โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

‘อาเซียน-จีน’ พลิกวิกฤติไวรัส สร้างโอกาส 'เศรษฐกิจดิจิทัล'

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 22 ก.พ. 2563 เวลา 10.32 น.

นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่มีแหล่งกำเนิดอยู่ในพื้นที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน ได้ส่งผลกระทบอย่างวงกว้าง โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ในฐานะที่จีนเป็นมหาอำนาจ ที่มีการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และระบบขนส่งเชื่อมโยงทั่วโลก 

ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ที่กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว จัดขึ้นวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งมีรัฐมนตรีต่างประเทศจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และ หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ได้ร่วมหารือถึงแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า มาตรการดูแลประชาชน และความร่วมมือด้านสาธารณสุขอาเซียน-จีน ที่จะนำไปสู่การแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์และพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโคโรน่า รวมไปถึงส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะ “พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งจะเป็นทางเลือกของการทำการค้า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดที่จะช่วยลดข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งเรื่องเวลาและการเดินทาง 

ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ มองวิกฤตการณ์โควิด-19 เป็นความท้าทายข้ามพรมแดน ซึ่งทุกประเทศจำเป็นต้องร่วมมือกันจัดการสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแบบเร่งด่วน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ปกป้องสุขภาพ ความปลอดภัยประชาชน และปกป้องไม่ให้การแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่าทำลายแนวทางการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ของภูมิภาค 

“การประชุมครั้งนี้นับเป็นครั้งแรก ตั้งแต่มีการแพร่ระบาด ซึ่งที่ประชุมได้หารือรับมือสถานการณ์ในวันข้างหน้าร่วมกัน ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อดูแลประชาชน ป้องกันการแพร่ระบาด และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจในทุกด้าน ซึ่งจะส่งผลดีในระดับภูมิภาค” ดอนกล่าวย้ำ

ด้าน หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน กล่าวในที่ประชุมว่า ความตื่นตระหนกน่ากลัวยิ่งกว่าเชื้อไวรัส  และความเชื่อมั่นมีค่ายิ่งกว่าทองคำ ซึ่งขอขอบคุณแรงสนับสนุนจากประเทศสมาชิกอาเซียน พร้อมกับย้ำถึงมาตรการสกัดการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่าภายใต้การดำเนินงานของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงว่าจะสามารถต่อสู้และเอาชนะได้ในเร็วนี้ 

“ในช่วงที่จีนกำลังเผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่าทำให้จีนสัมผัสได้ว่า ฤดูหนาวปีนี้ไม่ได้หนาวเย็นขนาดนั้น และฤดูใบไม้ผลิกำลังจะมาถึงในอีกไม่ช้า” หวังอี้กล่าว 

ขณะที่ ธีโอโดโร ล็อกซิน รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ ในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียน-จีน กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันจะใช้ประโยชน์จาก “ปีแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน-จีน” ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอ็มเอสเอ็มอี) ได้ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจดิจิทัลเพิ่มขึ้น 

ประเทศสมาชิกอาเซียนและจีน มีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและเป็นจุดมุ่งหมายปลายทางของการท่องเที่ยวที่สำคัญระหว่างกัน โดยปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปมาหาสู่มากกว่า 65 ล้านคน และจีนยังเป็นคู่ค้าที่ใหญ่สุดของอาเซียน ขณะที่อาเซียนเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับสองของจีน โดยในปี 2561 การค้าระหว่างอาเซียนกับจีน มีมูลค่ากว่า 4.79 แสนล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์ว่า หากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ยืดเยื้อยาวนานเกิน 3 เดือน แต่ไม่เกิน 6 เดือน อาจฉุดรั้งเศรษฐกิจจีนให้เติบโตต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ราวร้อยละ 1.0 และลงไปแตะที่ระดับประมาณร้อยละ 4.7 และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาเซียน 2.4-3.4 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.07-0.11 ของจีดีพีอาเซียนทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม การประชุมอาเซียน-จีนครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในเชิงสัญลักษณ์ที่ชัดเจน เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการลดผลกระทบของการแพร่ระบาดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศ และร่วมกันรักษาไว้ซึ่งการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างประชาชน กิจกรรมการค้าและการลงทุน โดยหวังให้การดำเนินความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกลับคืนสู่สภาพปกติ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความสามารถของการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโรคได้ 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0