผิว รวมถึงช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์ในร่างกาย

  • เพิ่มเส้นใยอาหาร

อินทผาลัม ช่วยเพิ่มปริมาณของเนื้ออุจจาระ ป้องกันอาการท้องผูก ช่วยทำให้อุจจาระนิ่มจนเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งเส้นใยอาหารยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และยังช่วยลดน้ำหนักได้ (สาว ๆ ฟังแล้วน่าจะชอบ) เนื่องจากด้วยความที่เส้นใยอาหารสูง จึงทำให้อิ่มท้องได้นานขึ้น โดยปริมาณของเส้นใยอาหารที่แนะนำให้ทาน อยู่ที่ 25 กรัมต่อวัน

  • สารต้านอนุมูลอิสระ

อินทผาลัม เต็มเปี่ยมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยป้องกันเซลล์และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายไม่ให้ถูกทำลาย จากการศึกษาในการต้านอนุมูลอิสระของอินทผาลัม พบว่า มีสารต้านอนุมูลอิสระ มีชื่อว่า สารโพลีฟีนอล ในปริมาณสูง! เมื่อเปรียบเทียบกับบรรดาผลไม้แห้งชนิดอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัย ระบุว่า อินทผาลัม เป็นแหล่งอาหารสำคัญต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย

  • ชะลอความชรา

แน่นอน เมื่อพวกเราอายุเยอะขึ้น สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน เรื่องผิวพรรณ มักมีรอยเหี่ยวย่น หย่อนยานลง สูญเสียความชุ่มชื้น และผลิตน้ำมันได้น้อยลง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดริ้วรอย แก่ก่อนวัย อินทผาลัม มีสารไฟโตฮอร์โน (Phytohormones) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการต้านริ้วรอย และมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นชัดว่า สารสกัดจากอินทผาลัม ช่วยลดความเหี่ยวริ้วรอยบนใบหน้าได้

  • ต้านมะเร็งลำไส้ใหญ่

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ค้นคว้าสรรพคุณของอินทผาลัม แจงว่า ใยอาหารและสารโพลีฟีนอล ในอินทผาลัมช่วยบำรุงสุขภาพของลำไส้ใหญ่ โดยช่วยเสริมการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ และยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง อินทผาลัม ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ไม่มีผลต่อการลดเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้

อินทผาลัมกับเบาหวาน

มีงานวิจัย นายแพทย์ Juma M Alkaabi ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ได้ทำการวิจัยกับผู้ป่วยเบาหวาน โดยให้ผู้ป่วยเบาหวาน รับประทานอินทผาลัม พบว่า ไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงข้นแต่อย่างใด สาเหตุเพราะน้ำตาลที่อยู่ในอินทผาลัม เป็นน้ำตาลที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อย่างไรก็ตาม การทานอินทผาลัม ควรทานในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากเกินไป

อินทผาลัมทานเยอะอ้วนไหม!

ต้องขอบอกว่า อินทผาลัม เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ ซึ่งช่วยในเรื่องระบบขับถ่าย ระบบการย่อยอาหาร และยังช่วยทำให้อิ่มท้องนาน ซึ่งการที่เรามีระบบขับถ่ายที่ดี ก็สามารถทำให้ควบคุมน้ำหนักได้ง่ายขึ้น และไม่ทำให้อ้วน ถ้าเราเลือกทานอินทผาลัม ที่ไม่ได้ผสมน้ำตาลมากเกินไป

ข้อควรระวังในการทานอินทผาลัม

ด้วยความที่อินทผาลัม มีโพแทสเซียมสูงมาก จึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว

(เครดิต : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0