โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

‘อัปเดตชีวิตชาวไทยในต่างแดน’ รับมืออย่างไรกับสถานการณ์ COVID-19

LINE TODAY

เผยแพร่ 08 เม.ย. 2563 เวลา 17.00 น. • LINE TODAY TEAM ♡

เธอจะสบายดีมั้ย ? อยู่ตรงนั้นเป็นอย่างไร…

หลังจากทั่วโลกเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 มาเป็นเวลาหลายเดือน ทุกภาคส่วนต่างได้รับผลกระทบ บริษัทน้อย-ใหญ่ออกมาตรการเพื่อให้คนในองค์กรอยู่รอดปลอดเชื้อ รวมทั้งการปรับลดขนาดองค์กรเนื่องจากโดนพิษโควิด19 เล่นงานซะน่วม…

ทาง LINE TODAY เลยขอพื้นที่ในการอัปเดตชีวิตเพื่อน พี่ น้อง ชาวไทยในต่างแดน ที่กำลังรับมือกับสถานการณ์โควิด19 ในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการปรับตัวให้อยู่รอด ไม่ว่าจะจากฝั่งอเมริกา ยุโรป เอเชียและออสเตรเลีย กันค่ะ

เริ่มที่สถานการณ์ในฝั่งอเมริกาตอนนี้ ค่อนข้างน่าเป็นห่วง ด้วยผู้ติดเชื้อมากกว่า 4 แสนคน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น ศูนย์กลางการแพร่ระบาด ไปซะแล้ว ผู้คนต่างต้องปรับตัว มีวิธีรับมือต่อสถานการณ์รายวันกันอย่างตื่นตัว และเชื่อฟังมาตรการของรัฐอย่างเต็มที่

จิรัฐ , แคลิฟอร์เนีย- สหรัฐอเมริกา
อาชีพ พนักงานขายรถยนต์ และ เจ้าของกิจการ

มาตรการที่รัฐขอความร่วมมือ มีอะไรบ้าง? แล้วคนปฏิบัติตัวตามหรือเปล่า?

มาตรการเบื้องต้นของตอนนี้ คือ

  • ห้ามมีกิจกรรมรวมคนตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป
  • ห้างสรรพสินค้าทั้งหลายที่ไม่จำเป็นต้องปิดตัวลงหมด
  • สนามเด็กเล่น ชายหาด ปิดหมด
  • ห้ามนั่งรถกับเพื่อนฝูงตัวเอง เกิน 2 คน
  • Social Distancing ให้ทุกคนเว้นระยะห่าง 6 ฟุต (ประมาณ 1.82 เมตร) เวลาที่ต้องยืนใกล้เคียงกัน
  • ทำงานจากที่บ้าน เวลาขับรถตอนกลางคืน แล้วโดนตำรวจเรียกจะถามหาจดหมายจากที่ทำงาน ว่าต้องมาทำงานจริง ๆ

ซึ่งถามว่า ทุกคนปฏิบัติกันตามมั้ย เท่าที่เห็นทุกคนให้ความร่วมมือดีมาก สถานที่ที่ไม่จำเป็น ปิดเกือบทั้งหมด ถนนหนทางจากที่เคยติดมาก ๆ ขับรถกลับจากบริษัท ปกติชั่วโมงครึ่งตลอด กลายเป็นเหลือ 20 นาที ตามตลาดต่าง ๆ คอยให้ความร่วมมือเป็นอย่างมากเรื่องความสะอาด

ประเด็นเรื่องหน้ากากอนามัย กับ การเว้นระยะห่างทางสังคมของที่นั่นเป็นอย่างไร?

เท่าที่เห็นประมาณ 80% ใส่หน้ากากอนามัยกันพอสมควร บางคนขณะขับรถก็ยังใส่ เวลาไปตลาดต่าง ๆ สถานที่ทำงาน ทุกคนใส่กันหมด และที่สำคัญ หน้ากากอนามัยหาซื้อไม่ได้จริง ๆ แต่มีคนไทยที่นี่ผลิตหน้ากากแบบผ้าออกมาขาย แล้วใส่ฟิลเตอร์ซับในเข้าไป ก็หวังว่ามันจะพอช่วยได้บ้างส่วนเรื่อง Self-Isolation ดูแล้วทุกคนให้ความร่วมมือกันดี เห็นได้จากรอบ ๆ หมู่บ้าน รถจอดเต็มทุกบ้าน ซึ่งปกติแล้วจะออกไปทำงานกัน และผู้คนไม่ค่อยออกไปไหนเพราะว่าเกรงกลัวเรื่องกฎหมาย กลัวโดนตำรวจเรียก

มีการกักตุนสินค้าบ้างมั้ย?

ช่วงแรก ๆ เมื่อซักสามอาทิตย์ที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นช่วงพีคที่สุด เพราะผู้คนต่างตื่นตระหนกว่าซูเปอร์มาร์เก็ตจะปิด แต่ที่จริงแล้วไม่ได้ปิดตามคาด คนแห่ตุนของสินค้ากันเป็นจำนวนมากจนเกลี้ยงเชลฟ์ ของแช่แข็ง,อาหารสำเร็จรูป ส่วนใหญ่หมดเกลี้ยง ทิชชู่และน้ำเปล่าหมดถึงตอนนี้ สินค้าอื่น ๆ ยังพอมีให้ซื้ออยู่ได้ แบบที่ไม่ต้องไปแย่งกันเหมือน 3 อาทิตย์ที่ผ่านมา

ผลกระทบและปรับตัวตามสถานการณ์

บางคนอาจเสพข่าวมากเกินไป อัปเดตสถานการณ์จากเฟซบุคซึ่งบางอันจริงบางอันปลอม ทำให้ดูแล้วเครียดไปหน่อย ต้องมานั่งคุยกันให้เข้าใจ โดยรวมแล้วผลกระทบยังไม่มีอะไรมาก

ผลกระทบด้านจิตใจกับสถานการณ์

ส่วนตัวแล้วมีแค่ความกลัว กลัวว่ามันจะเป็นแบบนี้ไปนานอีกเท่าไหร่ กังวลว่าถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เศรษฐกิจทุกอย่างจะต้องพังแน่นอน

ในมุมเจ้าของกิจการ หรือ ทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนเยอะๆ ต้องปรับตัวยังไงบ้าง?

มุมเจ้าของกิจการ โชคดีที่งานส่วนตัวของตัวเอง ไม่ได้พบปะกับคนเยอะ เจอลูกค้าบางทีวันละคน เลยไม่ได้ต้องปรับตัวมากเท่าไหร่ อีกมุมมองเป็นงานหลัก ซึ่งส่วนใหญ่ จะต้องพบปะลูกค้าจำนวนมาก และต้องออกไปนอกสถานที่ อันนี้ทำอะไรไม่ได้ นอกจากใส่ผ้าปิดปาก และพยายามล้างมือให้สะอาดที่สุด รวมทั้งทิ้งระยะห่างอย่างน้อย 6 ฟุต จะได้ปลอดภัยกันทุก ๆ ฝ่าย

ฟากเยอรมนี ประเทศในทวีปยุโรปที่กำลังมีผู้ติดเชื้อราว 109,000 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 8 เมษายน 2563) ที่นี่แม้จะมีการจัดการที่ดี แต่จำนวนผู้ติดเชื้อก็ขยับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญเยอรมนีเป็นประเทศที่มีคนไทยไปอาศัยอยู่ไม่น้อย จนหลายคนสงสัยว่าคนไทยในเยอรมนีที่มีผู้ติดเชื้อเป็นอันดับ 4 ของโลก เขารับมือกับไวรัสโควิด-19 กันอย่างไร

พัชรี , Sulzbach-Laufen - เยอรมนี
อาชีพ แม่บ้าน และ เจ้าของเพจ สะใภ้ไทยในdorf

มาตรการที่รัฐขอความร่วมมือ มีอะไรบ้าง? แล้วคนปฏิบัติตัวตามหรือเปล่า?

ช่วงแรกที่เชื้อเริ่มระบาด ความที่อยู่ต่างจังหวัด เป็นเมืองเล็ก ๆ ก็เลยไม่ได้ตื่นเต้นอะไรมาก คนที่นี่ก็ดูชิล พูดติดตลกกับโรคด้วยซ้ำ กลายเป็นแค่เราที่กังวลกับมันมาก ถามใครเค้าก็บอกเฉย ๆ กับเรื่องนี้ แต่ตัวเราเองก็คอยดู คอยอ่านข่าวทั้งทางไทยกับทางเยอรมนี ในช่วงแรกก็เลยใช้ชีวิตแบบที่ยังไม่ล็อกดาวน์ และทำตามที่รัฐแนะนำ คือล้างมือบ่อยขึ้น

หลังจากนั้นตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โรงเรียนที่แรกเริ่มปิด เพื่อนบ้านยังบอกว่ารัฐทำเกินไป แต่ตัวเราคิดว่ารัฐทำถูกแล้ว เชื่อมั้ยว่าจากนั้นแค่อาทิตย์เดียว รัฐสั่งปิดทุกอย่าง เหลือแต่ซูเปอร์มาร์เก็ตกับร้านอาหารที่ให้ขายกลับบ้านอย่างเดียว เพื่อนคนเดิมยังส่งข้อความมาว่าเค้าขอไม่ต้อนรับใครในช่วงนี้ คือ ล็อกดาวน์ตัวเองเลย

เยอรมนีก็มีมาตรการเยียวยาให้เงินช่วยเหลือคล้ายกับที่ไทย ชะลอหนี้ ลดค่าไฟ ให้เงินช่วยเหลือสำหรับคนตกงาน หรือได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ คิดว่าที่ไทยออกมาให้เงินช่วยเหลือช่วงนี้ถูกเวลาที่สุดแล้ว มีการสั่งปิดสถานที่ต่าง ๆ เช่น ฟิตเนส ร้านค้า โรงเรียน บริษัทบางแห่งขอความร่วมมือให้ทำงานจากที่บ้าน พบปะกันได้ไม่เกิน 2 คน และไม่ไปหาผู้สูงอายุ แต่ถ้าเป็นครอบครัวเดียวกันก็ไม่เป็นไร ช่วงแรก ๆ ก็ยังมีคนไม่ทำตามอยู่บ้าง เจ้าหน้าที่ก็จะเข้ามาจัดการ มีบทลงโทษที่ชัดเจน ใครไม่ทำตามโดนปรับประมาณ 25,000 ยูโร คือเป็นเงินไทยก็เกือบล้านบาท ช่วงนั้นตอนอ่านข่าวก็ยังมีบ้างที่ฝ่าฝืนคำสั่ง แต่ที่นี่เอาจริง คือจับปรับกันจริง ๆ จากนั้นทุกคนที่นี่ก็ให้ความร่วมมือกันพอสมควร ทำให้จัดการอะไรง่ายขึ้น

ประเด็นเรื่องหน้ากากอนามัย กับ การเว้นระยะห่างทางสังคมของที่นั่นเป็นอย่างไร?

ที่สังเกตได้เลยก็คือคนเยอรมันจะไม่ใส่หน้ากากอนามัย เพราะคนที่นี่เข้าใจว่าใครใส่หน้ากาก = ป่วย แต่จะใส่ถุงมือยาง และเว้นระยะห่างเวลาไปไหนมาไหนแทน หรือที่เรียกว่า Social Distancing นั่นแหละ ด้วยความที่เป็นคนเอเชีย ก็เลยอาจจะโดนจับจ้องจากคนเยอรมันเยอะหน่อย มีครั้งหนึ่งก่อนหน้านี้นัดหมอไว้ เพราะขามีปัญหาหลังวิ่งนิดหน่อย พอไปถึงก็กำลังจะถอดแจ็กเก็ตออกมาแขวนในห้องรอหมอ ป้าคนหนึ่งเห็นเรา ถึงกับลุกขึ้นแล้วลากขาเจ็บ ๆ ของป้าไปรอหมอนอกห้องเลย พอเห็นแบบนี้ก็ทำให้เสียใจอยู่เหมือนกัน

มีการกักตุนสินค้าบ้างมั้ย?

แอบตกใจเหมือนกันว่าที่เยอรมนีก็มีการกักตุนสินค้า ก่อนหน้านี้ก็มีปัญหาเรื่องกักตุนทิชชู่ กระดาษชำระ แป้งทำเค้ก ไข่ น้ำตาล เส้นสปาเก็ตตี้ ซอสต่าง ๆ หรือของสำคัญในตอนนี้อย่างเจล แอลกอฮอล์ สบู่ล้างมือเกลี้ยงตลาด แต่เป็นแบบนี้อยู่ประมาณ 2 อาทิตย์ จากนั้นทุกอย่างก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติ คือเค้าก็เอาของออกมาขายอยู่เรื่อย ๆ ให้เพียงพอต่อความต้องการของทุกคน ก็เลยอาจจะไม่รู้ว่าจะตุนกันไปทำไม

ผลกระทบและปรับตัวตามสถานการณ์

ถามว่าใช้ชีวิตยากมั้ย ตอบเลยว่ายากเหมือนกัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นแน่ ๆ ก็คือการใช้ชีวิตประจำวัน จากที่เคยไปไหนก็ได้ ก็ต้องเปลี่ยนมาอยู่บ้านตลอด ไม่ไปยิม ไม่ไปฟิตเนส ไม่ไปร้านอาหาร ที่สำคัญก็ค่อนข้างหวาดระแวงด้วยว่าเราติดหรือยัง ยิ่งเราเป็นครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ยิ่งต้องอธิบายให้ลูก ๆ เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นว่าตอนนี้แม้แต่เพื่อน ๆ ก็เจอกันไม่ได้ ที่น่าดีใจก็คือระบบการจัดการกับไวรัสของประเทศที่มีระบบสาธารณสุขดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกกับบ้านเราก็ไม่ต่างกันสักเท่าไหร่ จริง ๆ เยอรมนีมีปัญหาเรื่องหน้ากากในช่วงแรกเพราะส่งไปช่วยทางจีนในช่วงที่จีนมีปัญหา พอขาดตลาดก็ทำให้คนที่นี่บางกลุ่มไม่พอใจ แต่หลังจากที่จีนสถานการณ์ดีขึ้น เค้าก็ส่งหน้ากากกลับคืนมาให้คนเยอรมัน

ตอนนี้ส่วนใหญ่ก็จะอยู่บ้านกัน ลูก ๆ ก็เรียนกันที่บ้าน ครูจะให้การบ้านไว้ ตัวเองก็อยู่บ้านกับลูก จะออกไปซื้อของแค่อาทิตย์ละครั้ง ส่วนสามีจำเป็นต้องออกไปทำงาน แต่ไปแค่ครึ่งวันก็กลับมาทำงานที่บ้านต่อ เป็นแบบนี้มาสักระยะหนึ่งแล้ว และคาดว่าคงต้องใช้ชีวิตกันแบบนี้อีกพักใหญ่จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ยังไงขอส่งกำลังใจให้ทุกคนผ่านวิกฤตแบบนี้ไปด้วยกัน และถ้าอยากอัปเดตเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศเยอรมนี ติดตามเพจ สะใภ้ไทยในdorf ได้นะคะ โดยเฉพาะคนที่อยากรู้ว่า dorf คืออะไร ในเพจมีคำตอบค่ะ

ผลกระทบด้านจิตใจกับสถานการณ์

ส่วนตัวค่อนข้างมั่นใจในการดูแลรักษาของทางเยอรมนี ด้วยความที่เป็นประเทศที่ผลิตอุปกรณ์การแพทย์ แถมมีคลินิก มีโรงพยาบาลอยู่แทบทุกเมือง ที่สำคัญเป็นประเทศที่มีระบบสาธารณสุขดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ก็เลยค่อนข้างมั่นใจว่าเอาอยู่ ถึงแม้ว่าจะมียอดผู้ติดเชื้อสูง แต่ถ้าดูอัตราการหายจากไวรัสและอัตราการตายก็ถือว่ายังน้อยมาก เอาจริง ๆ การจัดการของที่เยอรมนีกับไทยก็แทบไม่ต่างกันเท่าไหร่ เพราะสิ่งสำคัญอยู่ที่ประชาชนว่าให้ความร่วมมือมากหรือน้อยยังไง ถึงรัฐจะออกมาตรการมา แต่ถ้าคนดื้อดึงไม่ทำตาม ยังไงผลที่ได้ออกมาก็คงไม่ต่างกัน

ฝั่งไต้หวันยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม โดยส่วนใหญ่เป็นคนที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ที่ก็บังคับให้ต้องกักตัวทุกคน และถ้าใครหนีออกไปไหนจะโดนปรับตั้งแต่ 1 แสน- 1 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน

ภาณุพันธ์ , นิว ไทเป - ไต้หวัน
อาชีพ : นักศึกษาปริญญาโท

มาตรการที่รัฐขอความร่วมมือ มีอะไรบ้าง? แล้วคนปฏิบัติตัวตามหรือเปล่า?

รัฐบาลเข้มงวดในการออกมาใช้พื้นที่สาธารณะของคนไต้หวันมากขึ้น เช่น ล่าสุดเพิ่งขอความร่วมมือให้คนที่ใช้บริการรถไฟความเร็วสูง HSR รถบัสข้ามจังหวัด ต้องใส่หน้ากากทุกคน ไม่อย่างนั้นจะไม่ให้ใช้บริการ รวมไปถึงรถไฟใต้ดินในไทเปก็มีป้ายเตือนให้ใส่หน้ากากครับ

ส่วนกิจกรรม อีเวนต์ใหญ่ๆ ในอินดอร์ที่รวมคนมากกว่า 100 คน ตอนนี้ก็ขอความร่วมมือให้ยกเลิกหมดแล้ว แต่ว่าถ้าจะไปนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ ยังสามารถเข้าได้ แต่ต้องใส่หน้ากากและวัดไข้ว่าไม่มีอุณหภูมิสูงเกิน 37.5 องศา แล้วก็มีกฎสำหรับ Social Distance ในพื้นที่สาธารณะ เช่น ถ้าอยู่ในบ้าน ควรอยู่ห่างกัน 1.5 เมตร ถ้าอยู่นอกบ้านควรอยู่ห่างกัน 1 เมตร

ถามว่าคนไต้หวันปฏิบัติตามมั้ย… หลักๆ คือ ทุกคนใส่หน้ากากกันเป็นปกติเลยครับ น้อยมาก ๆ ที่จะไม่ใส่ อย่างเพื่อนไต้หวันก็จะพกแอลกอฮอล์และฉีดล้างมือก่อนกินข้าวหรือก่อนจะจับอะไรทุกครั้ง (ทุก ๆ ทางเข้าห้าง พื้นที่สาธารณะ จะมีสเปรย์แอลกอฮอล์ให้ฉีดตลอด ถ้าจะเข้าไปในพื้นที่ไหนหรือร้านอาหาร พนักงานก็จะเอามาให้ฉีด วัดไข้ตลอด) แต่ในเรื่องการ Social Distance ยังไม่ได้ทำตามขนาดนั้น โดยรวมคนยังออกมาใช้ชีวิตกันปกติ กินข้าวรวมกลุ่มกัน เดินเล่นได้ แต่บรรยากาศเงียบ ๆ น่าจะเกิดจากเพราะไม่มีนักท่องเที่ยวแล้ว แต่คนท้องถิ่นก็ยังออกมากันปกติอยู่ครับ

ประเด็นเรื่องหน้ากากอนามัย กับ การเว้นระยะห่างทางสังคมของที่นั่นเป็นอย่างไร?

รัฐบาลจำกัดจำนวนการซื้อหน้ากากอนามัยของคนไต้หวันมาตั้งแต่เหตุการณ์ช่วงแรก ปกติคนไต้หวันจะมีบัตรประกันสุขภาพแห่งชาติทุกคนอยู่แล้ว ก็แบ่งกันซื้อตามเลขลงท้ายบัตรเป็นเลขคู่ เลขคี่ ในแต่ละวัน ช่วงแรกซื้อกันได้คนละ 3 ชิ้น/7 วัน แต่ว่าเดี๋ยวตั้งแต่วันที่ 9 เมษา ก็จะไม่ได้จำกัดการซื้อตามเลขคู่คี่แล้ว ซื้อได้ทุกวัน วันละ 9 ชิ้น/14 วัน

แต่ว่าผมเองยังไม่ได้ไปซื้อเลยเพราะว่าช่วงแรกของการมายังไม่มีบัตรประกันสุขภาพ เดี๋ยวรอให้หน้ากากที่เอามาจากไทยหมดก่อนก็จะไปซื้อครับ (ชาวต่างชาติที่เป็น Resident แล้วก็จะมีบัตรประกันสุขภาพเหมือนกัน ก็ซื้อได้ แต่ถ้ายังไม่มีก็สามารถใช้บัตร Arc ที่เป็นเหมือนบัตรประชาชนของชาวต่างชาติซื้อได้เหมือนกัน) เท่าที่ฟังจากเพื่อก็บอกว่าต้องต่อคิวซื้อหน้ากากอยู่ โดยเฉพาะในไทเป แต่ว่าเขาก็มีระบบการซื้อแบบออนไลน์ แบบจองไว้ก่อน แล้วไปรับที่ร้านสะดวกซื้อ 7-11 เหมือนกันนะครับ ก็เลยทำให้ไม่ค่อยขาดแคลนเท่าไหร่

การกักตัว จะกักคนที่เดินทางกลับมาจากประเทศเสี่ยง 14 วัน และก็ถ้าพบคนติดเชื้อรายใหม่ ก็จะกักตัวผู้ใกล้ชิดด้วยครับ โดยรวมคิดว่าตรงนี้ไต้หวันทำได้ดี เคสผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เลยยังหาที่มาได้ว่าติดจากไหนและทำให้ควบคุมได้

มีการกักตุนสินค้าบ้างมั้ย?

ไม่ค่อยมีปัญหาครับ จริงๆ จะมีบ้างช่วงกลางเดือนมีนาที่อยู่ๆ ตัวเลขคนติดเชื้อก็เพิ่มขึ้น ตอนนั้นไปซูเปอร์มาร์เก็ต มาม่าก็หายไปเกลี้ยงเลย แต่ว่าตอนนี้สถานการณ์ปกติแล้วครับ เพราะคนก็ยังออกมาข้างนอกกันได้อยู่

ผลกระทบและปรับตัวตามสถานการณ์

ในแง่ของมหาวิทยาลัย เข้มงวดในการเข้าออกอาคารต่างๆ แต่โดยรวมถือว่าไม่กระทบมากครับ มหาวิทยาลัยเองมีประกาศให้สัปดาห์หน้า ในคลาสใหญ่ๆ ที่มีคนเรียนเกิน 75 คน ต้องเรียนออนไลน์ แต่ว่าพอดีผมเรียนป.โท คลาสนึงเรียนกันแค่ 4-5 คน ก็เลยไม่ต้อง กลัวเหมือนกันว่าถ้าต้องเรียนออนไลน์ก็จะไม่รู้เรื่องเท่าไหร่ นอกนี้ที่อาจจะกระทบก็คงเป็นการที่ช่วงนี้อาจจะไม่สามารถไปเที่ยวได้ในหลายๆ ที่ เพราะสถานการณ์ก็ยังไม่ได้นิ่งขนาดนั้นครับ

ผลกระทบด้านจิตใจกับสถานการณ์

ถ้ากังวลจริงๆ กลัวว่าจะกลับไทยไม่ได้มากที่สุดครับ ตอนแรกแพลนไว้ว่าช่วงปิดเทอม (กรกฎาคม) ก็คงกลับไทยไปพัก แต่ว่าไม่รู้ว่าตอนนั้นสถานการณ์ที่ไทยจะดีขึ้นรึยัง เพราะว่าถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ การกลับไปแล้วต้องกักตัวอยู่ที่บ้านก็คงไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่ และตอนกลับเข้ามาไต้หวันแล้วก็ยังต้องโดนกักตัวอีก ทำให้ตอนนี้แพลนจะกลับบ้านก็ยังเลือนรางอยู่ครับ ขอให้สถานการณ์ดีขึ้นไวๆ

และฝั่งออสเตรเลีย ที่ดูเหมือนว่า จะจัดการกับสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ดีขึ้น หลังพบผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะประชาชนค่อนข้างให้ความร่วมมือกับสิ่งที่รัฐร้องขอ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะนิ่งนอนใจได้

นวพร , ซิดนีย์ - ออสเตรเลีย
อาชีพ : นักศึกษา

มาตรการที่รัฐขอความร่วมมือ มีอะไรบ้าง? แล้วคนปฏิบัติตัวตามหรือเปล่า?

จากมาตรการล่าสุดของออสเตรเลีย คนออกมาแฮงก์เอาต์ ตัวติดกันได้แค่ 2 คน และทำตามกฎอย่างเคร่งครัด

(ขอบคุณภาพจาก AboutAussie)
(ขอบคุณภาพจาก AboutAussie)

ประเด็นเรื่องหน้ากากอนามัย กับ การเว้นระยะห่างทางสังคมของที่นั่นเป็นอย่างไร?

หน้ากากราคาแพงและหายากมาก 33 ดอลลาร์/แพ็ค (ประมาณ 673 บาท) เนื่องจากที่ออสเตรเลียมีโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยที่เดียว ส่งผลให้คนออสซี่ (คนพื้นเมือง) ไม่ค่อยใส่หน้ากากอนามัยซักเท่าไหร่ ตรงข้ามกับคนจีนที่นี่ ทำตามกฎอย่างเคร่งครัด คืออยู่บ้านทั้งวันและใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา

มีการกักตุนสินค้าบ้างมั้ย?

ทิชชู่ เป็นที่ต้องการอย่างมากในตอนนี้ เพราะวัฒนธรรมการใช้ห้องน้ำจะไม่มีสายชำระเหมือนบ้านเรา

ร้านอาหารเปิดแค่บริการซื้อกลับบ้านและมีโปรโมชั่นลดราคา ทำให้จับจ่ายซื้ออาหารนอกบ้านกินได้แบบไม่เจ็บกระเป๋า ร้านอาหารไทยมีน้ำใจต่อคนไทยด้วยกันมาก ส่วนร้านขายยา หรือซูเปอร์มาเก็ตต่าง ๆ เปิดเหมือนเดิม

ผลกระทบและปรับตัวตามสถานการณ์

พฤติกรรมบนถนนเปลี่ยนไป มีการใช้ Automate Crossing แทนการใช้มือกดปุ่มเพื่อข้ามถนน ลดการสัมผัสสิ่งของสาธารณะ

ความน่ารักคือ เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา บนท้องฟ้าของ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ มีคนขับเครื่องบินบังคับเขียนคำว่า ‘wash hands’ ซ้ำไปซ้ำมาหลายๆครั้ง :)

ในมุมนักเรียน มหาวิทยาลัยเปลี่ยนเป็นเรียนออนไลน์ ทำงานผ่านแพลตฟอร์ม Zoom กันหมด ไม่มีสอบในบางวิชา ซึ่งข้อเสียของทั้งหมดนี้คือเราไม่มีโอกาสทำความรู้จักเพื่อนในห้องถึงแม้จะเพิ่งเปิดเทอมกันไป และไม่รู้คนอื่นเค้าทำอะไรไปถึงไหนบ้างแล้ว

ผลกระทบด้านจิตใจกับสถานการณ์

ตอนแรกเราก็เหงานะ แต่ถ้ามีเพื่อนเดินด้วยอีกคนก็คงไม่ได้แย่ขนาดนั้น ออกไปซื้อข้าวกับเดินสวนได้ปกติ และได้เรียนรู้ว่า คนจีนกลายเป็นเป็นเพื่อนที่ดีอยากดูแลเรามากๆ มีร้อยก็ให้เต็มร้อยเลย

.

ทางทีม LINE TODAY หวังว่าเรื่องราวจากของคนไทยที่ใช้ชีวิตไกลบ้าน จะเป็นส่วนนึงที่ทำให้หลายคน ได้เห็นภาพของสถานการณ์โควิด19 ในมุมมองที่กว้างขึ้น ในวิกฤติแบบนี้ ยังมีสิ่งดี ๆ ซ่อนอยู่เสมอ ขอให้ทุกคนอย่าเพิ่งหมดหวัง หลังจบโควิด เราจะแข็งแกร่งขึ้นค่ะ :D

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0