โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

‘หุ้นสื่อสาร’ หลังจบ ประมูล 5G นับจากนี้ ใครดูดี ใครมีภาระ

Businesstoday

เผยแพร่ 17 ก.พ. 2563 เวลา 06.45 น. • Businesstoday
‘หุ้นสื่อสาร’ หลังจบ ประมูล 5G นับจากนี้ ใครดูดี ใครมีภาระ

จบการประมูล 5G ไปเรียบร้อยร้อย โดย กสทช. กวาดเงินเข้ารัฐไปกว่า แสนล้านบาท แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน คือหลังจากนี้ หุ้นสื่อสาร ใครฟอร์มดี ใครมีภาระ

การประมูล 5G เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา กสทช. มีสิ่งที่น่าสนใจอยู่หลายจุดในแง่นักลงทุน กับกลุ่ม  หุ้นสื่อสาร  โดยเฉพาะการแข่งขันเรื่องราคาในคลื่น 700 MHz มีการประมูลกันไปมากถึง 20 รอบ และจบลงด้วย CAT คว้าไป 2 สัญญา ด้วยราคา 17,200 ล้านบาท  สูงกว่าราคากลางถึง 95% ส่วน ADVANC ได้ไป 1 สัญญา

ขณะที่คลื่น 2600 MHz ซึ่งการประมูลที่ต่ำ ADVANC ได้ไป 10 สัญญา และ TRUE 9 สัญญา ที่ราคา 1.96 หมื่นล้านบาท

คลื่น 26 GHz ซึ่งมีการแข่งขันที่ต่ำเช่นกัน โดยปกติจะไว้ใช้สำหรับ IOT และบรอดแบนด์ไร้สายที่ยังไม่มีการใช้งานADVANC ได้ไป 12 สัญญา และ TRUE ที่ 8 สัญญา

อ่านข่าว >> สรุป ประมูล 5G ได้คลื่นครบทุกค่าย กสทช. รับเงินเข้ารัฐ 1 แสนล้าน

คลื่น 700 MHz สูงกว่าราคากลาง 95%

*บล.ทิสโก้ *ประเมินว่า สิ่งประหลาดใจที่สุดในการประมูลคลื่น 700 MHz คือ การประมูลราคาของ ADVANC ซึ่งคาดว่าอาจจะมาจาก การจงใจแข่งราคาเพื่อให้ CAT เหลือวงเงินในการประมูลคลื่นอื่นๆ ลดลง ทำให้ CAT เป็นพันธมิตรกับค่ายอื่นมาแข่งกับ ADVANC และเป็น Reseller ได้ยากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ทำให้ ADVANC ได้คลื่น 2x10 มาในราคาที่สูงถึง 1.7 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ TRUE ได้คลื่น 2600 MHz มาในราคาที่ต่ำ และไม่ได้ร่วมในสงครามราคา ทำให้แทบไม่ได้รับผลกระทบ

บล.บัวหลวง ประเมินว่า ราคาค่าคลื่น 700MHz ที่ผู้ประกอบการได้มาถือว่าเป็นลบ  เพราะสูงกว่าราคาตั้งต้นมากถึง 95% ส่วนราคาค่าคลื่น 2600MHz และ 26GHz ต่อใบถือว่าเป็นบวกต่อผู้ประกอบการ เพราะสูงกว่าราคาตั้งต้นเพียง 5% เทียบกับสมมติฐานก่อนหน้าคือ สูงกว่าราคาตั้งต้น 20% สำหรับทั้งสามคลื่น ผลกระทบต่อ valuation

“ADVANC” เทียบในกลุ่มดูโดดเด่น

บล.บัวหลวง ระบุว่า ผลกระทบต่อ valuation ของ ADVANC สุทธิเป็นบวก 10,758 ล้านบาทหรือบวก 3.62 บาท/หุ้น (ซึ่งกลบกันระหว่างมูลค่าลบจาก 1 ใบคลื่น 700MHz และมูลค่าเพิ่มจาก 10 ใบคลื่น 2600MHz และ 12 ใบคลื่น 26GHz)

ด้าน บล.ฟินันเซีย ไซรัส ประเมินว่า มุมมองเป็นบวกอย่างมากต่อ ADVANC จากราคาประมูลที่ต่ำ รวมแล้ว 4.2 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าครั้ง 4G ที่ 1.2 แสนล้านบาท เงื่อนไขที่ทยอยจ่าย ทำให้ต่อปีไม่สูงนักอาจไม่ต้องกู้ก็ได้ นอกจากนี้ จุดแข็งคือมีคลื่นความถี่ครบ พร้อมแข่งขันมากที่สุดในตลาดซึ่งดีต่อการให้บริการและเพิ่ม market share ในยุค 5G ตลอด 10 ปีข้างหน้า

ขณะที่ บล.ดีบีเอสฯ ระบุว่า ADVANC จะมีภาพพจน์การเป็นผู้นำ 5G ในอนาคต แม้มีภาระการลงทุนสูง แต่เงื่อนไขการจ่ายที่ยืดหยุ่น คาดว่าจะผ่านได้ไม่มีปัญหา แต่ DTAC มีโอกาสจะสูญเสียส่วนครองตลาดในอนาคตไปได้ เพราะมีภาพพจน์ 5G ด้อยกว่า

“DTAC” ได้คลื่นมาน้อย

บล.บัวหลวง ระบุว่า ผลกระทบต่อ valuation ของ DTAC สุทธิเป็นลบ 20,876 ล้านบาทหรือลบ 8.82 บาท/หุ้น (ซึ่งกลบกันระหว่างมูลค่าเพิ่มจาก 2 ใบคลื่น 26GHz และมูลค่าลบจากลูกค้า postpaid ที่ลดลง ซึ่งเราใช้สมมติฐานลดลงปีละ 70,000 รายจนหมดอายุใบอนุญาตและใช้สมมติฐานไม่ประมูลคลื่น 3500MHz)

ด้าน บล.ดีบีเอสฯ ระบุว่า DTAC ชนะประมูลใบอนุญาต 5G น้อย โดยชนะประมูลใบอนุญาตย่าน 26 GHz มา 2 ใบ ราคารวม 910 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นมีโอกาสที่ DTAC จะเข้าประมูลแบนด์กลางย่าน 3500 MHz ในระยะต่อไป

โดยปรับลดประมาณการรายได้ปี 63F/64F ลง สะท้อนการที่บริษัทได้ใบอนุญาต 5G เข้ามาน้อยกว่าคาด ให้สมมติฐานการเติบโตของรายได้ลดเป็น 0.5%/1.0% (เดิม 2.0%/3.0%) และปรับในส่วนเงินลงทุนด้วย

หุ้นสื่อสาร เทียบฟอร์ม “ADVANC – DTAC – TRUE”

บล.บัวหลวง ประเมินว่า ADVANC เป็นผู้ประกอบการที่เข้าประมูลคลื่นและมีคลื่นในมือมากที่สุด และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นกระทบต่อกำไรน้อยที่สุด

ขณะที่ DTAC แม้ว่ากำไรจะได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นน้อยสุดเนื่องจากเข้าประมูลคลื่นน้อยที่สุด แต่ประเมินว่า DTAC จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในอีก 1 ปีข้างหน้า

โดย บล.บัวหลวง จะทำการปรับมูลค่า DCF ของ ADVANC และ TRUE เพิ่มขึ้นและปรับมูลค่า DCF ของ DTAC ลดลงจากการสูญเสียลูกค้า

ในส่วนของกำไร เราจะปรับกำไรของทั้งสามรายลงจากเดิมซึ่ง TRUE กระทบมากสุด รองลงมาคือ ADVANC และ DTAC น้อยที่สุด โดยเลือก ADVANC และ INTUCH เป็น top pick ในกลุ่มไอซีที

ขณะที่ บล.ทิสโก้ ระบุว่า ADVANC ใช้เงินประมูล 4.2 หมื่นล้านบาท, TRUE ใช้ 2.12 หมื่นล้านบาท และ DTAC 890 ล้านบาท ทำให้ปรับประมาณการของ ADVANC, INTUCH และ TRUE ลง 1 - 21% ตามการตัดจำหน่าย และ DTAC แทบไม่กระทบ

โดยประมาณการยังไม่ได้รวมผลกระทบของ TFRS-16 แต่ผลกระทบที่จำกัด และการประมูลที่ผ่านมาจะกดดันกระแสเงินสดในอนาคต ในปัจจุบัน ADVANC และ TRUE มีคลื่นส่วนใหญ่ของ 5G ในมือ (43% และ 39% ตามลำดับ)

แต่ผลการประมูลคิดเป็น -6 บาท/หุ้น ของ ADVANC และ 0.6 บาท สำหรับ TRUE แต่ชดเชยบางส่วนจากส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้นในอนาคต +4 บาท สำหรับ ADVANC และ 0.50 บาท สำหรับ TRUE

ระยะสั้นถึงยาว แนวโน้มการแข่งขันยังรุนแรง

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ประเมินว่า ในระยะสั้นถึงยาว ผู้เล่นมีความเสี่ยงเรื่องการแบกรับต้นทุนที่เร็วเกินไปหลังการ monetize 5G assets ยังไม่ชัดเจน และแนวโน้มการแข่งขันที่มีโอกาสทวีความรุนแรงขึ้นจากการชิงส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งที่ยังขาดความพร้อมซึ่งเป็นปัจจัยลบกับทั้งอุตสาหกรรมทำให้เรามีมุมมองเป็น negative cautious มากขึ้นกับอุตสาหกรรม ICT

ด้านราคากลุุ่ม หุ้นสื่อสาร ในช่วง 3 เดือนปรับตัวลงราว 15% คาดสะท้อนความกังวลของตลาดว่าการแข่งขันในการประมูล 5G จะรุนแรง ทั้งนี้ หลังการประมูลแล้วเสร็จซึ่งการแข่งขันไม่รุนแรงในคลื่น 5G คาด ADVANC และ TRUE ราคาหุ้นมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ในสัปดาห์นี้จากราคาประมูลไม่สูงและโอกาสในการได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเติม ส่วน DTAC คาดราคามีโอกาสปรับลงต่อจากแนวโน้มสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่ง

แม้ว่าจะมีข่าวดีคือ การประมูลที่สิ้นสุดลงสำหรับ ADVANC, INTUCH และ TRUE แต่มีต้นทุนจากการประมูลที่เพิ่มขึ้นแต่ยังไม่ถึงขั้นที่ต้องกังวล แต่อย่างไรก็ตาม การหยุดดำเนินงานของไทยคมในปลายเดือน ก.พ. ทำให้คลื่น 3500MHz กลับมาประมูลได้อีกครั้ง (แม้ว่าจะต้องใช้เวลา 1 ปีในการได้ข้อสรุปของ upper C-Band) ทำให้นักลงทุนอาจตัดสินใจรอดูแผนการของ กสทช. ก่อน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0